ทำไมข้าวเม็ดเล็ก
ชาวอีสานมีนิทานอธิบายเหตุว่าทำไมข้าวจึงมีเมล็ดเล็ก ได้ผูกเป็นนิทานไว้ดังนี้
เมื่อครั้งสมัยดึกดำบรรพ์ ข้าวสาลีเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องปลูก มีผลใหญ่เท่าฟักทอง เวลาข้าวแก่ดีแล้วข้าวจะกลิ้งเข้ามาสู่ยุ้งฉางทันที คนไม่ต้องไปเก็บเกี่ยว เพราะข้าวนั้นมีเจ้าแม่โพสพเป็นหัวหน้าดูแล
ครังนั้นมีแม่ม่ายคนหนึ่งมีสามีกี่คนก็ต้องมีอันเลิกรากันไป นางเป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่บ้านเพียงผู้เดียว วันหนึ่งข้าวสาลีสุกแล้วก็กลิ้งมาที่บ้านนางเหมือนปกติ ข้าวกลิ้งลงมามากทั้งใต้ถุนบ้านและบนบ้าน ข้าวอยู่เต็มหมดทั้งในห้องนอน ในครัว นางเป็นคนอารมณ์ร้ายอยู่แล้ว เมื่อเห็นข้าวเกะกะเต็มบ้าน นางก็เอามีดฟันข้าวจนแตกละเอียดพร้อมทั้งด่าไล่ให้หนีไปจากบ้านของนาง แม่โพสพจึงหนีไปอยู่ป่ากับฤาษี เป็นเหตุให้ข้าวเหีอดหายไปจากหมู่บ้านคนทุกแห่ง จนผู้คนล้มตายหมดเมือง
มีพ่อเฒ่าแม่เฒ่าสองผัวเมียตั้งบ้านอยู่ในป่า ชื่อว่า ปู่เยอย่าเยอ ไม่ได้ติดต่อกับผู้คนในเมืองมีชีวิตหลายร้อยปี ต่อมาข้าวสาลีที่มีอยู่ค่อยหมดไป ไม่เกิดขึ้นใหม่ สองเฒ่าจึงพเนจรไปในป่าด้วยความหิว ไปจนถึงถ้ำพระฤาษีที่เจ้าแม่โพสพมาอยู่ด้วย ฤาษีเล็งตาทิพย์รู้ว่าสองเฒ่าจะเป็นผู้ที่สืบศาสนาต่อไป จึงเล่าสาเหตุที่ข้าวสาลีหายไปจากโลก เพราะแม่โพสพโกรธที่มนุณย์ไม่รู้จักบุญคุณของข้าว ด่าข้าว นางจึงมาจำศีลอยู่ที่ป่าแห่งนี้ พระฤาษีคิดจะให้พันธุ์ข้าวแก่พ่อเฒ่าแม่เฒ่า จึงอ้อนวอนขอพันธุ์ข้าวจากเจ้าแม่โพสพ แม่โพสพจึงให้พันธูืข้าวเมล็ดเล็กแก่สองเฒ่า แต่สองเฒ่านำไปปลูกก็ไม่ขึ้นเพราะแม่โพสพไม่ได้ไปด้วย จึงกลับมาบอกฤาษี พระฤาษีจึงจับแม่โพสพหักปีกให้มาอยู่กับเมล็ดข้าว สองเฒ่าจึงปลูกข้าวได้งอกงาม พระฤาษีบอกให้สองเฒ่าเคารพแม่โพสพให้เซ่นไหว้ในนาข้าวตอนข้าวจะออกรวง และเมื่อเก็บเกี่ยวใช้วัวควายเหยียบย่ำข้าวให้ขอโทษขอขมาข้าว ภายหลังต่อมาข้าวก็เจริญงอกงาม ผู้คนทั่วไปก็ได้พันธุ์ข้าวจากปู่เยอย่าเยอ แต่เป็นพันธุ์เม็ดเล็ก ต่อมาคนก็มีลูกหลานมากขึ้น พระพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้สั่งสอนแก่มวลมนุษย์
ด้วยเหตุนี้ ชาวอีสาน จึงต้องเคารพ รู้บุญคุณเมล็ดข้าว และต้องทำพิธีขอขมาข้าวตอนเก็บเกี่ยวเรียกว่า "บูญคูณลาน" และพิธีสู่ขวนข้าว(สู่ขวัญข้าว) เจ้าพิธีกล่าวขอโทษข้าวที่ต้องเหยียบย่ำและต้องนำไปแลกพริกแลกเกลือ ชาวอีสานมักจะเรียกปู่เยอย่าเยอ มาร่วมกินอาหารในพิธีกรรมต่าง ๆ เพราะเป็นผู้ให้พันธุ์ข้าวแก่มนุษย์
ที่มา : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 5(หน้า 1744),5 ธันวาคม 2542
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น