กฎแห่งกระจก

กฎแห่งกระจก


เปิดตัววันแรกกับครอบครัวตัวหนอน วันนี้แม่หนอนเลยขอถือโอกาสกล่าวสวัสดีกับคุณผู้อ่านทุกท่าน และขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยคนนะคะ คอลัมน์ครอบครัวตัวหนอนของเรา ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเราเป็นมุมของหนอนหนังสือค่ะ ซึ่งทางแม่หนอนก็จะไปเดินเล่นมองหาหนังสือดี ๆ น่าอ่านสำหรับเจ้าตัวเล็ก หรือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทั้งมือใหม่และมือไม่ใหม่มาฝากกันค่ะ

เริ่มต้นเล่มแรกกันที่เรื่องนี้เลยค่ะ เป็นหนังสือที่มีชื่อว่า "กฎแห่งกระจก" ผลงานการเขียนของคุณโยชิโนริ โนงุจิ ชาวญี่ปุ่น และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่เรียกน้ำตาจากผู้อ่านชาวญี่ปุ่นมาแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าเมื่ออยู่ในมือของคุณพ่อคุณแม่ชาวไทย กฎแห่งกระจกก็อาจจะให้แง่คิด หรือเป็นแนวทางช่วยแก้ปัญหาครอบครัวได้เช่นกันค่ะ ถ้าอย่างไร มีโอกาสลองไปหาอ่านกันดูนะคะ

หนังสือเล่มต่อไปที่อยากแนะนำมากันเป็นชุดเลยค่ะ กับชื่อชุดที่ว่า "ลูกรักฝึกทักษะ" ผลงานของคุณทาโร โกมิ ชาวญี่ปุ่น (อีกแล้ว) และถูกแปลเป็นภาษาไทยอย่างน่ารักโดยคุณเมธินี นุชนาคาค่ะ หนังสือชุดลูกรักฝึกทักษะ ประกอบด้วย ลองหาดูซิ, ลองนับดูซิ, ลองคิดดูซิ, ลองสังเกตดูซิ, ลองทายดูซิ และลองทำดูซิ ภายในหนังสือเป็นภาพตัวการ์ตูนอย่างง่าย ๆ ที่ช่วยฝึกทักษะเด็กในด้านต่าง ๆ พร้อมคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองด้วยค่ะ งานนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีเวลานั่งเล่นกับลูก ๆ ผ่านหนังสือเล่มนี้ จะต้องเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่มีความสุขแน่นอนค่ะ

เล่มสุดท้ายที่เราขอนำมาแนะนำกันในวันนี้คือหนังสือชื่อ "สุดยอดอาหารสร้างลูกเป็นอัจฉริยะ" เขียนโดยคุณกฤษฎี โพธิทัต ที่จะมาแนะนำอาหารมากคุณค่าและส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเจ้าตัวเล็ก ขึ้นชื่อว่าอาหาร คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องอยากให้ลูกได้รับประทานอาหารดี ๆ มีประโยชน์กันอยู่แล้วใช่ไหมคะ แต่นอกจากสารอาหารที่เจ้าตัวเล็กจะได้รับแล้ว ก็ต้องอย่าลืมใส่รสชาติของความอบอุ่นในครอบครัวลงไปด้วยนะคะ

อ่านแล้วเป็นอย่างไรกันบ้าง สามารถมาแบ่งปันประสบการณ์กันได้นะคะ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อนค่ะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : พญาหงส์ติดบ่วง

นิทานสอนใจ : พญาหงส์ติดบ่วง


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหงส์ฝูงหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำใหญ่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ หัวหน้าฝูงหรือพญาหงส์ชื่อ "ธตรฐ" มีหงส์ที่สนิทชื่อ "สุมุข" เป็นกัลยาณมิตร อยู่มาวันหนึ่ง นกหงส์ 2 - 3 ตัวในฝูงบินไปหากินที่สระบัวหลวงที่อยู่ห่างไกลออกไป โดยเป็นสระบัวที่กว้างใหญ่สวยงาม และเป็นที่อาศัยหากินของนกเป็นจำนวนมาก เมื่อพบเแหล่งอาหารขนาดใหญ่ ก็ทำให้นกหงส์รู้สึกพอใจ จึงกลับมาเล่าให้พญาหงส์ฟังว่า พวกเขาอยากกลับไปหากินที่สระนั้นอีก พญาหงส์ห้ามว่า สระนั้นเป็นถิ่นมนุษย์มีอันตรายมากสำหรับนก ไม่ควรไป แต่บริวารก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า พญาหงส์จึงอนุโลม และบอกว่าจะตามไปด้วย คราวนั้นจึงมีหงส์บริวารตามไปเป็นจำนวนมาก

พอร่อนลงเท่านั้น พญาหงส์ก็ติดบ่วง บ่วงของพรานรัดเท้าไว้แน่น พญาหงส์ดึงเท้าอย่างแรงด้วยคิดว่าจะทำให้บ่วงขาด ปรากฏว่าครั้งแรกหนังถลอก ครั้งที่สองเนื้อขาด พอถึงครั้งที่สาม เอ็นขาด ถึงครั้งที่สี่ บ่วงกินลึกลงไปถึงกระดูก เลือดไหลมาก เจ็บปวดแสนสาหัส

พญาหงส์คิดว่า ถ้าหากตนร้องขึ้นว่าติดบ่วง บริวารซึ่งกำลังกินอาหารเพลินอยู่ก็จะตกใจกินอาหารไม่ทันอิ่ม เมื่อบินกลับก็จะไม่มีกำลังพอ จะตกทะเลตาย จึงเฉยอยู่ รอให้บริวารกินอาหารจนอิ่ม ตนเองยอมทนทุกข์ทรมานด้วยบ่วงนั้น

เมื่อเวลาล่วงไปพอสมควร เหล่าหงส์อิ่มแล้วกำลังเล่นเพลินกันอยู่ พญาหงส์ก็ร้องขึ้นด้วยเสียงดังว่า "ติดบ่วง" พอได้ยินดังนั้น หงส์บริวารทั้งหลายก็ตกใจ บินหนีกลับไปยังภูเขาจิตตกูฏ

ด้านหงส์สุมุข ทีแรกก็บินไปกับบริวารเหมือนกัน แต่เมื่อบินไปสักครู่หนึ่งก็เกิดเฉลียวใจว่าพญาหงส์อาจติดบ่วงก็ได้ จึงมองหาพญาหงส์ เมื่อไม่เห็น ก็คิดว่าอันตรายคงเกิดขึ้นแก่พญาหงส์เป็นแน่แล้ว หงส์สุมุขจึงรีบบินกลับมาที่สระบัว เมื่อเห็นพญาหงส์ติดบ่วงอยู่ก็ปลอบใจว่า อย่ากลัวเลย ตนเองจะสละชีวิตแทน

ด้านพญาหงส์กล่าวว่า "ฝูงหงส์บินหนีไปหมดแล้ว ขอท่านจงเองตัวรอดเถิด ไม่มีประโยชน์อะไรในการอยู่ที่นี่ เมื่อข้าพเจ้าติดบ่วงอยู่เช่นนี้ ความเป็นสหายจะมีประโยชน์อะไรเล่า"

หงส์สุมุขกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะอยู่จะไปก็ต้องตายอยู่ดี จะหนีความตายหาได้ไม่ เมื่อท่านมีสุข ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ เมื่อท่านมีทุกข์ ข้าพเจ้าจะจากไปเสียได้อย่างไร การตายพร้อมกับท่านประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยไม่มีท่าน เมื่อท่านมีทุกข์อยู่เช่นนี้ ข้าพเจ้าจะไปเสีย ดูไม่เป็นธรรมเลย"

พญาหงส์กล่าวว่า "คติของผู้ติดบ่วงเช่นข้าพเจ้าจะมีอะไรนอกจากต้องเข้าโรงครัว ท่านเป็นผู้มีความคิดเห็นประโยชน์อะไรในการยอมตายกับข้าพเจ้า ท่านมายอมสละชีวิตในเรื่องที่มิได้เห็นคุณอย่างแจ่มแจ้ง เหมือนคนตาบอดทำกิจการในที่มืดจะให้สำเร็จประโยชน์อย่างไร"

หงส์สุมุขกล่าวตอบว่า "ทำไมท่านจึงไม่รู้แจ้งซึ่งความหมายแห่งธรรม ธรรมที่บุคคลเคารพแล้ว ย่อมแสดงประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเพ่งถึงธรรมและประโยชน์ที่จะได้จากธรรม (มิใช่ผลประโยชน์ทางวัตถุ) จึงมิได้เสียดายชีวิต ธรรมดามิตรเมื่อระลึกถึงธรรมอยู่ ก็ไม่ควรทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ แม้จะต้องเสียชีวิตก็ตาม นี้คือธรรมของสัตบุรุษ"

เมื่อนกทั้งสองกำลังเจรจากันอยู่อย่างนี้ นายพรานก็มาถึง และเกิดความสงสัยว่า นกตัวหนึ่งติดบ่วงอยู่ แต่อีกตัวหนึ่งมิได้ติดบ่วง ทำไมจึงยืนอยู่ใกล้ ๆ มิได้บินหนีไป จึงไต่ถาม หงส์สุมุขจึงตอบให้ทราบว่า เพราะพญาหงส์เป็นนายของตน จึงมิอาจละทิ้งท่านไปได้

เพื่อจะขอชีวิตแห่งพญาหงส์ สุมุขจึงกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหว่านล้อมให้พรานเห็นใจ ขอให้ปล่อยเขาทั้งสองไปพบญาติและบริวาร ด้านนายพรานนั้นนิยมสรรเสริญในน้ำใจอันภักดีและเสียสละของหงส์สุมุขอยู่แล้ว และต้องการจะปล่อยนกทั้งสองไป แต่เพื่อทดลองใจสุมุข จึงกล่าวว่า

"ท่านเองก็มิได้ติดบ่วง และเราก็มิปรารถนาจะฆ่าท่าน ท่านจงรีบไปเสียเถิด ขอให้ท่านอยู่เป็นสุขตลอดกาลนาน"

ด้านหงส์สุมุขตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะมีชีวิตอยู่ โดยไม่มีพญาหงส์ ถ้าท่านพอใจเพียงชีวิตเดียวก็ขอให้ปล่อยพญาหงส์เถิด ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้นท่านจะปล่อยหรือจะกินเสียก็ได้ อนึ่ง ข้าพเจ้าทั้งสองมีรูปกายเท่ากัน ถึงจะเอาชีวิตข้าพเจ้าไปแทน ลาภของท่านก็มิได้พร่อง ขอได้โปรดเปลี่ยนตัวข้าพเจ้ากับพญาหงส์เถิด ถ้าท่านไม่แน่ใจก็ขอให้เอาบ่วงผูกมัดข้าพเจ้าไว้ แล้วปล่อยพญาหงส์ไป"

พรานมีใจอ่อนโยนยิ่งขึ้น ต้องการจะปล่อยพญาหงส์เพื่อเป็นรางวัลแก่สุมุข จึงกล่าวว่า

"ขอให้ใคร ๆ ทราบเถิดว่า พญาหงส์พ้นจากบ่วงความตายได้ก็เพราะท่าน มิตรอย่างท่านหาได้ยากในดลก หรืออาจไม่มีในโลก ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นใจท่าน เคารพในน้ำใจท่าน ขอท่านทั้งสองจึงบินไปเถิด ไปเป็นสุขในหมู่ญาติและบริวาร"

เมื่อพญาหงส์และสุมุขได้ทราบว่า นายพรานทำการดักบ่วงเพื่อหาทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ก็ต้องการจะตอบแทนน้ำใจของนายพราน จึงขอร้องให้นายพรานพาไปเฝ้าพระราชา และเล่าเรื่องราวให้พระราชาฟัง

พระราชาทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้วก็ทรงเลื่อมใสในนกและพรานที่ประพฤติธรรมต่อกัน จึงทรงพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่นายพรานเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพไปตลอดชีวิต

**************

การคบเพื่อนที่ดี เป็นวิถีทางแห่งความสุขความเจริญของชีวิต ทั้งปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมิตรที่ดีตามหลักในศาสนาพุทธคือ เป็นมิตรที่มีอุปการะ ร่วมทุกข์ร่วมสุข แนะนำประโยชน์ และมีความรักใคร่ ในขณะเดียวกัน พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียม 4 จำพวก ได้แก่ คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ และคนชักชวนไปในทางเสื่อม

การคบบัณฑิตและนักปราชญ์มีประโยชน์มากอย่างนี้ การมีคนดีเป็นมิตรสหาย เมื่อมีทุกข์ก็เป็นที่พึ่งได้ ไม่ยอมละทิ้งในยามวิบัติ และยอมสละได้แม้ชีวิตเพื่อมิตรที่ดี กัลยาณมิตรผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมแห่งมิตรนี้ หาได้ยากในโลก ผู้ใดได้แล้วควรประคับประคองรักษาด้วยดี

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ "เพื่อเยาวชน" ของสำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...อย่าเพ่อดีใจ

นิทานสอนใจ: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...อย่าเพ่อดีใจ


นิทานพ่อลูกเรื่องนี้เป็นนิทานที่แต่งโดยท่านพุทธทาส ที่ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อให้สติทุกคนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก ตลอดจนคนเฒ่าคนแก่ที่อาจหลงลืมสติไปบ้าง ซึ่งเนื้อเรื่องมีอยู่ว่า...

พ่อรู้สึกขบขันแกมสงสารอยู่ไม่น้อยที่เห็นลูกชายคนโตดีใจจนเนื้อเต้น ในการที่ได้รับปากกา “ป๊ากเกอร์ 51” ด้ามหนึ่งเป็นของขวัญวันเกิด และเห็นลูกชายคนเล็กดีใจมากไปกว่านั้อีกหลายเท่า ในการได้รับลูกกวาดของนอกกระป๋องเล็กๆ กระป๋องหนึ่งเป็นของขวัญในโอกาสเดียวกัน แต่พ่อไม่รู้สึกขบขันหรือสมเพชตนเอง ในการที่ตนเองตื่นเต้นยิ่งไปกว่าลูกทั้งสองอีก ในการที่ได้รับบัตรเชิญไปในงานมีเกียรติชั้นพิเศษ ของเจ้านายรายหนึ่งซึ่งตนไม่เคยนึกฝันว่าจะได้รับด้วยอาการมือสั่น ใจเต้นรัว แทบไม่เชื่อตาตนเองว่าบัตรนั้นส่งมาเชิญตน


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า....

มันเป็นการเหลือวิสัย ในการที่จะให้พ่อดีใจจนเนื้อเต้น ในเมื่อได้รับปากกาชนิดนั้นด้ามหนึ่ง หรือเมื่อได้ลูกกวาดกระป๋องหนึ่ง แต่ในที่สุดพ่อก็ไม่พ้นจากการที่ต้องมีใจเต้นรัว มือสั่น ด้วยได้กระดาษแผ่นเล็กๆอันหมายความถึง เกียรติอันหรูหรา จริงอยู่ รูปธรรม เช่น ด้ามปากกา หรือลูกกวาด มันไม่เหมือนกับนามธรรม เช่น เกียรติ หรือไม่มีค่าสูงเท่าเทียมกัน แต่เราต้องไม่ลืมว่ามันสามารถเขย่าตัณหา(ภวตัณหา) ของคนได้โดยทำนองเดียวกันโดยไม่มีผิด

ในฐานะที่เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจจนลืมตัวได้เท่ากัน แล้วแต่ความใคร่ของใครผู้มีอยู่อย่างไร ส่วนความที่ต้องใจเต้น มือสั่นเหล่านั้น ฯลฯ มันไม่มีผิดกันตรงไหน

เพราะฉะนั้น...
ใครเล่าที่ควรสมเพชใคร ในระหว่าง พ่อ-ลูกรายนี้?

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : คนยากไร้กับหนูตาย

นิทานสอนใจ : คนยากไร้กับหนูตาย


ท่านจุลลกเศรษฐี ในเมืองพาราณสี เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม เป็นบัณฑิตที่รู้จักปรากฏการณ์ต่าง ๆ วันหนึ่งจุลลกเศรษฐีไปเฝ้าพระราชา ระหว่างทางเห็นหนูตายตัวหนึ่ง เขามองดูท้องฟ้าแล้วกล่าวว่า บุคคลผู้มีปัญญา อาจเอาหนูตายตัวนี้ไปเป็นทุนเลี้ยงลูกเมียได้

ชายผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อ จูฬันเตวาสิก ได้ยินท่านเศรษฐีพูดเช่นนั้น ก็คิดว่า ท่านเศรษฐีไม่รู้จริงคงไม่พูด จึงเอาหนูตายตัวนั้นไปขายคนเลี้ยงแมวได้ทรัพย์มากากนิกหนึ่ง (กากนิก เป็นมาตราเงินอินเดียในสมัยนั้นที่มีค่าน้อยที่สุด เทียบมาตราเงินไทย 1 สตางค์)

จากนั้นก็นำทรัพย์หนึ่งกากนิกนั้นไปซื้อน้ำอ้อยงบ (น้ำอ้อยที่เคี่ยวแล้วทำเป็นแผ่นสะดวกกับการพกพา) แล้วเอาหม้อใบหนึ่งตักน้ำ ไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้กลับจากป้า ให้ชิ้นน้ำอ้อยและให้ดื่มน้ำคนละกระบวย พวกช่างดอกไม้ก็ให้ดอกไม้คนละกำมือแก่เขา

จูฬันเตวาสิกเอาดอกไม้ไปขายได้เงินกลับมามากขึ้น ก็นำเงินนั้นไปซื้อน้ำอ้อยงบและไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้เช่นเดิม ทำเช่นนี้จนเขามีเงินถึง 8 กหาปณะ (4 บาทเท่ากับ 1 กหาปณะ)

วันหนึ่ง ฝนตก พายุหนัก กิ่งไม้แห้งบ้างสดบ้างถูกพายุพัดลงมาเป็นอันมากในพระราชอุทยาน คนเฝ้าอุทยานไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี จูฬันเตวาสิกจึงรีบไปบอกคนเฝ้าว่า ถ้าจะให้ใบไม้กิ่งไม้เหล่านั้นแก่เขา เขาจะขนออกไปให้หมด คนเฝ้าสวนดีใจรีบบอกให้เขามาขนไปในทันที

ด้วยความดีใจ จูฬันเตวาสิกรีบกลับไปที่สนามเด็กเล่น ให้น้ำอ้อยแก่เด็ก ๆ แล้วขอแรงให้ช่วยขนกิ่งไม้จนหมดภายในเวลาไม่นาน กิ่งไม้จำนวนมากกองอยู่ที่หน้าประตูพระราชอุทยาน ก็พอดีกับช่างหม้อหลวงที่มาเที่ยวหาฟืน เพื่อเผาภาชนะดินของหลวงพบเข้า จึงขอซื้อกิ่งไม้เหล่านั้น

จากการขายไม้ ชายยากจนอย่างจูฬันเตวาสิกมีทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 16 กหาปณะแล้ว เมื่อมีทรัพย์มากขึ้น เขาจึงคิดอะไรได้อย่างหนึ่ง ด้วยการตั้งตุ่มน้ำไว้ไม่ไกลจากประตูเมือง เพื่อให้บริการคนหาบหญ้า 500 คน เหล่านคนหาบหญ้าพอใจในบริการที่มีน้ำใจของเขา จึงเอ่ยปากว่า หากต้องการให้พวกตนช่วยอะไร ขอให้บอกได้เลย

นอกจากคนหาบหญ้าแล้ว จูฬันเตวาสิกยังได้ผูกมิตรกับคนมากหน้าหลายตา ทำให้เขามีเพื่อนมากมาย วันหนึ่ง เพื่อนดีคนหนึ่งก็มาบอกข่าวแก่เขาว่า พรุ่งนี้จะมีพ่อค้าม้านำม้า 500 ตัวมายังนครแห่งนี้ จูฬันเตวาสิกจึงไปพบคนหาบหญ้า และขอซื้อหญ้าเตรียมเอาไว้

วันรุ่งขึ้น พ่อค้าม้านำม้า 500 ตัวมาถึง ก็พบว่ามีเพียงจูฬันเตวาสิกที่มีหญ้าขาย เขาได้กำไรจากการขายหญ้าในครั้งนี้ 1,000 กหาปณะ

โอกาสต่อมา ก็มีเพื่อนมาแจ้งข่าวแก่เขาว่า มีพ่อค้านำเรือสำเภาขนาดใหญ่มาจอดเทียบท่า จูฬันเตวาสิกไม่รอช้า รีบไปขอเหมาสินค้าทั้งลำเรือเอาไว้ เมื่อพ่อค้ารายอื่นมาถึงจึงต้องมาซื้อสินค้าจากเขา สุดท้ายเขาได้ทรัพย์มาเป็นจำนวนถึง 200,000 กหาปณะ

เมื่อได้ทรัพย์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ เขาก็เกิดความคิดว่า "เราควรเป็นคนกตัญญู นำทรัพย์ที่ได้ไปตอบแทนท่านเศรษฐี"

เร็วเท่าใจคิด จูฬันเตวาสิกถือทรัพย์ 100,000 กหาปณะไปมอบให้เศรษฐีเพื่อเป็นการตอบแทน พอท่านเศรษฐีทราบเรื่องทั้งหมด เห็นในสติปัญญา และความเฉลียวฉลาด จึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย และเมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกก็ได้เป็นเศรษฐีแห่งเมืองนั้นสืบต่อมา

นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การเชื่อฟังท่านผู้รู้ ไม่ดูเบาต่อคำสั่งสอน พยายามปฏิบัติตาม และทำอย่างมีปัญญา ใคร่ครวญพิจารณาให้ดี มีความคิดรอบคอบ และเมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็ระลึกถึงผู้มีพระคุณ บุคคลผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมไม่ตกต่ำ มีแต่จะตั้งตนได้และเจริญรุ่งเรือง ความรู้ ความประพฤติ และการงานที่ดีย่อมเป็นที่พึ่งพิงของบุคคลได้ดีกว่าสิ่งอื่น ดังภาษิตที่ว่า "ไม่มีมิตรใดเสมอได้ด้วยวิชชา"

ชะตากรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยั่งถึงได้ แต่ความเพียรพยายามเป็นสิ่งที่เรารู้ได้และอยู่ในอำนาจของเรา การทำความเพียรให้เป็นหน้าที่ของเรา การให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม

เมื่อหวังความสำเร็จผล ก็ต้องรู้จักรอคอย และควรคอยอย่างสงบ ไม่ใช่กระวนกระวายใจ อะไรที่ควรได้ ย่อมได้มาเองโดยผลแห่งกรรม หรือความเพียรชอบนั้นแล

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากหนังสือ "เพื่อเยาวชน" ของสำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ:พ่อแม่รังแกฉัน

นิทานสอนใจ:พ่อแม่รังแกฉัน


เมื่อชัยอายุ 6 ขวบ ขณะที่นั่งรถไปกับพ่อ ถูกตำรวจจับเพราะขับรถเร็วเกินกำหนด พ่อแอบยื่นเงิน 500 บาทให้ตำรวจ และได้รับอนุญาตปล่อยตัวไป พ่อหันมาพูดกับชัยว่า

“ไม่เป็นไรลูก...
เงินแค่นี้ซื้อเวลา ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 8 ขวบ ป้าพาไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าเป็นเงิน 75 บาท เมื่อป้าไปชำระเงิน ยื่นธนบัตรร้อยบาทให้พนักงาน ได้รับเงินทอน 55 บาท เพราะลูกค้ามากและเข้าใจว่าธนบัตร 50 บาท คือ 20 บาท ป้ารับเงินทอนและใส่กระเป๋าทันที แทนที่จะบอกพนักงานว่าทอนเงินผิด เมื่อออกจากร้านป้าก็พูดกับชัยว่า

“ไม่เป็นไรหลาน...
ความผิดของเขาเอง ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 9 ขวบ ครูให้การบ้านปลูกต้นหอมแดงในกระบะ 2 สัปดาห์ แล้วนำไปส่งที่โรงเรียน แม่ลืมซื้อหัวหอมแดงมาให้ชัย เมื่อครบกำหนดวันส่ง แม่ให้พ่อไปซื้อต้นหอมแดงที่ตลาด และฝังลงในกระบะให้ชัยนำไปส่งครู แล้วพูดว่า

“ไม่เป็นไรลูก...
ครูไม่รู้หรอก มีส่งก็ดีแล้ว ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 12 ขวบ ชัยทำแว่นตาใหม่ราคาแพงของลุงแตก
ลุงจึงนำใบเสร็จไปอ้างกับบริษัทเครดิตที่ลุงใช้บริการอยู่ว่าแว่นตาถูกขโมย ได้รับเงินชดใช้มา 15,000 บาท เต็มราคาที่ซื้อมา
ลุงพูดกับชัยอย่างภาคภูมิใจว่า

“ไม่เป็นไรหรอกหลาน...
สิทธ์ของเรา ใครใครเขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 15 ปี ได้เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน ครูฝึกได้สอนวิธีกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามให้บาดเจ็บโดยไม่ผิดถือว่าอยู่ในเกม
ครูฝึกบอกว่า

“ไม่เป็นไรหรอก...
ได้เปรียบไว้ก่อนเป็นดี ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”


เมื่อชัยอายุ 16 ปี ได้ไปทำงานระหว่างปิดเทอมที่แผนกซูปเปอร์มาร์เก็ต ของห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อแห่งหนึ่ง หัวหน้าแผนกให้ชัยจัดกระเช้าผลไม้ โดยแนะนำให้จัดวางผลไม่สวยจวนจะเน่าอยู่ก้นตะกร้า คัดผลสวย ใบโตสีสด จัดวางอยู่ส่วนบน หัวหน้าแผนกสอนว่า

“ไม่เป็นไรหรอก...
ผู้ซื้อไม่ได้ใช้เองแต่นำไปฝากคนอื่น ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 18 ปี ได้สมัครสอบเพื่อเข้าขอรับทุนของมหาวิทยาลัย ปรากฏผลทราบเป็นการภายในว่ามาเป็นอันดับ 2 เมื่อพ่อรู้เข้าจึงไปพูดกับกรรมการซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ในที่สุดชัยก็ได้รับทุน พ่อพูดกับชัยว่า

“ไม่เป็นไรลูก...
เป็นโอกาสของเรา ใครใครถ้ามีโอกาส เขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 19 ปี เพื่อนเอาข้อสอบปลายปีที่ขโมยมาขายกับชัยเป็นเงิน 1,500 บาท ชัยลังเลใจและตัดสินใจซื้อในที่สุด เพราะเพื่อนพูดว่า

“ไม่เป็นไรหรอกชัย...
เกรดมีผลกับอนาคตนะ ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 24 ปี ชัยถูกจับข้อหายักยอกเงินบริษัท 700,000 บาท และต้องติดคุก พ่อกับแม่ไปเยี่ยมและตัดพ้อต่อว่า

“ทำไมลูกทำอย่างนี้กับพ่อแม่
ที่บ้านเราไม่ได้สอนให้ลูกเป็นคนขี้โกงเลยนะ”

แต่แท้ที่จริงแล้ว พ่อแม่และบรรดาคนรอบข้างชัยไม่เคยรู้เลยว่า เขานั่นแหละที่สอนให้ชัยเป็นคนโกงโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ที่กลายเป็น "พ่อแม่รังแกฉัน" เสียเอง

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : คนแจวเรือจ้าง

นิทานสอนใจ : คนแจวเรือจ้าง


ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมื่อเจริญวัยเแล้วสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์หลายแขนง ท่านก็บวชเป็นฤาษี เลี้ยงชีวิตด้วยผลไม้น้อยใหญ่ในป่าหิมพานต์เป็นเวลานาน

ต่อมา ท่านต้องการลิ้มรสอาหารที่ปรุงแต่งบ้าง จึงเดินทางมายังเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัต พระราชาได้ทอดพระเนตรแล้วทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงรับเป็นอุปัฏฐาก ขอให้ท่านพักอยู่ในพระราชอุทยาน

โอวาทที่พระโพธิสัตว์ทรงถวายแด่พระเจ้าพรหมทัตก็คือ ขอให้ทรงเว้นอคติ 4 ได้แก่ ไม่ประมาท สมบูรณ์ด้วยพระขันติ และพระเมตตากรุณา ครองราชสมบัติโดยธรรม

โดยพระโพธิสัตว์ทูลเน้นว่า "ขอมหาบพิตรอย่าทรงพิโรธ พระราชาผู้ไม่ทรงพิโรธตอบผู้โกรธ ย่อมได้รับการบูชาจากประชาชน อาตมาภาพขอถวายอนุศาสน์นี้ในที่ทุกสถาน ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในป่า ในที่ลุ่มหรือที่ดอน ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย"

เหตุที่ถวายอนุศาสน์พระราชามิให้ทรงพิโรธนั้น เพราะพระราชาทั้งหลายมีพระบรมราชโองการเป็นอาวุธ คนเป็นอันมากต้องเสียชีวิตเพราะพระบรมราชโองการในขณะที่ทรงพิโรธ

ทุกครั้งที่พระราชาเสด็จมาประทับ พระดาบสโพธิสัตว์ก็ถวายอนุศาสน์แบบเดียวกัน พระราชาจึงทรงเลื่อมใส พระราชทานทรัพย์สินต่าง ๆ มากมาย แต่พระโพธิสัตว์ทูลปฏิเสธ ด้วยเห็นว่าไม่จำเป็นแก่ตน

12 ปีผ่านไป อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ดำริว่าอยู่ในที่แห่งนี้มานานแล้ว ควรเที่ยวจาริกไปชนบทอื่นบ้าง แล้วค่อยกลับมาใหม่ ก็มิได้ทูลลาพระราชา แต่เรียกคนเฝ้าสวนมาบอกให้ทราบไว้ แล้วเดินทางจากไปยังท่าเรือริมแม่น้ำคงคา

ที่ท่าเรือนั้น มีคนแจวเรือจ้างชื่อ "อาวาริยปิตา" เขาเป็นคนพาล โง่เขลา และดุร้าย ไม่รู้จักคุณของผู้มีคุณ ไม่รู้จักอุบายอันเหมาะสมเพื่อตน เขาจะส่งคนที่ต้องการข้ามแม่น้ำคงคาให้ข้ามก่อน แล้วจึงขอค่าจ้างราคาแพง ๆ ในภายหลัง ทำให้มักจะทะเลาะกับผู้โดยสารอยู่เนือง ๆ เพราะไม่ได้ตกลงราคากันไว้ก่อน มีการด่าทอ ทุบตีกันบ้างจึงจะได้ค่าจ้างมา

ขณะที่ดาบสโพธิสัตว์นั่งอยู่เรือเพื่อข้ามไปฝั่งตรงข้ามนั้น อาวาริยปิตา ก็ถามขึ้นว่า

"ท่านจะให้ค่าจ้างข้าพเจ้าเท่าใด"

"อาตมาจะบอกทางเจริญแห่งโภคทรัยพ์และความเจริญแห่งอรรถธรรมให้"

เขาฟังไม่เข้าใจถึงข้อความที่ท่านดาบสกล่าว แต่คิดว่าคงจะได้อะไรบ้างเป็นแน่ เมื่อไปถึงฝั่งตรงข้ามแล้ว เขาก็เอ่ยปากขอค่าจ้าง

ดาบสจึงสอนทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ว่า

"โยมจงขอค่าจ้างแก่ผู้ที่ข้ามไปฝั่งโน้นก่อน แล้วจึงไปส่งเขา เพราะจิตใจของคนที่ข้ามฟากแล้วเป็นอย่างหนึ่ง จิตใจของคนที่ต้องการจะข้ามฟากแต่ยังไม่ได้ข้ามก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน"

กระนั้น อาวาริยปิตาก็คิดว่า ดาบสคงให้อะไรที่เป็นวัตถุแก่ตนบ้าง แต่ดาบสกลับกล่าวว่า ที่พูดนั้นเพื่อความเจริญแห่งโภคทรัพย์ในอาชีพของอาวาริยปิตาเอง ต่อไปจะให้โอวาทเพื่อความเจริญแห่งอรรถธรรม นั่นก็คือ "จงอย่าโกรธ"

แต่เนื่องจากคนแจวเรือจ้างเป็นคนโง่เขลา จึงไม่เห็นว่า ในโอวาทนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ และเมื่อทราบว่า ดาบสไม่มีวัตถุใด ๆ จะมอบให้แก่ตน เขาก็โกรธมาก ผลักดาบสให้ล้มลง นั่งทับอกท่านและตบปาก

ขณะนั้น ภรรยาของเขาถืออาหารมาส่ง เห็นดาบสเข้าจึงจำได้ จึงรีบร้องห้ามว่า "ดาบสนี้เป็นชีต้นประจำราชตระกูล อย่าตีท่านเลย"

อาวาริยปิตาโกรธภรรยาที่ห้าม จึงพุ่งเข้าตบตีภรรยาจนล้มลงไป ถาดข้าวตกแตก ภรรยาซึ่งท้องแก่อยู่ก็คลอดลูกบนพื้นดิน ชาวบ้านก็พากันมาล้อมดู และช่วยกันจับเขามัดเอาไว้ ก่อนจะส่งตัวให้กับพระราชาเพื่อลงพระราชอาญา แต่พระโพธิสัตว์ก็ตรัสว่า

"ภรรยาก็ถูกตบ ถาดข้าวก็แตก เด็กในครรภ์ก็หล่นลงสู่พื้นดิน เขาไม่อาจให้ประโยชน์เกิดขึ้นเพราะโอวาทนั้น เหมือนเนื้อได้ทองคำ ไม่อาจทำประโยชน์อะไรได้"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จะให้โอวาทแก่ใคร ก็ควรดูให้ดีเสียก่อนว่า เหมาะสมแล้วจึงให้ ไม่ควรให้แก่ผู้ไม่เหมาะสม ดาบสถวายโอวาทนี้แด่พระราชา แล้วได้รับพระราชทานหมู่บ้านชั้นดี ขณะเดียวกัน การบอกโอวาทอย่างเดียวกันกับคนแจวเรือจ้างผู้เป็นอันธพาล ได้รับการตบปาก เปรียบเหมือนสัตว์ประเภทเนื้อหรือลิงได้ทองคำ หรือแก้วมณี ที่มันไม่เห็นคุณค่า เหยียบย่ำเสียบ้าง นอนทับเสียบ้าง ไม่อาจใช้สิ่งนั้นให้เกิดเป็นประโยชน์เพิ่มพูนแก่ตนฉันใด คนอันธพาลก็ฉันนั้น แม้ได้ฟังโอวาทของบัณฑิตแล้วก็ไม่สามารถเอาไปทำประโยชน์อะไรได้ กลับจะเพ่งโทษให้แก่ผู้ให้โอวาทนั้นเสียอีก

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : สิงโตติดหล่ม

นิทานสอนใจ : สิงโตติดหล่ม


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ราชสีห์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำบนภูเขา ด้านล่างของเชิงเขาเป็นสระน้ำสระใหญ่ มีหญ้าเขียวสดอ่อนไสวขึ้นตามเชิงเลนขอบสระ สัตว์เล็ก ๆ เช่น กระต่าย แมวป่า ฯลฯ ต่างมาเที่ยวเล่น เล็มหญ้าอยู่ตามเชิงเลนขอบสระกันมากมาย

วันหนึ่ง ขณะที่ราชสีห์ยืนมองลงไปที่เชิงเขา ก็พบเนื้อตัวหนึ่งมาเล็มหญ้าอยู่ ราชสีห์ต้องการจับเนื้อนั้นมาเป็นอาหาร จึงกระโดดจากภูเขาสุดกำลัง หวังจับเนื้อให้ได้ แต่ปรากฏว่าราชสีห์ตกลงไปติดในเชิงเลนขึ้นไม่ได้ เท้าทั้ง 4 ฝังลงไปดังเสา ต้องยืนอดอาหารอยู่ถึง 7 วัน

ระหว่างนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งหากินเพลินอยู่ก็มาพบเข้าก็ตกใจกลัว ทำท่าจะหนี ราชสีห์จึงขอร้องให้ช่วย"อย่าหนีเลย เราติดหล่มขึ้นไม่ได้มา 7 วันแล้ว ช่วยชีวิตเราทีเถิด"

สุนัขจิ้งจอกเข้าไปใกล้สีหะ พลางกล่าวว่า "เรากลัวว่าเมื่อช่วยท่านได้แล้ว ท่านจะจับเรากินเป็นอาหารเสีย"

ราชสีห์ยืนยันว่าอย่ากลัวเลย พร้อมรับรองว่าจะไม่กินสุนัขจิ้งจอก หากแต่จะสนองคุณที่ช่วย สุนัขจิ้งจอกรับคำมั่นสัญญาแล้ว ก็ช่วยคุ้ยเลนรอบ ๆ เท้าของราชสีห์ออก ขุดลำรางให้น้ำไหลเข้ามา ทำให้เลนเหลว จากนั้นก็มุดเข้าไปใต้ท้องราชสีห์ เอาศีรษะดันท้อง พร้อมร้องดัง ๆ ว่า "นาย พยายามเข้าเถิด"

สีหะออกแรงตะกายขึ้นมาจากเลนได้ ก็วิ่งไปยืนบนบกพักเหนื่อยครู่หนึ่ง แล้วลงสระ ล้างโคลนอาบน้ำระงับความกระวนกระวาย จากนั้นจึงจับกระบือตัวหนึ่ง ฆ่าให้ตาย แล้วฉีกเนื้อมาวางไว้ข้างหน้าสุนัขจิ้งจอก ขอให้สุนัขจิ้งจอกกินก่อน ส่วนตนจะกินทีหลัง

สุนัขจิ้งจอกคาบเอาเนื้อชิ้นหนึ่งวางไว้ เมื่อสีหะถามว่าเนื้อชิ้นนี้เพื่อใคร สุนัขจิ้งจอกก็บอกว่า เพื่อนางสุนัขจิ้งจอก ราชสีห์จึงตอบว่า จงเอาไปเถิด เราเองก็จะเก็บส่วนหนึ่งไว้เพื่อนางสิงห์เหมือนกัน

สัตว์ทั้งสองกินเนื้อจนอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็คาบเนื้อไปฝากนางสุนัขจิ้งจอกและนางสิงห์ โดยราชสีห์ได้ชวนครอบครัวของสุนัขจิ้งจอกไปอยู่กับตนบนถ้ำที่ภูเขา รับว่าจะเลี้ยงดูให้มีความสุข

สัตว์ 2 ตระกูลนี้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สุนัขจิ้งจอกกับราชสีห์ นางสิงห์กับนางสุนัขจิ้งจอก และลูก ๆ ของสัตว์ทั้งสองก็สนิทสนมกลมเกลียวกันอย่างดี

จำเนียรกาลล่วงมา นางสิงห์คิดว่าไฉนหนอ ราชสีห์สามีเราจึงรักนางสุนัขจิ้งจอกและลูก ๆ ของมันนัก อาจจะเคยลอบได้เสียกันหรือไม่ จึงได้เสน่หามากมาย อย่ากระนั้นเลย เราจะหาอุบายให้นางสุนัขจิ้งจอกไปเสียจากที่นี่ คิดได้ดังนั้นแล้ว ระหว่างที่สีหะสามีตนและสุนัขจิ้งจอกไปหากิน ก็กลั่นแกล้งข่มขู่นางสุนัขจิ้งจอกนานัปการ อาทิว่า ทำไมอยู่ที่นี่นานนัก ไม่ไปที่อื่นบ้าง ส่วนลูกสิงห์ก็ข่มขู่ลูกสุนัขจิ้งจอกเช่นกัน

เมื่อสุนัขจิ้งจอกกลับมา นางสุนัขจิ้งจอกก็เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้สามีฟัง และตั้งข้อสงสัยว่า ไม่ทราบว่าที่นางสิงห์ทำไปนั้น ทำไปโดยพลการ หรือทำตามคำสั่งของราชสีห์

สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปหาสีหะและพูดว่า "นาย ข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่านก็นานแล้ว ผู้อยู่ร่วมกันนานเกินไป ทำให้ความรักจืดจางลงได้ ผู้ใดไม่พอใจให้คนอื่นอยู่ในสำนักของตนก็ควรจะขับไล่ไปเสียเถิด จะเหน็บแนมเอาประโยชน์อะไรกัน" พร้อมเล่าพฤติการณ์ของนางสิงห์ให้ราชสีห์ฟังทุกประการ พร้อมกับถามว่า

"พญาเนื้อ ผู้มีกำลังอยากให้ใครไป ก็ย่อมไล่ไปได้ นี้เป็นธรรมดาของผู้มีกำลังทั้งหลาย ดูกร ท่านผู้มีเขี้ยวโง้งโปรดทราบเถิดว่า บัดนี้ ภัยเกิดจากที่พึ่งเสียแล้ว"

ราชสีห์ฟังคำสุนัขจิ้งจอกแล้วก็ถามนางสิงห์ว่า เป็นความจริงหรือ ที่ขู่เข็ญนางสุนัขจิ้งจอก นางสิงห์รับว่าเป็นความจริง ราชสีห์จึงว่า นางไม่รู้หรือ เมื่อเราไปหากินครั้งโน้นนานมาแล้ว เราไม่กลับมาถึง 7 วัน เพราะเหตุไร นางสิงห์ตอบว่าไม่ทราบ

สีหราชจึงเล่าเรื่องทั้งปวงที่ตนติดหล่มให้นางสิงห์ฟังและว่า สุนัขจิ้งจอกนี้เป็นสหายผู้ช่วยชีวิตเรา มิตรที่สามารถดำรงมิตรธรรมไว้ได้ ชื่อว่าอ่อนกำลังย่อมไม่มี ตั้งแต่นี้ไปอย่าได้ดูหมิ่นสหายของเราและครอบครัวของเขาเลย พร้อมย้ำว่า

"แม้ว่ามิตรเขามีกำลังน้อย แต่เขาดำรงอยู่ในมิตรธรรม เขานับว่าเป็นทั้งญาติ ทั้งพี่น้อง ทั้งมิตรสหาย เธออย่าได้ดูหมิ่นสุนัขจิ้งจอกที่ช่วยชีวิตเราไว้"

นางสิงห์รู้ว่าตนเข้้าใจผิด จึงขอขมาโทษ ตั้งแต่นั้นมา สัตว์ทั้งสองสกุลก็กลมเกลียวรักใคร่กันดังเดิม เมื่อพ่อแม่สิ้นชีวิตลงแล้ว ลูกของสัตว์ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันมาถึง 7 ชั่วอายุ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

- คนดี หรือแม้สัตว์ที่ดี ย่อมรู้อุปการะที่ผู้อื่นทำแล้วแก่ตน และพยายามหาทางทำตอบแทนเท่าที่กำลังความสามารถของตนมีอยู่
- เพื่อนรักกัน อาจแตกกันได้ เพราะภรรยาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้น อย่าหูเบาฟังแต่เสียงภรรยาตนข้างเดียว

ขอบคุณนิทานดี ๆ จากหนังสือ "เพื่อเยาวชน" สำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ :เรื่องถ้วยเก่ากับคนแก่

นิทานสอนใจ :เรื่องถ้วยเก่ากับคนแก่


ครั้งหนึ่ง มีบ้านหลังหนึ่งมีสามี ภรรยา ลูกชาย และอาม่าแก่ๆคนหนึ่ง อาม่าแก่มากและไม่แข็งแรง มีอาการมือสั่นตลอดเวลา ทำให้ถือของลำบาก โดยเฉพาะ เวลาที่อาม่าทานข้าวร่วมกับครอบครัว อาม่าจะถือชามข้าวได้ลำบากและทำข้าวหกลงบน โต๊ะตลอดเวลา

ลูกสะใภ้อาม่ารำคาญกับเรื่องนี้มาก จึงปรึกษากับสามี ว่าเวลาอาม่า ทานข้าวเขาจะทำข้าวหกเกลื่อนโต๊ะ นางทนไม่ได้เพราะมันทำให้รู้สึกกินข้าวไม่ลง สามีก็ไม่รู้จะทำอย่างไร เพราะเขาไม่สามารถทำให้อาม่าหายมือสั่นได้

อีกไม่กี่วัน ลูกสะใภ้ก็พูดกับสามีเรื่องนี้อีก ว่าจะไม่แก้ไขอะไรเลยหรือ นางทนไม่ได้แล้ว หลังจากโต้เถียงกันไปสักพัก สามีก็ยอมตามภรรยา โดยเมื่อ ถึงเวลาทานข้าว เขาจะจัดให้แม่นั่งแยกโต๊ะต่างหากเพียงคนเดียว และใช้ถ้วยข้าว ถูกๆบิ่นๆ เพราะอาม่าทำถ้วยแตกบ่อยๆ

เมื่อถึงเวลาทานข้าว อาม่าเศร้าใจมาก เพราะอาม่าก็ไม่มีปัญญาจะแก้ไข อะไรได้ นางนึกถึงอดีต ที่นางเลี้ยงดูลูกชายด้วยความรักเสมอมา นางไม่เคยบ่นต่อ ความเหนื่อยยาก และเวลาที่ลูกชายเจ็บไข้นางก็ดูแลอย่างดี เวลาลูกชายมีปัญหาก็ ช่วยแก้ไขทุกครั้ง แต่ตอนนี้อาม่ารู้สึกว่าถูกทิ้ง อาม่าเสียใจมาก

หลายวันผ่านไป อาม่ายังเศร้าใจ รอยยิ้มเริ่มจางหายไปจากใบหน้าของ เขา หลานชายน้อยๆของอาม่าซึ่งเฝ้าดูทุกอย่างมาตลอดก็เข้ามาปลอบใจและบอกคุณย่าว่า เขารู้ว่า คุณย่าเสียใจมากที่พ่อแม่ของเขาทำแบบนี้ แต่หลานชายมีวิธีที่จะให้อา ม่ากลับไปทานข้าวรวมกับทุกคนได้

ความหวังเริ่มเกิดขึ้นในหัวใจของหญิงชรา จึงถามหลานชายว่าจะทำอย่าง ไร หลานก็ตอบว่าเย็นนี้ให้คุณย่าแกล้งทำชามของคุณย่าตกแตกเหมือนกับไม่ได้ตั้งใจ อาม่าได้ฟัง ก็แปลกใจ แต่เด็กน้อยยืนยันว่า ให้คุณย่าทำตามที่บอก ที่เหลือปล่อย เป็นหน้าทีของหลานเอง

และแล้วเมื่อได้เวลาอาหารเย็น หญิงชราก็ตัดสินใจลองทำตามที่หลานพูด เพื่อจะดูว่าหลานมีแผนอะไร หญิงชรายกถ้วยข้าวเก่าที่เต็มไปด้วยรอยบิ่นขึ้นแล้ว แกล้งปล่อยลง บนพื้นเหมือนกับหลุดมือ ถ้วยข้าวเก่าๆแตกกระจายยับเยิน

ลูกสะใภ้เห็น ถ้วยแตกเสียหายก็ลุกขึ้นเตรียมจะด่าว่าอาม่า แต่ลูกชายตัวน้อยของนางกลับชิงพูด ขึ้นมาก่อนว่า

"คุณย่าทำไมทำชามแตกหมดเลยล่ะครับ หนูกะว่าจะเก็บไว้ให้คุณแม่ใช้ตอนแก่นะ แล้วคุณแม่จะได้ใช้ชามเก่าที่ไหนกันล่ะเนี่ย..."

ลูกสะใภ้เมื่อได้ยินลูกชายพูดเช่นนี้ก็หน้าซีดและด่าอาม่าไม่ออกอีก ต่อไป นางรู้ทันทีว่าสิ่งที่นางทำจะเป็นตัวอย่างให้ลูกชายของนางปฏิบัติเมื่อนาง แก่ตัวลง นางรู้สึกอับอายและสำนึกกับการกระทำของตัวเอง ตั้งแต่นั้นมา ทุกคนก็ทานข้าวรวมกันมาตลอด

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ: ปัญญาจากหมาขี้เรื้อน

นิทานสอนใจ: ปัญญาจากหมาขี้เรื้อน


ลูกชายนักธุรกิจใหญ่มีชื่อเสียงระดับประเทศคนหนึ่ง เพิ่งสำเร็จการศึกษากลับมาจากเมืองนอก ยังไม่ทันทำงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ก็ถูกผู้เป็นแม่ขอร้องให้บวชเรียนเสียก่อน เพื่อเห็นแก่แม่..

บัณฑิตใหม่หมาดจากเมืองนอกจึงบวชอย่างเสียไม่ได้ เมื่อบวชที่วัดใหญ่ในกรุงเทพฯแห่งหนึ่งเสร็จแล้ว ผู้เป็นแม่จึงพาไปฝากให้จำพรรษาอยู่กับ พระวิปัสสนาจารย์รูปหนึ่งที่วัดป่าแถวภาคอีสาน พระหนุ่มการศึกษาสูงมาจากตระกูลผู้ดี มีแต่ความสุขสบายเมื่อมาอยู่วัดป่า กว่าจะปรับตัวได้จึงใช้เวลานานเป็นแรมเดือน

แต่ก็นั่นแหละกว่าจะ'นิ่ง' ก็ทำเอาพระร่วมวัดหลายรูปพลอยอิดหนาระอาใจไปตามๆกัน ปัญหาที่ทำให้พระทั้งวัดเหนื่อยหน่ายจนนึกระอาก็เพราะ พระใหม่มีนิสัยชอบจับผิดและชอบอวดรู้ ยกหู ชูหางตัวเองอยู่เป็นประจำ

วันแรกที่มาอยู่วัดป่าก็นึกเหยียดพระเจ้าถิ่นทั้งหลายว่า ไม่ได้รับการศึกษาสูงเหมือนอย่างตน ออกบิณฑบาตได้อาหารท้องถิ่นมาก็ทำท่าว่าจะฉันไม่ลง เห็นที่วัดใช้ตะเกียงน้ำมันก๊าดแทนไฟฟ้า ก็วิพากษ์วิจารณ์เสียเป็นการใหญ่หาว่า ล้าสมัยไม่รู้จักใช้เทคโนโลยี

ตอนหัวค่ำมีการทำวัตรสวดมนต์เย็นก็บ่นว่า ท่านรองเจ้าอาวาสทำวัตรนานเหลือเกิน กว่าจะสิ้นสุดยุติได้ก็นั่งจนขาเป็นเหน็บชา ครั้นพอถึงเวรตัวเองล้างห้องน้ำเข้าบ้าง ก็ทำท่าจะล้างอย่างขอไปที ล้างไปบ่นไปประเภทตูจบปริญญาโทมาจากเมือง นอกต้องมาเข้าเวรล้างห้องน้ำร่วมกับใครก็ไม่รู้


โอ้ชีวิต!ความสำรวยหยิบโหย่งทำให้พระใหม่ไม่พอใจสิ่งนั้นสิ่งนี้ ถือดีว่าตัวเองมีชาติตระกูลสูง มีการศึกษาสูงกว่าใครในวัดนั้น ผิวพรรณก็ดูสะอาดสะอ้านชวนเจริญศรัทธากว่าพระรูปไหนทั้งหมด มองตัวเองเปรียบกับพระรูปอื่นแล้วช่างรู้สึกว่า ตัวเองเหนือกว่าทุกประตู นึกแล้วก็ยิ้มกระหยิ่มอยู่ในใจกลับเข้ากุฏิเมื่อไหร่ ก็เอาปากกามาขีดเครื่องหมายกากบาทบนปฏิทินนับถอยหลัง รอวันสึกด้วยใจจดจ่อ

อยู่มาได้พักใหญ่พระใหม่อดีตนักเรียนนอกก็สังเกตเห็นว่า ท่านเจ้าอาวาสวัดป่าแห่งนี้ไม่ค่อยพูดไม่ค่อยจา ซ้ำนานๆครั้งจะออกมาให้โอวาทกับลูกศิษย์เสียทีหนึ่ง วันๆไม่เห็นท่านทำอะไรเอาแต่กวาดใบไม้ เก็บขยะ ซักผ้าเอง (เณรน้อยก็มีไม่รู้จักใช้) สอนก็ไม่สอน การบริหารวัดก็มอบให้ท่านรองเจ้าอาวาสเป็นคนจัดการไปเสียทุกอย่าง

เห็นแล้วเลยนึกร้อนวิชาเสนอให้ปรับโน่นลดนี่สารพัดที่ตัวเองเห็นว่าไม่เข้าท่าล้าสมัย รวมทั้งให้เสนอให้วัดใช้ไฟฟ้าแทนตะเกียงด้วย อีกข้อหนึ่งเพราะตนเห็นว่ายุคสมัยก้าวไกลมามากแล้ว ไม่ควรจะทำตนเป็นคนหลังเขาให้คนอื่นเขาดูถูก

อีกหนึ่งในข้อวิจารณ์จุดด้อยของวัดทั้งหลายเหล่านั้น พระใหม่เสนอให้หลวงพ่อเจ้าอาวาส มีปฏิสัมพันธ์กับพระลูกวัดให้มากขึ้นกว่านี้ สอนให้มากขึ้นเทศน์ให้มากขึ้น และแนะนำว่าคนระดับผู้บริหารไม่ควรจะทำงาน อย่างการซักจีวรเองเป็นต้นด้วยตนเอง ควรจะกระจายอำนาจมอบงานให้คนอื่นทำดีกว่า เย็นวันนั้นเป็นวันพระสิบห้าค่ำ

หลวงพ่อเจ้าอาวาสมานั่งทำวัตรที่โบสถ์ธรรมชาติกลางลานทราด้วย ท่านไม่ลืมที่จะหยิบข้อเสนอแนะจากพระใหม่มาอ่าน ให้พระหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลายฟัง แต่ท่านไม่บอกว่าพระรูปไหนเป็นคนเขียน

อ่านจบแล้วหลวงพ่อก็ยิ้มอย่างมีเมตตาพลางหยิบไมโครโฟนขึ้นมา แล้วชี้ให้ภิกษุหนุ่มสามเณรน้อยทั้งหลาย ดูหมาขี้เรื้อนตัวหนึ่ง ที่นอนอยู่ใต้ม้าหินอ่อนตัวหนึ่งใต้ต้นอโศกที่อยู่ใกล้ๆ

"เธอทั้งหลายเห็นหมาขี้เรือนตัวนั้นหรือไม่ เจ้าหมาตัวนั้นน่ะมันเป็นขี้เรื้อนคันไปทั้งตัว ฉันเห็นมันวิ่งวุ่นไปมาทั้งวัน เดี๋ยวก็วิ่งไปนอนตรงนั้น เดี๋ยวก็ย้ายมานอนตรงนี้อยู่ที่ไหนก็อยู่ไม่ได้นานเพราะมันคัน แต่พวกเธอรู้ไหม เจ้าหมาตัวนั้นน่ะมันไปนอนที่ไหน มันก็นึกด่าสถานที่นั้นอยู่ในใจหาว่า แต่ละที่ไม่ได้ดั่งใจตัวเองสักอย่าง นอนที่ไหนก็ไม่หายคัน สถานที่เหล่านั้นช่างสกปรกสิ้นดี”

“คิดอย่างนี้แล้วมันจึงวิ่งหาที่ที่ตัวเองนอนแล้วจะไม่คัน แต่หาเท่าไหร่มันก็หาไม่พบสักที เลยต้องวิ่งไปทางนี้ทางโน้นอยู่ทั้ง วันเจ้าหมาโง่ตัวนั้นมันหารู้สักนิดไม่ว่า เจ้าสาเหตุแห่งอาการคันนั้น หาใช่เกิดจากสถานที่เหล่านั้นแต่อย่างใดไม่ แต่สาเหตุแห่งอาการคันอยู่ที่โรคของตัวมันเองนั่นต่างหาก"

พูดจบแล้วหลวงพ่อก็วางไมโครโฟนลงเป็นสัญญาณให้รู้ว่า ได้เวลาภาวนาหลังการทำวัตรสวดมนต์เย็นแล้ว

ขณะที่ทุกรูปนั่งหลับตาภาวนาอย่างสงบนั้น ในใจของพระใหม่กลับร้อนเร่าผิดปกตินอกสงบแต่ในวุ่นวาย นึกอย่างไรก็มองเห็นตัวเองไม่ต่างไปจากหมาขี้เรื้อนที่หลวงพ่อชี้ให้ดู ยิ่งนั่งสมาธินานๆ ยิ่งคันคะเยอในหัวใจทั้งอายทั้งสมเพชตัวเอง

นับแต่วันนั้นเป็นต้นมาพระใหม่อดีตนักเรียนนอกก็เปลี่ยนไปเป็นคนละคน จากคนพูดมากกลายเป็นคนพูดน้อย จากคนที่หยิ่งยโสกลายเป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน จากคนที่ชอบจับผิดคนอื่นกลายเป็นคนที่หันมาจับผิดตัวเอง

แม้เมื่อออกพรรษาแล้วโยมแม่มาขอให้ลาสิกขาเพื่อกลับไปสืบต่อธุรกิจจากครอบครัว ท่านก็ยังไม่ยอมสึก "อาตมาเป็นหมาขี้เรื้อนขออยู่รักษาโรค จนกว่าจะหายคันกับครูบาอาจารย์ที่นี่อีกสักหนึ่งพรรษา"
โยมแม่ได้ฟังแล้วก็ได้แต่ยกมืออนุโมทนาสาธุการกราบลาพระลูกชาย แล้วก็เดินออกจากวัดไปขึ้นรถพลางนึกถามตัวเองอยู่ในใจว่าคำว่า "หมาขี้เรื้อน" ของพระลูกชายหมายความว่าอย่างไรกันแน่

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ลิงล้างหู

นิทานสอนใจ : ลิงล้างหู


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ในป่าใหญ่มีลิงอยู่ฝูงหนึ่ง พญาลิงที่เป็นจ่าฝูงเป็นลิงเผือก มีรูปร่างงดงามมาก วันหนึ่งนายพรานไปพบลิงงามตัวนี้เข้า ก็นึกอยากได้รางวัล จึงไปทูลพระราชาว่า มีลิงรูปร่างงดงามมากอยู่ในป่า พระราชาก็รับสั่งให้ไปจับมาถวาย พอเห็นพญาลิงเข้าท่านก็รัก เพราะงาม และฉลาด เป็นลิงโพธิสัตว์ ท่านก็อ้อนวอนให้ลิงอยู่ในวัง และให้อิสระ จะเดินเที่ยวเล่นในวังอย่างไรก็ได้

เมื่อได้รับอิสระ พญาลิงนั้นก็ได้ออกเที่ยวตามตำหนักต่าง ๆ แต่ไม่ว่าจะเดินทางไปที่ใด ก็ได้ยินคนพูดกันแต่เรื่องตัวเอง (หรือก็คือ การยึดถือในตัวกู ของกู) ทั้งเงิน บ้าน ทรัพย์สิน อะไร ๆ ก็เป็นเรื่องของตัวเองไปทั้งหมด เมื่อพญาลิงอยู่ในสิ่งแวดล้อมดังกล่าวนานวันเข้า จิตใจก็อ่อนแอ นอนเพลีย ไม่ยอมกินข้าวกินน้ำ ผู้ดูแลเกิดความวิตก เกรงว่าพญาลิงจะไม่สบาย จึงไปทูลพระราชาให้ทรงทราบ

พระราชาได้ยินดังนั้นจึงเสด็จมาเยี่ยม แล้วทรงถามว่า "เป็นอะไรไปล่ะถึงไม่กินข้าวกินปลา"
พญาลิงตอบว่า "ถ้าอยากจะให้กินข้าวกินปลา ขอได้โปรดปล่อยหม่อมฉันเข้าไปอยู่ในป่าตามเดิมเถิด เพราะไม่อยากได้อะไรทั้งนั้นแล้ว"

พระราชาจึงประทานอนุญาตให้คนพาพญาลิงเข้าไปส่งในป่า

พอไปถึงในป่า พวกลูกน้องลิงพากันออกมาต้อนรับด้วยความดีใจที่พญาลิงได้กลับมาอยู่ป่าตามเดิม และขอให้พญาลิงเล่าถึงสิ่งต่าง ๆ ที่ได้ไปเห็นมาว่าในบ้านเมือง ตำหนักราชวังเขามีอะไรบ้าง หรือมนุษย์เขาคุยกันเรื่องอะไรบ้าง

พญาลิงได้ยินคำถามก็เบือนหน้าหนี บอกว่า อย่าถามเลย ไม่อยากพูด แต่ก็ยิ่งทำให้พวกบริวารลิงยิ่งเซ้าซี้ สุดท้ายพญาลิงไม่รู้จะปฏิเสธอย่างไร จึงตัดใจเล่าให้ฟังว่า

"สิ่งที่พวกมนุษย์พูดกันนั้น ไม่เห็นมีอะไร นอกจากของกู ไอ้นั่นก็ของกู ไอ้นี่ก็ของกู"

บริวารได้ยินดังนั้นจึงรีบร้องให้พญาลิงหยุดเล่า พร้อมปิดหูพากันวิ่งลงน้ำ เอาน้ำล้างหูที่ได้ยินคำสกปรกอย่างนั้น โดยฝูงลิงเห็นว่า พวกมนุษย์มีแต่ความเห็นแก่ตัว อะไรก็จะเอาเป็นของกู ทั้ง ๆ ที่ต้องเบียดเบียนคนอื่นกว่าจะได้มา ซึ่งหากเราพิจารณาธรรมชาติ เราจะเห็นต้นหมากรากไม้ สัตว์ป่า ไม่ว่าตัวเล็กตัวใหญ่ ต้นเล็กต้นใหญ่ ล้วนแล้วแต่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่กัน ไม่เห็นแก่ตัว แต่มนุษย์ไม่เป็นเช่นนั้น นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ฝูงลิงพากันไปล้างหูเพราะรู้สึกว่าสกปรกหูมากเหลือเกินที่ได้ยินถึงความเห็นแก่ตัวของมนุษย์

และเมื่อมีพญาลิงกลับมาอยู่เป็นจ่าฝูงตามเดิม ลิงทั้งฝูงก็อยู่กันอย่างสงบสุขโดยไม่สนใจสังคมมนุษย์อีกเลย

ขอบคุณข้อมูลบางส่วนจากหนังสือ "ก่อนหยุด หยุดก่อน"

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : แม่ผัว VS ลูกสะใภ้

นิทานสอนใจ : แม่ผัว VS ลูกสะใภ้


เมื่อสัปดาห์ที่แล้วผมได้โทรศัพท์ไปหาเพื่อนของผมคนหนึ่งที่บ้าน โดยภรรยาเขาเป็นผู้รับสาย ผมได้ทราบว่าเพื่อนผมไม่อยู่ไปราชการต่างจังหวัดหลายวันด้วยความคุ้นเคยที่ทั้งคู่ต่างเป็นเพื่อนร่วมสถาบันเดียวกับผม ทำให้ผมเลยได้มีโอกาสพูดคุยทำนองปรับทุกข์กับภรรยาของเขาเป็นเวลานาน

เธอเล่าให้ผมฟังว่าหลังจากที่เธอแต่งงานกับเพื่อนผม และเธอได้ย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ที่บ้านของครอบครัวสามี ซึ่งมีคุณแม่ของสามีอาศัยอยู่ด้วย เธอรู้สึกอึดอัดมาก ปัญหาโลกแตกที่เกิดขึ้นระหว่างแม่สามีและลูกสะใภ้ที่มักเคยปรากฏตามหนังสือนวนิยาย หรือละครโทรทัศน์ก็เกิดขึ้นกับเธอ ทำให้เธอรู้สึกไม่ชอบแม่สามีเอามากๆ เธอรู้สึกว่านางเป็นคนแก่ที่จู้จี้ ขี้บ่นและน่ารำคาญเป็นที่สุด ตัวเธอมีเรื่องทะเลาะกับแม่สามีได้ไม่เว้นแต่ละวัน ทำให้เธอคิดที่จะแยกออกไปอยู่ต่างหากฉับสามีภรรยาเพื่อให้พ้นหูพ้นตาแม่สามีไปเสีย เธอเอ่ยถามเพื่อขอความเห็นจากผมในฐานะเพื่อน

ผมเข้าใจความรู้สึกของทุกฝ่ายเป็นอย่างดีเลยขอให้คำแนะนำเธอด้วยการเล่านิทานให้เธอฟังเรื่องหนึ่ง เป็นเรื่องระหว่างแม่ผัวลูกสะใภ้เหมือนอย่างที่เธอกำลังประสบอยู่ การที่แม่สามีและลูกสะใภ้ต้องทะเลาะมีปากเสียงกันอยู่เสมอทำให้ ผ่ายชายซึ่งเป็นสามีและเป็นลูกได้แต่เอามือกุมขมับพูดไม่ออกบอกไม่ถูก เพราะนั่นก็แม่นี่ก็เมียเลยมักที่จะหลบหน้าออกไปทำงานให้ไกลๆจะได้ไม่ต้องมารับรู้ปัญหาระหว่างแม่และเมีย

แล้ววันหนึ่งก็เกิดปัญหาทะเลาะกันอย่างที่เคย ตัวภรรยาเองรู้สึกแค้นแม่ของสามีมากจึงตัดสินใจวางแผนที่จะฆ่าแม่สามีให้ตาย เธอจึงเดินทางไปหาเพื่อนพ่อของเธอที่เป็นพ่อค้าขายสมุนไพร และเอ่ยปากขอให้เจ้าของร้านจัดยาพิษให้เพื่อเธอจะได้วางยาฆ่าแม่สามีให้ตายสมใจปรารถนา เจ้าของร้านได้นำเอาผงสมุนไพรมาให้เธอถุงหนึ่งและบอกเธอว่ามันจะช่วยแก้ปัญหาให้กับเธอได้อย่างแน่นอน แต่ผงสมุนไพรนี้จะต้องถูกนำไปผสมกับอาหารที่แม่สามีชอบ และต้องให้ทุกมื้ออย่างสม่ำเสมอไม่ให้ขาด ที่สำคัญคือเธอต้องเป็นผู้วางยานี้ด้วยตนเอง

เขาขอให้เธอทำดีกับแม่สามีเพื่อให้เธอตายใจ อย่าไปชวนทะเลาะ หรือขัดใจ เพื่อให้แม่สามียอมรับประทานอาหารที่เธอจัดให้จนหมดโดยพงสมุนไพรนี้จะออกฤทธิ์ที่ละน้อยๆ ให้แม่สามีค่อยๆ ตายอย่างช้าๆ และไร้ร่องรอย


ลูกสะใภ้ดีใจและรีบนำยาพิษนั้นกลับไปผสมอาหารให้แม่สามีทานทุกมื้อ เธอพยายามปรุงอาหารคาวหวานที่ล้วนเป็นของชอบเป็นอาหารโปรดของแม่สามี ในขณะเดียวกันเธอก็พยายามเอาใจ ด้วยการขยันทำงานบ้านไม่เถียงไม่ทะเลาะกับแม่สามีอีก เธอพยายามทำดีกับแม่สามีเพื่อที่จะไม่ให้มีใครสงสัย โดยคิดอยู่เสมอว่าอย่างไรเสียแม่ของสามีจะต้องตายอย่างแน่นอน

แต่พอทำดีกับแม่สามีไปนานวันเข้า เธอเริ่มมองเห็นความดีของแม่สามีซึ่งนอกจากจะไม่ด่าไม่ว่าเธออีกต่อไปแล้ว หลายๆ ครั้งนางยังช่วยเธอทำงานบ้าน แถมยังแอบไปชมเธอให้บรรดาเพื่อนบ้านฟังอยู่เรื่อยๆ ตัวสามีเองเมื่อเห็นว่าบ้านมีความสงบก็ไม่ออกไปไหนไกลๆ กลับบ้านทุกเย็นได้อยู่พูดคุยกันด้วยความสนุกสนานทั้งสามคน ครั้นแล้วตัวลูกสะใภ้เองเริ่มรู้สึกว่าบ้านมีความสุข เธอก็รู้สึกผิดไม่สบายใจและรีบไปที่ร้านสมุนไพรอีกครั้งหนึ่งเพื่อขอยาแก้พิษก่อนที่จะเกิดอะไรขึ้นกับแม่สามีและสามีจะรู้

ที่ร้านขายยาเจ้าของร้านบอกกับเธอว่า ไม่มียาแก้พิษหรอก...... เมื่อเธอได้ยิน ถึงกับหน้าซีด เธอดูผิดหวังและเสียใจอย่างมาก แต่เจ้าของร้านก็พูดต่อว่า ความจริงแล้วผงสมุนไพรที่ให้ไปมันเป็นยาบำรุงไม่ใช่ยาพิษตามที่เข้าใจ เพราะจริงๆ แล้วยาพิษนั้นมันอยู่ในใจของเธอ อันได้แก่ความพยาบาท ความเกลียดชัง ทิฐิ และการเห็นแก่ตัว ซึ่งเธอได้ถอนออกจากใจของเธอจนหมดแล้ว การตอบแทนความเกลียดชังด้วยความเกลียด นอกจากไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้ว ยังทำให้เกิดความทุกข์ขึ้นในจิตใจของคนเราอีกด้วย…….

พอผมเล่าจบเธอก็ไม่ได้เอ่ยปากขอความเห็นอะไรจากผมอีก ผมเข้าใจว่าหลังจากเธอวางสายไปเธอคงเข้าใจว่า หากเธอต้องการความรักความเข้าใจจากใครก็ตามสิ่งที่เธอต้องมีและให้กับคนนั้นก่อนก็คือความรักและความเข้าใจ และด้วยการแสดงออกของความรักและความเข้าใจของสมาชิกทุกๆ คนในครอบครัวนี้ จะเป็นวิธีการในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในครอบครัวได้ทุกๆ เรื่อง

หากเราพบความขัดแย้ง ความเกลียดชังหรือความไม่ดีไม่งามในชีวิต การตอบโต้กับความขัดแย้ง ความเกลียดชัง และความไม่ดีไม่งาม ด้วยความอาฆาตพยาบาทนอกจากจะไม่ช่วยแก้ปัญหาแล้วยังทำให้เกิดปัญหาที่รุนแรงมากยิ่งขึ้นอีก จงจำไว้ว่า หากเราต้องการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ต่างๆ ให้ดีขึ้นเราต้องพยายามที่จะคิดว่าเราจะสร้างความดีและมอบความรักให้กันให้มากขึ้นได้อย่างไร?.....?

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ลูกช้างกับช่างไม้

นิทานสอนใจ : ลูกช้างกับช่างไม้


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีช่างไม้ชาวเมืองพาราณสีจำนวน 500 คนมีอาชีพโค่นต้นไม้ทำเครื่องเรือน และปราสาท ได้รับเงินทองมากมายจากการประกอบอาชีพนี้ โดยพวกเขาต้องแล่นเรือทวนน้ำขึ้นไปถึงป่าใหญ่แห่งหนึ่ง จึงจะสามารถโค่นไม้ต้นใหญ่มาทำเครื่องเรือนได้ตามต้องการ

และในครั้งหนึ่งที่เหล่าช่างไม้ทั้ง 500 คนกำลังตั้งกองโค่นไม้อยู่ในป่า ก็มีช้างพลายเชือกหนึ่งที่อยู่ในละแวกใกล้เคียงบังเอิญเหยียบตอตะเคียนที่แหลมคม ทำให้มันได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัส อย่างไรก็ดี ช้างได้ยินเสียงเหล่าช่างไม้โค่นต้นไม้อยู่ไม่ไกลก็คิดว่า อาจขออาศัยพวกช่างไม้ช่วยถอดหนามให้ได้ จึงเดินเขยกเท้าไปหาช่างไม้ เมื่อเข้าไปใกล้ก็นอนลง ช่างไม้เห็นช้างเท้าบวมฉุ เพราะตอไม้ตำเท้า จึงเอามีดคมกรีดรอบ ๆ ตอไม้ แล้วเอาเชือกผูกดึงตอไม้ออกมา บีบหนองออกแล้วชะแผลด้วยน้ำอุ่น รักษาแผลให้ด้วยยาสมุนไพร ไม่นานนัก แผลที่เท้าช้างก็หายสนิท

ช้างนั้นเป็นช้างกตัญญู คิดว่า เราหายจากโรคร้ายครั้งนี้เพราะการช่วยเหลือของช่างไม้ เราควรตอบแทนพวกเขา ตั้งแต่นั้นมา ช้างก็ช่วยฉุดลากต้นไม้มาตลอด ฝ่ายพวกช่างไม้ก็รักและสงสารช้าง เมื่อเวลากินอาหารก็เอาข้าวของตนให้ช้างคนละปั้น รวมได้ 500 ปั้น เป็นเช่นนี้มาตลอด จนกระทั่งวันหนึ่ง ช้างเริ่มแก่ตัวลง ทำงานไม่ค่อยไหว จึงเข้าป่าไปพาลูกช้างเผือกปลอด ซึ่งเป็นลูกของตนมาช่วยงานเหล่านายช่างแทนตัวเอง

ตั้งแต่ได้รับคำสั่งจากพ่อช้าง ลูกช้างก็ทำทุกอย่างตามที่พวกช่างไม้บอก ช่างไม้ก็เลี้ยงมันด้วยข้าว 500 ปั้นเหมือนกัน และมันก็เป็นมิตรสนิทสนมกับลูก ๆ ของพวกช่างไม้ แต่กระนั้นก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ความสัมพันธ์นี้ต้องเปลี่ยนแปลงไป เมื่อวันหนึ่ง มีฝนตกหนัก น้ำฝนได้ชะเอามูลแห้งของลูกช้างที่โตเป็นช้างหนุ่มลงสู่แม่น้ำ (ธรรมดาช้างหรือม้า หรือผู้ที่เป็นชาติอาชาไนยย่อมไม่ถ่ายอุจจาระ หรือปัสสาวะลงแม่น้ำ) มูลนั้นไหลไปตามกระแสน้ำ ไปติดอยู่ที่พุ่มไม้แห่งหนึ่งที่ท่าน้ำเมืองพาราณสี

ครั้งนั้น ควาญช้างของพระราชาได้นำช้างจำนวนมากลงดื่มน้ำในแม่น้ำ พวกช้างเหล่านั้นได้กลิ่นมูลช้างอาชาไนยเข้าก็ไม่กล้าลง นอกจากไม่กล้าลงแล้ว ยังยกหางวิ่งหนีเสียอีก ควาญช้างจึงบอกให้นายหัตถาจารย์ทราบ และมีการตรวจพบว่า มูลช้างอาชาไนยนั้น คือเหตุที่ทำให้ช้างทั้งปวงวิ่งหนี

จากนั้น นายหัตถาจารย์ได้ทูลความเรื่องนี้แด่พระราชา และขอให้เสด็จตามหาช้างอาชาไนย พระราชาเสด็จโดยเรือ ทวนกระแสน้ำขึ้นไปบรรลุถึงที่อยู่ของพวกช่างไม้

พวกช่างไม้เมื่อเห็นพระราชาเสด็จมาก็ถวายบังคมพระราชา แล้วทูลว่า ถ้ามีพระประสงค์ไม้ ทำไมจึงต้องเสด็จมาเอง ให้คนมาเอาไปก็ได้ พระราชาตรัสว่า มิได้มีพระประสงค์ไม้ แต่ทรงต้องการช้างอาชาไนย ช่างไม้จึงทูลว่า ให้คนจับไปเถิดพระเจ้าข้า

อย่างไรก็ดี ลูกช้างไม่ยอมไป พระราชาตรัสถามช่างไม้ว่าต้องทำอย่างไร ลูกช้างจึงจะยอมไป ช่างไม้ตอบว่า "ต้องเอาทรัพย์ให้พวกช่างไม้พระเจ้าข้า" พระราชาจึงรับสั่งให้วางกหาปณะใกล้ ๆ ตัวช้าง 5 แห่ง ๆ ละ 1 แสนกหาปณะ แต่ลูกช้างก็ยังไม่ยอมไป

พระราชารับสั่งให้มอบผ้านุ่งห่มแก่ช่างไม้และภรรยาช่างไม้ทุกคน แต่ช้างก็ยังไม่ยอม ต่อเมื่อโปรดประทานเครื่องใช้สอย และเครื่องเล่นสำหรับเด็กแก่ลูกช่างไม้ทุกคน ลูกช้างจึงยอมไปกับพระราชา แต่ก็ไปด้วยความอาลัยอย่างยิ่ง

พระราชาแห่งกรุงพาราณสีนำช้างไปสู่พระนคร จัดการสมโภชน์อย่างดี ให้อยู่ในโรงช้างที่สวยงาม ตั้งช้างไว้ในฐานะสหายของพระองค์ ตั้งแต่ได้ช้างมงคลมา พระราชาก็ถึงความเป็นผู้มีบุญพร้อม ทรงสมบูรณ์ด้วยลาภสักการะและกฤษฎาภินิหารเป็นที่เกรงขามของราชาสามันตราชทั้งปวง

ต่อมา พระราชาเสด็จทิวงคต ในขณะที่พระอัครมเหสีทรงพระครรภ์แก่ แต่ก็ปิดข่าวดังกล่าวนี้เอาไว้ไม่ให้ช้างรู้ ด้วยเกรงว่าช้างจะหัวใจแตกตาย เพราะความอาลัย

พอได้ข่าวพระเจ้ากรุงพาราณสีเสด็จทิวงคตแล้ว พระเจ้าโกศลก็กรีธาทัพมาล้อมนครพาราณสีไว้ มุ่งหมายจะยึดเอาราชสมบัติไปเป็นของพระองค์ ชาวเมืองจึงส่งข่าวไปทูลพระเจ้าโกศลว่า บัดนี้พระอัครมเหสีของพวกเขากำลังทรงพระครรภ์แก่ โหรทางกายวิทยาทำนายว่าอีก 7 วันพระนางจะประสูติ จึงขอผ่อนผันว่าพวกเราจักต่อยุทธ์กัน เมื่อถึงกาลนั้น พระเจ้าโกศลก็ยินยอม

อีก 7 วันต่อมา พระอัครมเหสีก็ทรงประสูติพระราชโอรส ประชาชนที่จิตใจหดหู่ท้อถอยอยู่ ก็ร่าเริงมีกำลังใจขึ้น จึงขนานนามพระราชกุมารว่า "อลีนจิตตกุมาร" มีความหมายว่า ทำให้จิตใจของประชาชนหายหดหู่ พร้อมกันนั้น ชาวพาราณสีก็ออกรบตามสัญญาที่ให้ไว้ แต่เนื่องจากไม่มีจอมทัพ จึงไม่อาจเอาชนะกองทัพของพระเจ้าโกศลได้ จึงมากราบทูลพระอัครมเหสีว่า ถ้ารบเช่นนี้เห็นทีจะแพ้แน่นอน พระนางจึงทรงประดับพระโอรส ให้บรรทมที่พระโจมผ้าทุกูลพัสตร์เสด็จสู่โรงช้าง ให้พระโอรสบรรทมใกล้เท้าช้าง แล้วตรัสว่า
"พ่อเอ๋ย สหายของท่านสิ้นพระชนม์แล้ว พวกเรากลัวท่านจะโทมนัสถึงหัวใจแตก จึงมิได้บอกท่าน กุมารนี้เป็นโอรสแห่งสหายของท่าน เวลานี้ พระเจ้าโกศลยกทัพมาประชิดนคร ต้องการยึดเอาเมืองนี้ไว้ในครอบครอง ท่านจงช่วยรักษาราชสมบัติไว้ให้โอรสแห่งสหายท่านด้วยเถิด"

ช้างเอางวงลูบไล้พระราชโอรสน้อย ยกขึ้นวางบนกระพองร้องไห้อาลัยรัก จากนั้นก็วางพระโอรสลงในพระหัตถ์ของพระราชเทวี แล้วออกจากโรงช้าง ตั้งใจว่าจะจับพระเจ้าโกศลให้ได้ พวกอำมาตย์แวดล้อมช้างจึงได้ตามออกไปด้วย ช้างได้บรรลือโกญจนาท ทำให้พลข้าศึกตกใจหนีไป จากนั้นช้างได้เข้าทำลายค่าย จับมวยผมพระเจ้าโกศลไว้ได้ แล้วนำมาหมอบลงแทบพระบาทแห่งพระราชโอรสน้อย

ต่อมา พระราชโอรสนั้น ได้ทรงเข้าพิธีอภิเษกเป็นพระราชาเมื่อพระชนมายุได้ 7 พรรษา ทรงพระนามว่า อลีนจิตตราชา เสวยราชสมบัติโดยธรรม

ข้อคิดจากเรื่องนี้

1. สัตว์เดรัจฉานเช่นช้างที่เจ็บเท้าในเรื่องนี้ ยังมีความกตัญญูกตเวทีต่อพวกช่างไม้ผู้ทำให้ตนหายป่วย แสดงถึงความเป็นผู้มีใจสูง มนุษย์ควรเอาอย่างได้

2. กัลยาณมิตร แม้ระหว่างสัตว์กับคนยังช่วยเหลือกันได้ เช่น ช้างมงคลช่วยให้อลีนจิตตกุมารราชโอรสแห่งสหายของตนได้ชนะข้าศึก และครองราชย์ได้ มนุษย์ต่อมนุษย์ผู้เป็นกัลยาณมิตรกัน จึงควรอย่างยิ่งที่จะช่วยเหลือกันในยามวิบัติขัดข้อง

3. บุรุษอาชาไนย หรือสัตว์อาชาไนยย่อมแสดงความเป็นอาชาไนยของตนโดยลักษณะ คือเป็นผู้มีลักษณะดี มีคุณธรรมสูง มีความเสียสละเพื่อเห็นแก่ส่วนรวม มีความเกรงกลัวบาป มีความรักเกียรติยศยิ่งชีวิต อยู่เพื่อความดี และยอมตายเพื่อความดี

4. คนดีเมื่อตนได้ดี ย่อมหาทางช่วยเหลือคนอื่นบ้างตามสมควร เช่น ลุกช้างเมื่อพระราชาจะนำไปสู่พระนคร ยังหาทางช่วยเหลือช่างไม้ ภรรยาและบุตรให้มีเครื่องใช้และทรัพย์ก่อนแล้วจึงจากไป

ขอบคุณนิทานดี ๆ จากหนังสือเพื่อเยาวชน ของสำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : เหมียว เหมียว เหมียว/ต้นหลิว

นิทานสอนใจ : เหมียว เหมียว เหมียว/ต้นหลิว


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีเจ้าแมวตัวหนึ่งที่ไม่มีเพื่อน มันชื่อว่า "เจ้าเหมียว" เจ้าเหมียวมันอยากมีเพื่อนมากๆ เลย "เราจะทำยังไงดีนะ...ถึงจะมีเพื่อน" เจ้าเหมียวคิด คิด และก็คิด

"อ๋อ...คิดออกแล้ว เราลองออกเดินทางไปตามหาเพื่อนดีกว่า ต้องเจอแน่ๆ เลย" ว่าแล้วเจ้าเหมียวก็เริ่มออกเดินทางทันที

เจ้าเหมียวออกตามหาเพื่อนในป่าเป็นที่แรกก่อน มันได้ยินเสียงดังมาแต่ไกลว่า "จิ๊บ จิ๊บ จิ๊บ" เจ้าเหมียวจึงเดินตามเสียงนั้นเข้าไปเรื่อยๆ จนเห็นนกตัวหนึ่งกำลังร้องเพลงอยู่บนต้นไม้อย่างมีความสุข

"สวัสดีเจ้านกน้อย มาเป็นเพื่อนกับฉันมั้ย" เจ้าเหมียวถามนกน้อย

"ถ้าเธออยากจะมาเป็นเพื่อนกับฉัน เธอต้องบินอย่างฉันให้ได้ก่อนสิ แล้วฉันจะยอมเป็นเพื่อนกับเธอ"นกน้อยตอบ

เจ้าเหมียวรีบตอบตกลง เพราะมันอยากมีเพื่อน มันเลยปีนขึ้นไปบนต้นไม้ แล้วก็กระโดดลงมาทันที

"โอ๊ย...เจ็บจังเลย" เจ้าเหมียวร้องออกมาเสียงดัง ผลปรากฏว่า เจ้าเหมียวบินไม่สำเร็จ มันเลยไม่ได้เป็นเพื่อนกับเจ้านกน้อย

เจ้าเหมียวเดินไปที่ลำธาร เพราะหิวน้ำ และมันก็เห็นตัวอะไรก็ไม่รู้ อยู่ในน้ำ เจ้าเหมียวจึงถามไปว่า

"เธอเป็นใคร มาเป็นเพื่อนกับฉันมั้ย"

แล้วเจ้าตัวนั้นก็ตอบกลับมาว่า "ฉันเป็นปลา ถ้าอยากเป็นเพื่อนกับฉัน เธอก็ต้องว่ายน้ำแบบฉันให้ได้ก่อนสิ ฉันถึงจะเป็นเพื่อนด้วย เธอว่ายน้ำแบบฉันได้หรือเปล่าล่ะ"

เจ้าเหมียวรีบตอบตกลง แล้วรีบกระโดดลงน้ำทันที...ตู้ม !!!

"ช่วยด้วย! ใครก็ได้ช่วยที" เจ้าเหมียวร้องตะโกนเสียงดังลั่นป่า เพราะว่าตัวเองกำลังจะจมน้ำ

เจ้าปลาน้อยจึงว่ายน้ำมาช่วยเจ้าเหมียวขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย...แล้วก็ว่ายน้ำจากไป โดยไม่ยอมเป็นเพื่อนกับเจ้าเหมียว

เจ้าเหมียวเดินทางหาเพื่อนจนลืมสังเกตดูท้องฟ้าว่า มืดแล้ว จนมันได้ยินเสียงแปลกๆ ดังขึ้นมาว่า "ฮูก ฮูก ฮูก สวัสดีเจ้าแมวน้อย ดึกดื่นแบบนี้ทำไมยังไม่กลับบ้าน" คุณนกฮูกถาม

"ฉันกำลังเดินตามหาใครสักคนมาเป็นเพื่อนฉัน แล้วเธอล่ะ มาเป็นเพื่อนกับฉันได้มั้ย" เจ้าเหมียวถาม

คุณนกฮูกตอบกลับมาว่า "ฉันเป็นเพื่อนกับเธอไม่ได้หรอก เพราะฉันชอบอยู่บนต้นไม้ในป่าที่เงียบสงบ ฮูก ฮูก ฮูก"

"แต่ฉันเห็นสัตว์ชนิดหนึ่งนะ มีหาง มีหู และขา 4 ขา เหมือนเธอด้วย แต่มันต่างกันแค่สีเท่านั้นเอง พวกเขามีชื่อว่า เจ้าหง่าว กับเจ้าแง้ว" นกฮูกบอกเจ้าเหมียวด้วยความสงสาร

พอพูดจบ คุณนกฮูกก็บินไปตามเจ้าหง่าว กับเจ้าแง้ว ให้มาหาเจ้าเหมียวน้อย ซึ่งสัตว์ทั้งสองที่คุณนกฮูกพามานั้น ช่างเหมือนเจ้าเหมียวน้อยมากๆ เลย ต่างกันแค่สี และก็ลายเท่านั้นเอง

"ไชโย...ฉันมีเพื่อนแล้ว เราเป็นเพื่อนกันนะ" เจ้าเหมียวกระโดดดีใจที่จะได้มีเพื่อนใหม่แล้ว

"ฉันชื่อ เหมียว" เจ้าเหมียวทักทาย

"ฉันชื่อแง้ว" "ฉันชื่อหง่าว" เพื่อนใหม่ทั้ง 2 ตัวแนะนำตัวกับเจ้าเหมียวตามลำดับ

ตั้งแต่นั้นมา แมวน้อยทั้ง 3 ประกอบด้วย เจ้าเหมียว เจ้าแง้ว และเจ้าหง่าว ก็เป็นเพื่อนรักกันตลอดมา และก็มีความสุขที่ได้เป็นเพื่อนกันตลอดไป

นิทานเรื่องนี้ น้องต้นหลิวตั้งใจจะบอกให้รู้ว่า "ความพยายามเป็นสิ่งที่ดี และเด็กๆ ทุกคนสามารถมีเพื่อนได้ แต่ไม่จำเป็นต้องไปทำตาม หรือทำให้เหมือนกับเพื่อนคนๆ นั้น และที่สำคัญ การเลือกเพื่อนควรเลือกให้ดี และเลือกให้เข้ากับตัวเราเองมากที่สุด"

ขอบคุณนิทานดีๆ จากครอบครัวพูลศรี และมูลนิธิเด็ก

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ:ครูกับนักเรียน

นิทานสอนใจ:ครูกับนักเรียน


คุณครูทอมป์สันโกหกนักเรียนชั้น ป.5 ของครูทั้งชั้นซะแล้ว ตั้งแต่วันแรกที่เริ่มสอนเลยด้วยซ้ำ คุณครูบอกว่า ครูรักเด็กเท่ากันหมดทุกคนเลย แต่นั่นก็เป็นไปไม่ได้ เพราะว่ามีเด็กตัวเล็กๆ ท่าทางขี้เกียจคนหนึ่งชื่อ เท็ดดี้ สต๊อดดารด์ ครูทอมป์สันได้จับตาดูเท็ดดี้มาปีนึงและสังเกตว่าเขาไม่ค่อยเล่นดีๆ กับเด็กคนอื่นเท่าไหร่

เสื้อผ้าของเขาสกปรกและเค้าตัวเหม็นหึ่งอยู่ตลอดเวลาด้วยแหละ และบางทีเท็ดดี้ก็เกเร ถึงขั้นที่ว่าครูทอมป์สันสนุกกับการตรวจงานของเท็ดดี้ด้วยหมึกสีแดง กากบาทไปหนาๆ และใส่ตัว F ตัวใหญ่ๆ ลงไปบนหัวกระดาษ

โรงเรียนที่คุณครูทอมป์สันสอน คุณครูต้องทบทวนประวัติของเด็กแต่ละคนด้วย แต่คุณครูก็ไม่ยอมตรวจประวัติของเท็ดดี้ จนกระทั่งเหลือแฟ้มสุดท้าย แต่ทันใดนั้นเมื่อคุณครูตรวจแฟ้มเข้า ครูทอมป์สันก็แปลกใจใหญ่ เมื่อพบว่า ครูชั้น ป.1 ของเท็ดดี้วิจารณ์มาว่า "น้องเท็ดดี้เป็นเด็กที่ฉลาดและร่าเริง ทำงานเรียบร้อย มารยาทดี เป็นเด็กที่น่ารักมากทีเดียว"

ส่วนคุณครูที่สอนเท็ดดี้ตอน ป.2 เขียนว่า " เท็ดดี้เป็นเด็กที่เรียนเก่งมาก เพื่อนๆ ชอบกันทุกคน แต่กำลังมีปัญหาเพราะแม่ของเท็ดกำลังป่วยหนัก และชีวิตทางบ้านต้องลำบากมากแน่ๆ "

คุณครูที่สอนเท็ดดี้ตอน ป.3 เขียนว่า “เขาเสียใจมากที่เสียแม่ไป เขาพยายามเต็มที่แล้วแต่คุณพ่อก็ไม่ค่อยให้ความรักความสนใจเขาเท่าไหร่ และชีวิตที่บ้านเขาต้องส่งพลกระทบต่อเขาแน่ๆ ถ้าไม่มีคนยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือ”

คุณครูที่สอนเท็ดดี้ตอน ป.4 เขียนว่า “เท็ดดี้ไม่ยอมเข้าสังคมและไม่ค่อยสนใจการเรียนเท่าที่ควร ไม่ค่อยมีเพื่อนและหลบหนีจากห้องเรียน

ตอนนี้ คุณครูทอมป์สัน รู้ถึงปัญหาแล้วและอับอายในการกระทำของตนเองมาก ครูรู้สึกแย่ยิ่งกว่าเดิมอีก เมื่อนักเรียนในห้องซื้อของขวัญวันคริสต์มาสมาให้ ห่อในกระดาษสีสดๆ พร้อมผูกโบว์อย่างดี ยกเว้นแต่ของเท็ดดี้ ของขวัญของเท็ดดี้ถูกห่ออย่างหยาบๆ ในกระดาษลูกฟูกหนาๆ ที่ได้มาจากถุงใส่กับข้าว ครูทอมป์สันกัดฟัน เปิดกล่องของเท็ดดี้ดูกลางกองของขวัญอื่น ๆ

เด็กบางคนเริ่มหัวเราะเมื่อเห็นว่า เท็ดดี้ให้กำไลลูกปัดที่ไม่ครบเส้น และขวดน้ำหอมที่เหลือน้ำอยู่ก้นขวดแก่เธอ แต่ครูก็หยุดเสียงหัวเราะของเด็กๆ

เมื่อครูเอ่ยขึ้นว่ากำไลเส้นนั้นสวยเพียงใด สวมมันไว้ที่ข้อมือ และฉีดน้ำหอมไปบนข้อมือด้วย เท็ดดี้ สต๊อดดารด์ เฝ้ารออยู่จนเย็นให้นานพอที่จะพูดว่า " ครูทอมป์สันครับ วันนี้ครูตัวหอมเหมือนที่แม่ผมเคยหอมเลยครับ "
หลังจากที่นักเรียนทุกคนกลับบ้าน ครูทอมป์สันก็ร้องไห้เป็นชั่วโมง หลังจากวันนั้นเอง คุณครูเลิกสอนหนังสือ เลิกสอนการเขียนและเลิกสอนเลขคณิต แต่คุณครูเริ่มสอนเด็กๆ แทน คุณครูทอมป์สันเอาใจใส่เท็ดดี้เป็นพิเศษ

เมื่อครูพยายามช่วยเขา จิตใจของเขาก็กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง ยิ่งครูให้กำลังใจเท็ดดี้เท่าไหร่ เขาก็ยิ่งตอบรับเร็วขึ้นเท่านั้น ภายในสิ้นปีนั้นเอง เท็ดดี้ได้กลายเป็นเด็กที่ฉลาดที่สุดในห้อง และถึงวันนี้แม้ว่าคุณครูจะบอกว่าครูรักเด็กทุกคนเท่ากัน แต่ความจริง เท็ดดี้ก็ได้กลายไปเป็น "ศิษย์โปรด" ของครูไปแล้ว


หนึ่งปีต่อมา คุณครูพบจดหมายอยู่ใต้ประตู จดหมายนั้นมาจากเท็ดดี้ บอกครูว่าคุณครูยังเป็นครูที่ดีที่สุดที่เขาเคยมี หกปีต่อมา ครูก็ได้จดหมายจากเท็ดดี้อีก บอกว่าเขาเรียนจบม.ปลายแล้ว ได้ที่สามในทั้งระดับ และคุณครูยังคงเป็นครูที่ดีที่สุดที่เขาเคยเจอมาในชีวิต

สี่ปีหลังจากนั้น คุณครูก็ได้จดหมายอีก บอกว่าแม้ว่าชีวิตเขาจะลำบากบ้างเขาก็ไม่ได้เลิกเรียนหนังสือ และจะจบปริญญาตรีในเร็วๆ นี้ด้วยเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง (เหรียญทอง) และยังย้ำกับครูทอมป์สันว่า คุณครูเป็นครูที่ดีที่สุดและเป็นครูคนโปรดในชีวิตของเขา

จากนั้นสี่ปีผ่านไปจดหมายอีกฉบับหนึ่งก็มา ครั้งนี้เขาอธิบายว่าหลังจากที่เขาได้รับปริญญาตรีแล้ว เขาตัดสินใจที่จะเรียนต่ออีกนิด จดหมายนั้นอธิบายว่า คุณครูยังเป็นครูคนที่ดีที่สุดที่เขาเคยมี ครั้งนี้เขาลงชื่อในจม.ของเขายาวขึ้นอีกหน่อย จดหมายนั้นลงชื่อว่า "นพ. ทีโอดอร์ เอฟ. สต๊อดดารด์ "

เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลินั้นก็ยังมีจดหมายมาอีก เท็ดดี้บอกว่า เขาได้เจอสาวคนหนึ่งและก็จะแต่งงานกัน เขาบอกมาในจม.ว่าพ่อของเขาได้เสียไปเมื่อสองสามปีก่อนและ เขาสงสัยว่าคุณครูทอมป์สัน จะตกลงมานั่งในที่นั่งสำหรับพ่อเจ้าบ่าวในงานแต่งงานหรือไม่ แน่นอนที่สุด ครูทอมป์สันมา และทายสิว่าเกิดอะไรขึ้น

คุณครูใส่กำไลข้อมือเส้นนั้น เส้นที่มีลูกปัดหายไปหลายลูก และต้องฉีดน้ำหอมที่เท็ดดี้จำได้ว่าแม่เขาฉีดตอนที่ฉลองเทศกาลคริสต์มาสครั้งสุดท้ายด้วยกัน

ครูกับศิษย์กอดกันกลมเลย และคุณหมอเท็ดก็กระซิบในหูคุณครูทอมป์สันว่า " ขอบคุณมากนะครับคุณครูที่เชื่อในตัวผม ขอบคุณครูมาก ที่ทำให้ผมรู้สึกสำคัญและแสดงให้ผมเห็นว่าผมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ "

ครูทอมป์สันกระซิบตอบพร้อมน้ำตานองหน้าว่า " หมอเท็ดจ๊ะ เธอเข้าใจผิดแล้วแหละ เธอต่างหากที่สอนครูว่าครูสามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ ได้ ครูไม่รู้จักการสอนที่แท้จริง จนกระทั่งครูได้พบได้รู้จักเธอนั่นแหละ "

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนเราควรเติมเต็มหัวใจของคนอื่นด้วยความรักเสียแต่วันนี้ โปรดจำว่า ไม่ว่าคุณจะไปไหน หรือทำอะไร คุณจะมีโอกาสที่จะสัมผัส และเปลี่ยนอนาคตของคนอื่นในทางทีดีขึ้นด้วยเสมอ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ชาวนาผู้ไม่จองเวร และโจรกลับใจ

นิทานสอนใจ : ชาวนาผู้ไม่จองเวร และโจรกลับใจ


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ยังมีพระเถระในพระพุทธศาสนารูปหนึ่งต้องการ เดินทางจากแคว้นโกสัมพีไปยังนครพาราณสี ระหว่างทางพระเถระได้พบกับพ่อค้าเพชรพลอยคนหนึ่งชื่อ "ปัณฑุ" กำลังเดินทางด้วยขบวนรถม้า พ่อค้าเพชรพลอยจึงนิมนต์พระเถระให้ร่วมในขบวนของเขาด้วยจิตใจยินดี และคิดว่าท่านอาจจะเป็นผู้นำโชคลาภมาให้ในโอกาสหนึ่ง

ระหว่างทาง ขบวนรถม้าของพ่อค้าเพชรก็พบเกวียนบรรทุกข้าวของชาวนาจอดหักขวางทางอยู่ ทำให้รถม้าไม่อาจผ่านไปได้ พ่อค้าเพชรใจร้อนอยากไปถึงเมืองพาราณสีโดยเร็ว จึงสั่งให้ทาสรับใช้ของตนลงไปผลักรถของชาวนาให้พ้นทางเสีย แม้ชาวนาและพระเถระจะวิงวอนสักเท่าใด เขาก็หาฟังไม่ ทำโดยหวังให้รถม้าของตนไปได้โดยเร็วเท่านั้น

เมื่อขบวนของพ่อค้าเพชรผ่านจุดดังกล่าวมาได้สักระยะ พระเถระก็ขอลงจากขบวน โดยบอกว่า อาศัยเดินทางมาพอหายเหนื่อยแล้ว จะขอเดินทางโดยลำพังต่อไป จากนั้นท่านก็ย้อนกลับมาช่วยชาวนาซ่อมเกวียน ทำให้ชาวนารู้สึกเลื่อมใสในพระเถระเป็นอันมาก ท่านได้มอบคำสอนเกี่ยวกับ "กฎแห่งกรรม" อันเป็นผลรวมแห่งการกระทำให้แก่ชาวนา

ขณะนั้นเอง เมื่อพวกเขากำลังจะออกเดินทางต่อ ม้าก็ได้สะดุดเข้ากับวัตถุอย่างหนึ่ง ชาวนาเข้าใจว่าเป็นงู แต่พระเถระพิจารณาอย่างดีจึงเห็นว่ามันเป็นถุงทองคำ จึงมอบให้แก่ชาวนา และบอกว่าเป็นโอกาสอันดีที่จะทำความดีตอบแทนความชั่วร้าย ขอให้นำถุงทองคำนี้ไปมอบแก่พ่อค้าเพชร เพราะมันต้องเป็นของพ่อค้าเพชรอย่างแน่นอน

ชาวนาเชื่อฟังพระเถระ และตั้งใจว่า เมื่อถึงเมืองพาราณสีแล้ว จะนำถุงทองคำไปมอบคืนแก่เจ้าของ ด้านพ่อค้าเพชรเองนั้นก็กำลังไม่สบายใจอย่างหนัก เพราะเขาเดินทางมาถึงเมืองพาราณสีแล้ว แต่กลับหาถุงทองคำไม่พบ เขานึกสงสัยทาสรับใช้ชื่อ "มหาทูต" จึงจับมาเฆี่ยนตี บีบคั้นให้รับสารภาพ แต่มหาทูตก็ไม่ยอมรับสารภาพเพราะไม่ได้ขโมยไป ขณะที่มหาทูตกำลังบาดเจ็บเจียนตายจากการถูกทำโทษ ชาวนาพร้อมถุงทองคำก็มาถึงพอดี ช่วยชีวิตของมหาทูตได้ทันการ

พ่อค้าเพชรมีความยินดีเป็นอันมาก เขาจึงแนะนำชาวนาให้กับเพื่อนของเขาซึ่งเป็นพ่อค้าข้าว ให้รับซื้อข้าวจากชาวนา ประกอบกับเพื่อนของพ่อค้าเพชรเอง ก็กำลังทุกข์หนัก เพราะในวันพรุ่งนี้ เขาต้องส่งข้าวให้กับทางราชสำนัก แต่เขาไม่มีข้าวเหลือเลย เขาจึงรับซื้อข้าวจากชาวนาในราคาสูงกว่าราคาตลาดถึง 3 เท่า และเพื่อเป็นการตอบแทนน้ำใจชาวนา พ่อค้าเพชรจึงมอบรางวัลแก่ชาวนาอีกด้วย อีกทั้งยังเลื่อมใสในพระเถระ เขาจึงบริจาคทรัพย์สร้างวัดอันร่มรื่นในเมืองโกสัมพี

ชาวนาได้สิ่งดี ๆ ตอบแทนก็เพราะตั้งตนอยู่ในโอวาทของนักปราชญ์ และเป็นผู้ไม่จองเวร ตรงกันข้ามกับทาสรับใช้มหาทูตซึ่งโกรธแค้นพ่อค้าเพชรเป็นอันมากที่ทุบตีตนอย่างไม่มีเหตุผล จึงหนีไปเป็นหัวหน้าโจรอยู่ในป่า ซ่องสุมกำลัง

จากฝีมือของพ่อค้าเพชรที่เลื่องลือออกไป ทำให้มีพระราชาองค์หนึ่งรับสั่งให้พ่อค้าเพชรทำมงกุฏทองคำบริสุทธิ์ และประดับด้วยอัญมณีสูงค่า พ่อค้าเพชรดีใจมาก ทำอย่างสุดฝีมือ และเสร็จแล้วจึงจัดขบวนคุ้มกันนำมงกุฏไปถวายพระราชา โชคไม่ดีที่ระหว่างทางเจอโจรป่าดักปล้น ซึ่งก็คือกลุ่มโจรของมหาทูต อดีตทาสรับใช้ของตนนั่นเอง

พ่อค้าเพชรถูกปล้นจนหมดเนื้อหมดตัวจึงสำนึกได้ถึงกรรมที่ตนเองเคยก่อเอาไว้

วันเวลาผ่านไป ก็ได้มีสมณะหนุ่มชื่อ ปัณฐกะ ซึ่งเป็นศิษย์ของพระเถระ เดินทางมาพบท่านที่เมืองโกสัมพี ระหว่างทาง สมณะหนุ่มก็ถูกกลุ่มโจรของมหาทูตปล้นเอา แต่ท่านไม่มีอะไรจะให้ จึงถูกโจรทุบตีแทบเอาตัวไม่รอด ต้องนอนซมอยู่ในป่า 1 คืน พอรุ่งเช้าขณะเดินโซเซออกมาจากป่า ท่านก็พบว่าพวกโจรกำลังทะเลาะวิวาทกันเอง ใช้อาวุธประหัตประหารกันจนมีคนตายเกลื่อนกลาด เมื่อกลุ่มโจรแตกสลาย ท่านจึงได้เข้าไปช่วยหัวหน้าโจร ซึ่งก็คือมหาทูตที่สั่งให้ลูกน้องทำร้ายท่านเมื่อวานนี้ เอาน้ำให้ดื่ม

มหาโจรรู้สึกเสียใจที่ทำกับสมณะอย่างทารุณ แต่ท่านกลับมิได้ถือโทษ กลับเข้าช่วยเหลือเขา อีกทั้งยังเสียใจที่ลูกน้องของเขาก็คิดทำลายเขา สมณะปัณฐกะจึงได้ให้โอวาทแก่มหาโจร ขอให้เขาทำใจให้สงบ การที่เขาสอนให้ลูกน้องหรือบริวารเหี้ยมหาญนั้น ได้ย้อนกลับมาทำร้ายตัวของเขาเอง ถ้าเขาสอนให้ลูกน้องมีเมตตากรุณาประจำใจ เขาย่อมไม่ประสบชะตากรรมเช่นนี้

มหาโจรรู้ว่าตนเองนั้นต้องตายแน่ จึงขอร้องสมณะหนุ่มขอให้ช่วยไปบอกพ่อค้าเพชรด้วยว่า อโหสิให้เขาด้วย และบอกที่ซ่อนสมบัติของพ่อค้าเพชร ขอให้พ่อค้าเพชรมารับไปเสีย จากนั้นก็สิ้นใจ

พ่อค้าเพชรพอได้ทราบเรื่อง ก็จัดพิธีศพให้กับมหาทูตอย่างดี พร้อมสลักเรื่องราวของโจรกลับใจคนนี้ไว้บนศิลาหน้าสุสานด้วย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ผู้เลี้ยงคนให้เป็นคนดี ย่อมได้รับการสนองตอบด้วยความดี ผู้สอนคนให้เป็นโจร ย่อมได้รับการสนองตอบด้วยการกระทำอย่างโจร พิจารณาได้จากเรื่องของชาวนาและมหาทูตเป็นตัวอย่าง

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ :บาบูผู้ทรงความยุติธรรม

นิทานสอนใจ :บาบูผู้ทรงความยุติธรรม


สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ติดตามคอลัมน์ครอบครัวตัวหนอนที่ได้นำนิทานดี ๆ มานำเสนออย่างต่อเนื่อง วันนี้เป็นนิทานจากหนังสือ "รวมนิทานคัดสรร ด้วยรักบันดาล...นิทานสีขาว" เล่าเรื่องโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ของสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ ซึ่งต้องขอขอบคุณ มา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ ส่วนเนื้อเรื่องของนิทานจะเป็นอย่างไรนั้น ติดตามกันได้เลยค่ะ

กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ณ ดินแดนอันไกลโพ้น มีเมือง ๆ หนึ่งสร้างขึ้นอย่างวิจิตรงดงาม ที่เมือง ๆ นี้มีพระราชาพระนามว่า "บาบู" เป็นผู้ปกครอง

พระราชาบาบูทรงเป็นพระราชาที่ประชาชนรักมาก เพราะพระองค์ทรงยึดเอาความยุติธรรมเป็นที่ตั้งในการปกครองบ้านเมือง ถึงขนาดทรงให้แขวนกระดิ่งทองคำเสียงกังวานก้องไว้หน้าพระราชวัง เมื่อชาวบ้านคนใดมีความเดือดร้อน หรือได้รับความอยุติธรรมใด ๆ ก็ให้มาสั่นกระดิ่งทอง แล้วพระองค์จะเสด็จออกมารับฟังและช่วยแก้ปัญหาต่าง ๆ ให้ด้วยพระองค์เอง

มาในระยะหลัง ๆ ปรากฏภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ ประชาชนปลูกข้าวไม่ได้ พืชผลต่าง ๆ ล้มตายไปตาม ๆ กัน ทุก ๆ วันจึงมีประชาชนมาสั่นกระดิ่งทองคำเพื่อขอความช่วยเหลือจากพระราชาบาบู โดยในช่วงแรก ๆ พระราชาบาบูได้มีราชโองการเบิกข้าวสารและพืชผลที่เก็บไว้ในคลังผลผลิตของพระราชวังมาแจกจ่ายแก่ชาวบ้านเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน แต่เมื่อต้องแจกเช่นนี้ไปทุก ๆ วัน ข้าวสารและพืชผลต่าง ๆ ที่เคยมีอยู่เต็มคลังก็เริ่มร่อยหรอ ไม่พอแก่การแจกจ่าย ทำให้ทรงกลุ้มพระทัยเป็นอย่างมาก

ในที่สุดก็ทรงตัดสินพระทัยส่งพระราชสาส์นไปกับนกพิราบถึงเจ้าชายบาเบ พระโอรส ซึ่งทรงศึกษาวิชาการปกครองอยู่ในป่ากับพระอาจารย์

เจ้าชายบาเบเมื่อได้รับพระราชสาส์นจากพระบิดาก็ไม่รอช้า ทรงเข้าพบพระอาจารย์เพื่อขอลากลับบ้านเมืองทันที อย่างไรก็ตาม เจ้าชายบาเบก็อดที่จะโอดครวญแก่พระอาจารย์ด้วยความเสียดายไม่ได้ ในเรื่องที่ตนเองไม่อาจอยู่ศึกษาจนจบหลักสูตรดังเช่นเจ้าชายจากเมืองอื่น ๆ พระอาจารย์ฟังเจ้าชายโอดครวญแล้วกล่าวว่า

"ความรู้ไม่ได้มีอยู่ที่นี่ที่เดียวดอก บาเบ ครูสอนการปกครองที่ดีที่สุดไม่ใช่ข้า แต่คือประชาชนของเจ้าเอง"

เจ้าชายบาเบเห็นจริงดังคำพระอาจารย์ว่า จึงรีบกราบลาแล้วทรงม้าคู่บารมีเสด็จกลับเมืองในทันที

เจ้าชายบาเบทรงม้าติดต่อกันสามวันสามคืน โดยไม่ยอมหยุดพัก เนื่องด้วยเห็นว่าความเดือดร้อนที่กำลังเกิดแก่ประชาชนนั้นรอช้าไม่ได้ และแล้วในวันที่ 4 ซึ่งเจ้าชายบาเบและม้าทรงของพระองค์รู้สึกเหนื่อยล้าเป็นอย่างมาก ก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้น

มีลูกวัวน้อยตัวหนึ่งเดินออกมาจากพงหญ้าทึบข้างทางเพื่อเล็มหญ้าอ่อนตรงทางที่เจ้าชายบาเบเสด็จผ่าน ด้วยความเหน็ดเหนื่อยผสมอาการสะลึมสะลือ เพราะไม่ได้นอนหลับมาหลายวัน ทำให้เจ้าชายบาเบบังคับม้าทรงให้หลบลูกวัวน้อยไม่ทัน เป็นเหตุให้ม้าทรงเหยียบลูกวัวน้อยถึงแก่ความตาย เจ้าชายบาเบทรงตกพระทัยตื่นจากอาการสะลึมสะลือนั้น รีบเหลียวกลับไปมองพร้อมกับร้องอุทานว่า

"หยุดก่อนเจ้าม้าเอ๋ย เห็นทีว่าข้าคงจะเหยียบเด็กคนใดเข้าแล้ว"

เจ้าชายบาเบจ้องไปยังร่างที่พระองค์คิดว่าเป็นเด็ก แต่แล้วก็เห็นเพียงแค่วัวน้อยตัวหนึ่งนอนแน่นิ่งสิ้นลมหายใจอยู่เท่านั้น

"โธ่เอ๋ย ที่แท้ก็แค่ลูกวัว" เจ้าชายบาเบเอ่ยอย่างโล่งใจ แล้วรีบควบม้าทรงต่อไปจนกระทั่งถึงบ้านเมืองและได้เข้าเฝ้าพระราชาบาบู ซึ่งเมื่อได้เห็นหน้าพระโอรสก็รู้สึกดีพระทัยเหลือจะกล่าว รวมทั้งข้าราชบริพารต่างก็พากันโห่ร้องแสดงความยินดีเป็นอย่างยิ่ง


ในระหว่างที่ความยินดีปรีดากำลังบังเกิดอยู่นั้นเอง จู่ ๆ เสียงกระดิ่งทองคำก็ดังก้องกังวาน พระราชาบาบูจึงรีบละจากพระโอรสออกไปรับเรื่องเดือดร้อนจากชาวบ้านทันที แต่เมื่อเห็นผู้สั่นกระดิ่ง พระราชาบาบูก็ทรงรู้สึกแปลกพระทัยยิ่ง เพราะผู้สั่นกระดิ่งในครั้งนี้คือแม่วัวสาวที่มีน้ำตาไหลอาบแก้ม และร้องครวญอย่างน่าเวทนา

"มีใครในที่นี้รู้บ้าง ว่าเหตุใด แม่วัวตัวนี้จึงมาสั่นกระดิ่งทองคำร้องเรียกเรา" พระราชาบาบูตรัสถามข้าราชบริพารแต่ไม่มีใครทราบ จึงทรงมีราชโองการออกไปว่า

"เราเชื่อว่าต้องมีเรื่องทุกข์ใจแสนสาหัสเกิดแก่แม่วัวตัวนี้แน่ จงไปสืบความจากชาวบ้านและผู้เห็นเหตุการณ์ ถึงเรื่องราวเลวร้ายที่เกิดขึ้นแก่แม่วัว แล้วนำความนั้นมาบอกเราเดี๋ยวนี้"

เหล่าทหารรีบรุดออกจากวังไปสอบถามชาวบ้าน แล้วรีบกลับมากราบทูลให้พระราชาบาบูทรงทราบ เมื่อทรงรับทราบเรื่องราวทั้งหมดแล้ว จึงรับสั่งให้เจ้าชายบาเบเข้าเฝ้า แล้วตรัสถามเจ้าชายว่า

"ลูกพ่อ พ่อรู้เรื่องที่ลูกได้คร่าชีวิตลูกวัวน้อยแล้ว ไยเจ้าจึงทำเช่นนั้นเล่า"

"กราบทูลเสด็จพ่อ ด้วยความรีบร้อนเดินทางกลับบ้านเมือง ทำให้ลูกขาดสติในการบังคับม้า ม้าของลูกจึงพลาดไปเหยียบลูกวัวจนถึงแก่ชีวิตพระเจ้าข้า" เจ้าชายบาเบตอบ

"เมื่อเจ้าทำให้ชีวิตลูกวัวน้อยหลุดลอยไปแล้ว เจ้าแสดงความรับผิดชอบอย่างไรบ้างเล่าลูกรัก" พระราชาบาบูตรัสถามอีก

"ลูกมิได้ทำสิ่งใดเลย ด้วยเห็นว่านั่นเป็นเพียงแค่ลูกวัวตัวหนึ่งเท่านั้น"

เมื่อทรงได้ฟังคำตอบเช่นนั้น พระราชาบาบูถึงกับทรงทรุดตัวลงบนพระที่นั่ง เจ้าชายบาเบเห็นดังนั้นก็ตกพระทัย เนื่องจากไม่เข้าใจว่า สิ่งที่ตนทำลงไปนั้นเป็นเรื่องร้ายแรงอย่างไร

"ลูกทำอะไรผิดอย่างนั้นหรือเสด็จพ่อ" เจ้าชายบาเบตรัสถามด้วยความกังวลใจ

"เจ้าเป็นถึงลูกพระราชา ไยดูแคลนคุณค่าของชีวิตเช่นนั้น แม้นั่นจะเป็นลูกวัว แต่ลูกวัวก็มีชีวิต มีเลือดเนื้อ มีความเจ็บปวดเช่นเดียวกับเจ้า ลองหันไปดูสิลูกรัก หากชีวิตของลูกวัวน้อยไม่มีค่าดังเช่นที่เจ้าว่า เหตุใดจึงทำให้แม่วัวเศร้าโศกถึงขนาดต้องมาร้องทุกข์กับพ่อ ลูกรัก หากเจ้ามองไม่เห็นความสำคัญของสิ่งเล็กน้อยในวันนี้ แล้ววันหน้าเจ้าจะปกครองประเทศด้วยใจที่เป็นธรรมได้อย่างไร ต่อไปเจ้าคงต้องละทิ้งหน้าที่ ละทิ้งความเป็นธรรม ละทิ้งสิ่งสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งละทิ้งประชาชนและสูญสิ้นประเทศ ลูกรัก..พ่อไม่ยอมให้พระราชาเช่นนั้นมาปกครองประชาชนของพ่อเป็นแน่ และความผิดของเจ้าสมควรได้รับการชำระโทษอย่างเป็นธรรมแก่ผู้เสียหาย"

เมื่อตรัสจบ พระราชาบาบูก็ทรงตัดสินพระทัยที่จะลงโทษพระโอรสด้วยวิธีเดียวกับที่เจ้าชายได้ทำกับลูกวัวน้อย สร้างความตกตะลึงให้แก่ทหารและข้าราชบริพารในที่แห่งนั้นเป็นอันมาก ต่างทัดทานให้พระราชาทรงตัดสินพระทัยใหม่ ด้วยเห็นว่าการลงโทษนี้ร้ายแรงเกินไปสำหรับความผิดของเจ้าชายที่ฆ่าลูกวัวหนึ่งตัว

"วัวหนึ่งตัวก็คือหนึ่งชีวิต เมื่อหนึ่งชีวิตสูญสิ้นในแผ่นดินของเราอย่างไม่เป็นธรรม ตัวเราซึ่งเป็นพระราชาก็ต้องเรียกร้องความยุติธรรมนั้นคืนมาให้ เจ้าชายไม่คิดว่าหนึ่งชีวิตน้อย ๆ ของลูกวัวสำคัญ ฉะนั้นเราจะทำให้เจ้าชายรู้ซึ้งถึงความเจ็บปวดก่อนสิ้นชีวิต เพื่อที่เขาจะได้เข้าใจคุณค่าของชีวิตมากขึ้น และเราผู้เป็นพ่อก็สมควรได้รับโทษแห่งความสูญเสีย ดังเช่นที่แม่วัวกำลังได้รับอยู่ขณะนี้..ตัวเราจะเป็นผู้คร่าชีวิตลูกของเราเอง"

ท่ามกลางเสียงคัดค้านของเหล่าเสนาอำมาตย์ เจ้าชายบาเบกลับยอมรับโทษจากพระบิดาด้วยจิตใจที่สำนึกผิด ทรงเดินไปยังหน้าพระราชวังแล้วล้มตัวลงนอนทอดกายบนดินที่ร้อนระอุ เพื่อรอรับการลงพระอาญาจากพระบิดา

"ลูกพร้อมรับโทษจากเสด็จพ่อแล้ว ขอให้ลงโทษลูกให้สมกับความผิดด้วยเถิด"

พระราชาบาบูมองพระโอรสแล้วรู้สึกประหนึ่งพระทัยจะแตกออกเป็นเสี่ยง ๆ แต่ก็ต้องแข็งใจทรงม้าพระที่นั่งเพื่อลงโทษเจ้าชายด้วยพระองค์เองตามที่ได้ลั่นวาจาไว้ ม้าพระที่นั่งเหยียบร่างของเจ้าชายอย่างแรงจนพระโลหิตทะลักออกทางพระโอษฐ์และพระนาสิก และทำให้เจ้าชายสิ้นพระชนม์ในทันที

ท่ามกลางความตกใจและเสียงร่ำไห้ พระราชาบาบูทรงลงจากม้าอย่างคนสิ้นวิญญาณ แล้วทรุดกายลงไปนั่งบนพื้นดินข้าง ๆ ร่างพระโอรส น้ำพระเนตรไหลอาบเต็มพระพักตร์

ทันใดนั้นเอง มีแสงสว่างวาบเกิดขึ้นที่ร่างของแม่วัวที่มาร้องทุกข์ หลังสิ้นแสงนั้นร่างของแม่วัวก็หายไป ปรากฏเป็นฤาษีเฒ่าที่น่าเลื่อมใสขึ้นมาแทน

"อย่าทุกข์ใจไปเลยองค์ราชา คุณธรรมที่มั่นคงของท่านได้ประจักษ์แก่สามโลกแล้ว เราจะชุบชีวิตพระโอรสของท่าน ผู้ซึ่งเป็นศิษย์ของเราเช่นกัน กลับคืนมา ณ บัดนี้"

กล่าวจบ ฤาษีก็วาดไม้เท้าขึ้นกลางอากาศแล้วชี้ไปยังร่างเจ้าชายบาเบ สิ่งมหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้าชายบาเบรู้สึกพระองค์ ลุกขึ้นมามีลมหายใจอีกครั้ง สร้างความยินดีให้กับทุกคนโดยเฉพาะพระราชาบาบูเป็นอันมาก

"พระอาจารย์มาช่วยศิษย์หรือพระเจ้าค่ะ" เจ้าชายบาเบตรัสถาม

"เปล่าเลยบาเบ" พระฤาษีตอบ "ความยุติธรรมอันเป็นคุณสมบัติที่สำคัญยิ่งของพระราชาแห่งพระบิดาของเจ้าต่างหากที่ช่วยเจ้าไว้ ลูกวัวตัวนั้นเป็นร่างเสกจากข้าเพื่อทดสอบคุณธรรมในพระบิดาของเจ้า ซึ่งได้แสดงให้เห็นแล้วว่า พระราชาบาบูทรงมีความยุติธรรมเป็นที่น่าสรรเสริญยิ่ง บาเบ..เจ้าไม่ต้องกลับไปศึกษาวิชาการปกครองจากข้าอีกดอก ในเมื่อพระบิดาของเจ้าคือพระอาจารย์ที่ยิ่งใหญ่มากอยู่แล้ว จงศึกษาคุณธรรมจากพระราชาผู้นี้ แล้วเจ้าจะเป็นพระราชาผู้ครองใจประชาชนได้ในเวลาไม่นาน"

กล่าวจบพระฤาษีก็ให้พรแก่พระราชาบาบูว่า

"ด้วยความยุติธรรมอันโดดเด่นของท่าน ข้าขออวยพรให้บ้านเมืองท่านพ้นจากภัยแล้งเสียเดี๋ยวนี้ และขอให้บ้านเมืองของท่านอุดมสมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ประชาชนอยู่อย่างเป็นสุข และเทิดทูนพระราชาผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมเป็นที่ตั้งดังเช่นท่านตลอดไป"

สิ้นคำให้พรสุดท้าย พระฤาษีก็หายตัวไป เสียงโห่ร้องของชาวบ้านดังก้องไปทั้งเมือง พร้อมกับฝนตกลงมาจากฟากฟ้า เจ้าชายบาเบทรงสวมกอดพระราชาบาบูและทรงให้คำมั่นสัญญาว่า จะเป็นพระราชาผู้ทรงไว้ซึ่งความยุติธรรมดังเช่นพระบิดาให้จงได้

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ฟรานซิสผู้ไม่เคยแก่งแย่ง

นิทานสอนใจ : ฟรานซิสผู้ไม่เคยแก่งแย่ง


นานมาแล้ว มีหมู่บ้านแห่งหนึ่งชื่อว่า หมูบ้านลอแลง หมู่บ้านนี้มีประชากรอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก และส่วนใหญ่มีอาชีพทำการเกษตร

อยู่มาปีหนึ่ง ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล ชาวบ้านจึงไม่อาจปลูกพืชผักได้ ภัยแล้งดังกล่าวนี้ ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างหนักในหมู่บ้าน ผู้ที่เดือดร้อนที่สุดเห็นจะเป็นคนยากจนและเด็ก ๆ ซึ่งพากันร้องไห้กระจองอแงจนดังระงมไปทั้งหมู่บ้าน

ในขณะที่หมู่บ้านแห่งนี้กำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤต ก็มีเศรษฐีใจบุญคนหนึ่งเดินทางผ่านมาพอดี เสียงร้องไห้ของเด็ก ๆ ทำให้เศรษฐีเกิดความเวทนาสงสารเป็นอย่างมาก เมื่อสอบถามชาวบ้านจนได้ใจความแล้วว่าเกิดอะไรขึ้น เศรษฐีใจบุญจึงตัดสินใจแวะพักที่หมู่บ้านแห่งนี้ก่อน เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เด็ก ๆ และชาวบ้านที่กำลังเดือดร้อน


เศรษฐีใจบุญได้เข้าพบหัวหน้าหมู่บ้าน และถามว่าตัวเขาเองนั้นพอจะช่วยอะไรคนในหมู่บ้านนี้ได้บ้าง หัวหน้าหมู่บ้านจึงขอร้องให้เศรษฐีช่วยบรรเทาความหิวโหยของเด็ก ๆ ก่อน ส่วนความช่วยเหลืออื่น ๆ คาดว่าทางการจะส่งมาถึงหมู่บ้านในไม่ช้า

เมื่อได้ยินเช่นนั้น เศรษฐีจึงขอให้หัวหน้าหมู่บ้านประกาศแก่เด็ก ๆ ว่า ทุกเช้าขอให้เด็กไปรอที่หน้าประตูโบสถ์ เขาจะนำขนมปังมาแจกจ่ายให้ทุกวัน จนกว่าความช่วยเหลือจากทางการจะมาถึง

เช้าวันรุ่งขึ้นจึงมีเด็กมารอการแจกขนมปังจากเศรษฐีจำนวนมาก และทันทีที่เด็ก ๆ เห็นถุงขนมปังก็กรูเข้ามาแย่งชิงโดยไม่ฟังอีร้าค่าอีรมใด ๆ แม้เศรษฐีใจบุญจะบอกให้ใจเย็น ๆ แต่เด็ก ๆ เหล่านี้อดอยากมานาน และอยากได้ขนมปังมาประทังความหิวของตน จึงไม่มีใครฟังคำขอร้องของเศรษฐีใจบุญ เด็กบางคนแอบหยิบขนมปังไปมากกว่า 1 ชิ้น บางคนผลักเพื่อนให้พ้นทางตน บางคนดึงทึ้งผมคนข้างหน้า บางคนถึงกับชิงเอาขนมปังจากคนที่ได้ก่อนไปหน้าตาเฉย

การแจกขนมปังเป็นไปด้วยความวุ่นวายไร้ระเบียบที่สุด แต่เศรษฐีใจบุญก็ไม่ได้รู้สึกโกรธเด็ก ๆ เขาเข้าใจดีว่าความหิวทำให้เด็กทุกคนต้องเอาตัวรอด

ในตอนนั้นเอง เศรษฐีใจบุญเหลือบไปเห็นเด็กผู้หญิงคนหนึ่งกำลังยืนมองเพื่อน ๆ แย่งขนมปังอยู่นอกกลุ่ม และไม่มีทีท่ากระวนกระวายอยากได้ขนมปังเหมือนคนอื่น ๆ เศรษฐีรู้สึกแปลกใจจึงเดินไปหาเด็กหญิงแล้วถามว่า

"หนูไม่อยากกินขนมปังบ้างหรือ"

เด็กหญิงเงยหน้าอันซีดเซียวของเธอขึ้นมองเศรษฐี แล้วยิ้มน้อย ๆ ก่อนจะตอบว่า

"หนูอยากรับประทานขนมปังค่ะ เพราะหนูหิวมากเหลือเกิน แต่หนูไม่อยากเข้าไปแย่งชิงขนมปังกับเด็กคนอื่น ๆ มันไม่มีเหตุผลเพียงพอที่จะทำร้ายกันเพียงเพราะขนมปังแค่ชิ้นเดียว แล้วเด็กเหล่านั้นก็เป็นเพื่อนเล่นของหนูทั้งนั้นเลยค่ะ"

เมื่อเด็กคนอื่น ๆ ได้ขนมปังและถอยห่างออกไปจนหมดแล้ว เด็กหญิงจึงค่อย ๆ เดินเข้าไปและหยิบขนมปังชิ้นเล็กเพียงชิ้นเดียวที่เหลืออยู่ออกมาจากก้นถุง

"หนูชื่ออะไรจ๊ะ เป็นลูกเต้าเหล่าใครกัน" เศรษฐีใจบุญถามด้วยความรู้สึกสนใจในตัวเด็กหญิง

"หนูชื่อฟรานซิสค่ะ หนูอยู่กับแม่สองคนในบ้านเช่าใกล้ ๆ กับโบสถ์นี่เอง แม่ของหนูเป็นคนรับจ้างทำความสะอาดบ้านค่ะ" เด็กหญิงตอบ พร้อมกันนั้นก็ได้กล่าวคำขอบคุณแก่เศรษฐีใจบุญที่ให้ความเมตตาช่วยบรรเทาความหิวแก่ตนและเพื่อน ๆ ก่อนจะกลับบ้านไป

วันรุ่งขึ้น เด็ก ๆ ก็มารอการแจกขนมปังหน้าโบสถ์จากเศรษฐีใจบุญอีก บรรยากาศเต็มไปด้วยความวุ่นวายเช่นเคย เศรษฐีใจบุญมองหาฟรานซิส และพบว่าเธอยังยืนรอให้เพื่อน ๆ หยิบขนมปังชิ้นโต ๆ ไปก่อนเหมือนเดิม เศรษฐีใจบุญมองดูเธอเดินเข้าไปหยิบขนมปังชิ้นเล็กที่สุดออกมาเป็นคนสุดท้าย จากนั้นจึงเดินเข้าไปคุยกับฟรานซิส

"วันนี้หนูก็ได้ขนมปังชิ้นเล็กที่สุดเหมือนเคยนะ ดูดี ๆ แล้วฉันว่ามันเล็กกว่าชิ้นเมื่อวานด้วยซ้ำไป แล้วหนูจะกินพอหรือ" เศรษฐีใจบุญถาม

"เท่านี้ก็พอค่ะ ท่านเศรษฐี ขอบพระคุณท่านอีกครั้งที่กรุณาเมตตาพวกหนู วันนี้หนูมีความสุขมากที่ได้รับความเมตตาจากท่าน" ฟรานซิสกล่าวขอบคุณแล้วเอาขนมปังกลับบ้าน โดยมีเศรษฐีมองตามด้วยความเอ็นดู

เหตุผลที่ฟรานซิสไม่เคยกินขนมปังทันทีที่ได้ และเอากลับมาที่บ้านก่อนทุกครั้งนั้น เป็นเพราะเธอมีใจนึกถึงแม่ซึ่งต้องทำงานหนักและมีความหิวเช่นเดียวกับเธอ ดังนั้นฟรานซิสจึงไม่กินขนมปังที่ได้คนเดียว แต่เธอจะนำกลับมาให้แม่กินก่อน และวันนี้ก็เช่นเดียวกัน..

เมื่อมาถึงบ้าน ฟรานซิสเข้าไปกราบแม่ และส่งขนมปังที่ได้รับมาให้แก่แม่ของเธอ

"มากินขนมปังด้วยกันสิลูก" แม่ของฟรานซิสบอกกับลูกสาว เมื่อเห็นเธอเข้าไปนั่งอ่านหนังสือตรงมุมห้อง

"แม่กินเถอะจ้ะ ลูกเบื่อขนมปังแล้ว และวันนี้ลูกก็ไม่หิวเลย" ฟรานซิสตั้งใจปดแม่ เพราะเธอเห็นว่าขนมปังที่ได้รับในวันนี้มีขนาดเล็กมากเหลือเกิน หากแบ่งกันกิน เกรงว่าแม่ของเธอจะไม่อิ่ม

"อย่าโกหกแม่เลยฟรานซิส ลูกไม่มีวันเบื่อขนมปังหรอก เพราะนี่คือสิ่งที่ลูกชอบมากที่สุด มาเถอะลูก มานั่งกินขนมปังนี้ด้วยกัน" แม่ของฟรานซิสกล่าวกับลูกสาวอย่างรู้ทัน พร้อมกับบิขนมปังออกเป็นสองชิ้น แต่แล้วฟรานซิสกับแม่ก็ต้องตกใจเป็นอย่างมาก เมื่อมีเหรียญทองคำเหรียญหนึ่งตกลงมาจากขนมปังชิ้นนั้น

"มีเหรียญทองคำอยู่ในขนมปังนี้ได้อย่างไรจ๊ะแม่" ฟรานซิสถามแม่ด้วยความตกใจ

"ท่านเศรษฐีคงเผลอทำตกลงไประหว่างที่กำลังดูเขาทำขนมปัง ลูกจงเอาเหรียญนี้ไปคืนท่านเถิด" แม่ของฟรานซิสบอก

ฟรานซิสจึงไปตามหาเศรษฐีใจบุญ และคืนเหรียญทองคำให้เขา

"แม่ของหนูบอกว่า มันอาจจะตกลงไประหว่างการทำขนมปังน่ะค่ะ" เธอกล่าวด้วยสีหน้าและแววตาใสซื่อบริสุทธิ์

"การกระทำของหนูทำให้ฉันประทับใจมาก เหรียญทองคำนี้ฉันตั้งใจใส่ลงไปเอง เพื่อเป็นของขวัญที่หนูเป็นเด็กดี มีมารยาท และไม่แย่งขนมกับเพื่อน" เศรษฐีกล่าวพร้อมกับยื่นเหรียญทองคำอีกมากมายให้แก่ฟรานซิส และกล่าวต่อว่า

"จงนำเหรียญทองคำนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตของหนูและแม่ด้วยเถิด และจงรักษาความดีเหล่านี้ให้อยู่กับตัวหนูตลอดไป ฉันเชื่อว่าด้วยความดีทั้งหมดของหนู จะทำให้หนูเติบโตเป็นคนที่มีความสุข และประสบความสำเร็จในชีวิตอย่างแน่นอน


บทสรุปของผู้แต่ง

มีตัวอย่างให้เห็นกันมามากว่า การไขว่คว้าหาสิ่งที่ดีที่สุดเพื่อตนเองด้วยการแก่งแย่งทำร้ายนั้น ไม่ได้ก่อให้เกิดผลดีใด ๆ เธออยากได้สิ่งเหล่านั้น ถึงขนาดยอมทำร้ายหัวใจตนเอง และเข่นฆ่าความสุขของผู้อื่นเลยหรือ ถ้าอย่างนั้น สิ่งที่เธอได้มาจะมีความหมายอะไร

คนที่ได้อะไรมาด้วยการแย่งชิงนั้น แม้จะได้รับชัยชนะจากการเป็นผู้ครอบครอง แต่เขาจะไม่มีความสุขกับสิ่งนั้นได้นานนักหรอก ในไม่ช้าเขาก็จะเริ่มไขว่คว้าหาสิ่งอื่นที่คิดว่ามีค่ายิ่งกว่าต่อไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ด้วยสำคัญผิดว่าจะสามารถถมความต้องการที่ไม่มีวันเต็มของตนเองได้

ผิดกับคนที่รู้จักการรอคอย และทำใจให้พอกับสิ่งที่ได้รับมา แม้จะไม่เคยแก่งแย่งแข่งขันกับใคร แต่การรอคอยอย่างมีสติจักนำพาสิ่งที่ต้องการมาอยู่ในครอบครองของเขาในที่สุด แม้สิ่งที่ได้มาอาจดูน้อยค่าเหลือเกินในความคิดของผู้อื่น แต่การรอคอยจะสอนให้เขารู้จักคุณค่าของสิ่งที่ได้รับ และความรู้จักพอจะสอนให้เขาตระหนักในสิ่งที่ได้รับมาว่าเป็นสิ่งที่มีคุณค่ากับเขาเสมอ เขาจึงเห็นคุณค่าของสิ่งที่ตนมี และไม่ปรารถนาที่จะไขว่คว้าหาสิ่งเกินจำเป็นอื่นใดเพื่อมาเติมเต็มความต้องการของตนเองอีกต่อไป

yengo หรือ buzzcity