นิทานสอนใจ : พญาหงส์ติดบ่วง
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหงส์ฝูงหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำใหญ่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ หัวหน้าฝูงหรือพญาหงส์ชื่อ "ธตรฐ" มีหงส์ที่สนิทชื่อ "สุมุข" เป็นกัลยาณมิตร อยู่มาวันหนึ่ง นกหงส์ 2 - 3 ตัวในฝูงบินไปหากินที่สระบัวหลวงที่อยู่ห่างไกลออกไป โดยเป็นสระบัวที่กว้างใหญ่สวยงาม และเป็นที่อาศัยหากินของนกเป็นจำนวนมาก เมื่อพบเแหล่งอาหารขนาดใหญ่ ก็ทำให้นกหงส์รู้สึกพอใจ จึงกลับมาเล่าให้พญาหงส์ฟังว่า พวกเขาอยากกลับไปหากินที่สระนั้นอีก พญาหงส์ห้ามว่า สระนั้นเป็นถิ่นมนุษย์มีอันตรายมากสำหรับนก ไม่ควรไป แต่บริวารก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า พญาหงส์จึงอนุโลม และบอกว่าจะตามไปด้วย คราวนั้นจึงมีหงส์บริวารตามไปเป็นจำนวนมาก
พอร่อนลงเท่านั้น พญาหงส์ก็ติดบ่วง บ่วงของพรานรัดเท้าไว้แน่น พญาหงส์ดึงเท้าอย่างแรงด้วยคิดว่าจะทำให้บ่วงขาด ปรากฏว่าครั้งแรกหนังถลอก ครั้งที่สองเนื้อขาด พอถึงครั้งที่สาม เอ็นขาด ถึงครั้งที่สี่ บ่วงกินลึกลงไปถึงกระดูก เลือดไหลมาก เจ็บปวดแสนสาหัส
พญาหงส์คิดว่า ถ้าหากตนร้องขึ้นว่าติดบ่วง บริวารซึ่งกำลังกินอาหารเพลินอยู่ก็จะตกใจกินอาหารไม่ทันอิ่ม เมื่อบินกลับก็จะไม่มีกำลังพอ จะตกทะเลตาย จึงเฉยอยู่ รอให้บริวารกินอาหารจนอิ่ม ตนเองยอมทนทุกข์ทรมานด้วยบ่วงนั้น
เมื่อเวลาล่วงไปพอสมควร เหล่าหงส์อิ่มแล้วกำลังเล่นเพลินกันอยู่ พญาหงส์ก็ร้องขึ้นด้วยเสียงดังว่า "ติดบ่วง" พอได้ยินดังนั้น หงส์บริวารทั้งหลายก็ตกใจ บินหนีกลับไปยังภูเขาจิตตกูฏ
ด้านหงส์สุมุข ทีแรกก็บินไปกับบริวารเหมือนกัน แต่เมื่อบินไปสักครู่หนึ่งก็เกิดเฉลียวใจว่าพญาหงส์อาจติดบ่วงก็ได้ จึงมองหาพญาหงส์ เมื่อไม่เห็น ก็คิดว่าอันตรายคงเกิดขึ้นแก่พญาหงส์เป็นแน่แล้ว หงส์สุมุขจึงรีบบินกลับมาที่สระบัว เมื่อเห็นพญาหงส์ติดบ่วงอยู่ก็ปลอบใจว่า อย่ากลัวเลย ตนเองจะสละชีวิตแทน
ด้านพญาหงส์กล่าวว่า "ฝูงหงส์บินหนีไปหมดแล้ว ขอท่านจงเองตัวรอดเถิด ไม่มีประโยชน์อะไรในการอยู่ที่นี่ เมื่อข้าพเจ้าติดบ่วงอยู่เช่นนี้ ความเป็นสหายจะมีประโยชน์อะไรเล่า"
หงส์สุมุขกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะอยู่จะไปก็ต้องตายอยู่ดี จะหนีความตายหาได้ไม่ เมื่อท่านมีสุข ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ เมื่อท่านมีทุกข์ ข้าพเจ้าจะจากไปเสียได้อย่างไร การตายพร้อมกับท่านประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยไม่มีท่าน เมื่อท่านมีทุกข์อยู่เช่นนี้ ข้าพเจ้าจะไปเสีย ดูไม่เป็นธรรมเลย"
พญาหงส์กล่าวว่า "คติของผู้ติดบ่วงเช่นข้าพเจ้าจะมีอะไรนอกจากต้องเข้าโรงครัว ท่านเป็นผู้มีความคิดเห็นประโยชน์อะไรในการยอมตายกับข้าพเจ้า ท่านมายอมสละชีวิตในเรื่องที่มิได้เห็นคุณอย่างแจ่มแจ้ง เหมือนคนตาบอดทำกิจการในที่มืดจะให้สำเร็จประโยชน์อย่างไร"
หงส์สุมุขกล่าวตอบว่า "ทำไมท่านจึงไม่รู้แจ้งซึ่งความหมายแห่งธรรม ธรรมที่บุคคลเคารพแล้ว ย่อมแสดงประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเพ่งถึงธรรมและประโยชน์ที่จะได้จากธรรม (มิใช่ผลประโยชน์ทางวัตถุ) จึงมิได้เสียดายชีวิต ธรรมดามิตรเมื่อระลึกถึงธรรมอยู่ ก็ไม่ควรทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ แม้จะต้องเสียชีวิตก็ตาม นี้คือธรรมของสัตบุรุษ"
เมื่อนกทั้งสองกำลังเจรจากันอยู่อย่างนี้ นายพรานก็มาถึง และเกิดความสงสัยว่า นกตัวหนึ่งติดบ่วงอยู่ แต่อีกตัวหนึ่งมิได้ติดบ่วง ทำไมจึงยืนอยู่ใกล้ ๆ มิได้บินหนีไป จึงไต่ถาม หงส์สุมุขจึงตอบให้ทราบว่า เพราะพญาหงส์เป็นนายของตน จึงมิอาจละทิ้งท่านไปได้
เพื่อจะขอชีวิตแห่งพญาหงส์ สุมุขจึงกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหว่านล้อมให้พรานเห็นใจ ขอให้ปล่อยเขาทั้งสองไปพบญาติและบริวาร ด้านนายพรานนั้นนิยมสรรเสริญในน้ำใจอันภักดีและเสียสละของหงส์สุมุขอยู่แล้ว และต้องการจะปล่อยนกทั้งสองไป แต่เพื่อทดลองใจสุมุข จึงกล่าวว่า
"ท่านเองก็มิได้ติดบ่วง และเราก็มิปรารถนาจะฆ่าท่าน ท่านจงรีบไปเสียเถิด ขอให้ท่านอยู่เป็นสุขตลอดกาลนาน"
ด้านหงส์สุมุขตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะมีชีวิตอยู่ โดยไม่มีพญาหงส์ ถ้าท่านพอใจเพียงชีวิตเดียวก็ขอให้ปล่อยพญาหงส์เถิด ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้นท่านจะปล่อยหรือจะกินเสียก็ได้ อนึ่ง ข้าพเจ้าทั้งสองมีรูปกายเท่ากัน ถึงจะเอาชีวิตข้าพเจ้าไปแทน ลาภของท่านก็มิได้พร่อง ขอได้โปรดเปลี่ยนตัวข้าพเจ้ากับพญาหงส์เถิด ถ้าท่านไม่แน่ใจก็ขอให้เอาบ่วงผูกมัดข้าพเจ้าไว้ แล้วปล่อยพญาหงส์ไป"
พรานมีใจอ่อนโยนยิ่งขึ้น ต้องการจะปล่อยพญาหงส์เพื่อเป็นรางวัลแก่สุมุข จึงกล่าวว่า
"ขอให้ใคร ๆ ทราบเถิดว่า พญาหงส์พ้นจากบ่วงความตายได้ก็เพราะท่าน มิตรอย่างท่านหาได้ยากในดลก หรืออาจไม่มีในโลก ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นใจท่าน เคารพในน้ำใจท่าน ขอท่านทั้งสองจึงบินไปเถิด ไปเป็นสุขในหมู่ญาติและบริวาร"
เมื่อพญาหงส์และสุมุขได้ทราบว่า นายพรานทำการดักบ่วงเพื่อหาทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ก็ต้องการจะตอบแทนน้ำใจของนายพราน จึงขอร้องให้นายพรานพาไปเฝ้าพระราชา และเล่าเรื่องราวให้พระราชาฟัง
พระราชาทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้วก็ทรงเลื่อมใสในนกและพรานที่ประพฤติธรรมต่อกัน จึงทรงพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่นายพรานเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพไปตลอดชีวิต
**************
การคบเพื่อนที่ดี เป็นวิถีทางแห่งความสุขความเจริญของชีวิต ทั้งปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมิตรที่ดีตามหลักในศาสนาพุทธคือ เป็นมิตรที่มีอุปการะ ร่วมทุกข์ร่วมสุข แนะนำประโยชน์ และมีความรักใคร่ ในขณะเดียวกัน พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียม 4 จำพวก ได้แก่ คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ และคนชักชวนไปในทางเสื่อม
การคบบัณฑิตและนักปราชญ์มีประโยชน์มากอย่างนี้ การมีคนดีเป็นมิตรสหาย เมื่อมีทุกข์ก็เป็นที่พึ่งได้ ไม่ยอมละทิ้งในยามวิบัติ และยอมสละได้แม้ชีวิตเพื่อมิตรที่ดี กัลยาณมิตรผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมแห่งมิตรนี้ หาได้ยากในโลก ผู้ใดได้แล้วควรประคับประคองรักษาด้วยดี
ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ "เพื่อเยาวชน" ของสำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น