นิทานสอนใจ : มะม่วงสื่อความกตัญญู

นิทานสอนใจ : มะม่วงสื่อความกตัญญู


"ความกตัญญู" อยู่คู่โลกมานานแสนนานจริงๆ มีเรื่องราวมากมายที่เป็นตัวอย่างของความกตัญญู ดังเช่นเรื่องราวของสัตว์ตัวหนึ่งที่สามารถรับรู้ถึงความกตัญญูได้

จากเรื่องเล่าของนกแขกเต้าที่มีพละกำลังมากตัวหนึ่ง ได้แสดงความกตัญญูต่อพระราชาที่ได้ชุบเลี้ยงมา ฝ่าอันตรายไปนำมะม่วง "อัพภันดร" จากป่าหิมพานต์มาถวายพระราชเทวี เพราะทรงทราบว่ามะม่วง "อัพภันดร" นั้นเสวยแล้วจะทรงงดงามขึ้น สุขภาพดียิ่งขึ้น และถ้าหวังได้ราชโอรสเป็นพระเจ้าจักรพรรดิก็จะสมหวัง นกแขกเต้านำมะม่วงที่อยู่ในบริเวณที่เจ้ายักษ์คอยเฝ้าอยู่มาได้โดยไม่มีอันตราย ซึ่งเป็นเพราะเจ้ายักษ์ซึ้งในความกตัญญูของนกแขกเต้า นอกจากจะไม่ทำร้ายนกแขกเต้าแล้ว ยังชี้ทางให้ทำงานได้สำเร็จด้วย

นั่นเป็นเพียงเรื่องเล่าที่คอยสอนและเตือนสติให้ทุกคนระลึกถึงผู้มีผระคุณ ทีนี้ลองมาฟังเรื่องราวเมื่อสองพันกว่าปี เมื่อสมัยพุทธกาลกันบ้าง

เมื่อครั้งพระพุทธเจ้าเสด็จมายังกรุงกบิลพัสด์ เพื่อโปรดพระญาตินั้น บรรดาพระญาติต่างก็ตามออกมาผนวชกันจำนวนมาก รวมทั้งพระนางพิมพามเหสี และพระราหุลโอรส สำหรับหระราชหุลนั้นได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรองค์แรกของพระพุทธศาสนา สามเณรราหุลนั้นเป็นผู้มีความกตัญญูจึงได้เฝ้าติดตามและดูแลพระภิกษุณีผู้เป็นมารดาตลอดมา

วันหนึ่งพระนางพิมพาเกิดอาพาธด้วยโรคลมเสียดท้อง ซึ่งเป็นโรคประจำของพระองค์เอง พระราหุลทรงทูลถามถึงวิธีการรักษา พระนางจึงบอกว่า "หาได้ฉันน้ำที่คั้นมาจากผลมะม่วง อาการก็จะทุเลาลงได้" พระราหุลจึงรับอาสาจะไปหาน้ำมะม่วงมาให้ แต่เนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลาที่ไม่สามารถจะหาน้ำมะม่วงมาได้ด้วยตัวเอง

พระราหุลจึงออกเดินทางไปหาพระสารีบุตรซึ่งเป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อพระสารีบุตรเห็นพระราหุลมีหน้าตาเศร้าหมองก็ไต่ถามถึงสาเหตุ ซึ่งพระราหุลก็เล่าให้ฟังถึงเรื่องราวดังกล่าว

ครั้นรุ่งเช้าพระสารีบุตรเข้าไปบิณฑบาตภายในวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล พอดีมีชาวบ้านนำมาถวายพระเจ้าปเสนทิโกศล ซึ่งพระองค์ก็ได้ทรงคั้นมะม่วงนั้นถวายพระสารีบบุตร เมื่อพระสารีบุตรรับบิณฑบาตแล้วจึงเดินออกไปจากวัง โดยไม่ได้ฉันน้ำมะม่วงนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงสงสัยว่า "ทำไมพระสารีบุตรไม่ฉันน้ำมะม่วงที่ทรงคั้นถวาย แต่ไม่กล้ารับสั่งถามตรงๆ จึงให้คนติดตามพระสารีบุตรไป"

ผู้ติดตามนั้นเห็นพระสารีบุตรนำน้ำมะม่วงไปให้พระราหุล เพื่อให้พระราหุลนำไปให้พระมารดาฉันแก้อาการป่วย จึงนำความไปกราบทูลพระเจ้าปเสนทิโกศล พระองค์ทรงสดับฟังดังนั้น เกิดความคิดว่า หากพระพุทธเจ้าไม่ทรงออกผนวช พระราชวงศ์ทั้งหมดคงไม่ได้ละการเสวยสุขทางโลกมาอยู่ใต้ร่มเงาพระธรรม และมีความเป็นอยู่อย่างลำบากเช่นนี้ และคิดต่อไปว่าถ้าหากพระศาสดาไม่ออกผนวชก็จะไม่ได้เป็นพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเช่นนี้ แต่จะต้องเป็นเจ้าจักรพรรดิแทน และพระเจ้าปเสนทิโกศลก็คงเป็นข้าราชบริวาทที่รับใช้อยู่ในวังของพระจักรพรรดินั้น

เมื่อเป็นเช่นนี้ก็หมายถึงว่า การบวชของพระพุทธเจ้านั้นทรงเป็นประโยชน์ต่อพระเจ้าปเสนทิโกศลอย่างมาก พระองค์ทรงตั้งพระทัยว่าจะทำนุบำรุงพระราชวงศ์ที่ทรงออกผนวชทั้งหมดนี้ให้เป็นสุขสืบไป นับว่าเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทิตาของพระราหุลทำให้เกิดผลดีตามมาเกินคาดหมายทีเดียว

เรื่องราวของพระเจ้าปเสนทิโกศลที่หันมาทำนุบำรุงพระญาติและพระพุทธศาสนา เพราะซึ้งใจในความกตัญญูของพระราหุลและพระสารีบุตรที่รู้จักตอบแทนผู้มีพระคุณ แม้จะเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายพันปีมาแล้วก็ตาม แต่ถ้าเราทุกคนตั้งใจอ่านและสังเกตให้ดีๆ จะรู้ว่าเรื่องราวอันดีงามของความกตัญญูเป็นความงามที่หาสิ่งใดเปรียบไม่ได้ เพราะเป็นความงามที่คนๆ หนึ่งรู้จักตอบแทนผู้ที่มีพระคุณกับตน

แต่ในปัจจุบันยิ่งถ้าใช้ตนเองเป็นเครื่องทดสอบก็จะทราบว่า ความกตัญญูต่อผู้ที่มีพระคุณนั้น สามารถเป็นเกราะคุ้มครองภัยอันตรายได้แท้จริงไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหนย่อมมีคนสรรเสริญเพราะความงามของคำว่า "กตัญญูกตเวทิตา" เสมอ

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น