นิทานพื้นบ้าน เรื่อง นายคดกับนายซื่อ

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง นายคดกับนายซื่อ


นิทานพื้นบ้านเรื่องนี้น่าสนใจมากครับลองดูกับเลย …นานมาแล้ว มีชายหนุ่มสองคนที่มีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน เป็นเพื่อนรักกัน และออกไปทำมาหากินต่างบ้านต่างเมืองเหมือนกัน คนหนึ่งไปทำงานเป็นลูกจ้างของพ่อค้ามีชื่อว่า นายคด ผู้มีนิสัยคดโกงไปเสียทุกอย่าง ทั้งโกงตาชั่งและโกงเงิน ส่วนอีกคนหนึ่งไปทำงานเป็นลูกจ้างของเศรษฐีมีชื่อว่า นายซื่อ ผู้มีใจซื่อสัตย์และขยันหมั่นเพียร จนกระทั่งลูกสาวเศรษฐีกับนายซื่อเกิดรักใคร่ชอบพอซึ่งกันและกัน พอเศรษฐีทราบเรื่องจึงคิดลองใจชายหนุ่มว่าจะรักลูกสาวของตนจริงหรือไม่

“เจ้าอยากได้ลูกสาวของข้าไปเป็นคู่ครองใช่หรือไม่” เศรษฐีถาม พร้อมยื่นข้อเสนอให้นายซื่อ “ถ้าเจ้าอยากได้ เจ้าจะต้องฝนทั่งให้เป็นเข็ม”

นายซื่อรักลูกสาวเศรษฐีจึงรับคำอย่างเต็มใจ แล้วเตรียมหาก้อนหินมาไว้หลายๆก้อน จากนั้นจึงเริ่มลงมือฝนแต่ฝนไปได้เพียงนิดเดียว เศรษฐีก็มองเห็นความตั้งใจและความเพียรของชายหนุ่มที่จะต้องประสบความสำเร็จในสักวันหนึ่ง จึงยอมยกลูกสาวให้ ต่อมาไม่นานนายซื่อก็ได้ค้าขายแทนพ่อตาเศรษฐี ในที่สุดก็กลายมาเป็นลูกเขยเศรษฐีผู้ร่ำรวย

ฝ่ายนายคดเมื่อรู้ว่าเพื่อนรักได้ดิบได้ดีกลายเป็นเศรษฐี จึงเดินทางไปพร้อมกับภรรยาเพื่อขอความช่วยเหลือจากนายซื่อ โดยแต่งตัวมอซอใส่เสื้อผ้าที่ปะแล้วปะอีกไปหา ครั้นนายซื่อเห็นเช่นนั้นจึงถามไถ่เพื่อน

“ไปทำอะไรมา ทำไมยากจนอย่างนี้” นายซื่อถาม

“ข้าค้าขายหลายอย่างเหลือเกินแต่ขายอะไรก็ขาดทุน เห็นว่าเพื่อนพอที่จะช่วยเหลือข้าได้ จึงอยากมาขอยืมทุนสักก้อนไปค้าหอมค้ากระเทียม เห็นคนอื่นเค้าขายแล้วได้กำไรกัน” นายคดรำพึงรำพัน

ด้วยความสงสารและเห็นใจในความทุกข์ยากของเพื่อน นายซื่อจึงเอาเงินให้เพื่อนรักยืมไปเป็นทุนขายของจำนวนหนึ่ง แต่พอได้เงินไปแล้วนายคดก็เข้าบ่อนไปเล่นไพ่จนเหลือเงินติดกระเป๋าเพียงเล็กน้อย

วันต่อมานายคดก็ไปบอกนายซื่อว่าทุนที่ให้ยืมไปเมื่อวานนั้นน้อยเกินไป ทำให้ค้าขายได้กำไรน้อย จึงอยากจะขอยืมเงินเพิ่มอีก ซึ่งนายซื่อก็ให้เพื่อนยืมเงินด้วยความเต็มใจ แล้วนายคดก็นำเงินที่ได้มาไปเล่นการพนันจนหมด

เมื่อไม่มีเงินเหลืออยู่เลย ในที่สุดนายคดก็ออกอุบายหลอกเพื่อนรักอีกครั้ง โดยทำเป็นร้องไห้สะอึกสะอื้นไปหาเพื่อน พอนายซื่อเห็นเพื่อนร้องไห้ก็ตกใจ

“เพื่อนรัก เป็นอะไรไปล่ะ ถึงได้ร้องไห้มากมายอย่างนี้” นายซื่อตะโกนถาม

“ข้าไปค้าช้างได้กำไรมามากมาย ขากลับนั่งเกวียนมาตามแม่น้ำปิง มัวแต่ดูน้ำท่วม จึงไม่รู้ว่าเงินตกน้ำไปแล้วฮือๆ ” นายคดคร่ำครวญ

“เงินทองมีเกิดมีดับเป็นเรื่องธรรมดา หาเอาใหม่เถิดอย่าร้องไห้เสียใจไปเลย” นายซื่อพูดปลอบใจเพื่อน

แล้วนายซื่อก็ชักชวนนายคดเพื่อนรักให้ไปค้าขายที่เมืองตักสิลาด้วยกัน โดยจัดเตรียมเสบียงอาหารและสินค้าทั้งหมดใส่ไว้ในสำเภา ซึ่งตลอดเวลาในการเดินทางนายคดก็กินอาหารของนายซื่อจนหมด พอนายซื่อหิวก็มาขออาหารของนายคดกินบ้าง แต่นายคดไม่ให้พร้อมกับพูดว่า

“ถ้าอยากกินอาหารของข้า จะต้องควักลูกตามมาแลกกับอาหาร” นายคดบอก

ฝ่ายนายซื่อหิวจนตาลาย จึงยอมให้นายคดใช้มีดซุยควักลูกตาออกไปทั้งสองข้าง และในขณะที่ถูกควักลูกตา นายซื่อได้แต้พูดปลอบใจตัวเองว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” อยู่ตลอดเวลา

เมื่อนายคดควักลูกตาของนายซื่อออกมาทั้งสองข้างแล้ว ก็หลอกให้นายซื่อขึ้นไปบนฝั่งแม่น้ำ บอกว่ามีผลไม้และอาหารอยู่มากมาย แต่จริงๆแล้วในบริเวณนั้นมีเสือสองตัวอาศัยอยู่กับพระฤษีตนหนึ่ง โดยพระฤษีได้สอนเสือว่า

“ถ้าพวกเจ้าพบผู้ใดที่พูดว่า ‘พุทโธ ธัมโม สังโฆ’ ให้อุ้มมาหาข้านะ แต่ถ้าพบผู้ใดด่าพ่อ ด่าแม่ ด่าฟ้า ด่าลม ก็ให้กินคนนั้นเสีย”

ฝ่ายนายซื่อเมื่อขึ้นมาบนฝั่งได้แล้ว ก็พูดแต่คำว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ” อยู่อย่างนั้น จนเสือได้ยินก็พากันอุ้มไปหาพระฤษีที่อาศรม ครั้นพระฤษีเห็นนายซื่อก็พูดว่า “คนนี้เป็นคนรู้จักบุญคุณพ่อแม่ เป็นคนมีบุญ” พูดจบก็เหาะไปนำแก้วตาทิพย์มาใส่ให้นายซื่อทั้งสองข้าง

เมื่อนายซื่อได้ใส่ตาทิพย์ก็มองเห็นบ้านเมืองของตนเห็นลูกสาวเศรษฐีกำลังตักน้ำ พอหันไปทางเมืองตักสิลาก็เห็นนายคดขายสินค้าอยู่ในตลาดได้กำไรมากมายจึงเดินทางไปหานายคดเพื่อนรักทันที

“คด คดเอ๊ย” นายซื่อร้องเรียก

“ทำไมยังไม่ตายอีกล่ะ” นายคดตกใจ

นายซื่อจึงเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตนให้เพื่อนฟังอย่างละเอียด นายคดได้ยินดังนั้นก็อยากได้ตาทิพย์บ้างจึงขอให้นายซื่อควักลูกตาของตนออกไป ซึ่งขณะที่กำลังควักลูกตาอยู่นั้น นายคดก็ส่งเสียงด่าด้วยคำหยาบคายอยู่ตลอดเวลาทั้งด่าพ่อ ด่าแม่ ด่าฟ้า ด่าฝน จนมานั่งอยู่บนฝั่งแม่น้ำก็ยังร้องด่าไม่หยุด

ครั้นเสือสองตัวได้ยินเสียงร้องด่า ก็รีบวิ่งเข้าไปกัดกินนายคดคนไม่ดีตามคำสั่งสอนของพระฤษีจนเหลือแต่โครงกระดูก ด้วยความแค้นที่คิดว่านายซื่อทำให้นายคดต้องถูกเสือกัดกินโครงกระดูก นายคดก็เฝ้ารอแก้แค้นนายซื่อที่กำลังเดินทางกลับมาจากซื้อสินค้าในเมืองตักสิลา

เมื่อนายซื่อซื้อของเสร็จเรียบร้อยก็เดินตามเพื่อนพอมาถึงบริเวณริมฝั่งแม่น้ำก็ร้องเรียก จนได้ยินเสียงตอบรับแว่วๆมาจากใต้ขอนไม้ ปรากฏว่าเป็นเสียงของนายคดที่เหลือแต่โครงกระดูกพูดกับนายซื่อ

“เพื่อนรัก อยากได้เงินไหมล่ะ ถ้าอยากได้ก็ให้เอาหัวกะโหลกของข้าไปพนันกับเจ้าเมืองสิ บอกว่าเป็นหัวกะโหลกพิเศษที่พูดได้ร้องเพลงได้” หัวกะโหลกนายคดบอก

นายซื่อเชื่อเพื่อน ยอมทำตามข้อเสนอของหัวกะโหลกนายคด โดยนำหัวกะโหลกไปวางไว้บนหัวเรือ แล้วไปท้าพนันกับเจ้าเมืองว่าหัวกะโหลกนี้ร้องเพลงได้ แต่ปรากฏว่าหัวกะโหลกนายคดไม่ยอมร้องเพลงหรือพูดอะไรเลยสักคำ ทำให้นายซื่อเสียทรัพย์สินเงินทองไปทั้งหมด สร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับนายซื่อยิ่งนักที่รู้ว่านายคดไม่ซื่อกับตน

ครั้นพระอินทร์เห็นนายซื่อถูกนายคดกลั่นแกล้งและคดโกงอยู่ตลอดเวลาก็เสด็จลงมาช่วย โดยเนรมิตพระองค์เป็นม้ามาบอกให้นายซื่อนำม้าไปพนันร้องเพลง เพื่อจะได้ทรัพย์สินทั้งหมดกลับคืนมา เมื่อนายซื่อชนะพนันเจ้าเมืองได้ทรัพย์สินเงินทองทั้งหมดกลับคืนมาตามเดิมแล้วก็เดินทางกลับบ้าน เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้ภรรยาของตนฟัง

ฝ่ายภรรยารู้เรื่องก็โกรธเคืองนายคดยิ่งนัก จึงนำเอาหัวกะโหลกนายคดเจ้าเล่ห์ไปทุบทิ้งที่นอกเมืองทันที นับตั้งแต่นั้นนายคดก็ไม่สามารถไปคดโกงหรือหลอกลวงผู้ใดได้อีกเลย

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขรับเชิญ

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขรับเชิญ


สุนัขเฝ้าบ้านเศรษฐีเอ่ยชวนเพื่อนที่เป็นสุนัขจรจัดว่า

"ค่ำนี้ที่บ้านเจ้านายข้ามีงานเลี้ยง ข้าขอเชิญเจ้าไปร่วมงาน ด้วยนะ รับรองว่ามีอาหารดีๆ กินมากมายทั้งคืนเชียวล่ะ"

สุนัขจรจัดรับคำเชิญเเล้วก็รีบไปที่บ้านเศรษฐีตั้งเเต่หัวค่ำ

เเทนที่สุนัขจรจัดจะเข้าทางหน้าบ้าน มันกลับตรงไปที่ครัว หลังบ้าน เมื่อเห็นว่ามีอาหารมากมายมันก็ดีใจกระดิกหางไปมา

พ่อครัวบังเอิญมาเห็นเข้าจึงคิดวาเป็นสุนัขที่จะมาขโมยกิน อาหารจึงจับตัวสุนัขจรจัดเหวี่ยงออกไปทางหน้าต่างทันที

เมื่อสุนัขตัวอื่นๆ เห็นสุนัขจรจัดวิ่งพลางร้องโอดโอยเช่นนั้น จึงถามว่าไปงานเลี้ยงเป็นอย่างไรบ้าง

สุนัขจรจัดจึงเเกล้งตอบเเก้เก้อว่าตนเมาไปหน่อยจึงเข้าบ้าน เศรษฐีไม่ถูก

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

เเขกที่ดีควรเข้าทางประตูหน้าเสมอ

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขผู้ซื่อสัตย์

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขผู้ซื่อสัตย์


บ้านหลังหนึ่งเลี้ยงสุนัขเอาไว้เฝ้าบ้าน สุนัขตัวนั้น ซื่อสัตย์มากในยามกลางคืนขณะที่มันนอนหลับ หากได้ยินเสียงผิดปกติมันก็จะลุกขึ้นมาเห่าเสมอเพื่อ เตือนภัยเเก่เจ้าของบ้าน

คืนหนึ่ง มันไ้ด้ยินเสียงฝีเท้าคนย่ำใบไม้ดังกรอบเเกรบ เเผ่วเบาที่ใกล้รั้วบ้าน

เเม้จะได้เห็นว่าเป็นใครมันก็ส่งเสียงเห่าคำรามขู่ไว้ก่อน

เจ้าหัวขโมยจึงโยนเนื้อซุบยาเบื่อชิ้นหนึ่งเข้ามาในรั้ว สุนัขเฝ้าบ้านเดินเข้าไปดมๆ เเต่ก็ไม่กิน

มันยังคงเห่าต่อไปจนกระทั่งเจ้าของบ้านออกมาดู เเล้วก็ช่วยกันจับขโมยได้ในที่สุด

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

อามิสสินบนนั้นซื้อความซื่อสัตย์ภัคดีไม่ได้

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับสิงโต

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับสิงโต


สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งกำลังเดินเล่นอยู่ในป่าเมื่อสิงโตเดินผ่านมา มันก็ตกใจ จนสิ้นสติเพราะไม่เคยเห็นสิงโตมาก่อน

เดือนต่อมามันพบสิงโตอีกครั้งที่ริมลำธาร มันตกใจไม่น้อย เเต่ก็ยังควบคุมสติได้ ไม่ถึงกับเขาสั่นเป็นลมไปอีก

เดือนต่อมามันพบสิงโตที่ทุ่งหญ้าชายป่า มันก็ไม่รู้สึกกลัวอีก เเม้เเต่น้อย เเละยังกล้าวิ่งเข้าไปทักสิงโตอีกด้วยว่า

"สวัสดี ท่านเจ้าป่า วันนี้อากาศดีนะท่าน"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

คนเรามักไม่ยำเกรงผู้ที่คุ้นเคยกันดี

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับหมี

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับหมี


สุนัขจิ้งจอกเฒ่านั่งคุยกับหมีเฒ่าถึงประวัติชีวิตของพวกตนตั้งเเต่ วัยหนุ่มจนถึงวัยชราอย่างภาคภูมิใจ

"ข้าน่ะไม่เคยไปกินคนที่ตายเเล้วเลยนะ เจ้ารู้หรือไม่"

หมีอวดในความมีคุณธรรมของตน

เเต่สุนัขจิ้งจอกหัวร่อเบาๆ พลางว่า

"ถ้าเจ้าอยากให้ใครนับถือ เจ้าก็ไม่ควรกินคนที่ยังมีชีวิตอยู่"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ช่วยคนที่ยังไม่ตาย ย่อมเป็นที่น่านับถือกว่าช่วยคนที่ตายไปเเล้ว

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับลา

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับลา


วันหนึ่ง สุนัขจิ้งจอกเดินไปพบสิงโตที่กลางป่า มันรู้ว่าสิงโต จะต้องจับมันกินเป็นอาหารเเน่ๆ สุนัขจิ้งจอกจึงรีบกล่าวกับ สิงโตว่า

"ข้ารู้จักลาตัวอ้วนตัวหนึ่ง ข้าจะไปหลอกมันมาให้ท่าน"

หลังจากนั้นสุนัขจิ้งจอกก็รีบไปหลอกพาลามาที่กลางป่า

ลายอมตามมาเพราะได้เคยตกลงทำสัญญาเป็นเพื่อนตาย ต่อกันมานานเเล้ว

เมื่อลาเดินเข้าไปติดกับที่สิงโตวางไว้ สิงโตก็หันไปตะปบ สุนัขจิ้งจอกก่อน เพราะคิดว่าลานั้นเก็บไว้กินทีหลัง สุนัขจิ้งจอกก็ได้

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

คนไม่ซื่อกับมิตรสหายย่อมไม่มีใครอยากคบหา

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับฝูงเหลือบ

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับฝูงเหลือบ


เม่นตังหนึ่งเดินผ่านมาเห็นสุนัขจิ้งจอกบาดเจ็บติดอยู่ในซอกหิน ริมลำธาร

มีเหลือบฝูงใหญ่ตอมดูดเลือดของมัน เม่นเวทนาจึงเอ่ยว่า

"ข้าจะไล่พวกเหลือบเหล่านั้นให้ดีไหม"

สุนัขจิ้งจอกส่ายหน้าเเล้วว่า

"ขอบใจเพื่อนเอ๋ย ถ้าท่านไล่เหลือบฝูงนี้ไป ฝูงใหม่ที่หิวโซก็จะ มาตอมดูดเลือดข้าอีก เเต่ฝูงนี้มันอิ่ม เเล้วมันก็อยู่เฉยๆ ข้าจึงไม่เจ็บปวดมากนัก"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

เมื่อสิ้นคนที่ได้ผลประโยชน์จากเรา ก็อาจมีคนใหม่ๆ ที่หวังผล ประโยชน์จากเราเข้ามาในชีวิตอีกจนได้

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับไก่บ้าน

นิทานอีสป เรื่อง สุนัขจิ้งจอกกับไก่บ้าน


สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งอยากกินไก่บ้านมากจึงเเกล้งถาม ด้วยอุบายว่าไก่ตัวนั้นขันเสียงไพเราะเหมือนผู้เป็นพ่อ ได้หรือไม่

ไก่บ้านหลงกล จึงหลับตาโก่งคอขันทันที สุนัขจิ้งจอก จึงฉวยโอกาสงับคอไก่เเล้วพาวิ่งไป

ชาวนาจึงตะโกนร้องว่าจิ้งจอกขโมยไก่ของตน

ไก่จึงหลอกให้สุนัขจิ้งจอกร้องบอกชาวบ้านว่า ไก่ตัวนี้เป็นของมันมิใช่ของชาวบ้าน

จิ้งจอกเจ้าเล่ห์คิดว่าตนฉลาดเเต่ที่เเท้ยังขาดความเฉลียว

ดังนั้นมันจึงอ้าปากร้องบอกชาวบ้านตามที่ไก่เเนะนำ ไก่จึงได้ทีรีบบินปรื๋อออกจากปากหนีไปหาเจ้าของ อย่างรวดเร็วเเล้วก็หัวเราะเยาะ สุนัขจิ้งจอกเป็นการใหญ่

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ถ้าพูดมากไป ก็อาจทำให้เสียของดีๆ ที่อยู่ในกำมือเเล้ว ได้เช่นกัน

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง กากับนกนางเเอ่น

นิทานอีสป เรื่อง กากับนกนางเเอ่น

นกนางเเอ่นถามกาว่า
" เจ้าว่าขนของข้ากับขนของเจ้า ใครจะงามกว่ากัน " 

กามองขนของตนเเล้วตอบว่า
" ข้าว่าขนของข้าก็สวยดีนะ " 

นกนางเเอ่นขยับปีกพลางว่า
" เเต่เจ้าดูสิ ขอนของข้าดูสวยเป็นพิเศษในฤดูร้อน อย่างนี้ "

กาจึงกล่าวว่า
" ก็จริงนะ เเต่ขนของข้างามทุกฤดู ไม่ว่าฤดูใดมันก็ จะดำเช่นนี้"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ความงามที่คงทนยั่งยืน ย่อมเป็นความงามที่เเท้จริง

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง กาบ้ายอ

นิทานอีสป เรื่อง กาบ้ายอ


สุนัขจิ้งจอกเห็นกามีเนื้อชิ้นโตอยู่ในปาก จึงเอ่ยว่า

" เพื่อนกาเอ๋ย ตาของเพื่อนช่างงามราวกับตาเหยี่ยว ปีกก็เป็นเงางามดั่งปีกนกอินทรี ข้าอยากรู้นักว่าถ้า เพื่อนร้องเพลง เสียงของเพื่อนจะไพเราะเพราะ พริ้งเพียงใด "

กาได้ฟังคำป้อยอก็ชอบใจ รีบอ้าปากร้องเพลงอวด สุนัขจิ้งจอกทันใด

เมื่อกาอ้าปาก ชิ้นเนื้อก็ตกลงมาที่พื้น สุนัขจิ้งจอก ก็เข้าไปคาบ เนื้อเเล้ววิ่งจากไปทันที

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

คนที่มาเฝ้ายกยอปอปั้น ย่อมหวังได้ประโยชน์จากเรา

yengo หรือ buzzcity

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง สระหนองเอี้ยง

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง สระหนองเอี้ยง


ในครั้งพุทธกาล เมื่อพระพุทธองค์มีพระชนมายุ 60 พรรษา พระองค์ทรงคิดถึงเวลาที่ใกล้จะเสด็จปรินิพพาน จึงมีดำริที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาในนานาประเทศ ดังนั้น พระพุทธองค์พร้อมด้วยพระอานนท์และพระอรหันตสาวกจึงได้เสด็จสู่แดนสุวรรณภูมิ

ทุกแห่งที่พระพุทธองค์เสด็จไปถึง พระองค์จะทรงมอบพระเกศาธาตุมาบรรจุไว้ ณ สถานที่แห่งนั้น จนกระทั่งพระองค์เสด็จมาถึงเมืองภูกามยาว หรือ เมืองพะเยาในปัจจุบัน และยังได้ประทับ ณ จอมดอยลูกหนึ่งที่ตั้งอยู่ริมฝั่งสระหนองเอี้ยง

นายช่างทองที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านได้จัดอาหารมาถวายแด่พระพุทธองค์และพระอรหันตสาวก พระพุทธองค์ได้มอบพระเกศาธาตุ 1 เส้นแก่พระอานนท์ ซึ่งพระอานนท์ได้นำไปมอบให้แก่นายช่างทอง แล้วนายช่างทองก็นำพระเกศาธาตุบรรจุไว้ในกระบอกไม้รวก จากนั้นจึงทำผอบแก้ว ผอบทองคำ ผอบเงิน ผอบทองแดง ผอบทองเหลืองและผอบหิน บรรจุเป็น 7 ชิ้น นำไปถวายแด่พระเจ้าอโศกซึ่งพระเจ้าอโศกก็นำขึ้นถวายพระอินทร์ แล้วพระอินทร์จึงมีรับสั่งให้พระวิษณุกรรมนำไปประดิษฐานไว้ในถ้ำใต้จอมดอยลึกลงไปถึง 70 วา โดยพระอินทร์ทรงจุดประทีปบูชาตลอดกาล (ดอยแห่งนี้จึงได้ชื่อว่า “ดอยจอมทอง”)

กล่าวถึงนายช่างทองที่ถวายแต่ภัตตาหารแด่พระพุทธองค์เท่านั้น ไม่ได้ถวายน้ำฉัน พระพุทธองค์จึงให้พระอานนท์นำบาตรไปตักน้ำที่สระหนองเอี้ยงข้างเชิงดอย แต่สระแห่งนี้มีพญานาคดูแลรักษาอยู่ เมื่อพญานาคเห็นพระอานนท์กำลังเดินมาตักน้ำก็แผ่พังพานปกคลุมสระจนมองไม่เห็นน้ำ เพื่อไม่ให้พระอานนท์นำน้ำไปได้ พระอานนท์จึงนำเรื่องที่เกิดขึ้นมาทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์จึงเสด็จไปยังสระหนองเอี้ยง ตรัสแสดงพระธรรมเทศนาแก่พญานาคจนพญานาคเกิดความเลื่อมใสศรัทธาถวายน้ำแด่พระองค์และก่อนที่พระพุทธองค์จะเสด็จกลับได้ตรัสกับพญานาคว่า เมื่อเราปรินิพพานไปแล้ว ศาสนาของเราจะย่างเข้าถึงครึ่งค่อนห้าพันพระพรรษา ท่านจงมาสร้างรากฐานของพระพุทธศาสนาลงในสระแห่งนี้ และสร้างพระพุทธรูปให้ใหญ่เท่าพระเจ้ากะกุสันชะสัมมาสัมพุทธะสูง 32 วา

ครั้นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานได้ 2030 พรรษา พญานาคที่ดูแลรักษาสระหนองเอี้ยงได้รำลึกถึงพระพุทธดำรัสที่จะให้สร้างพระพุทธรูปในสระหนองเอี้ยง จึงเนรมิตตนเป็นผู้นุ่งขาวห่มขาวขึ้นมาบนบก พร้อมกับนำทองคำจากเมืองบาดาลมาอย่างมากมาย พญานาคแปลงเดินทางมาจนกระทั่งพบกับสองตายายที่กำลังเลี้ยงเป็ดและห่านอยู่ริมสระหนองเอี้ยง เมื่อพิจารณาดูแล้วเห็นว่าสองตายายนั้นเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์ จึงได้กล่าวกับสองตายาย

“ตากับยายเป็นคนแถวนี้หรือจ้ะ” พญานาคแปลงพูดทักทาย

“ใช่จ้ะ” สองตายายตอบพร้อมกัน พลางมองหน้ากันด้วยความสงสัย เพราะไม่เคยเห็นชายที่นุ่งขาวห่มขาวมาก่อน

“พ่อหนุ่มเป็นคนต่างถิ่นหรือจ้ะ มีอะไรให้ตายายช่วยหรือไม่” ยายถามด้วยความเมตตา

“ใช่จ้ะยาย ฉันมีเรื่องขอร้องให้ตากับยายช่วยฉันหน่อยจ้ะ” ชายแปลกหน้ากล่าวด้วยความยินดียิ่งนักแล้วพญานาคแปลงก็เล่าเรื่องราวทั้งหมดให้สองตายายฟัง พร้อมกับมองทองคำที่มีอยู่ให้สองตายายดำเนินการแทนตน

ครั้นสองตายายรับปากกับพญานาคแล้ว ก็เริ่มถมสระหนองเอี้ยงแล้วสร้างพระพุทธรูปตามที่พญานาคบอกทุกประการ โดยการก่อสร้างใช้เวลานานถึง 33 ปี จึงแล้วเสร็จในสมัยของพญาเมืองตู้เป็นเจ้าเมืองพะเยา ซึ่งพญานาคเมืองตู้ได้จัดให้มีพิธีทำบุญสมโภชพระพุทธรูปอย่างยิ่งใหญ่ และได้พระราชทานชื่อพระพุทธรูปนี้ว่า “พระเจ้าตนหลวงทุ่งเอี้ยงเมืองพะเยา”


yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง ไก่ฟ้ากับสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์

นิทานอีสป เรื่อง ไก่ฟ้ากับสุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์


สุนัขจิ้งจอกเจ้าเล่ห์ตัวหนึ่งเดินผ่านมาเห็นไก่ฟ้าเกาะอยู่บนกิ่งไม้ สูงข้างทาง

มันอยากจะกินไก่ฟ้าเป็นยิ่งนักจึงคิดหาอุบายเเล้วเอ่ยขึ้นว่า

"ไก่ฟ้าเอ๋ย ท่านช่างเป็นสัตว์ที่งดงามนัก ปีกของท่านมีสีสัน สดใสหลายสี ปากก็งดงามไม่เหมือนใคร อยากรู้จังว่าถ้าท่าน หลับตา เเล้วยังจะงามอยู่หรือไม่"

ไก่ฟ้าได้ฟังคำยกยอก็หลงเคลิบเคลิ้ม รีบหลับตาอวดทันที

สุนัขจิ้งจอกก็รีบฉวยโอกาสนั้นกระโดดงับตัวไก่ฟ้าไว้ได้

เมื่อไก่ฟ้าพลาดท่า เเต่ก็ยังมีสติ จึงเอ่ยขึ้นว่า

"จิ้งจอกเอ๋ย ก่อนตายข้าอยากฟังเสียงอันไพเราะของท่าน อีกครั้งได้ไหม"

สุนัขจิ้งจอกได้ฟังคำป้อยอก็หลงกล รีบอ้าปากเห่าคำราม ไก่ฟ้าจึงรีบบินหนีจากไปทันที

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

คำยกยอปอปั้นทำให้คนหลงเคลิบเคลิ้มจนไม่ระวังตนได้เสมอ

yengo หรือ buzzcity

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง ปฏิภาณไหวพริบกับวิชาความรู้

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง ปฏิภาณไหวพริบกับวิชาความรู้


กล่าวถึงชายหนุ่มสี่คนพี่น้องที่ตั้งใจจะไปศึกษาเล่าเรียนวิชาอาคมจากพระฤษีจึงจัดเตรียมเสบียงอาหารพากันออกเดินทางไปพบกับพระฤษีผู้มีมนต์วิเศษในป่าลึก

ซึ่งพระฤษีก็รับทั้งหมดเป็นลูกศิษย์ สั่งสอนเวทมนตร์วิเศษให้จนครบถ้วนบริบูรณ์

ครั้นถึงเวลากลับบ้านพี่น้องทั้งสี่คนก็กราบลาพระฤษีแล้วออกเดินทางกลับบ้านเมืองของตน ระหว่างทางพี่ชายคนโตไปพบกับกระดูกกองใหญ่กองหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าเป็นโครงกระดูกของอะไร ด้วยความอยากรู้ทุกคนจึงช่วยกันต่อโครงกระดูกเหล่านั้นจนรู้แน่ว่ากระดูกกองนี้เป็นเสือโคร่ง

ฝ่ายพี่คนที่สองอยากลองวิชาวิเศษที่ได้ร่ำเรียนมาจึงเป่าคาถาใส่โครงกระดูกเสือโคร่ง ทันใดนั้นโครงกระดูกเสือโคร่งก็มีเนื้อมีหนังปรากฏขึ้นมาอย่างน่าอัศจรรย์ ครั้นพี่ชายคนที่สามเห็นก็อยากลองวิชาชุบชีวิตที่ตนได้เรียนมาบ้าง จึงเริ่มท่องคาถาวิเศษ

เมื่อน้องคนเล็กที่ไม่มีวิชาวิเศษติดตัว เห็นพวกพี่ๆกำลังจะชุบชีวิตเสือโคร่งขึ้นมา จึงร้องเตือน

“ช้าก่อนพี่ๆ ทั้งหลาย นี่มันเป็นเสือโคร่งนะ เป็นสัตว์ดุร้าย ถ้าพวกพี่เป่าคาถาให้เสือมีชีวิตขึ้นมา มันจะต้องกัดกินพวกเราทุกคนอย่างแน่นอน” น้องคนเล็กอธิบาย

แต่พี่ชายทั้งสามคนไม่ยอมฟังคำเตือนกลับพากันพูดต่อว่าน้อง

“น้องเอ๋ย เจ้ากลัวว่าพี่ๆของเจ้าจะมีคาถาวิเศษนะซิ ถึงไม่อยากให้ลองวิชา” พี่ชายพูดขึ้นพร้อมกัน

เมื่อเตือนอย่างไรก็ไม่มีใครยอมฟัง น้องคนเล็กจึงคิดหาวิธีป้องกันตัวเองด้วยการปีนขึ้นไปอยู่บนต้นไม้ ส่วนพี่ชายทั้งสามคนก็ร่วมมือร่วมใจกันเป่าคาถาวิเศษใส่ซากเสือโคร่ง ไม่นานนักเสือโคร่งก็มีชีวิตขึ้นมาเหมือนเดิม แต่เพราะไม่ได้กินอาหารมานานหลายปีแล้ว เสือโคร่งหิวโซก็กระโจนเข้าใส่ทั้งสามคนพี่น้อง กัดกินเป็นอาหารอย่างเอร็ดอร่อย

ในที่สุดเสือก็กินทั้งสามคนพี่น้องจนหมดแล้วค่อยๆเดินกลับเข้าไปในป่า เหลือเพียงน้องชายคนเล็กที่หนีขึ้นไปบนต้นไม้เพียงคนเดียวเท่านั้นที่รอดพ้นจากอันตราย และเดินทางกลับไปถึงบ้านได้อย่างปลอดภัย


yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง คนขี้เหนียวกับทองคำ

นิทานอีสป เรื่อง คนขี้เหนียวกับทองคำ


ชายคนหนึ่งเป็นคนขี้เหนียว เขามักจะเอาสมบัติฝังดิน ไว้รอบๆ บ้านไม่ยอมนำมาใช้จ่ายให้เกิดประโยชน์

ต่อมาเขากลัวว่าจะไม่ปลอดภัยถ้าฝังเงินทอง ไว้หลาย เเห่ง เขาจึงขายสมบัติทั้งหมดเเล้วซื้อทองคำเเท่งหนึ่ง มาฝังไว้ที่หลังบ้าน เเล้วหมั่นไปดูทุกวัน

คนใช้ผู้หนึ่งสงสัยจึงเเอบตามไปดูที่หลังบ้าน เเล้วก็ขุด เอาทองเเท่งไปเสีย

ชายขี้เหนียวมาพบหลุมที่ว่างเปล่าในวันต่อมาก็เสียใจ ร้องห่มร้องไห้ไปบอกเพื่อนบ้านคนหนึ่ง

เพื่อนบ้านจึงเเนะนำประชดประชันว่า

"ท่านก็เอาก้อนอิฐใส่ในหลุมเเล้วคิดว่าเป็นทองคำสิ เพราะถึงอย่างไรท่านก็ไม่เอาเอามาใช้อยู่เเล้ว"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ของมีค่า ถ้าไม่นำมาทำให้เกิดประโยชน์ก็ย่อมเป็นของไร้ค่า

yengo หรือ buzzcity

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง คนมีโชค

นิทานพื้นบ้าน เรื่อง คนมีโชค


กล่าวถึงสาวงามนางหนึ่ง ผู้มีเสน่ห์ตรึงตราตรึงใจ ชายหนุ่มหลายคนต่างหลงใหลรักใคร่แต่นางเป็นหญิงที่คิดดี ประพฤติดี รู้จักรัก รู้จักเลือก จึงยังไม่รับรักจากชายใด วันหนึ่งมีชายหนุ่มที่แสนดีและขยันหมั่นเพียรมาหลงรักนางและสามารถเอาชนะใจนางได้ สองหนุ่มสาวจึงตกลงปลงใจใช้ชีวิตคู่ร่วมกันอย่างมีความสุข

วันเวลาแห่งความสุขผ่านไปไม่นาน สามีของนางก็ล้มป่วยและตายจากกันไป สร้างความโศกเศร้าเสียใจให้กับนางยิ่งนักแต่ด้วยความรักที่มีต่อสามี นางจึงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะไม่ขอมีความรักกับชายใดอีก และจะขออยู่เป็นหม้ายไปตลอดชีวิต ดังนั้น เมื่อเผาศพของสามีเรียบร้อยแล้ว นางจึงเก็บกะโหลกศีรษะของสามีไว้บนหัวนอนเพื่อกราบไหว้ก่อนนอนทุกคืน จนกระทั่งความรักความซื่อสัตย์ของนางเป็นที่กล่าวขานเล่าลือกันไปทั่วทั้งหมูบ้าน หนุ่มๆทั้งหลายต่างก็ปรารถนาที่จะได้นางมาครอบครอง แต่ด้วยความรักที่มั่นคงนางจึงไม่สนใจผู้ใดทั้งสิ้น

กล่าวถึงชายหนุ่มคนหนึ่งผู้มีสติปัญญาล้ำเลิศปรารถนาจะได้นางมาเป็นคู่ครองเช่นเดียวกับชายหนุ่มทั้งหลาย จึงมุ่งมั่นคิดหาวิธีเอาชนะใจนางจนกระทั่งหาวิธีได้สำเร็จ เขาจึงไปหากะโหลกศีรษะมาอันหนึ่ง แล้วนำผ้ามาห่อไว้อย่างเรียบร้อย ครั้นถึงเวลากลางคืน ชายหนุ่มก็สะพายกะโหลกศีรษะนั้นเดินผ่านหน้าบ้านของนางในดวงใจ พร้อมกับตะโกนถามว่า “ใครอยู่บนเรือนบ้าง ข้าขอน้ำดื่มสักหน่อยเถอะ”

ฝ่ายหญิงงามผู้ซื่อสัตย์ครั้นได้ยินเสียงตะโกนก็ถามชายหนุ่มจนได้ความว่า เดินทางมาจากแดนไกล และข้ามแม่น้ำไปฝั่งโน้น แต่ตอนนี้ดึกแล้วจึงไม่มีเรือข้ามเป็นแน่แท้ จึงอยากขอพักค้างแรมสักคืน วันพรุ่งนี้ก็จะเดินทางต่อไป

เมื่อได้ยินเรื่องราวทั้งหมดจากชายหนุ่ม นางจึงตอบไปว่า “ข้าเป็นผู้หญิงตัวคนเดียวนอนอยู่เรือนหลังนี้ ครั้นจะอนุญาตให้ท่านขึ้นไปนอนบนเรือนก็ไม่เป็นการสมควรนัก ข้าขอให้ท่านไปนอนที่ใต้ถุนยุ้งข้าวโน่นเถิด” ซึ่งชายหนุ่มก็ลงไปนอนที่ใต้ถุนยุ้งข้าวอย่างเต็มใจ แต่ก่อนนอนเขาได้นำกะโหลกศีรษะออกมาวางไว้บนหัวนอนอย่างทะนุถนอม

รุ่งเช้าชายหนุ่มก็แกล้งทำเป็นไม่สบายมาก และพูดกับกะโหลกศีรษะว่า “น้องจ๋า วันนี้พี่ไม่สบายมาก สงสัยว่าเราคงเดินทางต่อไปไม่ได้” ครั้นหญิงสาวผ่านมาได้ยินชายหนุ่มพูดกับกะโหลกศีรษะ ก็นึกในใจว่าชายหนุ่มนั้นคงจะรักภรรยาของตนมากเหมือนกับที่นางรักสามี เพราะแม้ว่าจะตายจากกันไปแล้ว ก็ยังนำกะโหลกศีรษะติดตัวไปไหนมาไหนด้วยเสมอ นางจึงเข้าไปถามไถ่ชายหนุ่มถึงอาการไม่สบาย ซึ่งในขณะนั้นก็เกิดพายุฝนตกลงมาอย่างหนัก ครั้นเห็นชายหนุ่มนอนเปียกฝนอยู่ก็เกิดความสงสารจึงรีบบอกให้ชายหนุ่มขึ้นไปนอนบนเรือน เพราะใต้ฝนยุ้งข้าวฝนสาดเข้ามาหมดแล้ว

ในที่สุดชายหนุ่มก็ย้ายขึ้นมานอนบนชานเรือนของนางอันเป็นที่รัก และก็ไม่ลืมที่จะนำเอากะโหลกศีรษะมาตั้งไว้บนหัวนอนของตนด้วย พอตกกลางคืน เมื่อชายหนุ่มเห็นว่านางนั้นเข้านอนแล้ว ก็แอบย่องเข้าไปในเรือนขโมยกะโหลกศีรษะสามีของนางที่วางไว้บนหัวนอนออกมาทันที

ครั้นรุ่งเช้าพอถึงเวลาที่นางตื่น ชายหนุ่มก็เริ่มแสดงท่าทางโกรธเกรี้ยวไม่พอใจ ส่งเสียงโวยวายดังลั่น “โอ้โฮ ข้าทิ้งเจ้าไว้ประเดี๋ยวเดียวเท่านั้นก็แอบมาเล่นชู้กันเสียแล้ว เสียแรงที่ข้าทั้งรักและไว้ใจเจ้า” สิ้นเสียงชายหนุ่มก็เอาค้อนมาทุบหัวกะโหลกทั้งสองจนแหลกละเอียด

ฝ่ายหญิงสาวที่เห็นเหตุการณ์ทั้งหมดก็เสียใจอย่างหนักกับการกระทำอันเลวร้ายของสามีที่เจ้าชู้เหลือเกิน เสียแรงรัก เสียแรงซื่อสัตย์ เหลือเพียงกะโหลกศีรษะก็ยังไม่วายที่จะไปเล่นชู้กับภรรยาของชายอื่นให้ตนเจ็บช้ำน้ำใจ

เมื่อชายหนุ่มเห็นว่าแผนการของตนนั้นสำเร็จไปอีกขั้นหนึ่งแล้ว ก็เริ่มแผนการลำดับต่อไปทันที โดยตอนสายๆของวันนั้น ชายหนุ่มก็เข้าไปกล่าวล่ำลานางเพื่อออกเดินทางต่อไป แต่หญิงสาวกลับพูดกับชายหนุ่มด้วยความห่วงใยว่า “ท่านยังไม่หายป่วยเลย จะรีบไปทำไมล่ะ พักผ่อนอยู่ที่นี่ก่อนเถอะ” แล้วนางก็ไปหายามาให้ชายหนุ่มกิน เฝ้าดูแลรักษาอาการป่วยของชายหนุ่มอย่างใกล้ชิด

ในที่สุดชายหนุ่มก็เป็นผู้โชคดี สามารถครอบครองหัวใจรักและซื่อสัตย์ของหญิงงามที่ตนหมายปองได้


yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง คนตัดไม้กับสุนัขจิ้งจอก

นิทานอีสป เรื่อง คนตัดไม้กับสุนัขจิ้งจอก


คนตัดไม้พาสุนัขจิ้งจอกเข้าไปซ่อนที่ข้างกระท่อม เมื่อถูกขอความช่วยเหลือ

พวกล่าสัตว์จูงหมาล่าเนื้อมาถึงก็ถามคนตัดไม้ว่าเห็น สุนัขจิ้งจอกหรือไม่

"ไม่เห็นเลยเพื่อนเอ๋ย"

คนตัดไม้ปฏิเสธเเต่ก็ชี้นิ้วไปทางข้างกระท่อม

พวกล่าสัตว์ไม่เข้าใจสัญญาณบอกใบ้นั้นจึงพากัน กลับไป

สุนัขจิ้งจอกรออยู่อีกสักครู่ก็ออกมาจากที่ซ่อนเเล้ววิ่ง ผ่านหน้าคนตัดไม้ไป คนตัดไม้จึงร้องขึ้นว่า

"ข้าช่วยชีวิตเจ้าไว้ เจ้าไม่ขอบคุณเข้าเลยหรือ"

"ลิ้นของเจ้าไม่ตรงเหมือนนิ้วของเจ้าเลยนะจะให ้ขอบใจได้อย่างไร"

สุนัขจิ้งจอกกล่าวเเล้วก็วิ่งเข้าป่าไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

คนไม่เชื่อ ย่อมไม่มีผู้ใดนับถือ

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง เด็กเลี้ยงเเกะ

นิทานอีสป เรื่อง เด็กเลี้ยงเเกะ


วันหนึ่งเด็กเลี้ยงเเกะคิดหาเรื่องสนุกๆ เล่น จึงเเกล้งร้องตะโกน ขึ้นมาว่า

"ช่วยด้วย! หมาป่ามากินลูกเเกะเเล้ว ช่วยด้วยจ้า ! "

พวกชาวบ้านจึงพากันวิ่งมาช่วยพร้อมด้วยอาวุธต่างๆ เเต่เมื่อมาถึงก็ไม่พบหมาป่าสักตัว

"มันวิ่งไปทางโน้นเเล้วล่ะ"

เด็กเลี้ยงเเกะโป้ปดเเล้วก็เเอบหัวเราะชอบใจภายหลัง

ต่อจากนั้นเด็กเลี้ยงเเกะก็เเกล้งหลอกให้ชาวบ้านวิ่งหน้าตื่น เช่นเดิมได้อีก ๒- ๓ ครั้ง

จนกระทั่งวันหนึ่งมีหมาป่ามาไล่กินเเกะจริงๆ คราวนี้เด็กเลี้ยงเเกะ ตะโกนขอความช่วยเหลือจนคอเเหบ คอเเห้ง พวกชาวบ้านก็ไม่มาเพราะคิดว่าเด็กหลอก

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

"คนที่มักโป้ปดมดเท็จ เมื่อถึงคราวพูดจริงก็ยากที่จะมีใครเชื่อ"

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง คนหาปลากับพราน

นิทานอีสป เรื่อง คนหาปลากับพราน


วันหนึ่งคนหาปลาเดินสวนกับนายพรานเเละเห็นว่านายพราน มีเนื้อสัตว์มากมายจึงถามว่า

"ท่านพรานป่า ข้าขอเอาปลาเเลกกับเนื้อสัตว์บ้างได้หรือไม่"

นายพรานเห็นคนหาปลามีปลาหลายตัวก็นึกอยากจะลองกิน เนื้อปลา

วันต่อๆ มาคนหาปลากับพรานก็นัดพบเพื่อเเลกเปลี่ยนอาหารกัน ทุกวัน

จนกระทั่งวันหนึ่งคนหาปลาก็เอ่ยขึ้นว่า

"ท่านยังอยากจะเเลกเนื้อกับปลาอยู่หรือไม่"

นายพรานก็ตอบว่าตนเริ่มเบื่อปลาเเละอยากกินเนื้อดังเดิมเเล้ว

ทั้งสองจึงตกลงเลิกเเลกเปลี่ยนอาหารกันอีกต่อไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

คนเรามักอยากลิ้มลองของใหม่ เเต่ไม่นานก็ต้องเห็นค่าของ ของเก่า

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง ค้างคาวเลือกพวก

นิทานอีสป เรื่อง ค้างคาวเลือกพวก


ค้างคาวนั้นถือว่าตนก็มีปีกเหมือนนก เเละก็มีหูเหมือนสัตว์ อื่นทั่วๆ ไป

ดังนั้นเมื่อนกยกพวกไปต่อสู่กับสัตว์อื่นๆ ค้างคาวก็ขอตัวไม่ เข้าข้างฝ่ายใดโดยทำตัวเป็นกลาง

เเต่เมื่อพวกของนกมีท่าทีว่าจะชนะ ค้างคาวก็ประกาศตัว ไปเข้ากับฝ่ายนก

ต่อมาพวกนกจะพลาดท่าเสียทีเเก่สัตว์อื่นๆ ค้างคาวก็ผละ จากนกไปเข้าพวกกับสัตว์อื่นๆ

ต่อมานกต่อสู้จนใกล้จะได้ชัย ค้างคาวก็กลับมาอยู่ข้างฝ่ายพวก นกอีก

เมื่อนกกับสัตว์อื่นๆ ทำสัญญาสงบศึกเเละเป็นมิตรต่อกัน ทั้งสองต่างก็ขับไล่ค้างคาว ไม่ยอมให้เข้าพวกด้วย

ค้างคาวอับอายจึงไปซ่อนตัวอยู่ในถ้ำ จะออกจากถ้ำไปหา อาหาร ในตอนกลางคืนเท่านั้น

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

"ผู้ที่ขาดความจริงใจ ไม่มีใครอยากคบหาด้วย"

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง คางคกกับสุนัขจิ้งจอก

นิทานอีสป เรื่อง คางคกกับสุนัขจิ้งจอก


คางคกคุยอวดสุนัขจิ้งจอกว่า

"เจ้ารู้ไหมว่า ข้าสามารถรักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ได้ ข้าเป็นหมอเทวดา มียาวิเศษมากมายหลายขนาน เจ้าเชื่อข้าเถอะนะ"

สุนัขจิ้งจอกได้ฟังก็หัวเราะเยาะเเล้วว่า

"ข้าก็อยากจะเชื่อเจ้าหรอกนะ ถ้าเจ้ารักษาผิวหนัง ตะปุ่มตะป่ำ ของเจ้าให้หายดีได้เสียก่อน "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

ผู้อื่นย่อมเชื่อถือผลงาน มากกว่าคำโอ้อวด

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง ชายพเนจรอกตัญญู

นิทานอีสป เรื่อง ชายพเนจรอกตัญญู


ชายสองคนเดินทางพเนจรไปเรื่อยๆ เมื่อพบไม้พุ่มหนึ่ง จึงชวนกันหยุดพักใต้ร่มเงาของพุ่มไม้

ขณะนั้นเป็นเวลาเที่ยงวันที่เเดดร้อนจัด ชายคนหนึ่งเอนตัวลง นอน ใต้เงาไม้พลางเเหงนมองดูพุ่มไม้เเล้วกล่าวว่า

"ไม้พุ่มนี้ไม่มีผลให้เรากินเลยนะ"

อีกคนก็เอ่ยบ้างว่า

"จริงด้วย ไม้พุ่มนี้ช่างไร้ประโยชน์เสียจริงๆ"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

"คนโง่เเละคนชั่วมักเป็นคนอกตัญญู"

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง นกกระเรียนกับหมาป่า

นิทานอีสป เรื่อง นกกระเรียนกับหมาป่า


นกกระเรียนเห็นหมาป่านอนดิ้นทุรนทุรายอย่างเจ็บปวดที่กลางป่า จึงเข้าเข้าไปถามไถ่อย่างเวทนาว่า

"เจ้าเป็นอะไรหรือ"

"ข้ากลืนชิ้นเนื้อเข้าไป กระดูกติดคอข้า ทำอย่างไรก็ไม่ออก"

หมาป่าบอกเเล้วก็ขอร้องให้นกกระเรียนช่วยตนด้วย เเล้วตน จะให้รางวัลอย่างงามเป็นการตอบเเทน

นกกระเรียนจึงยื่นคออันยาวเรียวของมันเข้าไปในปากหมาป่า เเละสามารถล้วงเอากระดูกออกมาได้สำเร็จ

เมื่อนกกระเรียนทวงถามถึงรางวัล หมาป่าก็คำรามว่า

"ข้าไม่งับคอเจ้าขาดตายก็ดีเเล้ว ยังจะมาเอาอะไรจากข้าอีก เล่า"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า 

"คนเลวมักไม่เห็นความดีของผู้อื่น"

yengo หรือ buzzcity

นิทานอีสป เรื่อง ชาวนากับงูเห่า

นิทานอีสป เรื่อง ชาวนากับงูเห่า


ชาวนาเดินออกจากบ้านในฤดูหนาววันหนึ่ง

ระหว่างทางพบงูเห่าตัวหนึ่ง นอนตัวแข็งใกล้ตายอยู่บนคันนา ด้วยความเหน็บหนาว

ชาวนาเวทนามันมาก จึงก้มลงประคอง แล้วอุ้มมันไว้ในอ้อมแขนเพื่อให้มันหายหนาว


เมื่องูเห่าได้รับความอบอุ่นก็เริ่มมีกำลังมากขึ้น มันจึงกันชาวนา ก่อนที่จะเลี้อยหนีไป

ชาวนาทนพิษบาดแผลไม่ไหวก็สิ้นใจตายในเวลาต่อมา

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

"ทำคุณกับคนชั่ว มีแต่จะได้รับความเดือนร้อน"

yengo หรือ buzzcity

นิทานเรื่อง กบกินเดือน

นิทานเรื่อง กบกินเดือน


เป็นนิทานพื้นบ้านของชาวโคราช ที่ผูกขึ้นมาเพื่ออธิบายปรากฏการณ์ของธรรมชาติ เช่น การเกิดจันทรุปราคา หรือ สุริยุปราคา นิทานพวกนี้มีอยู่หลายแนว เรื่อง กบกินเดือน ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ที่มุ่งหวังให้ผู้ฟังเกิดความสนุกสนานเพลิดเพลินได้ดีทีเดียว เรื่องมีอยู่ดังนี้

ชายคนหนึ่งเป็นคนยากจน เที่ยวเตร็ดเตร่พเนจรเรื่อยเปลื่อย จนกระทั่งไปพบเห็น งูกับพังพอนกำลังต่อสู้กัน พองูกัดพังพอนตาย งูก็ไป แห่น(ขย้ำเขี้ยว) เปลือกไม้ต้นหนึ่ง แล้วพ่นใส่ร่างพังพอน พังพอนก็ฟื้น แล้วต่อสู้กันต่อไป จนกระทั่งงูตาย พังพอนก็ไป แห่น(ขย้ำเขี้ยว) เปลือกของต้นไม้ต้นนั้นมาพ่นใส่งู พองูฟื้นขึ้น ต่างก็แยกหนีไป ชายคนนั้นจึงได้นำเอาเปลือกไม้ต้นนั้นติดตัวไปด้วย เพื่อนำไปทำยา

เมื่อเดินทางต่อไป ได้พบร่างของกาตายตัวหนึ่ง ชายผู้นั้นทดลองใช้ยาเปลือกไม้มาเคี้ยวแล้วพ่นใส่กา กาตายตัวนั้นก็ฟื้นขึ้นมา และอาสารับใช้เพื่อตอบสนองบุญคุณ โดยการไปเที่ยว ฉก หม้อข้าวของชาวบ้านมาให้ชายผู้นั้นกินข้าวทุกวัน ต่อมาก็ไปพบกบตายตัวหนึ่ง จึงพ่นยาชุปชีวิตกบขึ้นมาได้อีก ช้างตัวหนึ่งเห็นความสามารถ ก็เลยรับอาสาให้ชายผู้นั้นขี่คอเดินทางไปพร้อมกันทั้งกาและกบ จนกระทั่งเดินทางมาถึงเมือง ๆ หนึ่ง ทั้งหมดได้ยินเสียงร้องห่มร้องไห้กันทั่วเมือง เลยไต่ถามเรื่องราวดู ได้ความว่าลูกสาวเจ้าเมืองถึงแก่ความตาย ถ้าหมอคนไหนรักษาให้ฟื้นได้ จะยกลูกสาวให้ และมอบบ้านเมืองให้ครอบครองครึ่งหนึ่ง ชายผู้นั้นก็รับอาสาลองดู ชาวเมืองจึงนำไปพบกับเจ้าเมือง เจ้าเมืองก็อนุญาติให้รักษาได้ ชายผู้นั้นรีบนำยาดีออกมาฝน แล้วพ่นไปพ่นมาที่ร่างของลูกสาวเจ้าเมือง จนกระทั่งฟื้นคืนชีวิตเช่นเดิม เจ้าเมืองดีใจมากจึงยกลูกสาวและบ้านเมืองครึ่งหนึ่งให้ครอบครองตามสัญญา ชายผู้นั้นก็มีความสุขเรื่อยมา

อยู่มาจนกระทั่งมีลูกเติบใหญ่ วันหนึ่งภรรยาและลูกก็ถามไถ่ว่าได้ยาดีมาจากไหนจะขอดูให้ได้ ชายผู้นั้นซุกซ่อนไว้ไม่ยอมนำออกมาให้ดู จนกระทั่งคืนเดือนหงายคืนหนึ่ง ชายผู้นั้นเกิดใจอ่อน นำยาออกมาจากที่ซ่อนมาให้ภรรยาและลูกดูที่นอกชาน พระจันทร์เห็นยาดีก็เลยคว้าเอาไปจ้อย ชายผู้นั้นก็เสียใจมาก กบอาสาจะไปนำมาคืนให้ พอกบเข้าไปใกล้พระจันทร์เมื่อใด ชาวบ้านก็นึกว่ากบจะกินพระจันทร์ เลยช่วยเหลือพระจันทร์โดยการตีฆ้องตีกลองกันเกรียวกราว กบเลยไม่สามารถนำยามาคืนให้เจ้านายของตนได้ แต่กบก็ยังคงพยายามอยู่เรื่อย ๆ จนกระทั่งทุกวันนี้

อธิบายศัพท์ - กบกินเดือน : จันทรุปราคา - แห่น : แทะ เล็ม ขย้ำเคี้ยว - ฉก : ขโมย - จ้อย : หายไปเลย

ที่มา : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1(หน้า 6),5 ธันวาคม 2542


yengo หรือ buzzcity

นิทานเรื่อง กระต่ายเจ้าปัญญา

นิทานเรื่อง กระต่ายเจ้าปัญญา


คนในสมัยก่อนมักเชื่อเรื่องความฝัน ถ้าคืนไหนฝันอย่างไรตื่นขึ้นมาก็เป็นจริงจามที่ฝัน เช่น ฝันว่าได้กินอะไรพอตื่นขึ้นมาก็ได้กินของสิ่งนั้นดังที่ฝันไว้

ในคืนวันหนึ่ง เสือตัวหนึ่งได้ได้นอนหลับตลอดทั้งคืนอันยาวนานด้วยความสุข และฝันว่าได้กินช้าง ครั้นรุ่งเช้าเสือจึงได้เดินทางไปพบช้างแล้วเล่าความฝันของตนให้ช้างฟังว่า เมื่อคืนตนฝันว่าได้กินเนื้อช้าง ช้างได้ฟังดังนั้นรู้สึกตกใจเป็นอันมากเพราะกลัวจะถูกเสือจับกิน ช้างจึงเดินร้องไห้ไปอย่างไร้จุดหมาย จนกระทั่งได้พบกับกระต่าย กระต่ายรู้สึกสงสัยที่เห็นช้างเดินร้องไห้เช่นนี้ ซึ่งโดยปกติแล้วช้างจะเป็นผู้ที่มีความทรหดอดทน และมีเรี่ยวแรงมากมายมหาศาล ครั้งนี้คงมีเหตุการณ์ที่ไม่สู้ดีเกิดขึ้นกับช้างก็เป็นได้ กระต่ายจึงถามช้างว่า

กระต่าย : พี่ช้างเป็นอะไรถึงเดินร้องไห้มาเช่นนี้ พี่ช้างบอกกระต่ายได้ไหม
ช้าง : เสือเล่าว่า เสื่อฝันว่าได้กินช้าง ช้างกลัวตายจึงร้องไห้

กระต่ายได้ฟังนั้นจึงรีบกระโดดตามไปจนพบเสือ

กระต่าย : จริงหรือเปล่าที่เสือฝันว่าได้กินเนื้อช้าง
เสือตอบว่า : จริง จริงนะซิ ฝันเมื่อคืนเอง เป็นความฝันที่นำโชคลาภมาให้อย่างวิเศษที่สุดเลย

กระต่ายได้ฟังคำยืนยันจากปากเสือตัวที่ช้างเล่าให้ฟังแล้วรู้สึกสงสารช้างมาก กระต่ายคิดว่าจะทำอย่างไรจึงจะหาทางช่วยชีวิตช้างให้พันจากการเป็นอาหารของเสือได้ ในที่สุดกระต่ายจึงออกปากเชิญเสือกับช้างให้เดินทางไปพบเจ้าป่าด้วยกัน เพื่อจะให้เจ้าป่าเป็นผู้ตัดสินปัญหานี้ ในขณะที่เดินทางไปพบกับเจ้าป่านั้น ต่างก็เหนื่อยอ่อนจึงพากันหยุดพักใต้ต้นไม้ สักครู่หนึ่ง มีลมพัดมาอ่อน ๆ ทำให้กระต่าย ช้าง และเสือสดชื่น เพียงชั่วครู่กระต่ายก็เผลอหลับไปอย่างง่ายดาย มารู้สึกตัวอีกครั้งหนึ่งเมื่อกระต่ายได้พัดตกลงมาจากกิ่งไม้ พร้อมกับร้องตะโกนด้วยเสียงอันดังว่า ตอนที่กระต่ายนอนหลับไปเมื่อสักครู่นี้กระต่ายฝันดีมาก เจ้าป่าจึงถามกระต่ายว่า กระต่ายฝันว่าอะไร กระต่ายเล่าความฝันให้ฟังว่า ที่กระต่ายฝันไปนั้นได้ฝันว่ากระต่ายได้มีความสัมพันธ์กับบรรดาเมียของเจ้าป่าทุกตัวมาเป็นเมียของกระต่าย เจ้าป่ากำลังตกใจกับความฝันของกระต่าย ทันใดนั้นกระต่ายจึงได้ถามเจ้าป่าในทันทีว่า เจ้าป่าจะยอมยกเมียของเจ้าป่าให้มาเป็นเมียของกระต่ายหรือไม่

เจ้าป่าโกรธมาก ได้ตะคอกใส่หน้ากระต่ายว่า เมียทั้งหลายของข้าใครอย่าแตะต้องเป็นอันขาด ไม่เช่นนั้นต้องต่อสู้กันจนถึงชีวิต ถ้าข้าไม่ตายเอ็งอย่านึกฝันไปเลยเจ้ากระต่ายน้อย กระต่ายรีบต่อรองกับเจ้าป่าด้วยความรวดเร็วว่า ถ้าเจ้าป่าไม่ยอมยกเมียให้ข้า ข้าก็ไม่ยอมยกช้างให้เป็นอาหารเสือเช่นเดียวกัน ในที่สุดช้างก็รอดพ้นจากการเป็นอาหารของเสือ เพราะปัญญาอันแหลมคมของเจ้ากระต่ายน้อยตัวนี้

ที่มา : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1(หน้า 68),5 ธันวาคม 2542


yengo หรือ buzzcity

นิทานเรื่อง กรรมเก่าของกา

นิทานเรื่องกรรมเก่าของกา


กรรมเก่าของกา เป็นนิทานประเภทอธิบายสิสัยของกา กาเหว่าและนกฮูก ว่าทำไมกา จึงต้องฟักไข่และเลี้ยงลูกให้นกกาเหว่า ทำไมกาเหว่าไข่แล้วจึงต้องให้กาฟักไข่และเลี้ยงลูกให้ และทำไมนกฮูกจึงต้องออกหากินเวลากลางคืน โดยเล่าเป็นนิทานว่า

นานมาแล้ว นกฮูกท้องผูกถ่ายไม่ออก จึงไปหากาให้ช่วย กาจึงนำไปหานกกาเหว่าให้ช่วยรักษา โดยตกลงกันว่า เมื่อรักษาหายแล้วนกฮูกจะต้องจ่ายค่ารักษาให้นกกาเหว่า

หลังจากตกลงกันแล้ว นกกาเหว่าก็ลงมือรักษาให้นกฮูก โดยให้นั่งเอาก้นแช่น้ำในลำธาร เพื่อให้น้ำละลายอุจจาระที่ถ่ายออกมาติดค้างอยู่ที่ปากทวาร

หลังจากนกฮูกถ่ายเป็นปกติแล้วก็ไม่ยอมจ่ายค่ารักษา โดยให้เหตุผลว่า นกกาเหว่าไม่ได้ทำการรักษาแต่อย่างใด

เหตุครั้งนี้ทำให้นกต่าง ๆ รังเกียจและขับไล่นกฮูกออกจาสมาคมนกต้องหลบซ่อนในเวลากลางวัน และออกหากินในเวลากลางคืน

ฝ่ายนกกาเหว่าเมื่อไม่ได้ค่ารักษาจากนกฮูกจึงเรียกร้องเอาจากกา กาไม่สามารถจ่ายค่ารักษาแทนนกฮูกได้ จึงต้องรับฟักไข่และเลี้ยงลูกให้นกกาเหว่าเป็นการตอบแทน

ที่มา : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 1,5 ธันวาคม 2542



yengo หรือ buzzcity

นิทานเรื่อง ทำไมข้าวเม็ดเล็ก

ทำไมข้าวเม็ดเล็ก


ชาวอีสานมีนิทานอธิบายเหตุว่าทำไมข้าวจึงมีเมล็ดเล็ก ได้ผูกเป็นนิทานไว้ดังนี้

เมื่อครั้งสมัยดึกดำบรรพ์ ข้าวสาลีเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติไม่ต้องปลูก มีผลใหญ่เท่าฟักทอง เวลาข้าวแก่ดีแล้วข้าวจะกลิ้งเข้ามาสู่ยุ้งฉางทันที คนไม่ต้องไปเก็บเกี่ยว เพราะข้าวนั้นมีเจ้าแม่โพสพเป็นหัวหน้าดูแล

ครังนั้นมีแม่ม่ายคนหนึ่งมีสามีกี่คนก็ต้องมีอันเลิกรากันไป นางเป็นคนเจ้าอารมณ์อยู่บ้านเพียงผู้เดียว วันหนึ่งข้าวสาลีสุกแล้วก็กลิ้งมาที่บ้านนางเหมือนปกติ ข้าวกลิ้งลงมามากทั้งใต้ถุนบ้านและบนบ้าน ข้าวอยู่เต็มหมดทั้งในห้องนอน ในครัว นางเป็นคนอารมณ์ร้ายอยู่แล้ว เมื่อเห็นข้าวเกะกะเต็มบ้าน นางก็เอามีดฟันข้าวจนแตกละเอียดพร้อมทั้งด่าไล่ให้หนีไปจากบ้านของนาง แม่โพสพจึงหนีไปอยู่ป่ากับฤาษี เป็นเหตุให้ข้าวเหีอดหายไปจากหมู่บ้านคนทุกแห่ง จนผู้คนล้มตายหมดเมือง

มีพ่อเฒ่าแม่เฒ่าสองผัวเมียตั้งบ้านอยู่ในป่า ชื่อว่า ปู่เยอย่าเยอ ไม่ได้ติดต่อกับผู้คนในเมืองมีชีวิตหลายร้อยปี ต่อมาข้าวสาลีที่มีอยู่ค่อยหมดไป ไม่เกิดขึ้นใหม่ สองเฒ่าจึงพเนจรไปในป่าด้วยความหิว ไปจนถึงถ้ำพระฤาษีที่เจ้าแม่โพสพมาอยู่ด้วย ฤาษีเล็งตาทิพย์รู้ว่าสองเฒ่าจะเป็นผู้ที่สืบศาสนาต่อไป จึงเล่าสาเหตุที่ข้าวสาลีหายไปจากโลก เพราะแม่โพสพโกรธที่มนุณย์ไม่รู้จักบุญคุณของข้าว ด่าข้าว นางจึงมาจำศีลอยู่ที่ป่าแห่งนี้ พระฤาษีคิดจะให้พันธุ์ข้าวแก่พ่อเฒ่าแม่เฒ่า จึงอ้อนวอนขอพันธุ์ข้าวจากเจ้าแม่โพสพ แม่โพสพจึงให้พันธูืข้าวเมล็ดเล็กแก่สองเฒ่า แต่สองเฒ่านำไปปลูกก็ไม่ขึ้นเพราะแม่โพสพไม่ได้ไปด้วย จึงกลับมาบอกฤาษี พระฤาษีจึงจับแม่โพสพหักปีกให้มาอยู่กับเมล็ดข้าว สองเฒ่าจึงปลูกข้าวได้งอกงาม พระฤาษีบอกให้สองเฒ่าเคารพแม่โพสพให้เซ่นไหว้ในนาข้าวตอนข้าวจะออกรวง และเมื่อเก็บเกี่ยวใช้วัวควายเหยียบย่ำข้าวให้ขอโทษขอขมาข้าว ภายหลังต่อมาข้าวก็เจริญงอกงาม ผู้คนทั่วไปก็ได้พันธุ์ข้าวจากปู่เยอย่าเยอ แต่เป็นพันธุ์เม็ดเล็ก ต่อมาคนก็มีลูกหลานมากขึ้น พระพุทธเจ้าก็มาตรัสรู้สั่งสอนแก่มวลมนุษย์

ด้วยเหตุนี้ ชาวอีสาน จึงต้องเคารพ รู้บุญคุณเมล็ดข้าว และต้องทำพิธีขอขมาข้าวตอนเก็บเกี่ยวเรียกว่า "บูญคูณลาน" และพิธีสู่ขวนข้าว(สู่ขวัญข้าว) เจ้าพิธีกล่าวขอโทษข้าวที่ต้องเหยียบย่ำและต้องนำไปแลกพริกแลกเกลือ ชาวอีสานมักจะเรียกปู่เยอย่าเยอ มาร่วมกินอาหารในพิธีกรรมต่าง ๆ เพราะเป็นผู้ให้พันธุ์ข้าวแก่มนุษย์

ที่มา : สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคอีสาน เล่ม 5(หน้า 1744),5 ธันวาคม 2542



yengo หรือ buzzcity

นิทานเรื่อง ทุกคนรู้หน้าที่

นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง ทุกคนรู้หน้าที่

นิทานเรื่อง ทุกคนรู้หน้าที่ นี้นำมาจากหนังสือนิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6 เรื่อง ประชาธิปไตยที่ถาวร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง ทุกคนรู้หน้าที่

เด็กชายแดง ลูกดำรง อ้อยคงรัก
แน่ตระหนัก เหมือนวงศ์วาน เป็นหลานป้า
เฝ้าปรุงปั้น ไม่รามือ รื้อระอา
เพราะรู้ว่า เป็นหน้าที่ หนีไม่พ้น
เด็กของชาติ หากขาด ผู้ใหญ่ปั้น
อนาคต นับวัน จะปี้ป่น
จะเติบโต เพียงเห็น เป็นรูปคน
ส่วนจิตใจ จะมืดมน ไม่เป็นการ
อันพ่อแม่ ครูบา อาจารย์ทั่ว
รวมผู้ใหญ่ ต้องเป็นรั้ว อยู่รอบด้าน
คอยตะล่อม มิให้ ไปทางพาล
จนจวบกาล รู้ดีชั่ว ด้วยตัวเอง
หน้าที่บ้าน กับโรงเรียน เวียนเหมือนจักร
หมุนไม่พัก รักษาวง ไว้ตรงเผง
ช่วยกันขัด ช่วยกันเกลา ให้เข้าเพลง
เสมือนเร่ง ตีเหล็ก กำลังร้อน
จะเอารูป อย่างไร ได้ทั้งนั้น
หากขยัน ไม่ย่อท้อ ระย่อหย่อน
เด็กจะต้อง ดีแท้ อย่างแน่นอน
เป็นทุนรอน สืบไป ไม่ขาดมือ
โรงเรียนปิด แดงก็ติด อยู่กับป้า
ถึงเวลา ก็ไม่คร้าน อ่านหนังสือ
ตามที่อ้อย กำหนดให้ ได้ฝึกปรือ
แดงไม่ดื้อ พูดจา ก็น่าฟัง
"คุณป้าครับ คุณครูใหญ่ ใหญ่สมชื่อ
เขาเลื่องลือ กันว่า วิชาขลัง
เป็นปู่ครู ศิษย์หา บรรดายัง
นับกี่ตั้ง ร้อยพัน นั่นทีเดียว
แดงสงสัย ว่าทำไม ท่านไม่เบื่อ
สอบซ้ำซ้ำ พร่ำเพรื่อ ใช่ประเดี๋ยว
คุณป้าสอน แดงนานนิด บิดเป็นเกลียว
เฝ้าแต่เหลียว หาคนนวด ว่าปวดร้าว"
อ้อยว่า"ถูก แล้วป้า มีหน้าที่
งานแม่บ้าน มากมี มาแต่สาว
มานั่งสอน เป็นส่วนตัว แม้ชั่วคราว
ก็ทบท่าว หนักเหนื่อย ชวนเมื่อยล้า"
แดงว่า"งาน แม่บ้าน งานไม่ใหญ่
มอบเด็กเด็ก คนใช้ ทำดีกว่า
คุณป้าว่าง ก็เบา เอาเวลา
มาสอนแดง ดูท่า จะเข้าที
ไม่ต้องไป โรงเรียน เพียรตื่นเช้า
ไม่ต้องฟัง ระฆังเร้า ขวัญแทบหนี
กำลังเล่น ระฆังราน เหมือนมารมี
ที่แดงว่า อย่างนี้ ดีไหมครับ"
อ้อยร้องว่า "ไม่ได้! ไม่เข้าเรื่อง
พูดให้เปลือง เวลา เดี๋ยวป้าปรับ
ให้นั่งเขียน นั่งอ่าน นานไม่นับ
ให้สมกับ ค่อนระฆัง ว่าดั่งมาร
เป็นนักเรียน มีหน้าที่ หนีไม่ได้
ต้องเคร่งครัด ต่อวินัย ใช้อยู่บ้าน
เสียงระฆัง คืออาณัติ ดัดสันดาน
ให้รู้เล่น รู้งาน ไม่ปะปน
เสร็จศึกษา ออกมา เป็นพ่อบ้าน
จะกอปรกิจ การงาน ไม่สับสน
มีระเบียบ มีวินัย ไว้ครองตน
ให้เป็นคน รู้หน้าที่ มีสำคัญ
อันจะเกณฑ์ ให้ป้า มาเป็นครู
งานแม่บ้าน ไม่ต้องดู ปล่อยไว้นั่น
มีเด็กเด็ก คนใช้ ให้ช่วยกัน
ปล่อยอย่างนี้ ไม่กี่วัน เป็นนรก
แดงรู้ไหม ว่าทำไม ป้าตื่นเช้า
ไม่ซบเซา อยู่ในมุ้ง มัวนอนหมก
เรียกเด็กเด็ก ดูเรือนชาน บ้านที่รก
ขจัดสิ่ง สกปรก ให้หมดไป
บ้านของเรา ใครเขา จะอินัง
เด็กรับใช้ ไม่ค่อยสั่ง ก็ไถล
ต้องทั้งสั่ง ทั้งกำกับ จึงฉับไว
มิฉะนั้น งานได้ ไม่เรียบร้อย
พวกคนครัว หุงหา อาหารเช้า
ก็ทำให้ ใช่เขา จะท้อถอย
แต่ก็ต้อง คอยเตือนให้ ไม่ตะบอย
เดี๋ยวคนกิน ต้องคอย ก็เสียงาน
แดงได้ไป เรียนทุกวัน ทันเวลา
ท่านเรือนใหญ่ ได้ข้าวเปล่า พร้อมอาหาร
ตักบาตรพระ ได้ขบขัน ทุกวันวาร
ก็เพราะป้า แม่บ้าน คอยนำพา
แดงกับเพื่อน เด็กเด็ก ทั้งเล็กใหญ่
มีที่เรียน เรียนได้ สมปรารถนา
ก็เพราะครู น้อยใหญ่ ไม่ระอา
ต่างตั้งหน้า ทำหน้าที่ ที่ผูกมัด
อันพระสงฆ์ องค์เจ้า ที่เคารพ
สุขสงบ ภาวนาธรรม นำปฏิบัติ
เสริมพระศาสน์ เป็นนิตย์ กิจวัตร
ได้โปรดเว- ไนยสัตว์ เพราะพวกเรา
ร่วมใจกัน ทำบุญ อุดหนุนท่าน
จตุปัจจัย ไทยทาน ใช่งานเปล่า
เพียรอุปถัมภ์ บำรุง ไม่ดูเบา
ศาสน์รุ่งเรือง รัฐเนา นิราภัย
ด้วยปกครอง สะดวกดาย วายวิตก
เพราะทุกฝ่าย หยิบยก เป็นข้อใหญ่
ว่ารู้จัก หน้าที่ มีจิตใจ
รักประชา- ธิปไตย นั่นสำคัญ
ทุกทุกคน ไม่ต้องให้ ใครบังคับ
ด้วยหน้าที่ คอยกำกับ เป็นคำขวัญ
"รักเป็นใหญ่ ต้องเอออวย ช่วยเหลือกัน
ใครถนัด อะไรปัน แบ่งกันทำ
ตัวจักรใหญ่ ได้งาน เพราะตัวย่อย
ทำหน้าที่ ตามมากน้อย ไม่ถลำ
ให้ผิดพลาด เสียการ งานประจำ
นั่นแหละกรรม วิธี ที่ถาวร"

จบ นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง ทุกคนรู้หน้าที่


yengo หรือ buzzcity

นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง ต่างไม่ลี้หน้าที่ตน

นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง ต่างไม่ลี้หน้าที่ตน

นิทานเรื่อง ต่างไม่ลี้หน้าที่ตน นำมาจากหนังสือนิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6 เรื่อง ประชาธิปไตยที่ถาวร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง ต่างไม่ลี้หน้าที่ตน

ปิดภาคเรียน แดงเพียร ไปหาพ่อ
ได้ติดต่อ มิให้ร้าง อย่างอ้อยสอน
พ่อแม่ลูก ต้องผูกพัน มั่นอาทร
ลูกจักได้ สังวร ซึ่งความจริง
ว่าที่รัก สองสถาน โบราณระบุ
คือพ่อแม่ กับคุรุ อย่ามัวนิ่ง
มั่นระลึก มั่นบูชา อย่าชังชิง
จักเป็นมิ่ง มงคล ดลแก่ตัว
แดงต้องพราก จากพ่อแม่ มาแต่น้อย
มาพักพิง อยู่กับอ้อย ใช่เรื่องหัว
ว่าเอาลูก เขามาเลี้ยง เสี่ยงสิ้นกลัว
หลงชมชัว จักต้องช้ำ ระกำใจ
ซึ่งความจริง ช่วยเลี้ยง เพียงช่วยชี้
มิให้ลี้ หน้าที่เรียน เปลี่ยนนิสัย
เป็นเกียจคร้าน เกลียดหนังสือ ดื้อตามวัย
ด้วยพ่อแม่ วุ่นกับไร่ ใครจะปราม
ครูอบรม ไว้ดี ที่โรงเรียน
กลับมาบ้าน พาเหียร ใคร่ไม่ห้าม
เหมือนตบมือ ข้างเดียวไหน จะได้ความ
เด็กจะทราม ต้องเสียดาย เมื่อปลายมือ
เช้าวันนั้น แดงพลอด นั่งออดพ่อ
ว่า"แดงกลัว คุณป้ารอ กวดหนังสือ
สั่งให้รีบ กลับไป ได้ฝึกปรือ
ถ้าอยู่ช้า จะว่าดื้อ เด็กไม่ดี
แต่แดงอยาก ใกล้คุณพ่อ ต่ออีกหน่อย
สัปดาห์เดียว ดูจะน้อย ไม่สมที่
ตั้งใจไว้ แน่วแน่ แต่ต้นปี
ว่าภาคปลาย ปีนี้ ได้อยู่นาน"
ดำรงว่า "แดงใช่เด็ก เล็กเหมือนก่อน
ไยจะต้อง ให้สอน เช่นเด็กด้าน
อยู่ใกล้ป้า หรือใกล้พ่อ ดีพอการ
ได้รับรัก และสงสาร เสมอกัน
อยู่กับพ่อ มีบกพร่อง ตรงที่พ่อ
หาเวลา ไม่พอ มากวดขัน
ต้องหมกตัว อยู่ในไร่ ตลอดวัน
ด้วยหน้าที่ สำคัญ ลี้ไม่ลง
จะพึ่งแม่ ของแดง ช่วยแบ่งเบา
งานในไร่ ส่วนของเขา ก็ต้องส่ง
มาให้พ่อ เหมือนซ้ำเติม เพิ่มพะวง
แดงไม่สง- สารบ้าง หรืออย่างไร"
แดงนิ่งนั่ง ฟังพ่อ พ้อให้ทราบ
ถึงงานไร่ ที่ปรับปราบ มาแต่ไหน
ตามที่ป้า เคยพรรณนา ว่าใครใคร
ที่ชอบเป็น ชาวไร่ ต้องกรากกรำ
เคยซักป้า ว่าทำไม ชอบลำบาก
ป้าว่าคน ลี้งานยาก ความคิดต่ำ
มัวลี้ยาก ก็ไม่มี หน้าที่ทำ
เพราะงานส่ำ สบลำบาก ยากทั้งนั้น
"แดงสงสัย ว่าทำไม คุณพ่อชอบ
มาทำงาน ที่มีขอบ มีเขตกั้น
ไม่ให้ลูก ได้ร่วมเหย้า สมเผ่าพันธุ์
เป็นชาวไร่ ไม่มีวัน ได้สุขใจ"
ดำรงว่า "แดงไม่รู้ จึงดูผิด
ว่าไยพ่อ ไม่คิด หางานใหม่
เพราะว่างาน นอกจากนี้ มีถมไป
แต่พ่อทำ ไม่ได้ ดอกลูกรัก
พ่อเรียนมา ทางเพาะปลูก ถูกใจพ่อ
เรียนสำเร็จ แล้วก็ ยังสมัคร
จะปลูกพืช พันธุ์ไม้ ให้พร้อมพรัก
ไว้เลี้ยงกัน ไม่พัก ต้องขาดแคลน
แดงว่า"พืช ผลไม้ ในตลาด
แดงเคยเห็น ดื่นดาษ นับตั้งแสน
ไม่เห็นใคร ต้องประสบ พบแร้นแค้น
แม้ยากจน อยู่แกนแกน ก็มีกิน"
ดำรงว่า "เอาละ ถ้ากระนั้น
พ่อจะเลิก ปลูกพืชพันธุ์ เสียให้สิ้น
ที่ปลูกแล้ว ก็จะรา ปล่อยคาดิน
ทุกทุกไร่ ในท้องถิ่น ทำเหมือนกัน
ต่างไปหา งานใหม่ หวังให้สุข
อย่างแดงเดิน แต้มหมากรุก เมื่อกี้นั่น
พืชผลไม้ ที่ว่าดื่น นับหมื่นพัน
คงเหลือพอ แมลงวัน กระมังแดง
เข้าใจแล้ว หรือยัง ดั่งที่ว่า
พ่อไม่กล้า ทำอะไร ให้แผลงแผลง
พ่อรักลูก ดั่งดวงใจ ไม่ครางแคลง
แต่รักไร่ นั้นแรง ยิ่งใดใด
ถึงลูกแดง ก็เหมือนกัน มั่นรักพ่อ
อยากจะคลอ เคลียอยู่ ให้ใกล้ใกล้
แต่โรงเรียน ต้องรัก กว่าใครใคร
ขืนทิ้งไป มันก็ถ่อย ทรลักษณ์
ครูของแดง ก็เหมือนกัน มั่งรักศิษย์
มิได้คิด เป็นอื่นไป ให้ผิดหลัก
เมื่อแดงดื้อ เถลไถล ก็ไม่รัก
ต้องประจักษ์ ว่าไม้เรียว เหนี่ยวลงไป
เพราะหน้าที่ ครูดี ต้องตีศิษย์แต่แดงคิด ว่าท่านขึ้ง ถึงจะไส
หัวหูส่ง ไม่พักสอน เหมือนก่อนไร
เลยน้อยเนื้อ ต่ำใจ ไม่อยากเรียน
พอเติบโต คิดได้ ก็สายโร่
โอ้อกโอ้! มัวทะนง หลงพาเหียร
เมื่อยังเล็ก ท่านรักใคร่ สอนให้เพียร
กลับมืดมน วนเวียน ว่าท่านชัง
ยิ่งเติบโต ยิ่งโง่ มีทิฐิ
ใครมาทัก ใครมาติ ต้องหมดหวัง
แม้พ่อแม่ จะโศกเศร้า เฝ้าอินัง
ก็หันหลัง ให้ตะพึด ยึดแต่ทราม
จงรีบเตรียม หีบห่อ อย่ารอช้า
โธ่!ป่านนี้ คุณป้า คงพร่ำถาม
นอนไม่หลับ ไม่มีสุข ทุกโมงยาม
จะหักห้าม อย่างไร ไม่บรรเทา

จบ นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง ต่างไม่ลี้หน้าที่ตน


yengo หรือ buzzcity

นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง มุ่งมั่นผลส่วนรวม


นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง มุ่งมั่นผลส่วนรวม

นิทานเรื่อง มุ่งมั่นผลส่วนรวม นำมาจากหนังสือนิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6 เรื่อง ประชาธิปไตยที่ถาวร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง มุ่งมั่นผลส่วนรวม

ที่บ้านนา วันนั้น พากันโจษ
ว่าในหลวง จะมาโปรดฯ ให้หายเหงา
ทั้งลูกเด็ก เล็กแดง แต่งตัวเพรา
เตรียมรับเจ้า อยู่หัว ทุกตัวตน
บ้างอุ้มลูก จูงหลาน ผ่านอำเภอ
หอบร่าเร่อ แฟงแตงโม โตโตผล
มาประกวด อวดกัน ใครไม่จน
จักถวาย จุมพล วางนองเนือง
ที่แก่เฒ่า ถือไม่เท้า ก้าวงันงก
ถึงเหงื่อตก ก็ไม่ฟก ไม่คางเหลือง
เดินมาตั้ง ไมล์ไมล์ ไกลตัวเมือง
แรงหมดเปลือง เท่าไหร่ ไม่นำพา
พวกอำเภอ กำนัน พากันช่วย
ผู้เจ็บป่วย ถึงสันทัด ขัดแข้งขา
ที่เต็มหง่อม เป็นลม ให้ดมยา
ทุกถ้วนหน้า ต่างฟื้น ยืนตาโพลง
ชะเง้อชะแง้ แลหา พระร่มเกล้า
เขาร้องเร้า เสด็จแล้ว เขย่งโหย่ง
ยืนไม่เห็น เกาะตะกาย เป็นสายโยง
เหมือนเล่นโพง พางเอย เอ่ยชโย
พอเสด็จ พระราชดำเนิน เดินมาไกล้
หมอบกราบไหว้ ประณตน้อม พร้อมกันโห่
เป็นไทยแท้ แน่นิยม พระร่มโพธิ์
เพื่อภิญโญ พระยศยิ่ง เป็นมิ่งเมือง
ทรงทักทาย ถามทุกข์สุข ทุกถ้วนหน้า
ยิ่งแก่เฒ่า คลานเข้ามา เผ้าชิดเบื้อง
บาทยุคล พระจุมพล มิให้เยื้อง
ทรงถามเรื่อง ทำกิน ในถิ่นตน
ทั้งลุงอ่วม ป้าน่วม ก้มาด้วย
แดงเข้าฉวย มือปู่ย่า พาดั้นด้น
"ถ้าปู่ย่า มัวชักช้า สาละวน
ประเดี๋ยวก็ เสด็จด้น ต้องเศร้าใจ"
อ่วมบอกว่า "ใกล้แค่นี้ ก็ดีแล้ว
แสนผ่องแผ้ว ชื่นตา จะหาไหน
ที่เหน็ดเหนื่อย เมื่อยร้า มาแต่ไกล
ก็หายหมด กลับไปไร่ ได้เรี่ยวแรง
โอ้พระร่ม โพธิ์ทอง ของทวยราษฎร์
ทรงมุ่งมาด ปลุกใจ ให้เข้มแข็ง
สมเป็นเจ้า แผ่นดิน สิ้นระแวง
รักตำแหน่ง หน้าที่ ดีสุดใจ
ทรงสละ พระสำราญ เพื่อบ้านเมือง
เพื่อรุ่งเรือง เทียมหน้า เทียมบ่าไหล่
เขาชาวโลก ที่มั่งคั่ง ทั้งใกล้ไกล
เพื่อประชา- ธิปไตย อันถาวร
พระนิราศ แรมร้าง ห่างประเทศ
ทุกขอบเขต ประกาศเกียรติไทย ให้กระฉ่อน
ว่าไทยคือ ไทท้าว เจ้านคร
สุโขทัย เก่าก่อน ดึกดำบรรพ์
ไทยเจริญ รุ่งเรือง สมเมืองทอง
รวมพวกพ้อง ตั้งเป็นชาติ สามารถขัน
แข่งกับใคร ที่จู่โจม มาโรมรัน
ไทยยึดมั่น สุขศาสติ์ ไม่รานใคร
กรณียกิจ ดั่งว่า ถ้าประมวล
ก็แล้วล้วน งานใหญ่ ไม่สงสัย
พระวรกาย แม้แบบบาง อย่างอไภยฯ
แต่ดวงหทัย นั้นเหล็กแท่ง แข็งไม่ปาน
ทรงรอนแรม อ้างว้าง กลางอากาศ
ประชาราษฎ์ ผะผ่าว ฟังข่าวสาร
ประกาศถ้วน มงคลล้ำ ทรงสำราญ
ต่างชื่นบาน บนบวง ด้วยห่วงใย
มหาอำนาจ ทุกประเทศ ประเวศทั่ว
อำนาจน้อย แต่ก็กลั้ว กับเขาได้
เพราะปราชญ์เปรื่อง เรืองปัญญา อาชาไนย
ทุกชาติใหญ่ ถ่อมตัว ด้วยกลัวบุญ
อันสมเด็จ พระบรมรา- ชินีนาถ
พระฉวี ผุดผาด โอภาสหนุน
เหมือนแสงโสม ส่องนภา คราอรุณ
ช่วยเจือจุน รัศมี ด้วยศรีเพ็ญ
ชาวฝรั่ง หญิงชาย ทั้งหม้ายสาว
พร้อมกันกล่าว เยินยอ พอได้เห็น
ว่าสมเด็จฯ ทรงโฉม โลมตาเย็น
ต่างตื่นเต้น หมายว่าจันทร์ ดั้นมาดิน
ฉลององค์ ทรงสรรพ รับพระโฉม
อนุโลม ทั้งประเทศไทย มิให้ฉิน
ไทยก็ชอบ เทศก้ชม สมระบิล
เทิดไทยถิ่น กำเนิดหญิง มิ่งนารี
ตามข่าวสาร รายงาน ว่าพระแม่
ทรงกัววล วุ่นแต่ เพิ่มศักดิ์ศรี
ของชาติไทย สรีไทย ไว้ด้วยดี
สมกับที่ เป็นไทย แต่ไรมา
ทั้งค่ำเช้า ชำงาน ไม่วายวาง
ต้องแรมร้าง บรมสุข ทุกสิ่งสา
เสียสละ เพื่อหน้าที่ พลีเพื่อพา
ชาตินานา นอบน้อม ยอมเป็นเกลอ
อันราชา ราชินี เมาลีราษฎร์
ทรงอำนาจ ยิ่งใหญ่ ใครเสมอ
ควรเสวย สุขสรรพ รับบำเรอ
ใครใครเผลอ เพลินคิด ผิดทำนอง
สมเด็จพระ ปิยะ มหาราช
พระราชทาน โอวาท รู้ทั่วผอง
ให้พระราช โอรส ปลดลำพอง
ว่า"พ่อเกิด มาต้อง รับบาปกรรม
จะนอนนั่ง ไม่มีสุข ทุกข์ถึงราษฎร์
เขาคือแรง ของชาติ ผิวะสำ
ประสบทุกข์ ขุกเข็ญ เป็นประจำ
ก็เหมือนทำ ลายชาติ วินาศเทียว
อันยศศักดิ์ อัครฐาน เหมือนม่านหลอก
บังซึ่งกล กลับกลอก สิ้นเฉลียว
ว่าเขาคน เราคน ชนเช่นเดียว
ไม่ยึดเหนี่ยว ว่าใช่คน ล้นมนุษย์

จบ นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง มุ่งมั่นผลส่วนรวม


yengo หรือ buzzcity

นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง ร่วมกันรับความสุข

นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง ร่วมกันรับความสุข

นิทานเรื่อง ร่วมกันรับความสุข นำมาจากหนังสือนิทานร้อยบรรทัด เล่ม 6 เรื่อง ประชาธิปไตยที่ถาวร ชั้นประถมศึกษาปีที่ 7

นิทานร้อยบรรทัด เรื่อง ร่วมกันรับความสุข

ดำว่างงาน ในไร่ ได้โอกาส
ก็เข้าเมือง มิได้ขาด ตามวันหยุด
บางวันค้าง อ้างแรม ไม่รีบรุด
นอนกับบุตร คุยกับอ้อย ปล่อยอารมณ์
วันหนึ่งแดง ขอให้ พาไปเที่ยว
ตลาดนัด กราวเกรียว เสียงขรม
มีส้มสูก ลูกไม้ ขายอุดม
ทั้งได้ชม ภูมิฐาน ลานพระเมรุ
สองหลานป้า ดำพา ไปขึ้นรถ
ไม่เหมือนเที่ยว ในชนบท แบบเดินเล่น
ซึ่งดำรง สันทัด อย่างจัดเจน
มานั่งขด รถตระเวน อึดอัดใจ
แดงว่า"นั่ง รถอย่างนี้ ดีไหมพ่อ
เหมือนวิ่งห้อ จากหัว สุดหางไร่
แดงกับพ่อ ลองวิ่งเล่น จะเป็นไร
ปล่อยให้รถ พาป้าไป แต่คนเดียว"
อ้อยว่า"อ๊ะ! อะไร จะให้ป้า
รถเขาพา ไปไหนไหน แดงไม่เหลียว
ที่ว่ารัก ป้าเหมือนแม่ แน่แท้เทียว
คงโป้ปด ลดเลี้ยว ให้หลงรัก
แดงว่า"เปล่า ครับ!คุณป้า อย่าหลงผิด
แดงจะวิ่ง ตามติดติด ไม่หน่วงหนัก"
ดำว่า"แดง เป็นเด็ก ยังเล็กนัก
จึงหาญหัก จะวิ่งแซง แข่งกับรถ
ถึงมีสิทธิ์ ขืนให้สิทธิ์ ผิดเทศะ
กลายเป็นวิ่ง เกะกะ เกินกำหนด
ไม่ใช้รถ อยากเดินเท้า เขาแทนทด
วางเป็นกฎ จราจร ผ่อนตามควร
แบ่งทางรถ ทางเท้า ไม่ก้าวก่าย
หากทุกฝ่าย ยึดมั่น ไม่ผันผวน
การสัญจร สอดคล้อง ต้องกระบวน
แต่ละส่วน สุขรวม เพราะร่วมใจ"
พอรถถึง ท้องสนาม ตามประสงค์
ทั้งสามลง ตากวาด ตลาดใหญ่
มีของสด ของแห้ง เป็นแผงไป
ใครต่อใคร รุมล้อมซื้อ เสียงอื้ออึง
แดงร้องว่า "นั่นฟักแฟง แตงโมนั่น
จากไร่เรา แทบทั้งนั้น นำมาถึง
ตลาดนัด โก่งราคา วางค่าตรึง
ขึ้นตั้งครึ่ง ค่อนตัว ทั่งทั้งนั้น
ทำไมพ่อ ไม่นำมา ค้าเสียเอง
ปล่อยนักเลง ค้ากำไร ไม่ผ่อนผัน
ควรจะลด ค่าครองชีพ รีบป้องกัน
อย่าให้ทัน คนยากร้อง ว่าของแพง"
ดำร้องว่า อ้า!ลูกแดง แผลงอีกแล้ว
พวกแม่ค้า ที่มาแกร่ว อยู่ที่แผง
เขาเหนื่อยยาก ลงทุน หนุนด้วยแรง
ไปขนผัก ฟักแฟง มาจากนา
ต้องลงแรง แล้วต้องหา ค่าขนส่ง
เอามาลง เสริมทุน เป็นมูลค่า
คิดกำไร บวกเข้าไป เป็นราคา
ที่บอกขาย ใช่ว่า เรียกตามใจ
นี่แหละหลัก การค้า ว่าวิปลาส
ร้านตลาด จะต้องหยุด สุดแก้ไข
เมื่องานชะงัก เงินก็งัน ตามกันไป
จะบันดาล อย่างไร สุขไม่มี
ถ้าพ่อปลูก ขนขายเอง เล็งผลเลิศ
ทนเหนื่อยหน่อย ผลเกิด เป็นเศรษฐี
แต่พ่อค้า แม่ค้า ที่เคยพี
รถรับจ้าง เห็นเมื่อกี้ จะผอมโซ
เหตุเพราะพ่อ เห็นแต่ แก่ตัวพ่อ
มีพอกิน แล้วไม่พอ อยากจะโก้
ได้ขึ้นชื่อ ลือว่ารวย หน่วยก้านโต
แต่พุทโธ! เพื่อนวอดวาย เพราะตายเย็น
ภาษิตจีน มีมา ว่าดั่งนี้
คนเราเกิด มามี ที่เห็นเห็น
กินเท่าแมว นอนเท่าหมา น่าลำเค็ญ
แต่ก็เป็น ความจริง สิ่งควรจำ
ที่ละโมบ โลภหลง พะวงกอบ
ถึงทำชอบ ก็เข้าเชิง เหลิงถลำ
ผิดวิธี สะสมทรัพย์ รับระกำ
บาปเพราะทำ ให้กลุ่มชน อลเวง
อ้อยว่า"แดง ฟังพ่อ พอกระมัง
ถ้าหากยัง ป้าจะไข ให้ตรงเผง
บ้านเราอยู่ ไยเปรียบอู่ ที่ครื้นเครง
ตัวแดงเอง ก็เป็นสุข สนุกสบาย
หันไปดู คนรับใช้ ผู้ใหญ่เด็ก
งานใหญ่เล็ก มีประจำ ทำเหลือหลาย
งานทั้งบ้าน ป้าไม่แบก แจกกระจาย
เพื่อทุกฝ่าย มีงาน การหาเงิน
อันความสุข เกิดเพราะงาน ในบ้านสรรพ
ดำเนินดี ตามลำดับ รับสรรเสริญ
ทุกทุกคน ไม่รู้ทุกข์ เสพสุขเพลิน
ความเจริญ เนานาน เป็นบ้านแท้
นี่เข้าเค้า เราร่วม รับความสุข
แม้บ้านเมือง ทุกทุกยุค หากเพียรแก้
กำจัดคน เห็นแต่แก่ตัว มั่วรังแก
เบียนเพื่อนเพื่อน เสียจนแย่ แทบย่อยยับ"
แดงฟังพ่อ ฟังป้า พาพ้นโง่
ร้อง"พุทโธ่! เรื่องง่ายง่าย ไม่ถึงกับ
มุ่งวิมาน เหนือแผ่นดิน ดิ้นหาทรัพย์
ไปไม่รอด ว่าโชคอับ น่าอายแทน"
อ้อยกับดำ เห็นแดง แจ้งรหัส
โสมนัส ที่ผู้เยาว์ เข้าถึงแก่น
เมื่อเติบโต คงไม่เมา เอาแบบแปลน
อันเป็นแผน มีแต่ลม จมไม่ลง
อันเมืองไทย ใช่ว่าไร้ ซึ่งขุมทรัพย์
หากคนไทย ไม่สับปลับ เพียรประสงค์
ให้ประชา- ธิปไตย ได้ยืนยง
จะมั่นคง คู่หล้า ชั่วฟ้าดิน

จบ นิทานร้อยบรรทัดเรื่อง ร่วมกันรับความสุข


yengo หรือ buzzcity