นิทานเรื่อง กบกินเดือน
เป็นนิทานพื้นบ้านของชาวโคราช ที่ผูกขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เช่น การเกิดจันทรุปราคา หรือ สุริยุปราคา นิทานพวกนี้มีอยู่หลายแนว เรื่อง กบกินเดือน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่มุ่งหวังให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินได้ดีทีเดียว เรื่องมีอยู่ดังนี้
ชายคนหนึ่งเป็นคนยากจน เที่ยวเตร็ดเตร่พเนจรเรื่อยเปลื่อย จนกระทั่งไปพบเห็น งูกับพังพอนกำลังต่อสู้กัน พองูกัดพังพอนตาย งูก็ไป แห่น(ขย้ำเขี้ยว) เปลือกไม้ต้นหนึ่ง แล้วพ่นใส่ร่างพังพอน พังพอนก็ฟื้น แล้วต่อสู้กันต่อไป จนกระทั่งงูตาย พังพอนก็ไป แห่น(ขย้ำเขี้ยว) เปลือกของต้นไม้ต้นนั้นมาพ่นใส่งู พองูฟื้นขึ้น ต่างก็แยกหนีไป ชายคนนั้นจึงได้นำเอาเปลือกไม้ต้นนั้นติดตัวไปด้วย เพื่อนำไปทำยา
เมื่อเดินทางต่อไป ได้พบร่างของกาตายตัวหนึ่ง ชายผู้นั้นทดลองใช้ยาเปลือกไม้มาเคี้ยวแล้วพ่นใส่กา กาตายตัวนั้นก็ฟื้นขึ้นมา และอาสารับใช้เพื่อตอบสนองบุญคุณ โดยการไปเที่ยว ฉก หม้อข้าวของชาวบ้านมาให้ชายผู้นั้นกินข้าวทุกวัน ต่อมาก็ไปพบกบตายตัวหนึ่ง จึงพ่นยาชุปชีวิตกบขึ้นมาได้อีก ช้างตัวหนึ่งเห็นความสามารถ ก็เลยรับอาสาให้ชายผู้นั้นขี่คอเดินทางไปพร้อมกันทั้งกาและกบ จนกระทั่งเดินทางมาถึงเมือง ๆ หนึ่ง ทั้งหมดได้ยินเสียงร้องห่มร้องไห้กันทั่วเมือง เลยไต่ถามเรื่องราวดู ได้ความว่าลูกสาวเจ้าเมืองถึงแก่ความตาย ถ้าหมอคนไหนรักษาให้ฟื้นได้ จะยกลูกสาวให้ และมอบบ้านเมืองให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง ชายผู้นั้นก็รับอาสาลองดู ชาวเมืองจึงนำไปพบกับเจ้าเมือง เจ้าเมืองก็อนุญาติให้รักษาได้ ชายผู้นั้นรีบนำยาดีออกมาฝน แล้วพ่นไปพ่นมาที่ร่างของลูกสาวเจ้าเมือง จนกระทั่งฟื้นคืนชีวิตเช่นเดิม เจ้าเมืองดีใจมากจึงยกลูกสาวและบ้านเมืองครึ่งหนึ่งให้ครอบครองตามสัญญา ชายผู้นั้นก็มีความสุขเรื่อยมา
อยู่มาจนกระทั่งมีลูกเติบใหญ่ วันหนึ่งภรรยาและลูกก็ถามไถ่ว่าได้ยาดีมาจากไหนจะขอดูให้ได้ ชายผู้นั้นซุกซ่อนไว้ไม่ยอมนำออกมาให้ดู จนกระทั่งคืนเดือนหงายคืนหนึ่ง ชายผู้นั้นเกิดใจอ่อน นำยาออกมาจากที่ซ่อนมาให้ภรรยาและลูกดูที่นอกชาน พระจันทร์เห็นยาดีก็เลยคว้าเอาไปจ้อย ชายผู้นั้นก็เสียใจมาก กบอาสาจะไปนำมาคืนให้ พอกบเข้าไปใกล้พระจันทร์เมื่อใด ชาวบ้านก็นึกว่ากบจะกินพระจันทร์ เลยช่วยเหลือพระจันทร์โดยการตีฆ้องตีกลองกันเกรียวกราว กบเลยไม่สามารถนำยามาคืนให้เจ้านายของตนได้ แต่กบก็ยังคงพยายามอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งทุกวันนี้
อธิบายศัพท์ - กบกินเดือน : จันทรุปราคา - แห่น : แทะ เล็ม ขย้ำเคี้ยว - ฉก : ขโมย - จ้อย : หายไปเลย
ที่มา : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1(หน้า 6),5 ธันวาคม 2542
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น