นิทานสอนใจ : ลูกช้างกับช่างไม้

นิทานสอนใจ : ลูกช้างกับช่างไม้


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีช่างไม้ชาวเมืองพาราณสีจำนวน 500 คนมีอาชีพโค่นต้นไม้ทำเครื่องเรือน และปราสาท ได้รับเงินทองมากมายจากการประกอบอาชีพนี้ โดยพวกเขาต้องแล่นเรือทวนน้ำขึ้นไปถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง จึงจะสามารถโค่นไม้ต้นใหญ่มาทำเครื่องเรือนได้ตามต้องการ

และในครั้งหนึ่งที่เหล่าช่างไม้ทั้ง 500 คนกำลังตั้งกองโค่นไม้อยู่ในป่า ก็มีช้างพลายเชือกหนึ่งที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงบังเอิญเหยียบตอตะเคียนที่แหลมคม ทำให้มันได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส อย่างไรก็ดี ช้างได้ยินเสียงเหล่าช่างไม้โค่นต้นไม้อยู่ไม่ไกลก็คิดว่า อาจขออาศัยพวกช่างไม้ช่วยถอดหนามให้ได้ จึงเดินเขยกเท้าไปหาช่างไม้ เมื่อเข้าไปใกล้ก็นอนลง ช่างไม้เห็นช้างเท้าบวมฉุ เพราะตอไม้ตำเท้า จึงเอามีดคมกรีดรอบ ๆ ตอไม้ แล้วเอาเชือกผูกดึงตอไม้ออกมา บีบหนองออกแล้วชะแผลด้วยน้ำอุ่น รักษาแผลให้ด้วยยาสมุนไพร ไม่นานนัก แผลที่เท้าช้างก็หายสนิท

ช้างนั้นเป็นช้างกตัญญู คิดว่า เราหายจากโรคร้ายครั้งนี้เพราะการช่วยเหลือของช่างไม้ เราควรตอบแทนพวกเขา ตั้งแต่นั้นมา ช้างก็ช่วยฉุดลากต้นไม้มาตลอด ฝ่ายพวกช่างไม้ก็รักและสงสารช้าง เมื่อเวลากินอาหารก็เอาข้าวของตนให้ช้างคนละปั้น รวมได้ 500 ปั้น เป็นเช่นนี้มาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง ช้างเริ่มแก่ตัวลง ทำงานไม่ค่อยไหว จึงเข้าป่าไปพาลูกช้างเผือกปลอด ซึ่งเป็นลูกของตนมาช่วยงานเหล่านายช่างแทนตัวเอง

ตั้งแต่ได้รับคำสั่งจากพ่อช้าง ลูกช้างก็ทำทุกอย่างตามที่พวกช่างไม้บอก ช่างไม้ก็เลี้ยงมันด้วยข้าว 500 ปั้นเหมือนกัน และมันก็เป็นมิตรสนิทสนมกับลูก ๆ ของพวกช่างไม้ แต่กระนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป เมื่อวันหนึ่ง มีฝนตกหนัก น้ำฝนได้ชะเอามูลแห้งของลูกช้างที่โตเป็นช้างหนุ่มลงสู่แม่น้ำ (ธรรมดาช้างหรือม้า หรือผู้ที่เป็นชาติอาชาไนยย่อมไม่ถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะลงแม่น้ำ) มูลนั้นไหลไปตามกระแสน้ำ ไปติดอยู่ที่พุ่มไม้แห่งหนึ่งที่ท่าน้ำเมืองพาราณสี

ครั้งนั้น ควาญช้างของพระราชาได้นำช้างจำนวนมากลงดื่มน้ำในแม่น้ำ พวกช้างเหล่านั้นได้กลิ่นมูลช้างอาชาไนยเข้าก็ไม่กล้าลง นอกจากไม่กล้าลงแล้ว ยังยกหางวิ่งหนีเสียอีก ควาญช้างจึงบอกให้นายหัตถาจารย์ทราบ และมีการตรวจพบว่า มูลช้างอาชาไนยนั้น คือเหตุที่ทำให้ช้างทั้งปวงวิ่งหนี

จากนั้น นายหัตถาจารย์ได้ทูลความเรื่องนี้แด่พระราชา และขอให้เสด็จตามหาช้างอาชาไนย พระราชาเสด็จโดยเรือ ทวนกระแสน้ำขึ้นไปบรรลุถึงที่อยู่ของพวกช่างไม้

พวกช่างไม้เมื่อเห็นพระราชาเสด็จมาก็ถวายบังคมพระราชา แล้วทูลว่า ถ้ามีพระประสงค์ไม้ ทำไมจึงต้องเสด็จมาเอง ให้คนมาเอาไปก็ได้ พระราชาตรัสว่า มิได้มีพระประสงค์ไม้ แต่ทรงต้องการช้างอาชาไนย ช่างไม้จึงทูลว่า ให้คนจับไปเถิดพระเจ้าข้า

อย่างไรก็ดี ลูกช้างไม่ยอมไป พระราชาตรัสถามช่างไม้ว่าต้องทำอย่างไร ลูกช้างจึงจะยอมไป ช่างไม้ตอบว่า "ต้องเอาทรัพย์ให้พวกช่างไม้พระเจ้าข้า" พระราชาจึงรับสั่งให้วางกหาปณะใกล้ ๆ ตัวช้าง 5 แห่ง ๆ ละ 1 แสนกหาปณะ แต่ลูกช้างก็ยังไม่ยอมไป

พระราชารับสั่งให้มอบผ้านุ่งห่มแก่ช่างไม้และภรรยาช่างไม้ทุกคน แต่ช้างก็ยังไม่ยอม ต่อเมื่อโปรดประทานเครื่องใช้สอย และเครื่องเล่นสำหรับเด็กแก่ลูกช่างไม้ทุกคน ลูกช้างจึงยอมไปกับพระราชา แต่ก็ไปด้วยความอาลัยอย่างยิ่ง

พระราชาแห่งกรุงพาราณสีนำช้างไปสู่พระนคร จัดการสมโภชน์อย่างดี ให้อยู่ในโรงช้างที่สวยงาม ตั้งช้างไว้ในฐานะสหายของพระองค์ ตั้งแต่ได้ช้างมงคลมา พระราชาก็ถึงความเป็นผู้มีบุญพร้อม ทรงสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะและกฤษฎาภินิหารเป็นที่เกรงขามของราชาสามันตราชทั้งปวง

ต่อมา พระราชาเสด็จทิวงคต ในขณะที่พระอัครมเหสีทรงพระครรภ์แก่ แต่ก็ปิดข่าวดังกล่าวนี้เอาไว้ไม่ให้ช้างรู้ ด้วยเกรงว่าช้างจะหัวใจแตกตาย เพราะความอาลัย

พอได้ข่าวพระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จทิวงคตแล้ว พระเจ้าโกศลก็กรีธาทัพมาล้อมนครพาราณสีไว้ มุ่งหมายจะยึดเอาราชสมบัติไปเป็นของพระองค์ ชาวเมืองจึงส่งข่าวไปทูลพระเจ้าโกศลว่า บัดนี้พระอัครมเหสีของพวกเขากำลังทรงพระครรภ์แก่ โหรทางกายวิทยาทำนายว่าอีก 7 วันพระนางจะประสูติ จึงขอผ่อนผันว่าพวกเราจักต่อยุทธ์กัน เมื่อถึงกาลนั้น พระเจ้าโกศลก็ยินยอม

อีก 7 วันต่อมา พระอัครมเหสีก็ทรงประสูติพระราชโอรส ประชาชนที่จิตใจหดหู่ท้อถอยอยู่ ก็ร่าเริงมีกำลังใจขึ้น จึงขนานนามพระราชกุมารว่า "อลีนจิตตกุมาร" มีความหมายว่า ทำให้จิตใจของประชาชนหายหดหู่ พร้อมกันนั้น ชาวพาราณสีก็ออกรบตามสัญญาที่ให้ไว้ แต่เนื่องจากไม่มีจอมทัพ จึงไม่อาจเอาชนะกองทัพของพระเจ้าโกศลได้ จึงมากราบทูลพระอัครมเหสีว่า ถ้ารบเช่นนี้เห็นทีจะแพ้แน่นอน พระนางจึงทรงประดับพระโอรส ให้บรรทมที่พระโจมผ้าทุกูลพัสตร์เสด็จสู่โรงช้าง ให้พระโอรสบรรทมใกล้เท้าช้าง แล้วตรัสว่า
"พ่อเอ๋ย สหายของท่านสิ้นพระชนม์แล้ว พวกเรากลัวท่านจะโทมนัสถึงหัวใจแตก จึงมิได้บอกท่าน กุมารนี้เป็นโอรสแห่งสหายของท่าน เวลานี้ พระเจ้าโกศลยกทัพมาประชิดนคร ต้องการยึดเอาเมืองนี้ไว้ในครอบครอง ท่านจงช่วยรักษาราชสมบัติไว้ให้โอรสแห่งสหายท่านด้วยเถิด"

ช้างเอางวงลูบไล้พระราชโอรสน้อย ยกขึ้นวางบนกระพองร้องไห้อาลัยรัก จากนั้นก็วางพระโอรสลงในพระหัตถ์ของพระราชเทวี แล้วออกจากโรงช้าง ตั้งใจว่าจะจับพระเจ้าโกศลให้ได้ พวกอำมาตย์แวดล้อมช้างจึงได้ตามออกไปด้วย ช้างได้บรรลือโกญจนาท ทำให้พลข้าศึกตกใจหนีไป จากนั้นช้างได้เข้าทำลายค่าย จับมวยผมพระเจ้าโกศลไว้ได้ แล้วนำมาหมอบลงแทบพระบาทแห่งพระราชโอรสน้อย

ต่อมา พระราชโอรสนั้น ได้ทรงเข้าพิธีอภิเษกเป็นพระราชาเมื่อพระชนมายุได้ 7 พรรษา ทรงพระนามว่า อลีนจิตตราชา เสวยราชสมบัติโดยธรรม

ข้อคิดจากเรื่องนี้

1. สัตว์เดรัจฉานเช่นช้างที่เจ็บเท้าในเรื่องนี้ ยังมีความกตัญญูกตเวทีต่อพวกช่างไม้ผู้ทำให้ตนหายป่วย แสดงถึงความเป็นผู้มีใจสูง มนุษย์ควรเอาอย่างได้

2. กัลยาณมิตร แม้ระหว่างสัตว์กับคนยังช่วยเหลือกันได้ เช่น ช้างมงคลช่วยให้อลีนจิตตกุมารราชโอรสแห่งสหายของตนได้ชนะข้าศึก และครองราชย์ได้ มนุษย์ต่อมนุษย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรกัน จึงควรอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือกันในยามวิบัติขัดข้อง

3. บุรุษอาชาไนย หรือสัตว์อาชาไนยย่อมแสดงความเป็นอาชาไนยของตนโดยลักษณะ คือเป็นผู้มีลักษณะดี มีคุณธรรมสูง มีความเสียสละเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม มีความเกรงกลัวบาป มีความรักเกียรติยศยิ่งชีวิต อยู่เพื่อความดี และยอมตายเพื่อความดี

4. คนดีเมื่อตนได้ดี ย่อมหาทางช่วยเหลือคนอื่นบ้างตามสมควร เช่น ลุกช้างเมื่อพระราชาจะนำไปสู่พระนคร ยังหาทางช่วยเหลือช่างไม้ ภรรยาและบุตรให้มีเครื่องใช้และทรัพย์ก่อนแล้วจึงจากไป

ขอบคุณนิทานดี ๆ จากหนังสือเพื่อเยาวชน ของสำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น