นิทานสอนใจ : ชาวนาผู้ไม่จองเวร และโจรกลับใจ
กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีพระเถระในพระพุทธศาสนารูปหนึ่งต้องการ เดินทางจากแคว้นโกสัมพีไปยังนครพาราณสี ระหว่างทางพระเถระได้พบกับพ่อค้าเพชรพลอยคนหนึ่งชื่อ "ปัณฑุ" กำลังเดินทางด้วยขบวนรถม้า พ่อค้าเพชรพลอยจึงนิมนต์พระเถระให้ร่วมในขบวนของเขาด้วยจิตใจยินดี และคิดว่าท่านอาจจะเป็นผู้นำโชคลาภมาให้ในโอกาสหนึ่ง
ระหว่างทาง ขบวนรถม้าของพ่อค้าเพชรก็พบเกวียนบรรทุกข้าวของชาวนาจอดหักขวางทางอยู่ ทำให้รถม้าไม่อาจผ่านไปได้ พ่อค้าเพชรใจร้อนอยากไปถึงเมืองพาราณสีโดยเร็ว จึงสั่งให้ทาสรับใช้ของตนลงไปผลักรถของชาวนาให้พ้นทางเสีย แม้ชาวนาและพระเถระจะวิงวอนสักเท่าใด เขาก็หาฟังไม่ ทำโดยหวังให้รถม้าของตนไปได้โดยเร็วเท่านั้น
เมื่อขบวนของพ่อค้าเพชรผ่านจุดดังกล่าวมาได้สักระยะ พระเถระก็ขอลงจากขบวน โดยบอกว่า อาศัยเดินทางมาพอหายเหนื่อยแล้ว จะขอเดินทางโดยลำพังต่อไป จากนั้นท่านก็ย้อนกลับมาช่วยชาวนาซ่อมเกวียน ทำให้ชาวนารู้สึกเลื่อมใสในพระเถระเป็นอันมาก ท่านได้มอบคำสอนเกี่ยวกับ "กฎแห่งกรรม" อันเป็นผลรวมแห่งการกระทำให้แก่ชาวนา
ขณะนั้นเอง เมื่อพวกเขากำลังจะออกเดินทางต่อ ม้าก็ได้สะดุดเข้ากับวัตถุอย่างหนึ่ง ชาวนาเข้าใจว่าเป็นงู แต่พระเถระพิจารณาอย่างดีจึงเห็นว่ามันเป็นถุงทองคำ จึงมอบให้แก่ชาวนา และบอกว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำความดีตอบแทนความชั่วร้าย ขอให้นำถุงทองคำนี้ไปมอบแก่พ่อค้าเพชร เพราะมันต้องเป็นของพ่อค้าเพชรอย่างแน่นอน
ชาวนาเชื่อฟังพระเถระ และตั้งใจว่า เมื่อถึงเมืองพาราณสีแล้ว จะนำถุงทองคำไปมอบคืนแก่เจ้าของ ด้านพ่อค้าเพชรเองนั้นก็กำลังไม่สบายใจอย่างหนัก เพราะเขาเดินทางมาถึงเมืองพาราณสีแล้ว แต่กลับหาถุงทองคำไม่พบ เขานึกสงสัยทาสรับใช้ชื่อ "มหาทูต" จึงจับมาเฆี่ยนตี บีบคั้นให้รับสารภาพ แต่มหาทูตก็ไม่ยอมรับสารภาพเพราะไม่ได้ขโมยไป ขณะที่มหาทูตกำลังบาดเจ็บเจียนตายจากการถูกทำโทษ ชาวนาพร้อมถุงทองคำก็มาถึงพอดี ช่วยชีวิตของมหาทูตได้ทันการ
พ่อค้าเพชรมีความยินดีเป็นอันมาก เขาจึงแนะนำชาวนาให้กับเพื่อนของเขาซึ่งเป็นพ่อค้าข้าว ให้รับซื้อข้าวจากชาวนา ประกอบกับเพื่อนของพ่อค้าเพชรเอง ก็กำลังทุกข์หนัก เพราะในวันพรุ่งนี้ เขาต้องส่งข้าวให้กับทางราชสำนัก แต่เขาไม่มีข้าวเหลือเลย เขาจึงรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 3 เท่า และเพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจชาวนา พ่อค้าเพชรจึงมอบรางวัลแก่ชาวนาอีกด้วย อีกทั้งยังเลื่อมใสในพระเถระ เขาจึงบริจาคทรัพย์สร้างวัดอันร่มรื่นในเมืองโกสัมพี
ชาวนาได้สิ่งดี ๆ ตอบแทนก็เพราะตั้งตนอยู่ในโอวาทของนักปราชญ์ และเป็นผู้ไม่จองเวร ตรงกันข้ามกับทาสรับใช้มหาทูตซึ่งโกรธแค้นพ่อค้าเพชรเป็นอันมากที่ทุบตีตนอย่างไม่มีเหตุผล จึงหนีไปเป็นหัวหน้าโจรอยู่ในป่า ซ่องสุมกำลัง
จากฝีมือของพ่อค้าเพชรที่เลื่องลือออกไป ทำให้มีพระราชาองค์หนึ่งรับสั่งให้พ่อค้าเพชรทำมงกุฏทองคำบริสุทธิ์ และประดับด้วยอัญมณีสูงค่า พ่อค้าเพชรดีใจมาก ทำอย่างสุดฝีมือ และเสร็จแล้วจึงจัดขบวนคุ้มกันนำมงกุฏไปถวายพระราชา โชคไม่ดีที่ระหว่างทางเจอโจรป่าดักปล้น ซึ่งก็คือกลุ่มโจรของมหาทูต อดีตทาสรับใช้ของตนนั่นเอง
พ่อค้าเพชรถูกปล้นจนหมดเนื้อหมดตัวจึงสำนึกได้ถึงกรรมที่ตนเองเคยก่อเอาไว้
วันเวลาผ่านไป ก็ได้มีสมณะหนุ่มชื่อ ปัณฐกะ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระเถระ เดินทางมาพบท่านที่เมืองโกสัมพี ระหว่างทาง สมณะหนุ่มก็ถูกกลุ่มโจรของมหาทูตปล้นเอา แต่ท่านไม่มีอะไรจะให้ จึงถูกโจรทุบตีแทบเอาตัวไม่รอด ต้องนอนซมอยู่ในป่า 1 คืน พอรุ่งเช้าขณะเดินโซเซออกมาจากป่า ท่านก็พบว่าพวกโจรกำลังทะเลาะวิวาทกันเอง ใช้อาวุธประหัตประหารกันจนมีคนตายเกลื่อนกลาด เมื่อกลุ่มโจรแตกสลาย ท่านจึงได้เข้าไปช่วยหัวหน้าโจร ซึ่งก็คือมหาทูตที่สั่งให้ลูกน้องทำร้ายท่านเมื่อวานนี้ เอาน้ำให้ดื่ม
มหาโจรรู้สึกเสียใจที่ทำกับสมณะอย่างทารุณ แต่ท่านกลับมิได้ถือโทษ กลับเข้าช่วยเหลือเขา อีกทั้งยังเสียใจที่ลูกน้องของเขาก็คิดทำลายเขา สมณะปัณฐกะจึงได้ให้โอวาทแก่มหาโจร ขอให้เขาทำใจให้สงบ การที่เขาสอนให้ลูกน้องหรือบริวารเหี้ยมหาญนั้น ได้ย้อนกลับมาทำร้ายตัวของเขาเอง ถ้าเขาสอนให้ลูกน้องมีเมตตากรุณาประจำใจ เขาย่อมไม่ประสบชะตากรรมเช่นนี้
มหาโจรรู้ว่าตนเองนั้นต้องตายแน่ จึงขอร้องสมณะหนุ่มขอให้ช่วยไปบอกพ่อค้าเพชรด้วยว่า อโหสิให้เขาด้วย และบอกที่ซ่อนสมบัติของพ่อค้าเพชร ขอให้พ่อค้าเพชรมารับไปเสีย จากนั้นก็สิ้นใจ
พ่อค้าเพชรพอได้ทราบเรื่อง ก็จัดพิธีศพให้กับมหาทูตอย่างดี พร้อมสลักเรื่องราวของโจรกลับใจคนนี้ไว้บนศิลาหน้าสุสานด้วย
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้เลี้ยงคนให้เป็นคนดี ย่อมได้รับการสนองตอบด้วยความดี ผู้สอนคนให้เป็นโจร ย่อมได้รับการสนองตอบด้วยการกระทำอย่างโจร พิจารณาได้จากเรื่องของชาวนาและมหาทูตเป็นตัวอย่าง
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น