สอนคุณธรรมลูก 5 ประการจาก "วันพีซ"

สอนคุณธรรมลูก 5 ประการจาก "วันพีซ"


คอลัมน์ครอบครัวตัวหนอนวันนี้อาจต้องบอกว่าขอฉีกแนวให้แปลกกว่าเดิมสักนิด เพราะในหลาย ๆ ครั้งที่ทีมงานหยิบหนังสือนิทานดี ๆ ตลอดจนนิทานดี ๆ มาฝากท่านผู้อ่าน (ขอบคุณท่านผู้แต่งนิทานดี ๆ ทุกท่าน ตลอดจนสำนักพิมพ์ใจดีมา ณ ที่นี้ด้วยค่ะ) ก็มักอยู่ในรูปแบบของหนังสือนิทาน แต่ในวันนี้ เรามีอีกหนึ่งสื่อที่ "ดี" ไม่แพ้กัน เพียงแค่เรื่องราวของเขาถูกวาดให้อยู่ในรูปของหนังสือการ์ตูน แถมวางจำหน่ายไปทั่วโลก การ์ตูนเล่มนี้เป็นฝีมือของอาจารย์เออิจิโระ โอดะ ชาวญี่ปุ่น ในชื่อ "วันพีซ" นั่นเองค่ะ

ส่วนการ์ตูนเรื่องนี้มีดีมากพอจะใช้สอนเด็กในด้านคุณธรรมจริยธรรมได้อย่างไรนั้น คงต้องบอกว่า หลาย ๆ ครั้งที่ภาพที่ปรากฏในการ์ตูนเรื่องดังกล่าวสามารถสร้างความรู้สึก "ซาบซึ้งกินใจ" ให้เกิดขึ้นกับเด็กได้ อย่างที่นิทานบางเรื่องไม่สามารถสร้างได้นั่นเอง

นอกจากนั้นแล้ว เสน่ห์ของการ์ตูนเรื่องดังกล่าวก็ยังทำให้มีแฟนการ์ตูนจำนวนมากที่ติดตามอ่านมาตั้งแต่สมัยเรียนจนก้าวเข้าสู่วัยเป็นคุณพ่อคุณแม่กันแล้วก็ยังรักเหนียวแน่นไม่เสื่อมคลาย ซึ่งในโอกาสนี้ผู้เขียนจึงมองว่า มันก็น่าท้าทายไม่น้อย หากเราจะลองนำเรื่องราวแต่ละฉากที่ซาบซึ้งประทับใจนั้น กลับมาสอนให้ลูก ๆ ของเราได้สัมผัสประสบการณ์เดียวกันไปด้วย ซึ่งผู้เขียนขอหยิบยก 5 ฉากที่น่าสนใจมาแบ่งปันกันค่ะ


1. สอนลูกให้มีศรัทธาในคำมั่นสัญญา (จงจุดไฟแห่งแชนโดราให้โชติช่วง)

การสอนลูกให้มีสัจจะ ยึดมั่นในสิ่งที่ตนเองได้พูดออกไป และทำให้ได้จะว่าเป็นเรื่องยากก็ยาก จะง่ายก็ง่าย เพราะพ่อแม่ก็คือกระจกเงาบานใหญ่ที่เด็กคอยสังเกตและทำตามอยู่แล้ว และสำหรับตอนที่ผู้เขียนขอนำมากล่าวถึงนี้ก็เป็นอีกหนึ่งเรื่องราวประทับใจของคำมั่นสัญญาค่ะ โดยเรื่องเกิดขึ้น ณ อาณาจักรแชนโดรา ระหว่างชายสองคน "นักรบกาลูการา" และ "นักพฤกษศาสตร์-กัปตันเรือ มองบลัง โนแลนด์"ที่เดินทางมาพบกันและขัดแย้งทางความคิดกันอย่างรุนแรงในช่วงต้น

โดยในวันที่เดินเรือมาถึงอาณาจักร โนแลนด์ซึ่งเป็นนักพฤกษศาสตร์พบว่า ผู้คนบนเกาะแห่งนี้กำลังจะตายเนื่องจากโรคระบาด และตัวเขานั้นสามารถปรุงยาเพื่อช่วยชีวิตคนบนเกาะให้หายจากอาการดังกล่าวได้ อย่างไรก็ดี คนในอาณาจักรแชนโดรายังขาดความรู้ความเข้าใจ หนำซ้ำยังถูกความกลัวเข้าครอบงำ จึงมองความหวังดีของโนแลนด์เป็นเรื่องที่ผิดบาป และหันไปพึ่งการบูชายัญแทน แต่สุดท้ายด้วยความจริงใจของโนแลนด์ ทำให้นักรบกาลูการาหันมาเชื่อมั่นในคำพูดของโนแลนด์ และให้โอกาสโนแลนด์รักษาคนบนเกาะจนหายเป็นปกติ

หลังจากนั้นพวกเขาก็กลายเป็นเพื่อนรักที่สนิทสนมกันอย่างมาก กาลูการาพาโนแลนด์ไปพบกับระฆังทองใบใหญ่ ให้เสียงไพเราะกังวานของอาณาจักรซึ่งโนแลนด์ชอบเสียงนี้มาก พวกเขาตีระฆังเหล่านี้ทุกวัน จนกระทั่งวันหนึ่ง เกิดความเข้าใจผิดร้ายแรงระหว่างกลุ่มของโนแลนด์กับชาวเผ่า เมื่อโนแลนด์และลูกเรือได้ไปตัดต้นไม้บรรพบุรุษของเผ่า (เพราะต้นไม้เหล่านั้นติดโรคระบาด) แต่ไม่ได้บอกเหตุผลนี้ให้ทุกคนทราบ ทำให้ชาวเผ่าทุกคนรับไม่ได้ และแสดงท่าทางรังเกียจขับไล่พวกเขา จนทำให้โนแลนด์และลูกเรือต้องออกจากเกาะไปอย่างเศร้าสร้อย แต่ไม่นานหลังจากนั้น ความจริงก็กระจ่าง และทำให้ทุกคนในเผ่ารู้สึกผิดอย่างมาก ชาวเผ่าส่วนหนึ่งรีบไปตีระฆังทองนั้นอีกครั้งเพื่อจะส่งเสียงระฆังที่โนแลนด์ชื่นชอบแทนคำขอบคุณ และเป็นตัวแทนแห่งการลาจาก ส่วนนักรบกาลูการาก็รีบไปที่ชายหาด เพื่อให้คำมั่นสัญญากับโนแลนด์ว่า จะคอยตีระฆังอยู่ที่นี่ตลอดไป เพื่อที่วันหนึ่ง หากเรือของโนแลนด์กลับมายังทะเลแห่งนี้อีกจะได้ไม่หลงทาง และเขาสองคนก็จะได้พบกันอีกครั้ง

แม้ในตอนจบ พวกเขาจะไม่ได้พบกันอีก (โนแลนด์ถูกประหารเพราะเขาไม่สามารถพิสูจน์ได้ถึงการมีอยู่ของอาณาจักรแชนโดรา ส่วนนักรบกาลูการาถูกทำร้ายจนเสียชีวิต และอาณาจักรแชนโดราล่มสลาย) แต่คำมั่นสัญญาที่พวกเขามี ก็ยังคงสืบทอดสู่ลูกหลาน พร้อมความเชื่อมั่นที่ว่า สักวันหนึ่ง ไฟแห่งแชนโดราจะลุกโชติช่วง และเสียงของระฆังทองจะดังกังวานอีกครั้ง


2. สอนให้ลูกมีความมุ่งมั่น (ด็อกเตอร์ฮิลรุค และโทนี่โทนี่ ช็อปเปอร์)

เป็นเรื่องยากที่จะหยิบยกตัวอย่างน่าประทับใจเกี่ยวกับการสร้างความมุ่งมั่นในชีวิตจากเรื่องวันพีซขึ้นมา เพราะผู้เขียนวาดไว้หลายตอนอย่างยิ่ง หนึ่งในนั้นคือตอนของด็อกเตอร์ฮิลรุค และโทนี่ โทนี่ ช็อปเปอร์ (ในกรณีที่ลูกสนใจอาชีพแพทย์ เรื่องราวในตอนนี้ยิ่งน่าแนะนำค่ะ) โดยเรื่องราวของตอนนี้มีอยู่ว่า

ในวันที่ลูกกวางเรนเดียร์จมูกสีน้ำเงิน (โทนี่ โทนี่ ช็อปเปอร์) ถือกำเนิดขึ้นมา เขาก็ถูกแม่แท้ ๆ รังเกียจเพียงเพราะเขามีจมูกสีแตกต่างจากกวางตัวอื่น เวลาเดินร่วมกลุ่ม กวางเด็กก็ถูกปล่อยให้เดินรั้งท้าย ไม่มีใครสนใจ ต่อมายังทานผลปิศาจเข้า ทำให้แปลงร่างได้ ยิ่งทำให้ไม่ได้รับการยอมรับ สุดท้ายเขาจึงถูกขับออกจากกลุ่มตั้งแต่ยังเล็ก และต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยว จะเข้ากลุ่มกับมนุษย์ก็ไม่ได้ จะกลับเข้าฝูงกวางก็ไม่ได้

สุดท้ายเขาถูกมนุษย์พบเข้าและรุมทำร้าย โชคดีที่ช็อปเปอร์แม้จะบาดเจ็บสาหัส แต่ก็ได้พบกับด็อกเตอร์ฮิลรุค หมอกำมะลอที่มีจิตใจงดงาม ด็อกเตอร์ฮิลรุคพาเขาไปรักษาจนหายดี ทำให้ช็อปเปอร์ซึมซับความรู้สึกของการเป็นแพทย์ที่ต้องเสียสละช่วยชีวิตคน และอยู่ช่วยงานด็อกเตอร์ฮิลรุคอย่างมุ่งมั่น

ด็อกเตอร์ฮิลรุคยังมีความฝัน นั่นก็คือการเยียวยาจิตใจคนในเมืองด้วยความสวยงามตามธรรมชาติของดอกซากุระ เนื่องจากจิตใจของคนในอาณาจักรแห่งนี้เต็มไปด้วยความหดหู่ เพราะมีเจ้าเมืองที่ไร้ความเป็นธรรม คอยใช้อำนาจกดขี่ข่มเหงชาวเมืองอยู่ตลอดเวลา เขาพยายามคิดค้นวิธีทำให้ดอกซากุระบานบนเกาะที่เต็มไปด้วยหิมะมานานหลายสิบปี แต่โชคร้ายที่วันหนึ่ง เขาก็พบว่าตัวเองกำลังจะตายด้วยโรคที่รักษาไม่ได้ แถมงานวิจัยที่ทำมาเนิ่นนานก็ยังไม่เห็นเค้าลางของความสำเร็จ เขาจึงขับไล่ช็อปเปอร์ให้ไปมีชีวิตของตนเอง แต่ช็อปเปอร์ก็ยังติดตามเขามาตลอดจนกระทั่งล่วงรู้ถึงความตายที่จะเกิดแก่ด็อกเตอร์ฮิลรุคเข้า ช็อปเปอร์จึงรีบกลับไปพลิกตำราแพทย์และออกตามหายามารักษาด็อกเตอร์ฮิลรุค

แต่ด้วยความไม่รู้ของช็อปเปอร์ ทำให้ยาที่ช็อปเปอร์เก็บมารักษานั้นกลับกลายเป็นยาพิษ กระนั้น ด็อกเตอร์ฮิลรุคผู้สัมผัสได้ถึงจิตใจอันอ่อนโยนของเจ้ากวางเรนเดียร์ก็ยังอุตส่าห์ทานยานี้เข้าไปพร้อมรอยยิ้ม และเอ่ยปากชมช็อปเปอร์ว่า มันจะต้องเป็นหมอที่เก่งมากแน่ ๆ ทันใดนั้นเอง หลอดวิจัยตัวยาที่เขาคิดค้นมาเป็นเวลานานก็เกิดปฏิกิริยาขึ้น เขาจึงรีบนำผลที่ได้นั้นไปฝากให้เพื่อนหมอที่สนิทกันรับหน้าที่เพิ่มปริมาณผงซากุระให้มากกว่านี้ รวมถึงก้มหัวขอร้องให้ถ่ายทอดวิชาแพทย์แก่ช็อปเปอร์ แทนเขาที่กำลังจะตาย เพื่อที่ว่าวันหนึ่งช็อปเปอร์จะกลายเป็นหมอที่มีทั้งความรู้และจิตใจที่งดงาม

ในขณะที่เวลาของด็อกเตอร์ฮิลรุคกำลังจะหมดลง เขาก็ได้รับข่าวว่า หมอที่อาศัยอยู่ในวังกำลังล้มป่วย หากขาดหมอกลุ่มนี้ชาวเมืองก็จะลำบาก เขาจึงรีบเดินทางไปที่วังเพื่อหวังช่วยรักษา แต่เมื่อไปถึงก็พบว่า ทุกอย่างเป็นการโกหกหลอกลวงของเจ้าเมืองทั้งสิ้น เพื่อต้องการเรียกตัวด็อกเตอร์ฮิลรุค ผู้ที่เจ้าเมืองมองว่ากำลังวางแผนต่อต้านอำนาจของเขาเข้ามาสังหาร วาระสุดท้ายของด็อกเตอร์ฮิลรุคจึงจบลงอย่างน่าประทับใจ ณ ลานกว้างหน้าวัง พร้อมกับเจตนารมย์ในการเป็นแพทย์ที่ดีที่ถูกส่งต่อให้กับช็อปเปอร์ กวางเรนเดียร์แสนรัก ที่สัญญาว่า จะเป็นหมอที่เก่งที่สุด เป็นหมอที่รักษาโรคได้ทุกโรค เพราะโลกนี้ไม่มีโรคใดที่จะรักษาไม่หายนั่นเอง


3. สอนให้ลูกมีจิตวิญญาณของนักประดิษฐ์ผู้สร้างฝัน (ขบวนรถเดินทะเลพัฟฟิ่งทอม)

ในโลกแห่งความเป็นจริง หลาย ๆ สิ่งที่เกิดขึ้น และช่วยให้เรามีชีวิตที่สุขสบายอยู่ในทุกวันนี้ ครั้งหนึ่งในอดีต มันก็เคยเป็นความฝันที่ยิ่งใหญ่ในใจของนักประดิษฐ์หลายคน และพวกเขาต้องผ่านคืนวันอันยากลำบากพัฒนาสิ่งประดิษฐ์เหล่านั้นให้สำเร็จตามความฝัน เรื่องราวของขบวนรถเดินทะเลพัฟฟิ่งทอมก็เช่นกัน และมันเกิดขึ้น ณ เมืองวอเตอร์เซเว่น เมืองที่เต็มไปด้วย "น้ำ"

เป็นเรื่องราวของลุงทอม มนุษย์เงือกเจ้าของอู่ต่อเรือทอม'ส เวิร์กเกอร์ และเด็กชายสองคนในความดูแล (ไอซ์เบิร์ก และแฟรงกี้) ซึ่งเด็กทั้งสองก็มีความฝันจะเจริญรอยตามลุงทอม เป็นช่างต่อเรือที่ยิ่งใหญ่ อีกทั้งแฟรงกี้ยังมีความสามารถด้านการประดิษฐ์อาวุธมากเป็นพิเศษด้วย แต่สำหรับลุงทอมนั้น เขามีความฝันต้องการสร้างขบวนรถเดินทะเลให้เกิดขึ้น เพื่อช่วยเหลือเมืองวอเตอร์เซเว่นที่กำลังจะจมน้ำ ให้รอดพ้นจากการล่มสลาย ลุงทอมใช้เวลาเขียนแบบแปลนมายาวนาน และภูมิอกภูมิใจกับงานชิ้นนี้มาก

อย่างไรก็ดี ผลงานในอดีตของลุงทอมก็ย้อนกลับมาทำร้ายเขา เมื่อมีเจ้าหน้าที่จากรัฐบาลโลกมาจับตัวลุงทอม ด้วยข้อหาผู้สร้างเรือให้โจรสลัดผู้ยิ่งใหญ่ โกลด์ โรเจอร์ และเขามีโทษประหารชีวิต

ก่อนที่จะถูกพาตัวไป ลุงทอมได้เล่าให้ผู้พิพากษาฟังถึงแบบแปลนขบวนรถเดินทะเล เรือที่จะวิ่งบนรางในทะเลจากเกาะหนึ่งไปยังอีกเกาะหนึ่งได้ ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสิ่งของก็สามารถเดินทางข้ามไปยังเกาะอื่น ๆ ได้อย่างอิสระ โดยไม่ต้องกังวลกับสภาพดินฟ้าอากาศ ถ้าทำสำเร็จ การค้า และธุรกิจของคนในเมืองก็จะฟื้นคืน และเติบโตขึ้น

ผู้พิพากษาให้ความสนใจ และประกาศรอลงอาญาคดีของทอมออกไป 10 ปี เพื่อให้โอกาสเขาสร้างขบวนรถเดินทะเล ลุงทอมและเด็ก ๆ ทั้งสองต่างทำงานอย่างหนัก และในที่สุด พวกเขาก็สร้างขบวนรถเดินทะเลได้สำเร็จ ขบวนรถเดินทะเลพัฟฟิ่งทอมได้บรรทุกผู้คนที่กำลังกลัดกลุ้มข้ามน้ำข้ามทะเลไปจากเกาะที่กำลังจะล่มสลายได้ในที่สุด

อย่างไรก็ดี เวลาแห่งการพิพากษาที่ใกล้เข้ามา กลับทำให้ชีวิตของลุงทอมต้องมาแขวนอยู่บนเส้นด้าย เมื่อความสามารถอันโดดเด่นด้านการประดิษฐ์อาวุธของลุงทอมได้ถูกหน่วยงานรัฐบาลโลกรับรู้เข้า และต้องการแบบแปลนอาวุธโบราณที่ลุงทอมคิดค้นขึ้นไปครอบครอง ลุงทอมจึงตัดสินใจมอบแบบแปลนนั้นแก่ไอซ์เบิร์กและแฟรงกี้สืบทอดต่อไป แต่ทีมงานจากรัฐบาลโลกก็ใช้วิธีสกปรก ใส่ร้ายป้ายสีให้ลุงทอมและเด็กชายทั้งสองกลายเป็นผู้มีความผิดอีกครั้ง ด้วยการนำเอาเรือรบติดตั้งอาวุธฝีมือการก่อสร้างที่แฟรงกี้ภาคภูมิใจมาโจมตีขบวนเรือผู้พิพากษาความผิดครั้งนี้ทำให้แฟรงกี้ได้รับบทเรียนถึงการสร้างอาวุธของตนเองว่าอาจทำลายได้ทุกสิ่งทุกอย่าง แม้กระทั่งคนที่ตนเองรักอย่างมาก จนแฟรงกี้หลุดคำพูดว่า เรือลำนั้นไม่ใช่เรือของเขาด้วยความแค้นใจ

ลุงทอมซึ่งกำลังจะถูกพิพากษาโกรธมากกับคำพูดดังกล่าว และสั่งสอนแฟรงกี้ว่า ไม่ว่าเรือที่สร้างขึ้นจะไปทำร้ายใคร แต่พ่อแม่ผู้ให้กำเนิดเรือนั้นต้องรักเรือ และไม่ดูถูกเรือที่ตนเองสร้างขึ้น อีกทั้งต้องเป็นลูกผู้ชายพอที่จะยอมรับว่า ผลงานนั้นเป็นฝีมือของตนเอง

วาระสุดท้ายของลุงทอมที่ปรากฏในเมืองวอเตอร์เซเว่นคือภาพของลุงทอมยอมรับความผิดต่าง ๆ เขาถูกนำตัวไปแดนนักโทษ และไม่ได้กลับมาอีกเลย แต่เขาก็ยังดีใจที่ในวันนี้ เมืองวอเตอร์เซเว่นแตกต่างจากในอดีตมาก ทุกคนในเมืองเปี่ยมไปด้วยพลัง และมีความหวังจากการเกิดขบวนรถเดินทะเลพัฟฟิ่งทอม ดังนั้นไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับตนเอง แต่ความฝันของลุงทอมก็กลายเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนเมืองนี้ให้วิ่งไปข้างหน้าได้แล้ว


4. สอนให้ลูกเคารพในความเท่าเทียม (นางเงือกเคมี่และเผ่ามังกรฟ้า)

บางครั้ง การเป็นตระกูลที่ยิ่งใหญ่ก็ไม่ได้มาพร้อมจิตใจที่ยิ่งใหญ่ เรื่องราวของนางเงือกเคมี่และเผ่ามังกรฟ้า เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่ดี สำหรับพ่อแม่ที่ต้องการสอนให้ลูกรู้จักเคารพในสิทธิ และความเท่าเทียมกันของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่โลกเต็มไปด้วยมนุษย์ที่นับถือเงินตรามากกว่าความดี

เป็นการผจญภัยอีกครั้งบนหมู่เกาะชาบอนดี้ของกลุ่มลูฟี่ ซึ่งพวกเขามาพบกับเคมี่ นางเงือกจิตใจดีแต่มีฐานันดรต่ำกว่ามนุษย์ที่เกาะแห่งนี้ พร้อมกับได้ล่วงรู้ว่า บนโลกยังมีอีกหนึ่งตระกูลที่ยิ่งใหญ่ หาได้มีใครกล้าขัดขืนไม่ ซึ่งคนในตระกูลดังกล่าวกำลังใช้อำนาจอย่างไร้มนุษยธรรม สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้กับคนทั่วไปอย่างมาก และด้วยความพลั้งเผลอ ขณะกำลังท่องเที่ยวอย่างสนุกสนานในหมู่เกาะชาบอนดี้กับกลุ่มของลูฟี่ นางเงือกเคมี่ก็ถูกจับตัวไปเป็นหนึ่งในสินค้าสำหรับการประมูล เผ่ามังกรฟ้าซึ่งมีอำนาจล้นมือก็ต้องตาต้องใจนางเงือกมานาน จึงประมูลเคมี่ไปเป็นสมบัติส่วนตัวได้สำเร็จ

ลูฟี่ต้องการเข้าไปช่วย แต่การเข้าไปต่อกรกับเผ่ามังกรฟ้าเป็นสิ่งที่ใครก็ไม่ควรทำ มนุษย์เงือก "ฮาจิ" เพื่อนของลูฟี่จึงเข้ามาห้าม และถูกเผ่ามังกรฟ้ายิงได้รับบาดเจ็บ นั่นจึงทำให้เกิดการกวาดล้างครั้งใหญ่อย่างที่ใครก็ไม่สามารถหยุดยั้งได้อีก

หากเปรียบเทียบความแตกต่างของครอบครัวด้วยฐานะทางการเงิน ครอบครัวที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยก็คงไม่แตกต่างจากเนื้อเรื่องในตอนนี้สักเท่าใด แต่พ่อแม่สามารถหยิบยกประเด็นความเท่าเทียมกัน การเห็นอกเห็นใจกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่อย่างที่มนุษย์คนหนึ่งจะพึงมีให้แก่กันให้ลูกเห็นได้ เพราะผู้เขียนการ์ตูนได้สะท้อนให้เห็นถึงความโลภ และการใช้อำนาจในทางที่ผิดของผู้ที่ลุแก่อำนาจผ่านภาพที่ไม่รุนแรงจนเกินไป เด็ก ๆ สามารถซึมซับได้ถึงความดีและความเลวที่แยกออกจากกันอย่างชัดเจน

ไม่เพียงเท่านั้น ในตอนดังกล่าวยังทำให้เด็ก ๆ มองเห็นคุณค่าของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของคน หรือสัตว์ ว่าต่างก็มีจิตใจ มีความกลัว มีความหวังที่จะมีชีวิตรอด เพื่อที่ว่าในอนาคต เขาจะได้ไม่ทำร้ายชีวิตอย่างไร้คุณค่านั่นเอง


5. การลาจากที่ยังคงอยู่ในความทรงจำ (ลาก่อนโกอิ้งแมรี่)

เป็นอีกหนึ่งตอนที่นอกจากจะเรียกน้ำตาจากผู้อ่านทุกวัยได้อย่างถล่มทลายแล้ว ผู้เป็นพ่อแม่ยังสามารถนำมาสอนลูกให้เห็นคุณค่าของการพบ การอยู่ร่วมกัน และการพรากจากได้อย่างงดงาม เพราะเด็ก ๆ อาจยังทำใจได้ยากเมื่อต้องพบกับการพลัดพรากจากคนที่รัก หรือสิ่งที่คุ้นเคย เขาอาจร้องไห้เสียใจ และรู้สึกเศร้าได้เป็นเวลานาน อย่างไรก็ดี การลาจากของกลุ่มหมวกฟางกับเรือโกอิ้งแมรี่อาจทำให้เด็ก ๆ ได้เห็นอีกหนึ่งมุมของการลาจากที่สวยงาม และเข้าใจได้ว่า สิ่งที่จากพวกเขาไปนั้น จะยังคงมีคุณค่าอยู่ในความทรงจำเสมอ แม้จะไม่สามารถสัมผัส หรือพบเจอกันได้อีก

เรือโกอิ้งแมรี่ เป็นเรือลำแรกที่ร่วมเดินทางกับกลุ่มของลูฟี่ และผ่านอุปสรรคนานัปการมาด้วยกัน กลุ่มโจรสลัดทุกคนต่างรักและหวงแหนเรือลำนี้มาก แต่จากการผจญภัยมานาน ทุกคนก็ประจักษ์ในความจริงที่ว่า เรือแมรี่ไม่สามารถพาทุกคนเดินทางต่อไปได้อีก เพราะกระดูกงู แกนกลางของเรือเสียหายอย่างหนัก ในช่วงสุดท้ายของชีวิต เรือถูกกลุ่มรัฐบาลโลกปล่อยทิ้งให้กองอยู่กับเศษซากปรักหักพังที่เมืองวอเตอร์เซเว่น แต่มันก็รับรู้ได้ถึงอันตรายที่กำลังเกิดกับกลุ่มของลูฟี่ และใช้ความสามารถเฮือกสุดท้ายเข้ามาช่วยให้ทุกคนรอดปลอดภัย ก่อนที่เรือจะล่มลงในที่สุด

การจากลากับเรือโกอิ้งแมรี่เป็นอีกหนึ่งฉากที่งดงามสำหรับผู้ที่ติดตามอ่านการ์ตูนเรื่องวันพีซมายาวนาน และเชื่อว่าหลายคนยังจำได้ถึงภาพประทับใจของเรือแมรี่ที่ปรากฏอยู่ในฉากต่าง ๆ มากมาย

เช่นเดียวกันกับชีวิตมนุษย์ หากเด็ก ๆ สามารถจดจำภาพที่งดงามของตนเองกับคนที่รัก และสิ่งของสำคัญที่หวงแหน วันหนึ่งแม้คนและสิ่งของจะจากเขาไปด้วยเหตุผลใดก็ตาม เชื่อว่าความทรงจำที่งดงามก็จะยังคงอยู่ในใจเด็ก ๆ เหมือนที่เรือโกอิ้งแมรี่อยู่ในใจของผู้อ่านทุกคน

อย่างไรก็ดี ทางสำนักพิมพ์สยามอินเตอร์คอมมิกส์ ผู้ดูแลลิขสิทธิ์การ์ตูนเรื่องดังกล่าวได้ระบุไว้ที่หน้าปกว่า เหมาะสำหรับผู้อ่านที่อายุ 15 ปีขึ้นไป ดังนั้น หากพ่อแม่เป็นผู้อ่านแล้วนำมาเล่าให้กับลูกฟังก็น่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าการปล่อยให้ลูกอ่านเพียงลำพังค่ะ และสำหรับท่านที่มีตอนประทับใจอื่น ๆ และต้องการแบ่งปันกับผู้อ่าน ทีมงานขอน้อมรับด้วยความยินดีค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : กล่องกระดาษของพ่อ

นิทานสอนใจ : กล่องกระดาษของพ่อ


มีพ่อลูกคู่หนึ่งอาศัยอยู่ที่ชายป่า พ่อมีอาชีพปลูกผักและเก็บไปขายในเมือง ส่วนลูกชายอายุ 10 ขวบมีหน้าที่สำคัญคือไปโรงเรียนและตั้งใจศึกษาหาความรู้

ลูกชายของคนปลูกผักเป็นเด็กเรียนดีมีมารยาท เป็นที่รักใคร่ของครูบาอาจารย์และผู้ใหญ่ที่พบเห็น แต่มาในระยะหลัง ผู้เป็นพ่อสังเกตเห็นว่า ลูกมักจะกลับมาบ้านด้วยใบหน้าที่บึ้งตึง เหมือนมีเรื่องขุ่นมัวในใจ จึงเรียกเข้ามาคุยด้วยในเย็นวันหนึ่ง

"ลูกรัก ระยะหลังมานี้พ่อรู้สึกว่าลูกไม่ค่อยมีความสุขนัก หน้าตาของลูกบึ้งตึงไม่ชวนมอง โดยเฉพาะเวลาที่กลับจากโรงเรียน มีอะไรเกิดขึ้นกับลูก บอกความจริงกับพ่อมาเถิด"

ลูกชายไม่คิดปิดบังพ่อของเขาอยู่แล้ว เพียงแต่ที่ผ่านมาเขาเห็นว่า พ่อเหนื่อยเพราะทำงานหนัก จึงไม่อยากรบกวนให้ต้องมากังวลด้วยเรื่องของตนอีก แต่เมื่อพ่อเอ่ยปากถามมาเช่นนี้ เขาก็จำเป็นต้องพูดความจริงออกไป

"ที่ห้องของผมมีนักเรียนย้ายมาใหม่ครับ เขาเป็นลูกคนมีเงิน แต่ชอบดูถูกคน และมักรังแกเพื่อนที่อ่อนแอกว่าเสมอ เมื่อเขาเห็นว่าผมสอบได้คะแนนดีและได้รับคำชมจากครูบ่อย ๆ เขาก็มักพูดจาถากถาง และคอยกลั่นแกล้งผมอยู่ตลอดเวลา" ลูกชายระบายให้พ่อของเขาฟังอย่างคับแค้นใจ

"แล้วลูกทำอย่างไรเมื่อโดนเขาแกล้ง" ผู้เป็นพ่อถามต่อ

"ผมพยายามไม่สนใจ แต่เขาก็ไม่ยอมลดละ ผมคิดว่าผมคงทนเขาไปได้อีกไม่นานหรอกครับพ่อ สักวันผมจะต่อยเขา เอาให้เลือดของเขาไหลออกมาล้างปากเสีย ๆ ของเขาบ้าง"

พูดจบ ผู้เป็นลูกก็ตกใจวูบขึ้นมาทันที เพราะนึกได้ว่าตนเองเผลอใช้คำพูดที่รุนแรงออกไป เขาเหลือบมองหน้าพ่อ คิดว่าพ่อจะต้องโกรธมากแน่ ๆ เพราะพ่อสอนเขาให้เป็นผู้ชายที่สุภาพบุรุษ ไม่ทำตัวเกกมะเหรกเกเร หาเรื่องชกต่อยกับใคร

ทว่า พ่อของเขากลับไม่ได้พูดหรือแสดงอารมณ์ใด ๆ ออกมา ลูกชายชั่งใจดูท่าทีของพ่ออยู่ครู่หนึ่งก่อนจะพูดต่อว่า

"ผมรู้ว่าพ่อไม่ชอบให้ผมก้าวร้าว แต่ผมทนไม่ไหวแล้วครับ ผมอยากให้ไอ้คนที่ทำกับผมรู้จักความเจ็บปวดและอับอายบ้าง มันจะได้รู้ว่าคนอื่นรู้สึกอย่างไรเวลาที่ถูกกลั่นแกล้ง"

ผู้เป็นพ่อมองหน้าลูกชายแล้วยิ้มน้อย ๆ เขาบอกแก่ลูกด้วยเรื่องที่ไม่เกี่ยวกันเลยว่า

"อีกสามวันจะเป็นวันเกิดครบสิบเอ็ดขวบของลูก ตัวพ่อเองก็ยากจน ไม่เคยให้ของขวัญอะไรลูกเลย แต่ปีนี้เป็นปีแรกที่พ่อจะให้ของขวัญแก่ลูก"

ลูกชายรู้สึกงุนงงที่จู่ ๆ พ่อก็พูดเรื่องนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตามเขารู้สึกดีใจมาก และเฝ้านับวันรอให้วันเกิดในอีกสามวันมาถึงเร็ว ๆ

ครั้นเมื่อถึงวันเกิดของลูกชาย คนปลูกผักก็นำของขวัญมามอบให้แก่ลูกชายของเขาตามสัญญา เป็นกล่องกระดาษสีขาว และสีดำ ขนาดใหญ่ อย่างละ 1 กล่อง

"พ่อครับ ทำไมต้องให้ของขวัญแก่ผมตั้งสองชิ้นล่ะครับ ถึงผมจะอยากได้ของขวัญจากพ่อ แต่แค่ชิ้นเดียวก็น่าจะพอแล้ว" ลูกชายกล่าวด้วยความเกรงใจ ด้วยรู้ว่าพ่อขายผักแต่ละครั้งได้เงินไม่มากนัก

"ลูกรัก พ่อตั้งใจมอบของขวัญให้ลูกเช่นนี้เอง เพราะมันจำเป็นแก่ตัวลูกทั้งสองกล่อง จงรับไปจากพ่อเถิด"

ลูกชายก้มลงกราบเท้าพ่อและกล่าวคำขอบคุณอย่างซาบซึ้งใจ จากนั้นเขาจึงลงมือแกะเชือกที่ผูกกล่องกระดาษสีขาวออก แต่ก็พบว่า ในกล่องสีขาวนั้น ไม่มีอะไรอยู่เลย เขาหันไปมองหน้าพ่อเป็นเชิงคำถาม

"เปิดกล่องสีดำด้วยสิลูกรัก" พ่อของเขากล่าวแทนคำตอบ

ลูกชายรีบแกะเชือกที่ผูกกล่องสีดำออก แต่ในกล่องสีดำก็ไม่มีอะไรเลยเช่นเดียวกับกล่องสีขาว นอกจากรูขนาดใหญ่ที่ถูกเจาะเอาไว้ตรงก้นกล่องเท่านั้น

"พ่อครับ ไม่มีอะไรอยู่เลยนี่ครับ" ลูกชายบอกกับพ่อของเขา "พ่อลืมใส่ของลงไปหรือเปล่าครับ หรือเพราะว่ากล่องกระดาษสีดำก้นรั่ว ของที่พ่อใส่ไว้ก็เลยหล่นหายไปโดยที่พ่อไม่รู้ครับ"

ผู้เป็นพ่อยิ้มอย่างใจดี ก่อนจะเดินไปนั่งข้าง ๆ ลูกชายพร้อมกับบอกว่า

"พ่อคงให้ของขวัญแก่ลูกได้แค่กล่องกระดาษสองใบนี้ แต่ของที่อยู่ข้างใน ลูกจะต้องเป็นผู้ใส่มันลงไปเอง กล่องกระดาษสีขาวเป็นกล่องแห่งความสุข ต่อไปนี้ เมื่อไรก็ตามที่ลูกได้พบกับสิ่งดี ๆ หรือเรื่องที่ทำให้ลูกมีความสุข ขอให้ลูกเขียนมันลงไปในเศษกระดาษและนำมาใส่ไว้ในกล่องสีขาว ส่วนกล่องสีดำคือกล่องแห่งความทุกข์ ไม่ว่าอะไรที่ทำให้จิตใจของลูกเป็นทุกข์ มัวหมอง ให้ลูกเขียนและนำมาใส่ไว้ในกล่องสีดำ แล้ววันหนึ่ง เราจะมาเปิดกล่องทั้งสองใบนี้ดูด้วยกัน"

แม้จะไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อจะต้องให้ทำเช่นนี้ แต่ลูกชายก็ยอมทำตามคำขอของพ่อแต่โดยดี ทุก ๆ วันเขาจะนำเศษกระดาษมากมายที่เขียนเรื่องราวดี ๆ ในชีวิตหย่อนลงไปในกล่องสีขาว และเอาเศษกระดาษอีกมากมายที่เขียนเรื่องราวไม่ดีหย่อนลงไปกล่องสีดำ โดยผู้เป็นพ่อคอยเฝ้ามองการกระทำนี้อยู่เงียบ ๆ

สามเดือนผ่านไป เย็นวันหนึ่งลูกชายกลับมาจากโรงเรียนด้วยอารมณ์ที่พลุ่งพล่านยิ่งกว่าวันไหน ๆ เขาโยนกระเป๋านักเรียนลงบนเก้าอี้ด้วยความกราดเกรี้ยว และทำท่าจะผลุนผลันออกจากบ้านไปอีกครั้ง แต่คนปลูกผักสังเกตเห็นก่อน เขาปราดเข้าไปยุดตัวลูกชายไว้และสอบถามว่าเกิดอะไรขึ้น

"ผมทนไม่ไหวแล้วครับพ่อ ไอ้คนเลวคนนั้นมันดูถูกพวกเรา มันว่าพ่อเป็นแค่คนปูกผักยากจน มันว่าเราสองคนเป็นคนชั้นต่ำไม่มีเกียรติ แล้วมันยังขโมยหนังสือเรียนของผมไปทิ้งในถังขยะด้วย ผมจะไปจัดการมัน จะทำให้มันเจ็บและจำไปจนตายเลยที่มันบังอาจมาดูถูกพ่อ"

คนปลูกผักไม่ได้โกรธตามลูกชาย เขาเพียงแต่ถามลูกว่า "วันนี้ลูกเขียนเรื่องสุข และทุกข์ใส่ในกล่องสีขาวและกล่องสีดำหรือยัง"

ลูกชายประกาศเสียงกร้าวทันทีว่า "ผมจะไปจัดการไอ้คนนั้นก่อน ให้มันรู้ว่าเราจะไม่ยอมให้มันมาดูถูกเราได้อีก"

"ลูกต้องไปเขียนก่อน" พ่อบอกเสียงเรียบ "เพราะวันนี้เราจะเปิดกล่องนั้นออกดูด้วยกัน"

ลูกชายมองหน้าพ่ออย่างฉงน ไม่เข้าใจว่าทำไมพ่อจะต้องให้เปิดกล่องพวกนั้นในเวลานี้ด้วย แต่เขาไม่ใช่เด็กดื้อ จึงยอมข่มอารมณ์โกรธลงชั่วคราวแล้วทำตามที่พ่อบอก

หลังจากหย่อนกระดาษความสุขความทุกข์ลงในกล่องกระดาษสีขาวสีดำเรียบร้อยแล้ว ผู้เป็นพ่อจึงบอกให้ลูกชายยกกล่องกระดาษสีขาวมาวางไว้บนโต๊ะหน้าบ้าน

"โอ้โห แค่สามเดือนที่ผมใส่เศษกระดาษลงไป ผมไม่คิดเลยว่าจะทำให้กล่องสีขาวหนักได้ขนาดนี้" ลูกชายอุทานอย่างคาดไม่ถึง

ผู้เป็นพ่อยิ้ม และบอกว่า "ทีนี้ลูกไปยกกล่องสีดำมาวางตรงนี้ด้วยสิ"


"กล่องสีดำน่าจะหนักกว่านี้อีกนะครับ เพราะว่าผมใส่เรื่องไม่ดีของคนที่ชอบแกล้งผมเอาไว้มากทีเดียว"

แต่ทันทีที่ลูกชายยกกล่องกระดาษสีดำขึ้นจากที่ตั้งเดิมของมัน เศษกระดาษมากมายที่เคยอัดแน่นอยู่ภายในก็ร่วงพรูออกมาจากก้นกล่อง บัดนี้ กล่องกระดาษสีดำก็เบาหวิวไร้น้ำหนัก เพราะไม่มีอะไรคงเหลืออยู่ในนั้นแล้ว

ลูกชายหันไปมองหน้าพ่อ

"ผมลืมไปเสียสนิทเลยครับว่ากล่องใบนี้มีรูอยู่ด้วย เดี๋ยวผมจะเก็บเศษกระดาษพวกนี้ไปใส่กล่องใบใหม่นะครับ"

แต่ผู้เป็นพ่อบอกว่า "เก็บไปทำไมล่ะลูก เมื่อมันร่วงออกมาจากกล่องแล้วมันก็คือขยะ ใส่กลับเข้าไปไม่ได้อีก ลูกไปเอาไม้กวาดมากวาดมันทิ้งไปให้หมดเถิด ต่อไปกล่องแห่งความทุกข์ของลูกจะได้ว่างเปล่า ไม่มีความขุ่นข้องหมองใจเหลืออยู่อีก ในขณะที่กล่องแห่งความสุขของลูกจะเต็มไปด้วยความสุขตลอดเวลา"

"อันที่จริง เมื่อลูกบอกพ่อว่า ลูกทนคนที่กลั่นแกล้งทำร้ายลูกไม่ไหวนั้น พ่อก็ไม่เห็นว่าทำไมลูกจะต้องทนเขาด้วย เพราะเรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องทนเลย เพียงแค่ลูกไม่เก็บเอาสิ่งแย่ ๆ ที่เขาทำกับลูกมาขังไว้กับตัวเอง ไม่ต้องไปทำความรู้จักมัน ความทุกข์นั้นก็ระรานหัวใจของลูกไม่ได้ ดูในกล่องสีขาวสิลูก ความสุขความภูมิใจของลูกตั้งมากมายก็อัดแน่นอยู่ในนั้น ทำไมลูกถึงมองข้ามไป ละทิ้งความทุกข์ซึ่งไร้ประโยชน์กับชีวิตของลูก แล้วอยู่กับสิ่งที่ทำให้ลูกเป็นสุขไม่ดีกว่าหรือ"

ลูกชายมองหน้าพ่ออย่างอัศจรรย์ใจ เขาเพิ่งเข้าใจความหมายของกล่องกระดาษสองใบนั้นอย่างแจ่มชัดในวันนี้เอง ความโกรธขึ้งที่มีต่อเพื่อนคนนั้นค่อย ๆ จางหาย หัวใจผ่อนคลายไม่บีบรัดเหมือนเมื่อครู่ ความเปลี่ยนแปลงนี้เกิดขึ้นได้ก็เพราะกล่องแห่งความทุกข์ของเขาว่างเปล่าแล้วนั่นเอง

บทสรุปของผู้แต่ง

ช่างน่าฉงนจริง ๆ ที่คนเรามักจะจดจำเรื่องราวที่ทำให้ตนเองเจ็บปวดได้แม่นยำและยาวนานกว่าความสุขอีกตั้งมากมายที่เราเคยรู้จัก สิ่งที่คนปลูกผักมอบให้เป็นของขวัญแก่ลูกชายไม่ใช่แค่กล่องกระดาษสีขาวหรือสีดำ แต่เป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตให้มีความสุข ด้วยการละทิ้งความทุกข์แล้วทำความรู้จักกับความสุขที่มีให้มากกว่าเดิม เพียงการให้ที่แสนจะธรรมดาครั้งเดียวนี้ก็ทำให้ลูกของเขารู้จักความสุขไปจนตลอดชีวิต

เราอาจจะเลี่ยงคนสกปรกที่ชอบโยนขยะและความโสโครกใส่หน้าบ้านเราไม่ได้ แต่เราก็เลือกที่จะไม่ก้มลงเก็บมันเข้ามาไว้ในบ้านและกวาดมันทิ้งไปอย่างไม่แยแสได้ แน่นอนว่าการรับมือกับคนพวกนี้เป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย แต่ถ้าเราทำได้ ต่อไปความสกปรกก็จะหายไปจากหน้าบ้านของเราเองโดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย

ขอบคุณนิทานดี ๆ จากหนังสือด้วยรักบันดาล นิทานสีขาว เล่าเรื่องโดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ชายรับจ้างตักน้ำ

นิทานสอนใจ : ชายรับจ้างตักน้ำ


ชายคนหนึ่งเกิดในตระกูลอันยากจน ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างตักน้ำ ชีวิตความเป็นอยู่ของเขานั้นเป็นไปด้วยความความยากลำบาก เมื่อเติบโตมีครอบครัวก็ได้หญิงยากจนมาเป็นภรรยา ทั้งสองคนก็ช่วยกันรับจ้างตักน้ำ ใช้ชีวิตอย่างฝืดเคือง แต่ก็อดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

อยู่มาวันหนึ่ง เมืองพาราณสีมีมหรสพ มหาชนต่างพากันสนใจ ภรรยาของเขาจึงถามชายหนุ่มว่า มีเงินพอที่จะไปร่วมเล่นมหรสพกับเขาบ้างหรือไม่ สามีตอบว่ามีอยู่ครึ่งมาสก ได้รับมาจากการรับจ้างตักน้ำ และเก็บซ่อนไว้ที่ซอกอิฐใกล้ประตูเมือง ส่วนภรรยานั้นก็มีทรัพย์อยู่ครึ่งมาสกเช่นกัน เมื่อมารวมกันเป็นหนึ่งมาสก พอร่วมเล่นมหรสพกับเขาได้ โดยเอาส่วนหนึ่งซื้อดอกไม้ อีกส่วนหนึ่งซื้อของหอมและอีกส่วนหนึ่งซื้อสุรา

ชายคนนั้นดีใจที่จะได้ร่วมเล่นมหรสพกับภรรยาและประชาชนคนอื่น ๆ จึงออกวิ่งไปเอาเงินครึ่งมาสกที่ตนซ่อนเอาไว้อย่างร่าเริง แม้จะเป็นการวิ่งท่ามกลางแสงแดดแผดจ้า และดินทรายร้อนระอุตอนเที่ยงวัน เมื่อเขาเดินผ่านพระราชวัง พระราชาเปิดสีหบัญชรประทับยืนอยู่เห็นชายคนนั้น ทรงดำริว่า อะไรหนอทำให้ชายผู้นี้ไม่ย่อท้อต่อลมแดด เดินผ่านพื้นที่อันร้อนระอุเช่นนี้ได้ จึงรับสั่งให้ราชบุรุษนำตัวมาตรัสถามว่า

"แผ่นดินดารดาษไปด้วยทรายร้อนระอุเช่นนี้ เจ้าเดินเหมือนไม่รู้สึกอะไรเลย ขับเพลงอยู่ได้ แสงแดดไม่แผดเผาเจ้าดอกหรือ"

เขากราบทูลว่า "มหาราช แดดหาแผดเผาข้าพระองค์ไม่ แต่กิเลสกามและวัตถุกามย่อมเผาข้าพระองค์ให้เร่าร้อน ข้าพระองค์มีความต้องการหลายอย่าง ความต้องการนั่นเองได้แผดเผาข้าพระองค์ให้วิ่งมา หาใช่แสงแดดไม่"

"ความต้องการของเจ้าคืออะไร เป็นอย่างไร"

"ข้าแต่มหาราช คำของนางอันเป็นที่รัก จับใจข้าพระองค์ยิ่งนัก ข้าพระองค์ต้องการจะทำความปรารถนาของนางให้เต็ม จึงฝ่าเปลวแดดไปนำทรัพย์มาให้นางให้จงได้ ความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผาข้าพระองค์อยู่ จึงไม่รู้สึกถึงความร้อนแรงของแสงแดด"

"บุรุษผู้บากบั่น" พระราชาตรัส "ทรัพย์ที่ท่านวิ่งไปเอานั้นคงจะมีจำนวนเป็นแสนกระมัง จึงทำให้เจ้าไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น"

"หามิได้ มหาราช"

"ถ้าเช่นนั้นก็คงมีจำเป็นเป็นหมื่น"

"หามิได้ มหาราช"

พระราชาตรัสถาม ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เขาก็ปฏิเสธมาเรื่อย ๆ จนถึงกึ่งมาสก เขาจึงรับว่า ใช่แล้วทรัพย์กึ่งมาสก

พระราชาทรงประหลาดพระทัยในเรื่องนี้ เพราะทรงเห็นว่าทรัพย์จำนวนน้อยเหลือเกิน ไม่สมควรแก่ความพยายาม แต่มันหาน้อยสำหรับคนยากจนอย่างเขาไม่ มันมีความหมายสำหรับเขามาก โดยเฉพาะทรัพย์เพื่อความพอใจของคนที่เขารักด้วยแล้ว มันมีความหมายและความสำคัญเท่าชีวิตเลยทีเดียว

ในที่สุด พระราชาก็ตรัสว่า "เราจะให้ทรัพย์ครึ่งมาสกแก่เจ้า อย่าต้องเดือดร้อนเดินทางไปเลย"


"มหาราช ข้าพระองค์ขอรับทรัพย์ที่จะพระราชทานด้วยความขอบพระทัย แต่จะไม่ละความพยายามที่จะไปเอาทรัพย์ครึ่งมาสกที่ซ่อนไว้ พระเจ้าข้า"

"ถ้าอย่างนั้น เราจะให้เจ้า 1 มาสก"

เขายังคงกราบทูลเหมือนเดิม พระราชาทรงเลื่อนอัตราเงินขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจำนวนร้อยโกฏิ แต่เขาก็ยังกราบทูลเหมือนเดิม พระราชาจึงทรงเปลี่ยนเป็นมอบฐานันดรศักดิ์ให้มีตำแหน่งเป็นเศรษฐีจนถึงอุปราย แต่เขาก็ยังยืนยันเช่นเดิม

พระราชาเสนอมอบราชสมบัติให้ครองครึ่งหนึ่ง เขาจึงยอมรับข้อเสนอนั้น แต่ก็ยังบากบั่นไปยังที่ซ่อนทรัพย์ครึ่งมาสกนั้นจนได้

บุรุษรับจ้างมีผู้มีความตั้งใจจริงผู้นั้น เมื่อได้เป็นพระราชแล้วทรงพระนามว่า พระเจ้าอัฒมาสก (ครึ่งมาสก) พระราชาทั้งสองคือพระเจ้าอุทัยราชและพระเจ้าอัฒมาสกทรงสามัคคีสนิทสนมกัน ครองราชสมบัติอย่างผาสุกเป็นเวลานาน

วันหนึ่งทั้ง 2 พระองค์เสด็จประพาสพระราชอุทยาน พระเจ้าอุทัยทรงเล่นกีฬาจนเหนื่อยแล้วทรงเอาพระเศียรพาดบนพระเพลาของพระเจ้าอัฒมาสกแล้วบรรทมหลับไป พวกบริวารก็พากันไปเล่นกีฬาในที่ต่าง ๆ ตามความปรารถนาของตน

แว่บหนึ่ง พระเจ้าอัฒมาสกทรงดำริว่า เรื่องอะไรที่เราจะครองราชสมบัติเพียงครึ่งเดียว เราน่าจะปลงพระชนม์พระเจ้าอุทัยราชเสีย แล้วครองราชสมบัติแต่เพียงผู้เดียวดีกว่า ว่าแล้วก็ทรงชักพระแสงดาบออกจากฝัก แต่ทรงหวนคิดขึ้นได้ว่า

เราได้ราชสมบัติ ได้ยศศักดิ์ถึงเพียงนี้ ก็เพราะพระราชาองค์นี้ การที่เราคิดทำลายล้างผู้มีคุณแก่ตนเช่นนี้ เป็นการไม่สมควรเลย ทำให้ทรงยับยั้งพระทัยได้ ขณะนั้นโลภเจตนาก็เกิดขึ้นอีก คิดจะปลงพระชนม์พระเจ้าอุทัยราชอีก ทำเช่นนี้อยู่ 3 ครั้ง พระทัยไม่อาจสงบลงได้ ครั้งสุดท้าย ทรงใช้ปัญญาพิจารณาว่า ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ จะจูงเราให้ทำกรรมอันชั่วช้าได้ จึงตัดพระทัยขว้างพระแสงดาบออกไปไกลพระองค์ พระแสงดาบกระทบพื้นเป็นเหตุให้พระเจ้าอุทัยราชทรงตื่นบรรทม พระเจ้าอัฒมาสกจึงทรงหมอบที่พระบาท เล่าเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ ทูลขออภัย

พระเจ้าอุทัยทรงทราบความประสงค์ของพระเจ้าอัฒมาสกแล้ว ตรัสว่า เมื่อประสงค์จะครองราชย์ทั้งหมดก็จงครองเถิด พระองค์เองจะสละราชสมบัติมาเป็นอุปราช คอยทะนุบำรุงพระราชาเอง

พระเจ้าอัฒมาสกทรงสดับเช่นนั้นยิ่งละอายใจและเห็นพระทัยอันใสสะอาดของพระเจ้าอุทัยมากขึ้น จึงทูลว่า

"ขอพระองค์ทรงครองราชย์โดยธรรมต่อไปเถิด ส่วนข้าพระองค์ จะขอลาออกบวช ข้าพระองค์เห็นว่า อันตัณหาความทะยานอยากนี้ จะนำข้าพระองค์ไปสู่อบาย ข้าพระองค์ได้เห็นต้นเค้าของกามคุณแล้ว มันเกิดจากความดำรินี่เอง"

"กาม เมื่อมีน้อย ก็ไม่พอแก่มหาชน เมื่อมีมาก มหาชนก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอด้วยกาม น่าสลดใจน้อยไปหรือที่มหาชนพากันบ่นเพ้อถึงแต่เรื่องกาม มุ่งหมายเอากามเป็นสิ่งตอบแทนความเพียรพยายาม ผู้มีปัญญาประกอบความเพียรพึงเว้นความมุ่งหมายนั้นเสีย"

พระเจ้าอัฒมาสกตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ ออกผนวชอยู่ในป่าหิมพานต์ ด้วยความเพียรพยายาม สิ้นชีพแล้วไปสู่พรหมโลก

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : เด็กหญิงข้าวเปลือก

นิทานสอนใจ : เด็กหญิงข้าวเปลือก


หลายวันแล้ว ที่เด็กหญิงข้าวเปลือกเฝ้าดูเพื่อนๆ ของเธอออกเดินทางไปสู่บ้านหลังใหม่ ได้ยินมาว่า เพื่อนๆ ของเธอที่ออกเดินทางไป ต่างก็มีความสุขกับบ้านหลังใหม่ที่พวกเธอเรียกกันว่า "โรงสี" บ้างก็ว่าพวกเธอได้รับการดูแลทะนุถนอมอย่างดี จนเนื้อตัวผิวพรรณขาวสะอาดสอ้าน และกลายเป็น "ข้าวสวย" อ่อนนุ่ม และมีกลิ่นหอม

เด็กหญิงข้าวเปลือกมองดูเนื้อตัวของตัวเองแล้วก็นึกน้อยใจ ทำไมเธอถึงมีรูปร่างใหญ่โต น่าเกลียดน่าชังไม่สะสวยเหมือนเพื่อนๆ ของเธอเลย ถ้าหากได้เอาเปลือกแข็งๆ สีน้ำตาลนี่ออกไป เธอคงจะดูดีมากทีเดียว เด็กหญิงข้าวเปลือกนึกฝันถึงการได้เป็น "ข้าวสวย"

"พรุ่งนี้พวกเธอก็จะไปบ้านใหม่กันแล้วใช่ไหม" เด็กหญิงข้าวเปลือกถามเพื่อนข้าวเปลือกเม็ดหนึ่งในกระสอบที่กำลังจะถูกส่งไปโรงสีข้าววันพรุ่งนี้

"ใช่จ้ะ"

"ถ้าอย่างนั้น ต่อไปเธอก็จะได้เป็น 'ข้าวสวย' ใช่ไหม"

"ใช่จ้ะ"

"ฉันอยากไปกับเธอด้วยจัง ฉันอยากสวย ฉันอยากมีผิวขาวสะอาด และมีกลิ่นหอม"

"มาอยู่ด้วยกันตรงนี้สิ พรุ่งนี้เช้าเราจะได้ไปด้วยกัน"

คืนนั้นเด็กหญิงข้าวเปลือกนอนหลับฝันดีถึงการได้เป็น 'ข้าวสวย' อยู่ในกระสอบข้าวเปลือกท้ายรถกระบะที่จะลำเลียงไปโรงสีวันพรุ่งนี้

กระสอบข้าวที่เด็กหญิงข้าวเปลือกแอบอาศัยตามมาด้วย ถูกเทกองรวมกับอีกหลายๆ กระสอบ จนกลายเป็นภูเขาข้าวเปลือกขนาดตึกสองชั้น เด็กหญิงข้าวเปลือกรู้สึกตื่นเต้นมาก อีกไม่นานเธอก็คงจะได้เป็น 'ข้าวสวย' แล้ว คิดแล้วเธอก็รู้สึกหัวใจพองโต

"พวกเธอรู้จัก 'ข้าวสวย' ไหม ฉันจะไปหาพวกเขาได้ที่ไหน" เด็กหญิงข้าวเปลือกถามข้าวเปลือกเมล็ดหนึ่งในภูเขาข้าวเปลือก "ฉันไม่รู้หรอกนะ แต่ถ้าเธอจะหา 'ข้าวสาร' ฉันก็พอจะแนะนำได้

"ข้าวสาร?"

"ถูกต้อง ได้ยินว่าก่อนจะเป็น ข้าวสวย พวกเราจะต้องเป็น ข้าวสาร เสียก่อน” ข้าวเปลือกเมล็ดนั้นอธิบาย "บางที่ ข้าวสาร อาจจะมีคำตอบเกี่ยวกับ ข้าวสวยให้เธอก็ได้ ถ้าเธออยากรู้จริงๆ ก็ลองไปทางโน้นดูสิ ได้ยินว่า มีข้าวสารสีขาวบางเม็ดอยู่ที่นั่น"

เด็กหญิงข้าวเปลือกเดินทางมาจนพบเม็ดข้าวเม็ดหนึ่ง แต่เป็นเม็ดข้าวที่แปลก เพราะมีสีคล้ำมาก "เธอไม่ใช่ข้าวสารใช่ไหม เธอเป็นใคร" เด็กหญิงข้าวเปลือกถาม

"ไม่ใช่หรอก ฉันชื่อ กล้อง ฉันเป็นข้าวกล้อง" เม็ดข้าวผิวคล้ำตอบ

"แล้วเธอเห็นข้าวสารแถวนี้บ้างไหม ฉันกำลังตามหาพวกเขาอยู่"

"แถวนี้ไม่มีข้าวสารหรอก มีแต่ข้าวกล้องสีคล้ำอย่างฉัน"

"ทำไมเธอถึงมีผิวคล้ำล่ะ" เด็กหญิงข้าวเปลือกถามอย่างสงสัย

"ฉันตอบเธอไม่ได้หรอก ฉันไม่อาจเลือกที่จะมีสีแบบไหนได้ นั่นเป็นสิ่งที่เจ้าของโรงสีได้กำหนดไว้ให้กับฉันแล้ว สิ่งที่ฉันบอกเธอได้ก็คือ ตัวฉันอุดมไปด้วยวิตามิน และฉันก็แข็งแรงกว่าข้าวสารสีขาวมากมาย"

"แต่เธอผิวคล้ำ ดูไม่สวย"

"ใช่ แต่ฉันก็ได้ความแข็งแรงเป็นสิ่งทดแทนในสิ่งที่ข้าวสารไม่อาจมีได้ และฉันก็ยินดีมาก ถึงแม้ฉันอาจจะดูไม่สวยก็ตาม" ข้าวกล้องตอบอย่างภูมิใจ "ว่าแต่เธอต้องการพบข้าวสารไปทำไมหรือ"

"ฉันอยากเป็น ข้าวสวย พวกเขาน่าจะให้คำตอบกับฉันได้ว่า ฉันต้องทำอย่างไร"

"ถ้าเธอต้องการพบข้าวสารขาวจริงๆ เธอลองไปทางโน้นดูสิเจ้าเพื่อนเปลือกแข็งตัวโตของฉัน"

"พวกเธอขาวสะอาด สวยงดงามเหลือเกิน ฉันอยากเป็นอย่างพวกเธอจัง" เด็กหญิงข้าวเปลือกทักทายข้าวสารในกระสอบใบโต


ข้าวสารขาวยิ้มอ่อนโยน "แต่เธอจะต้องแลกมาด้วยคุณค่าที่หายไป และร่างกายที่อ่อนแอลงนะ"

"ข้าวกล้องบอกเรื่องนั้นแก่ฉันแล้วล่ะ แต่อย่างไรฉันก็ยังอยากเป็นแบบพวกเธออยู่ดี"

"ทำไมล่ะ"

"ก็ฉันตัวโต มีเปลือกแข็ง ดูไม่สวยเหมือนพวกเธอนี่ ฉันอยากจะเป็นข้าวสวย ที่มีผิวสีขาวสะอาด อ่อนนุ่ม มีกลิ่นหอม และนั่นเป็นสิ่งที่พวกเธอกำลังจะได้เป็นไม่ใช่หรือ"

"ใช่ ถูกต้องแล้วล่ะ"

"แล้วพวกเธอไม่ดีใจหรือ"

"ดีใจสิ แต่ฉันก็คิดว่ามันเป็น 'หน้าที่' ที่ได้มอบหมายมา และฉันต้องทำให้ดีที่สุดมากกว่าจะคิดเพียงแค่สวย หรือไม่สวยเท่านั้น"

"หน้าที่ อย่างนั้นหรือ?"

"ใช่ หน้าที่ ฉันมีหน้าที่ของฉัน ข้าวกล้องก็มีหน้าที่ของเขา ส่วนเธอก็ต้องมีหน้าที่ของเธอ และเธอต้องทำหน้าที่ของเธอให้ดีที่สุด"

"หน้าที่เฝ้ายุ้งข้าวอย่างนั้นหรือ ฉันเบื่อที่จะต้องอยู่เฉยๆ คอยดูเพื่อนๆ เดินทางมาเป็น ข้าวสวย แล้วนะ"

"เจ้าเพื่อนเปลือกแข็งตัวโต ฉันคงอธิบายอะไรเธอไม่ได้มากไปกว่านี้ ถ้าเธออยากรู้อะไร ก็ลองไปถามพวกคุณลุง 'ข้าวเก่า' ที่ท้ายโรงสีดูสิ"

"คุณลุงข้าวเก่า?"

"ใช่ พวกคุณลุงใจดีมาก คอยถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์ต่างๆ ให้กับพวกเราเสมอ"

"ข้าวเปลือกเม็ดโต หนูมาหาใคร" ข้าวสารเม็ดหนึ่งที่ท้ายโรงสีถามเด็กหญิงข้าวเปลือก ด้วยน้ำเสียงอ่อนโยน "หนูมาหาคุณลุง ข้าวเก่าค่ะ คือหนูมีเรื่องที่อยากจะรบกวนถามคุณลุงเค้า" เด็กหญิงข้าวเปลือกตอบ

"ถ้าอย่างนั้น หนูก็ถามมาเลยจ้ะ ฉันนี่แหละคุณลุงข้าวเก่า ที่เธอกำลังตามหาอยู่

"คุณลุงคือคุณลุง ข้าวเก่า หรือค่ะ"

"ใช่จ้ะ"

"ถ้าใช่ แล้วทำไมคุณลุงถึงดูเหมือนข้าวสารขาวล่ะคะ" เด็กหญิงข้าวเปลือกถามด้วยความไม่แน่ใจ

"ก็ลุงเป็นข้าวสารนี่จ้ะ เพียงแต่ว่าถูกเก็บไว้นานหน่อยเท่านั้นเอง"


"แล้วทำไมต้องเก็บไว้นานด้วยล่ะคะ" คุณลุงข้าวเก่า หัวเราะเบาๆ ในความช่างซักของเด็กหญิงข้าวเปลือก ข้าวยิ่งเก่า ก็ยิ่งหุงขึ้นหม้อ หนูพอจะเข้าใจไหมจ๊ะ เด็กหญิงข้าวเปลือกส่ายหน้า "หุงขึ้นหม้อ หมายความว่าอะไรค่ะ"

"ลุงก็ไม่รู้จะอธิบายยังไง มันก็ประมาณว่า เม็ดข้าวที่สุกแล้ว จะพองโตขึ้นมากๆ จากตอนเป็นที่เป็นข้าวสารน่ะ หนูพอจะเข้าใจไหม" เด็กหญิงข้าวเปลือกยังคงส่ายหน้า

"เอาเป็นว่า ตอนนี้ลุงอยากให้หนูรู้ไว้ว่า ของบางอย่าง ยิ่งเก็บไว้ ยิ่งเก่าก็ยิ่งดี" คุณลุงข้าวเก่าพยายามอธิบาย "แล้วหนูมีอะไรสงสัยที่อยากถามลุง ไหนว่ามาสิจ้ะ"

"คือหนูอยากเป็น ข้าวสวย หนูอยากมีผิวขาว อ่อนนุ่ม และมีกลิ่นหอม เหมือนกับเพื่อนๆ ข้าวสารขาวของหนูกำลังจะได้เป็น แต่ทำไมหนูถึงถูกคัดแยกออกจากกลุ่มเพื่อนที่จะถูกส่งมาที่โรงสีแห่งนี้ด้วยล่ะคะ หน้าที่ของหนูคือยุ้งข้าวอย่างนั้นหรือค่ะ หนูเบื่อที่วันๆ ได้แต่เฝ้ามองดูเพื่อนๆ จะได้เป็นข้าวสวย"

คุณลุงข้าวเก่าหัวเราะเบาๆ อีกครั้ง "หนูรู้ไหม หนูเป็นข้าวเปลือกที่สวยมากอยู่แล้ว หนูมีเมล็ดที่โต มีรูปร่างที่ดี หนูไม่เห็นจะต้องมาเป็นข้าวสวยเลย ลุงจะบอกให้นะว่า ที่หนูถูกคัดแยกไว้นั้น เป็นเพราะหนูเป็นเมล็ดพันธุ์ดี และจะได้เป็นแม่พันธุ์ข้าวต่อไปยังไงล่ะ"

"ถ้าหนูสวยแล้ว ทำไมหนูถึงต้องมีเปลือกแข็งๆ สีน้ำตาลห่อหุ้มไว้ด้วยล่ะคะ"

"นั่นเพราะตอนนี้หนูยังต้องได้รับการปกป้องทะนุถนอม แต่เมื่อถึงเวลาฝนแรกของปีมาเยือน หนูจะแทงยอดสีเขียวอ่อนออกมากลายเป็นต้นกล้าข้าวที่สวยงามมากทีเดียวนะ หลังจากนั้นหนูก็โตขึ้นเป็นต้นข้าวที่เติบใหญ่ออกรวงให้เมล็ดข้าวสีทองพันธุ์ดีออกมาอีกเป็นจำนวนมาก ไม่ใช่สีน้ำตาลอย่างที่หนูคิด หรือรู้สึกไปเอง"

"เป็นอย่างนั้นจริงๆ หรือคะคุณลุง"

"ใช่สิจ๊ะ ลุงเองก็อยากเป็นเมล็ดพันธุ์ที่ดีอย่างหนูเลย แต่ลุงก็ไม่สามารถเป็นได้ หนูมีโอกาสที่จะสร้างเมล็ดพันธุ์ที่ดีต่อๆ ไป หนูควรจะภูมิใจนะ" เด็กหญิงข้าวเปลือกรู้สึกยินดีในสิ่งที่คุณลุงข้าวเก่าอธิบาย

"หนูไม่อยากเป็น 'ข้าวสาร' แล้ว ขอบคุณค่ะคุณลุง"

การอดทนรอคอยอันยาวนานของ "เด็กหญิงข้าวเปลือกแสนสวย" สิ้นสุดลงเมื่อฝนแรกของปีมาเยือน เธอถูกหว่านลงไปในแปลงดินชุ่มชื้น ในวันที่ฝนพรำไอดิน และกลิ่นฝนทำให้เธอรู้สึกสดชื่น ที่นาผืนนี้นี่เอง คือ บ้านใหม่ ที่น่าอยู่ของเธอ เธอจะได้รับการทะนุถนอมอย่างดี เช่นเดียวกับเพื่อนๆ ของเธอในที่นาผืนนี้

เธอสัญญาว่า จะทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายมาอย่างดีที่สุด ตอนนี้เธอพร้อมแล้วที่จะแตกใบอ่อนสีเขียว เป็นกล้าข้าวที่งดงาม และเติบโตขึ้นเพื่อให้รวงข้าวสีทอง และเมล็ดข้าวพันธุ์ดีต่อไป

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : สุมังคละกับพระราชาพรหมทัต "ผู้ทรงธรรม"

นิทานสอนใจ : สุมังคละกับพระราชาพรหมทัต "ผู้ทรงธรรม"


พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านผู้ได้ตรัสรู้เององค์หนึ่ง ออกเดินทางจากภูเขานันทมูลกะ จาริกถึงนครพาราณสี (ในอินดีย) และไปอาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน พอรุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในพระนคร พระเจ้ากรุงพาราณสีทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงเลื่อมใส ทรงไหว้แล้วนิมนต์ให้ขึ้นมาบนประสาท และถวายภัตตาหาร เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา พระราชาทรงเลื่อมใสมากขึ้นและทรงอาราธนาให้อยู่ในพระราชอุทยานเป็นประจำ พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงรับอาราธนา

เมื่อเสวยเสร็จแล้ว พระราชาเสด็จไปจัดที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงมอบหมายให้คนเฝ้าอุทยาน ชื่อ สุมังคละ(สุมงคล) เป็นคนช่วยเหลือในกิจธุระของพระปัจเจกพุทธเจ้า จากนั้นพระราชาก็เสด็จกลับพระนคร

ตั้งแต่วันนั้นมา พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาฉันที่พระราชมณเฑียรเป็นนิตย์ พำนักอยู่ที่พระราชอุทยานเป็นประจำ ส่วนนายสุมงคลก็ปฏิบัติบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยเคารพเสมอมา

อยู่มาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า บอกนายสุมงคลว่า จะไปพักบ้านอื่นสัก 2-3 วัน ขอให้นายสุมงคลกราบทูลพระราชาด้วย นายสุมงคลกราบทูลพระราชาตามคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าไปอยู่บ้านอื่น 2 - 3 วัน แล้วกลับมาเวลาเย็น เมื่อมืดแล้วคนเฝ้าพระราชอุทยานไม่ทราบว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับมา จึงกลับไปเรือนของตน

ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้า เก็บบาตร จีวร และเดินจงกรมสักพักหนึ่ง แล้วนั่งอยู่บนแผ่นหิน วันนั้นมีแขกมาเยี่ยมที่เรือนของนายสุมงคล ซึ่งมาด้วยกันหลายคน นายสุมงคลไม่มีกับข้าวเลี้ยงแขก จึงคิดว่า “เราน่าจะไปยิงเนื้อที่พระราชาไม่ทรงหวงห้ามในพระราชอุทยานมาทำกับข้าวเลี้ยงแขก”

เขาจึงถือธนูเข้าไปในพระราชอุทยานสอดส่ายสายตาหาเนื้อ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งอยู่ เนื่องจากมืด จึงคิดว่าเป็นเนื้อตัวใหญ่ จึงไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเขาไม่ทราบการกลับมาของท่าน จึงเอาลูกศรพาดสายธนูแล้วยิงไป

พระปัจเจกพุทธเจ้าเปิดผ้าคลุมศีรษะร้องเรียกชื่อเขาว่า “สุมงคล”

เขาตกใจมาก กล่าวอย่างละล่ำละลักว่า “ท่านขอรับ ผมไม่ทราบว่าท่านกลับมาแล้ว กระผมเข้าใจว่าเป็นเนื้อ จึงยิงเข้าไป ขอท่านได้โปรดอภัยโทษให้กระผมด้วยเถิด”

พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “ข้อนั้นช่างเถิด อาตมาให้อภัย แต่ตอนนี้ สุมงคลจะทำอย่างไรเล่ามาถอนลูกศรออกก่อนเถิด”

สุมงคลไหว้ท่านแล้ว ถอนลูกศรออก พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่อาจทนทุกขเวทนาอันแสนสาหัสได้ จึงปรินิพพาน ณ ที่นั้น

คนเฝ้าสวนตกใจกลัว คิดว่า เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องคงจะไม่ให้อภัยเราเป็นแน่ จึงพาลูกเมียหนีไป วันรุ่งขึ้นข่าวแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านิพพานแล้ว สุมงคลฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วหนีไป

พระราชาเสด็จไปพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากทรงบูชาศพ 7 วัน แล้วทรงฌาปนกิจศพด้วยสักการะอันใหญ่ เก็บพระธาตุก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้บูชาพระเจดีย์และครองแผ่นดินโดยธรรมต่อไป พระราชาไม่ได้ตรัสอะไรเกี่ยวกับสุมงคลเลย

ฝ่ายสุมงคล เมื่อ 1 ปีผ่านไป ได้รู้น้ำใจของพระราชา จึงมาหาอำมาตย์คนหนึ่ง ขอให้หยั่งพระทัยพระราชาว่าทรงรู้สึกต่อเขาอย่างไร เมื่อไปเฝ้าพระราชา อำมาตย์จึงทูลพรรณนาคุณความดีของนายสุมงคล แต่พระราชาทรงทำเป็นไม่ได้ยินเสียง อำมาตย์จึงกลับมาบอกนายสุมงคลว่า พระราชาไม่พอพระทัย พอล่วงปีที่ 2 นายสุมงคลก็กลับมาอีก พระราชาก็นิ่งเหมือนคราวก่อน

พอล่วงปีที่ 3 นายสุมงคลได้พาลูกเมียกลับมา อำมาตย์รู้ว่า พระราชามีพระทัยอ่อนลงแล้ว จึงพานายสุมงคลไปยืนที่ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ ทรงให้นายสุมงคลเข้าเฝ้า ทรงปฏิสันถารอย่างดี ตรัสถามว่า ทำไมถึงฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นบุญญเขตเสียเล่า

นายสุมงคลกราบทูลให้ทรงทราบตามความเป็นจริงทุกอย่าง ทรงทราบความจริงแล้ว พระราชทานอภัยให้เป็นผู้เฝ้าพระราชอุทยานอย่างเดิม

อำมาตย์ผู้อนุเคราะห์นายสุมงคล ทูลถามว่า เหตุใดเมื่อได้สดับคุณของนายสุมงคล 2 ครั้ง จึงนิ่งเสีย พอครั้งที่ 3 จึงทรงอนุเคราะห์


พระราชาตรัสตอบว่า “2 ครั้งแรก เรายังโกรธนายสุมงคลอยู่ เราตระหนักว่า เมื่อพระราชากำลังพิโรธอยู่ ทำอะไรลงไปด้วยความผลุนผลันย่อมไม่สมควร แต่ครั้งนี้เรารู้ว่า ความโกรธของเราอ่อนลงแล้ว จึงยอมให้เขาเข้าเฝ้า”

เพื่อจะทรงแสดงราชวัตรธรรม จึงตรัสว่า

“พระราชารู้ว่า กำลังโกรธจัด ไม่พึงลงอาญาใคร ๆ (เพราะถ้าลงอาญาในเวลานั้น มักจะทรงทำเกินเหตุด้วยอำนาจแห่งความโกรธ) พึงเพิกถอนหรือระงับทุกข์โทษของผู้อื่นไว้ก่อน”

“เมื่อใดรู้ว่า ตนมีจิตใจผ่องใสแล้ว จึงใคร่ครวญความผิดที่ผู้อื่นทำไว้ พึงพิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า นี่ส่วนที่เป็นประโยชน์หรือส่วนดีของเขา นี่คือส่วนทีเป็นโทษของเขา แล้วควรปรับผู้นั้นตามสมควร” พระราชาทรงตรัส

อนึ่ง พระราชาใด ไม่ถูกอคติ (ความลำเอียง) ครอบงำ ย่อมแนะนำผู้อื่นทั้งควรแนะนำและไม่ควรแนะนำได้ (เพราะทรงฉลาดในการแนะนำ) พระราชานั้นได้ชื่อว่า ไม่เผาผู้อื่นและไม่เผาพระองค์เอง พระราชาใดทรงลงอาญาแก่ผู้อื่นพอสมควรแก่โทษของเขา พระราชานั้น อันควรความคุ้มครองแล้วย่อมไม่เสื่อมจากสิริ

“กษัตริย์ใด ถูกอคติครอบงำ ไม่ทรงพิจารณา โดยรอบคอบแล้วทำลงไป ทรงลงอาญาโดยผลุนผลัน กษัตริย์เหล่านั้น ประกอบไปด้วยโทษ น่าติเตียนเมื่อสิ้นชีพลงแล้ว ย่อมไปทุคติ”

ส่วนพระราชาใด ทรงยินดีในทศพิธราชธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้ว พระราชานั้นเป็นผู้มีพระกาย พระวาจา และพระมนัสประสริฐ ทรงดำรงมั่นอยู่ในขันติ โสรัจจะและสมาธิ ท่านย่อมเข้าถึงโลกทั้ง 2 เท่านั้น (คือเทวโลกและมนุษยโลก)

พระราชาตรัสว่า “เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย (ในโลกมนุษย์) ถ้าเราโกรธขึ้นมา เราก็ควรตั้งตนอยู่ในราชประเพณีอันดีงาม ลงอาญาโดยแยบคาย ด้วยความปราณี”

เมื่อพระราชาพรหมทัต ทรงแสดงคุณของการใคร่ครวญพิจารณาก่อนการกระทำและตัดสินการกระทำของผู้อื่นในเวลาที่ไม่โกรธอยู่เช่นนั้น ราชบริษัทต่างชื่นชมยินดี กล่าวสรรเสริญคุณของพระราชา เป็นอเนกประการและกล่าวว่า แม้พวกเขาเองก็ควรประพฤติอยู่ในคุณธรรมเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน

นายสุมงคล ลุกขึ้นถวายบังคมพระราชา ประคองอัญชลีกล่าวสรรเสริญพระราชาว่า

“ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงเป็นใหญ่ในหมู่ชน ขอมิ่งขวัญและบุญหรือบริวารและปัญญา อย่าได้ละพระองค์ในกาลทุกเมื่อ พระองค์ผู้ไม่มักกริ้ว มีพระหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ขอพระองค์ทรงปราศจากทุกข์ ดำรงพระองค์อยู่เป็นร้อยปีเถิด ขอพระองค์จงประกอบด้วยคุณเหล่านี้ คือ โบราณราชวัตรอันมั่นคง พระราชทานโอกาสให้ทูลเตือนได้ ไม่มักกริ้ว ปกครองแผ่นดินให้ร่มเย็น จากโลกนี้ไปแล้วสู่คติภูมิสถานเถิด”

พระราชาธรรมิกราชทรงฉลาดในอุบาย ครองราชย์โดยธรรมคือ กุศลกรรมบถ 10 อันบัณฑิตกล่าวแนะนำไว้ดีแล้ว ช่วยดับความเร่าร้อนทั้งทางกายและทางใจของมหาชน เหมือนมหาเมฆหลั่งลง ยังมหาชนให้ชุ่มเย็นด้วยน้ำ

เรื่องนี้เป็นคติอันดีสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งต้องปกครองคนมาก ต้องไม่ลุอำนาจแก่โทสะและอคติ ไม่ด่วนลงโทษผู้น้อย ขณะกำลังโกรธ ไม่พึงตัดสินสิ่งใด ๆ ลงไป เพราะถ้าตัดสินเวลานั้น มักเกินกว่าเหตุและพลาดพลั้งจากธรรมได้

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : "นางกัจจานี" ผู้ไม่ละทิ้งธรรมของผู้ใหญ่

นิทานสอนใจ : "นางกัจจานี" ผู้ไม่ละทิ้งธรรมของผู้ใหญ่


"ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ธรรมสูญเสียแล้ว ส่วนที่ท่านกล่าวว่า ธรรมยังมีอยู่ ยังไม่สูญนั้น ข้าพเจ้ายังสงสัย ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่า เดี๋ยวนี้คนบาปมีชีวิตอยู่เป็นสุข"

ข้อความนี้ ออกจากปากและออกจากใจของหญิงชราคนหนึ่ง ซึ่งนั่งหุงข้าวในป่าช้าเพื่อเตรียมอุทิศให้แก่ธรรม ซึ่งเธอเข้าใจว่าตายเสียแล้ว โดยประสบการณ์ของนางเอง

เรื่องเป็นมาอย่างไร ? เรื่องโดยย่อมีว่าอุบาสกหนุ่มคนหนึ่ง เลี้ยงมารดาอยู่ในเมืองสาวัตถี ประเทศอินเดียสมัยพุทธกาล เขาเคารพมารดาเหมือนเทพเจ้า จัดแจงน้ำล้างหน้า น้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน น้ำอาบ น้ำล้างเท้า น้ำมันสำหรับนวดเท้า (กันเท้าแตก) ข้าวต้ม ข้าวสวย พร้อมบริบูรณ์

มารดาก็รักเขาประดุจแก้วตา ยาใจ มีความสุข เมื่อได้มองลูก ได้อยู่กับลูก วันหนึ่งนางพูดกับลูกว่า

"ลูกรัก เจ้าทำงานเหน็ดเหนื่อยทั้งในบ้าน นอกบ้าน แม่คิดว่า น่าจะมีใครสักคนหนึ่ง มาช่วยทำงานในบ้าน บำรุงเลี้ยงแม่แทนลูก ลูกเองจะได้ทำงานนอกบ้านโดยไม่ต้องกังวล ลูกจะทำงานเพื่อความเจริญมั่นคงของตระกูลเพิ่มขึ้นได้อีกไม่น้อย"

ชายหนุ่มมองดูแม่อย่างเข้าใจ แต่แย้งว่า

"แม่ ลูกทำให้แม่ด้วยความเต็มใจ มีความสุขใจที่ได้ทำ ลูกหวังประโยชน์สุขสำหรับตน และบุญกุศลอันเกิดจากการบำรุงเลี้ยงมารดาอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ลูกอยากทำ แม่อย่าได้กังวลเรื่องนี้เลย อนึ่งเล่า ลูกไม่ต้องการครองเรือน เมื่อแม่หาชีวิตไม่แล้วลูกจะบวช"

มารดาอ้อนวอนเรื่องนี้บ่อย ๆ แต่ไม่สำเร็จ ชายหนุ่มคงยืนยันเหมือนเดิม นางจึงทำไปโดยพลการ คือไปนำหญิงคนหนึ่งซึ่งมีตระกูลเสมอกันมาเป็นสะใภ้ ชายหนุ่มไม่ได้คัดค้าน เพราะความเกรงใจมารดา

หญิงสะใภ้ เห็นสามีเคารพนบนอบบำรุงเลี้ยงมารดาด้วยอุตสาหะอย่างยิ่ง ก็ทำเช่นนั้นบ้าง อย่างสม่ำเสมอ จนสามีรักใคร่เห็นใจ เมื่อได้ของกินที่อร่อยมา ได้เสื้อผ้าที่ดีมา ก็มอบให้ภรรยาทั้งสิ้น ด้วยหวังว่าภรรยาจะให้ของนั้น ๆ แก่มารดาเอง

นานวัน หญิงที่เป็นภรรยาเข้าใจผิดคิดว่า สามีรักตนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้รักแม่เลย เขาจึงต้องการขับไล่มารดา นางจึงเริ่มวางแผนที่จะไล่แม่ผัวออกจากบ้าน

"พี่ เมื่อพี่ไม่อยู่ วันนี้แม่เขาด่าฉัน" นางฟ้องสามี

แต่อุบาสกผู้หนักแน่น เคารพมารดาและรู้จักมารดาของตนดี นิ่งเสีย ทำให้นางผิดหวังมาก

หลังจากวันนั้น นางก็ทำอุบายอื่น ๆ เพื่อใส่โทษผิดแก่แม่ผัว เช่น ให้ข้าวต้มที่ร้อนเกินไป เมื่อแม่ผัวบอกว่าร้อนเกินไป นางก็เติมน้ำเย็นลงไปเกินประมาณ จนเย็นเกินไป แม่ผัวก็บ่นว่าเย็นเกินไป แล้วนางก็โกรธว่า ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ถูกใจ เรื่องอาบน้ำก็เช่นกัน เรื่องความเค็ม ความจืดของอาหารก็เหมือนกัน นางทำให้เอียงสุดไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อหาเรื่องแม่ผัว ออกจากบ้านเที่ยวพูดให้เพื่อนบ้านฟังว่า แม่ผัวของตัวเอาใจยากแสนยาก

วันหนึ่งแม่ผัวบอกว่า "ที่เตียงของแม่มีเรือดชุกชุม" นางก็ทำทีไปรื้อเตียงเคาะเตียง แต่เป็นเตียงของนางเอง แล้วบอกว่าทำเรียบร้อยแล้ว คืนนั้นแม่ผัวผู้เป็นอุบาสิกาต้องนั่งตลอดทั้งคืน ไม่อาจนอนได้ พอนอนบนเตียงก็ถูกเรือดกัด วันรุ่งขึ้นนางบอกกับลูกสะใภ้ แต่ลูกสะใภ้เถียงว่า เมื่อวานก็ทำให้เรียบร้อยแล้ว นางก็นิ่งเสีย

แผนสุดท้าย ของลูกสะใภ้ ในวันหนึ่ง คือแกล้งบ้วนน้ำลาย สั่งน้ำมูก ให้เลอะเทอะทั่วบ้าน เมื่อสามีกลับมา ถามว่า

"ทำไม น้ำลาย น้ำมูก จึงเลอะบ้านอย่างนี้"

"ก็แม่ของพี่นะซิ ทำไว้ ห้ามอย่างไรก็ไม่เชื่อ"

ชายหนุ่ม มองอย่างสงสัย

"พี่เลือกเอาก็แล้วกัน จะให้แม่อยู่บ้านนี้หรือจะให้ฉันอยู่ ถ้าแม่อยู่ ฉันไม่อยู่ ถ้าจะให้ฉันอยู่ แม่ต้องไม่อยู่"

นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ชายหนุ่มจึงกล่าวว่า "เธอยังสาว ยังสวย จะไปอยู่ที่ไหน หรือหาสามีใหม่ก็คงได้ แต่แม่ของฉันแก่แล้ว จะไปไหนได้ เพราะฉะนั้น เธอนั่นแหละควรจะไป"

เมื่อได้ฟังสามีพูดจริงเช่นนั้น นางลูกสะใภ้ก็เกิดความกลัวขึ้น คิดว่าสามีรักแม่เขามาก ถ้าเราไปเราต้องเป็นหม้าย คงได้รับความทุกข์อื่น ๆ อีกหลายอย่าง

ตั้งแต่วันนั้นมา นางก็เลิกกลั่นแกล้งแม่ผัว ปฏิบัติตัวเป็นลูกสะใภ้ที่ดีอย่างเดิม ครอบครัวก็อยู่กันเป็นสุขตลอดมา

วันหนึ่ง ชายหนุ่มผู้เป็นอุบาสก ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน พระศาสดาตรัสถามว่า ไม่ประมาทในบุญอยู่หรือ ยังบำรุงเลี้ยงมารดาอยู่หรือ เขากราบทูลว่า ยังทำอยู่ และได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เดี๋ยวนี้เธอไม่เชื่อคำของภรรยา แต่ในชาติหนึ่งในอดีตเธอเคยเชื่อ เคยไล่มารดาออกจากบ้าน แต่ได้อาศัยเรา จึงได้นำมารดากลับมาสู่เรือนบำรุงเลี้ยงอย่างเดิม"

ตรัสเล่าเรื่องในอดีต ตอนต้น ๆ ก็เหมือนเรื่องในปัจจุบัน แต่พอภรรยายื่นคำขาดว่าให้เลือกเอาระหว่างแม่กับนาง สามีได้เลือกภรรยา แต่ไล่มารดาของตนออกจากเรือน

หญิงชราออกจากบ้านลูกชายไปแล้ว ไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อนแห่งหนึ่ง ทำงานรับจ้างเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบาก ฝ่ายหญิงสะใภ้เมื่อแม่ผัวออกจากบ้านไปแล้วก็ตั้งครรภ์ นางได้พูดกับสามีและเพื่อนบ้านว่า แม่ผัวเป็นกาลกรรณี เพราะเมื่ออยู่ นางไม่ได้ตั้งครรภ์ พอแม่ผัวออกจากบ้านไป นางก็ตั้งครรภ์ ต่อมานางได้คลอดบุตรก็ได้เที่ยวพูดเช่นนั้นเหมือนกัน

ฝ่ายหญิงชราผู้น่าสงสาร ได้ทราบข่าวเช่นนั้นรู้สึกสังเวชสลดใจคิดว่า "ธรรมคงได้ตายไปจากโลกนี้เสียแล้ว ไม่เช่นนั้นหญิงผู้โหดร้ายอย่างลูกสะใภ้ของเรา จะมีบุตรและมีความสุขในการครองเรือนได้อย่างไร"

วันหนึ่ง นางได้ถืองา แป้ง ข้าวสาร ทัพพี และถาด เข้าไปในป่าช้า เอาศีรษะมนุษย์ที่ตายแล้ว 3 ศีรษะมาทำเตาไฟ ก่อไฟแล้ว ลงน้ำ สระผม บ้วนปาก สยายผม มาที่เตาไฟ เริ่มซาวข้าว เพื่อถวายมตกภัตต์ (อาหารเพื่อผู้ตาย) แก่ธรรม

ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าของเรา เสวยพระชาติเป็นเทพ ทรงทราบว่า หญิงชรากำลังมีทุกข์ ต้องการช่วยเหลือด้วยความกรุณา จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ ผู้เดินทางไกลเดินเข้าไปในป่าช้า ยืนอยู่ใกล้ ๆ ถามนางว่า

"กัจจานี ท่านสระผมนุ่งผ้าห่มผ้าขาว ยกภาชนะขึ้น สู่เตาอันทำด้วยกะโหลกศีรษะมนุษย์ ยีแป้ง ล้างงา ซาวข้าวสาร จะทำข้าวสุกคลุกงาเพื่ออะไรกัน"


"ข้าวสุกคลุกงานี้ เราไม่ทำเพื่อกินเอง แต่เพื่ออุทิศให้ธรรม ธรรม คือ ความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ธรรม คือ สุจริต 3 (กาย วาจา ใจ) ได้สูญหายไปจากโลกนี้เสียแล้ว"

เทพผู้แปลงกายเป็นพราหมณ์ยืนยันว่า ธรรมไม่ตาย ไม่หายสาบสูญไปไหน ธรรมยังมีอยู่ ธรรมนั้นอานุภาพหาที่เปรียบไม่ได้ ธรรมไม่เคยตายและจะไม่ตาย

นางกัจจานี ตอบว่า "ที่ว่าธรรมสูญเสียแล้วนั้น ข้าพเจ้านึกมั่นใจเอาเอง ข้อที่ท่านว่า ธรรมยังไม่สูญนั้น ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ เพราะเดี๋ยวนี้คนใจบาป มีชีวิตอย่างเป็นสุขได้ ดูแต่หญิงสะใภ้ของข้าพเจ้าเถิด นางไม่มีบุตร แต่พอทุบตี ไล่ข้าพเจ้าออกจากบ้านได้ กลับมีบุตรและมีความสุขเป็นใหญ่ในตระกูล บัดนี้ข้าพเจ้าถูกทอดทิ้งไม่มีที่พึ่ง ต้องอยู่คนเดียว"

เทพกล่าวว่า "หญิงสะใภ้คนใด ทำเช่นนั้นแก่ท่าน ข้าพเจ้าจะทำให้หญิงนั้นพร้อมทั้งบุตรของนางเป็นขี้เถ้าทีเดียว"

"ท่านผู้กรุณา" นางกัจจานีกล่าว "ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ให้ท่านไปเบียดเบียนเขาหรอก เพียงแต่ถ้าข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปอยู่ร่วมกับลูกชาย ลูกสะใภ้และหลาน ข้าพเจ้าก็พอใจแล้ว"

พราหมณ์ (คือเทพผู้แปลงกายมา) กล่าวว่า "ถ้าท่านพอใจเช่นนั้นก็ตามใจเถิด ท่านถูกทุบตี ถูกขับไล่เช่นนี้แล้ว ก็ยังไม่ละทิ้งธรรมของผู้ใหญ่ คือเมตตากรุณา ขอให้ท่านพร้อมด้วยบุตรหลานจงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขเถิด"

ด้วยอานุภาพของเทพ ดลใจให้ลูกและลูกสะใภ้ของนางกัจจานีระลึกถึงนาง เที่ยวเสาะแสวงหา ไปเจอนางที่ป่าช้า ร้องไห้คร่ำครวญขอโทษที่ประพฤติผิดต่อแม่ ให้แม่ยกโทษให้ และพาไปเลี้ยงดูอย่างดีเหมือนเดิม

พระศาสดาตรัสว่า เทพในครั้งนั้น คือพระองค์เอง ส่วนลูก ลูกสะใภ้ และแม่ในครั้งนั้น ก็คือแม่ลูกในบัดนี้ ทรงเป็นที่พึ่งของครอบครัวนี้ ทั้งในบัดนั้นและบัดนี้

ในชีวิตจริงของคนเราแม้ในปัจจุบัน ก็มีเรื่องทำนองนี้อยู่ไม่ใช่น้อย ลูกสะใภ้ก็ไม่ดี สามีเชื่อภรรยาที่ใส่ร้ายแม่ตัว เพราะไม่อยากเลี้ยง หรือริษยาแม่ที่สามีรัก อยากให้ทุ่มเทความรักมาให้ตัวคนเดียว แต่พอมีลูกขึ้นเองบ้าง ตัวรักลูกอย่างไร ก็อาจทำให้หวนระลึกถึงพ่อแม่ว่า คงรักตัวเช่นนั้นเหมือนกัน จึงเคารพพ่อแม่ซาบซึ้งในน้ำใจของพ่อแม่ อนึ่งเกรงไปว่า เมื่อตนปฏิบัติต่อพ่อแม่ไปดีเช่นนั้น ต่อไปภายหน้า ถ้าลูกของตัว ทำกับตนเช่นนั้นบ้าง จะระทมสักเพียงใด เรื่องแบบนี้มักเป็นกงเกวียนกำเกวียนอยู่ด้วย

ในชีวิตของคนเรานั้น มีบ่อยไปที่คนซึ่งเราหวังว่า จะพึ่งได้ กลับไม่ได้พึ่ง คนที่หวังว่าจะนำความชื่นชมโสมนัสมาให้ กลับนำแต่ความทุกข์โทมนัสมาให้ คนที่เราหวังมาก รักมาก ทุ่มเทให้เราแต่ความผิดหวัง ซ้ำซอก แต่ในทางกลับกัน คนที่เราไม่เคยหวังว่าจะได้พึ่ง กลับให้ที่พึ่ง เราไม่เคยหวังว่าจะได้รับความชื่นใจจากเขา เขากลับนำแต่ความชื่นใจมาให้

มีบ่อยไป ที่เราดูคนผิด แล้วเราต้องเสียใจไปนาน เราคบคนผิด บางทีทำให้เราก้าวพลาด กว่าจะก้าวกลับคืนต้องใช้เวลานานแสนนาน ตรงกับสุภาษิตภาษาอังกฤษที่ว่า A stitch in time saves mines แปลว่า สิ่งที่ส่องแสงแวววาว ไม่ใช่ทองเสมอไป (All that glitters is not gold) สิ่งที่ปรากฏให้เห็นมักหลอกลวงเราได้เสมอ (Appearances are often deceptive)

ทางที่ดีก็คือ อย่าประมาท อย่ามั่นใจอะไรนัก จิตใจของคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แม้ใจของเราเองก็ไม่ได้ต่างไปจากใจของคนอื่น คนที่เคยรักเคารพนับถือเรามาก ๆ เขาอาจโกรธ เกลียดเรา เลิกเคารพ นับถือเราเมื่อไรก็ได้

ประวัติศาสตร์โลก และข่าวต่าง ๆ ของโลก ที่แพร่ออกมาทางวิทยุหรือโทรทัศน์ทุกวันนั้น มีไว้เพื่อความสังเวชสลดใจ เพื่อปลงนั่นเอง

เห็นคนจนแล้ว ก็หมดความอยากที่จะรวย เห็นคนแก่แล้ว ก็สูญสิ้นความภูมิใจในความเป็นหนุ่มสาวเพราะถึงอย่างไร เราก็ต้องแก่อย่างนั้นแน่นอนถ้ามีชีพยืนยาวไป

เห็นคนแย่งชิงผลประโยชน์กัน ทำลายล้างกันด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ไม่อยากเข้าไปแตะต้องสังคมใด ๆ เลย

สำหรับใครที่ได้อ่านนิทานเรื่องนี้ คงรู้ดีว่า การทำอะไรลงไปย่อมได้สิ่งนั้นตอบแทน เพราะชีวิตเป็นวัฎจักร กงเกวียนกำเกวียนของชีวิตตามผลบุญและผลบาปที่ได้ก่อขึ้น และนอกจากนั้นความกตัญญูต่อผู้ให้กำเนิดเป็นเรื่องที่ลูก ๆ ทุกคนสมควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง กลับไปทดแทนพระคุณที่ท่านได้เลี้ยงดูเราให้เติบใหญ่ และแน่นอนว่าไม่มีใครดีไปกว่าพ่อแม่ของเราเป็นแน่แท้

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : 'นางทาสี' หญิงรับใช้ ผู้มี 'ปัญญาหญิง'

นิทานสอนใจ : 'นางทาสี' หญิงรับใช้ ผู้มี 'ปัญญาหญิง'


ในวันที่มีการเล่นมหรสพวันหนึ่ง ในเมืองสารัตถี ประเทศอินเดีย หญิงคนใช้คนหนึ่งของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ต้องการไปเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ในสวน จึงขอยืมเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของนายหญิง คือ นางบุญลักษณเทวี (ภรรยาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี) หญิงผู้เป็นนายก็ยอมให้ยืม เพราะเห็นเป็นคนรับใช้คนสนิท และสามารถคุ้มครองรักษาเครื่องประดับนั้นได้ ซึ่งมีราคาถึงหนึ่งแสนกหาปณะ (ชื่อมาตราเงินในสมัยโบราณ 1 กหาปณะเท่ากับ 20 มาสก หรือ 4 บาท)

นางประดับเครื่องแต่งกายอันสวยงามแล้วไปเล่นในสวนกับหมู่หญิงคนใช้ด้วยกัน โจรคนหนึ่งเกิดโลภ อยากได้เครื่องประดับของหญิงคนนั้น คิดว่าเธอจะฆ่าเธอเอาทรัพย์เสีย จึงเข้าตีสนิทเดินสนทนากันไป ซึ่งได้ให้ปลาเนื้อ และสุราแก่เธอ นางคิดว่าชายคนนี้คงให้ของแก่เธอด้วยความเสน่ห์หา จึงรับไว้ แล้วเที่ยวเล่นในสวนด้วยกัน แต่เพื่อจะทดลองให้รู้แน่ชัด ตกเย็นจึงปลุกเพื่อนๆ ผู้เล่นจนเหนื่อยแล้วหลับไปให้ลุกขึ้น แล้วตัวเองไปหาโจร เผื่อว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพื่อนๆ จะพอช่วยได้ โดยโจรกล่าวว่า

"ที่รัก ตรงนี้ไม่ค่อยมิดชิดนัก ไปอีกหน่อยเถิด"

นางคิดว่า ตรงนี้ อันที่จริง ก็มิดชิดพอที่จะแสดงความรักใคร่เสน่หาสำหรับผู้ที่มีความรักโดยสุจริต ชายผู้นี้คงคิดจะฆ่าเราเอาเครื่องประดับเป็นแน่ แต่ก็เอาเถอะ เราจะสอนให้เขารู้ว่าผลแห่งการคิดชั่วนั้น เป็นอย่างไร นางบอกตัวเอง และกล่าวว่า

"นาย ฉันอ่อนเพลียเพราะดื่มสุรามาก รวมทั้งคอแห้งกระหายน้ำ ท่านจงหาน้ำให้ฉันดื่มก่อนเถิด"

เมื่อเดินกันไป เจอบ่อน้ำแห่งหนึ่ง นางขอให้ชายตักน้ำในบ่อ ชี้เชือก และหม้อน้ำให้ โจรเอาเชือกผูกหม้อน้ำ แล้วหย่อนลงบ่อ ขณะที่โจรก้มหลังจะตักน้ำ นางผู้มีกำลังมากจึงใช้มือทั้งสองทุบตะโพกโจรแล้วผลักลงไปในบ่อ เห็นว่าเพียงเท่านี้คงยังไม่ตาย จึงเอาหินแผ่นใหญ่ทุ่มลงตรงศีรษะพอดี โจรตายในบ่อนั้น

นางกลับเข้าเมือง มอบเครื่องประดับให้นาย เล่าเรื่องทั้งหมดให้นายทราบ บอกว่าเกือบตาย เพราะเครื่องประดับนี้ นางบุญลักษณเทวีเล่าเรื่องนี้ให้ท่านอนากบิณฑิกเศรษฐีทราบ จึงได้ทูลเล่าเรื่องนั้นให้พระพุทธเจ้าทรงทราบต่อไป

พระพุทธเจ้าตรัสว่า นางทาสี (หญิงรับใช้) คนนี้ เป็นผู้มีปัญญาหญิงรู้เท่าทันเหตุการณ์ ไม่เพียงแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเหมือนกัน

ย้อนกลับไปในอดีตกาล หญิงโสเภณีคนหนึ่ง ชื่อ "สุลสา" มีหญิงเป็นบริวารถึง 500 คน ราคาค่าตัวของนางคืนละห้าพันกหาปณะ ในเมืองพาราณสีนั้นมีโจรคนหนึ่งชื่อ "สัตตุกะ" มีกำลังประดุจช้างสาร กลางคืนเที่ยวปล้นทรัพย์ชาเมืองตามใจชอบ ชาวเมืองประชุมกันร้องทุกข์แด่พระราชา

วันหนึ่ง โจรสัตตุกะถูกจับได้ ถูกเฆี่ยนด้วยหวายทีละ 5 เส้น กำลังถูกนำไปสู่ตะแลงแกง (ที่ฆ่า) นางสุลสายืนอยู่ที่หน้าต่างเห็นโจรผู้นั้น เกิดความพอใจอยากได้ไว้เป็นสามี คิดว่า ถ้าได้โจรนั้นเป็นสามี ก็จะเลิกอาชีพโสเภณี จึงให้บริวารไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ เป็นจำนวนเงินพันกหาปณะ

เมื่อโจรพ้นโทษแล้ว นางก็ได้อยู่ร่วมอภิรมย์กับโจรนั้น ล่วงมา 3-4 เดือน โจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาเครื่องประดับซึ่งราคานับเป็นเงินแสนกหาปณะ จึงได้บอกนางว่า ตอนที่ถูกจับนั้น ได้ผ่านภูเขาลูกหนึ่งบนบานกับรุกขเทพว่า ถ้าพ้นโทษได้ ก็จะนำพลีกรรมมาถวาย ขอให้นางแต่งกายอย่างสวยงามด้วยเครื่องประดับราคาแพงเมื่อทำพลีกรรมด้วยกัน


เมื่อไปถึงเชิงเขา โจรบอกกับนางว่า ควรให้บริวารกลับไปเสีย หรือให้คอยอยู่ที่เชิงเขานั่นแหละ เพราะถ้าขึ้นไปทั้งหมด รุขเทวดาเห็นคนมาก จักไม่รับพลีกรรม นางสุลสา ตกลงตามคำของโจร นางแบกถาดเครื่องทำพลีกรรมขึ้นไป ส่วนโจรเหน็บอาวุธ 5 ชนิด เดินขึ้นไปบนภูเขา เขาให้นางวางถาดเครื่องพลีกรรมไว้ที่โคมไม้ปากเหวลึก ลึกถึงร้อยชั่วคน และพลางกล่าวว่า

"ฉันมานี่ ที่จริง ไม่ใช่มาเพื่อทำพลีกรรมดอก แต่มาเพื่อฆ่าเธอเอาเครื่องประดับ เธอจงรีบถอดเครื่องประดับของเธอออกมาห่อผ้าเถิด"

เมื่อได้ยินเช่นนั้น นางรู้สึกตกใจ ไม่คาดหวังว่า เหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้น ไม่คิดว่า สันดานโจรจะเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ นางจึงรำพันให้สามีโจรฟังว่า

"นาย ลองระลึกถึงคุณที่ฉันทำไว้บ้าง ฉันปลดเปลื้องนายจากโจรที่จะต้องถูกประหารชีวิต มาเป็นลูกเขยเศรษฐี มีทรัพย์มั่งคั่ง มีบริวาร กินอยู่สบาย ฉันเองแม้เคยได้ทรัพย์ถึงวันละห้าพันกหาปณะ ก็ละทิ้งรายได้นั้นเสีย เพราะเห็นแก่นาย ฉันไม่เหลียวแลชายอื่นอีกเลย นายลองนึกถึงความดีของฉันดูเถิด อย่าฆ่าฉันเลย เมื่อนายไว้ชีวิตฉัน ทั้งตัวฉัน และทรัพย์สมบัติของฉันทั้งหมด ก็เป็นของนายอยู่แล้ว ฉันยอมเป็นทาสี (หญิงรับใช้) รับใช้ท่าน"

โจรไม่ยอมฟังเสียงรำพันของนาง ยืนยันจะฆ่าเอาเครื่องประดับอย่างเดียว นางนึกวางแผนอยู่ในใจจึงกล่าวว่า

"ตั้งแต่น้อยคุ้มใหญ่ ฉันไม่เคยรักชายอื่นเลย ฉันรักนายคนเดียว ไหนๆ ฉันก็จะตายแล้ว ขอกอดนายให้สมใจรักอีกสักครั้งหนึ่งเถิด"

ความโลภเข้าครอบงำ โจรมิได้เฉลียวถึงอันตราย จึงนั่งอย่างไม่ระวัง นางสุลสาสวมกอดโจรผู้เป็นสามีพร่ำรำพันถึงความรัก ความอาลัยว่า ต่อไปนี้ จะไม่ได้เห็นกันแล้ว ไหว้โจรข้างหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อตอนอยู่ข้างหลัง โจรเผลอตัว นางจึงได้ใช้กำลังทั้งหมด ผลักโจรลงไปในเหวสิ้นชีวิต

เทพผู้สถิตย์อยู่ ณ ภูเขานั้น ได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด กล่าวขึ้นด้วยความยินดีว่า

"ชายจะเป็นผู้เฉลียวฉลาดเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่ หญิงผู้เฉลียวฉลาดมีปัญญาวิจักษ์ คือแจ่มแจ้งชัดเจนก็เป็นบัณฑิตได้เหมือนกัน"

"ดูเถิด ดูตัวอย่าง นางสุลสาฆ่าโจรสัตตุกะได้อย่างรวดเร็ว เหมือนพรานเนื้อผู้ฉลาด ฆ่าเนื้อได้อย่างฉับพลัน ในโลกนี้ ผู้ใดไม่รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เบาปัญญา ผู้นั้นย่อมถูกฆ่าตายเหมือนโจรสัตตุกะ ส่วนผู้ใดรอบรู้เหตุการณ์เฉพาะหน้า มีไหวพริบ ผู้นั้นย่อมสามารถทำตนให้พ้นจากการเบียดเบียนของศัตรูได้ เหมือนสุลสาพ้นจากโจรสัตตุกะ ฉันนั้น"

การกระทำของสุลสา ได้รับการสรรเสริญจากเทพผู้เป็นบัณฑิต เพราะเห็นว่า การกระทำนั้นสมควรแก่เหตุ นายโจรนั้น เป็นคนอกตัญญูประทุษร้ายมิตร สมควรได้รับผลเช่นนั้น ถ้าไม่ปราบปรามคนชั่วเช่นนี้ คนดีก็อยู่ลำบาก หรืออาจอยู่ไม่ได้ เพราะถูกเบียดเบียนบีบคั้น การกระทำอะไรให้สมควรแก่เหตุ จึงได้รับการยินยอม ได้รับการสรรเสริญจากบัณฑิตอยู่เสมอ

ในสมัยพุทธกาล ก็เคยมีประวัติของพระเถรีอรหันต์รูปหนึ่ง ชื่อ "กุณฆลเกสี" เคยช่วยโจรไว้จากการประหารชีวิต ทำนองเดียวกับเรื่องสุลสานี้ ซึ่งโจรได้หลอกท่านไปฆ่าที่ภูเขา และท่านก็ได้ผลักโจรลงเหวในทำนองเดียวกัน ต่อมา ได้มาบวชในสำนักปริพพาชก และได้พบพระสารีบุตร ได้บวชเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

'ปัญญาหญิง' เป็นคุณธรรมสำคัญ สำหรับวินิจฉัยเหตุการณ์ว่า ในเหตุการณ์ใด ควรทำอย่างไรเป็นเนปักกปัญญา คือ ปัญญาเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาตน แต่ไม่ได้หมายความว่า "ดีแต่เอาตัวรอด" ไม่กล้าเผชิญหน้ากับอุปสรรคอันตราย เป็นคนกล้าแต่กล้าอย่างมีปัญญา มิใช่กล้าอย่างโง่เขลา อันเป็นเหตุนำตนเข้าหาภัยพิบัติ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : อดีตชาติของ "พระโลสกติสสะ" ผู้ทำบาปต่อคนดี

นิทานสอนใจ : อดีตชาติของ "พระโลสกติสสะ" ผู้ทำบาปต่อคนดี


ในอดีตกาล สมัยศาสนาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่ากัสสป ภิกษุรูปหนึ่งเป็นเจ้าอาวาสอยู่ในวัดหมู่บ้านหนึ่ง ท่านเป็นผู้มีศีล สงบเสงี่ยม เรียบร้อย หมั่นบำเพ็ญเพียรเจริญวิปัสสนาอยู่เสมอ ได้กุฎุมพี (ผู้มีทรัพย์ มีอันจะกิน เป็นชนชั้นกลาง เป็นคนมั่งคั่ง แต่ไม่ถึงขั้นเศรษฐี) เป็นผู้หนึ่งที่ปฏิบัติบำรุง (อุปัฏฐาก) อยู่เป็นสุขเสมอมา

ต่อมามีพระอรหันต์ท่านหนึ่ง จากป่าหิมพานต์ จาริกผ่านหมู่บ้านนั้น กุฎุมพีเห็นท่านแล้วมีจิตเลื่อมใส จึงรับบาตร นิมนต์ให้นั่งในเรือน ถวายอาหารด้วยความเคารพ สดับธรรมกถาเล็กน้อยแล้ว ไหว้พระเถระแล้วกล่าวว่า

"พระคุณเจ้า นิมนต์ไปพักที่วัดใกล้บ้านของกระผมเถิด ตอนเย็นพวกกระผมจะไปเยี่ยมท่าน"

พระขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวกิเลส) จึงไปสู่อาวาสที่กุฎุมพีแนะนำ นมัสการภิกษุเจ้าอาวาสแล้ว สนทนาปราศรัยกันเล็กน้อยพอให้เกิดความคุ้นเคย ท่านเจ้าอาวาสถามว่า

"ฉันอาหารมาเรียบร้อยแล้วหรือ"

"เรียบร้อยแล้วครับท่าน" พระอาคันตุกะตอบ

"ได้ที่บ้านของกุฎุมพีใกล้อาวาสนี้เองครับท่าน"

พระขีณาสพ ถามถึงเสนาสนะอันตนจะพึงได้เพื่อพักอยู่ชั่วคราว เมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าอาวาสแล้ว ก็จัดแจงปัดกวาดให้เรียบร้อย เก็บบาตรไว้ในที่ควรวาง นั่งเข้าฌาน และผลสมาบัติ (ผู้ได้ฌาน และชำนาญในการเข้า ย่อมเข้าฌานได้เสมอทุกเวลาที่ต้องการ ส่วนผลสมาบัตินั้นแปลว่า เข้าเสวยรสแห่งอริยผลที่ตนได้แล้ว พระอริยเจ้าตั้งแต่โสดาบันเท่านั้นจึงจะเข้าได้ ปุถุชนเข้าไม่ได้)

พอถึงเวลาเย็น กุฎุมพีก็ให้คนถือพวงดอกไม้ และน้ำมันสำหรับเติมประทีปไปยังอาวาส พบภิกษุผู้เป็นเจ้าอาวาสก่อน นมัสการแล้วถามว่า

"พระคุณเจ้า มีพระอาคันตุกะมาพักรูปหนึ่งไม่ใช่หรือ?"

"มีอุบาสก" พระตอบ

"ท่านพักอยู่ที่ไหนครับ?"

"โน้น อยู่กุฏิโน้น"

กุฎุมพีผู้มีศรัทธาเลื่อมใสไปหาพระขีณาสพ ฟังธรรมกถาอยู่จนค่ำ จุดประทีปสว่างไสวแล้วนิมนต์พระเถระทั้ง 2 เพื่อรับภัตตาหารที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้นแล้วกลับไป

ฝ่ายพระภิกษุเจ้าอาวาสยังเป็นปุถุชน ยังมีกิเลสตัวโลภะและริษยาอยู่ เห็นกุฎุมพีเอาใจใส่เคารพนบนอบต่อพระขีณาสพเช่นนั้น คิดว่า "ถ้าพระรูปนี้อยู่ที่นี่นาน ก็จะทำให้กุฎุมพีไม่เคารพนับถือเราอย่างเช่นเคย คงจะโอนความเคารพนับถือไปให้พระอาคันตุกะเสียหมด เราควรแสดงอาการไม่พอใจให้ปรากฏ เพื่อไม่ให้เขาพักอยู่ที่นี่นาน"

คิดดังนี้แล้วก็ลงมือทำ คือ เมื่อพระขีณาสพมาปรนนิบัติมาสนทนาด้วยก็ไม่ยอมพูดด้วย เห็นอาการเช่นนั้น พระขีณาสพก็รู้และเข้าใจคิดว่า "พระเถระ เจ้าอาวาสนี้ไม่รู้หรอกว่า เราไม่ติดไม่ห่วงใยในลาภ ในตระกูล หรือความเป็นใหญ่ในหมู่คณะ" ดังนี้แล้วกลับไปยังที่อยู่ของตน มีความสุขอยู่ในฌานและในผลสมาบัติ

วันรุ่งขึ้น ก่อนออกบิณฑบาต เจ้าอาวาสไปตีระฆังแต่ถ้าตีตามปกติ เกรงพระขีณาสพจะไปด้วย จึงเอาหลังเล็บเคาะระฆัง ไปเคาะประตูเหมือนกัน แต่เคาะด้วยหลังเล็บนั่นเอง เป็นทำนองว่าได้ทำแล้ว ไปเรือนของกุฎุมพีแต่ผู้เดียว

กุฎุมพีรับบาตร นิมนต์ให้นั่ง พลางถามว่า "ท่านพระอาคันตุกะไปไหนเสียเล่า ทำไมจึงไม่มาด้วย?"

เจ้าอาวาสตอบอย่างประชดประชันแดกดันว่า

"อาตมาไม่ทราบความประพฤติ ความเป็นไปของพระผู้ใกล้ชิดสนิทสนมของท่าน อาตมาตีระฆังก็แล้ว เคาะประตูก็แล้ว ก็ยังเงียบอยู่ เมื่อวานคงฉันอาหารอันประณีตในบ้านท่านอิ่มหมีพีมันแล้วหลับเพลินไปกระมัง? ภิกษุอย่างนี้ ท่านยังเลื่อมใสได้ลงหรือ?"

ฝ่ายพระขีณาสพ ออกจากฌานและผลสมาบัติกำหนดบิณฑบาตของตนแล้ว ทรงบาตรจีวรเหาะไปทางอากาศแต่ไปที่อื่น

กุฎุมพีนิมนต์เจ้าอาวาสให้ฉันข้าวปายาสอันปรุงด้วยเนยใส น้ำผึ้ง น้ำตาลกรวดเรียบร้อยแล้ว รับบาตรด้วยของหอม ใส่ข้าวปายาสจนเต็มแล้วกล่าวว่า "ท่านผู้เจริญ! พระเถระอาคันตุกะเห็นจะเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้ามาไม่ได้ ขอฝากข้าวปายาสนี้ไปถวายด้วยเถิด"

เจ้าอาวาสรับบาตรมาแล้ว เดินทางกลับวัด เดินไปคิดไปว่า "ถ้าภิกษุอาคันตุกะได้บริโภคมธุปายาสอันอร่อยเช่นนี้ เราจับคอฉุดให้ออกจากวัดไปก็คงไม่ไป ถ้าเราเอาข้าวปายาสนี้ให้คนอื่น กุฎุมพีก็คงจะไม่รู้ภายหลัง ถ้าทิ้งลงในน้ำ เนยใสจะลอยเป็นแผ่นอยู่เหนือน้ำ ถ้าทิ้งไว้บนแผ่นดิน พวกนก กา ก็จะพากันมาล้อมกิน สิ่งที่เราทำก็ไม่เป็นความลับ เราควรทิ้งข้าวปายาสนี้ในที่ใดหนอ"

มองไปเห็นไฟกำลังไหม้ซังข้าวอยู่ในนาแห่งหนึ่ง คุ้ยถ่านขึ้นมา เทข้าวปายาสลงไปแล้วกลบด้วยขี้เถ้าแล้วกลับวัด เมื่อไปถึงวัดไม่เห็นพระอาคันตุกะ จึงฉุกคิดว่า "ชะรอยภิกษุนั้นจะเป็นพระขีณาสพผู้ได้ เจโตปริยญาณ (กำหนดรู้ใจผู้อื่น)รู้ใจของเราแล้วจึงไปเสียที่อื่น โอ เพราะปากท้องเป็นเหตุ เราทำกรรมหนักอันไม่ควรเสียแล้ว"

ทันใดนั้น ความเสียใจอย่างใหญ่หลวงได้เกิดขึ้นแก่ท่านตั้งแต่วันนั้นมา ร่างกายของท่านก็ซบซีดผ่ายผอม (อรรถถา ใช้คำว่าเป็นมนุษย์เปรต) มีชีวิตอยู่ต่อมาอีกไม่นานก็มรณภาพไปเกิดในนรก หมกไหม้อยู่ในนรกเป็นเวลาหลายแสนปี

ด้วยอำนาจแห่งเศษกรรมนำให้เกิดในกำเนิดยักษ์อีก 500 ชาติ ไม่เคยได้กินอาหารเต็มท้องเลยสักวันเดียว ได้กินรกคนเต็มท้องอยู่มื้อหนึ่งแล้วก็ตายในวันนั้น ไปเกิดเป็นสุนัขอีก 500 ชาติ ไม่เคยได้อาหารเต็มท้องเช่นเดียวกัน มาได้เต็มท้องเอาวันสุดท้ายคือวันตายได้กินอาเจียนของคนๆ หนึ่งแล้วตาย เขายังท่องเที่ยวเสวยวิบากแห่งกรรมในสังสารวัฏอีกนาน

ในชาติสุดท้าย เกิดเป็นบุตรของชาวประมงคนหนึ่ง ณ หมู่บ้านชาวประมงในแคว้นโกศลซึ่งอยู่รวมกันประมาณหนึ่งพันครอบครัว ในวันที่เด็กถือปฏิสนธิชาวประมงทั้งหมดเที่ยวหาปลาแต่ไม่มีใครได้ปลาเลยสักตัวเดียวแม้แต่ตัวเล็กๆ ตั้งแต่วันนั้นมา หมู่บ้านชาวประมงก็เสื่อมโทรมลงมากทีเดียว ขณะที่เขาอยู่ในท้องมารดา หมู่บ้านชาวประมงถูกไฟไหม้ถึง 7 ครั้ง ถูกพระราชาลงโทษปรับสินไหม 7 ครั้ง ชาวประมงทั้งหลายจึงลำบากแร้นแค้นลงเรื่อยๆ

ชาวประมงประชุมกัน คิดกันว่า ก่อนหน้านี้ พวกเราไม่เคยลำบากเช่นนี้เลย เดี๋ยวนี้พวกเราย่ำแย่ มีเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิด เกิดขึ้นอย่างน่าพิศวง ในหมู่พวกเราต้องมีตัวกาลกรรณีเป็นแน่ ทำอย่างไรจึงจะค้นหาตัวกาลกรรณีในหมู่พวกเราได้ ตกลงแยกออกเป็น 2 พวก คือฝ่ายละ 500 ครอบครัว เมื่อแยกแล้วมารดาของเขาอยู่ในกลุ่มใด กลุ่มนั้นก็ลำบากแร้นแค้น ส่วนอีกกลุ่มก็เจริญรุ่งเรืองดี เขาแยกกลุ่มออกไปเรื่อยๆ จนเป็นกลุ่มน้อย จะน้อยเพียงใด กลุ่มที่เขาอยู่ก็ย่ำแย่ ในที่สุดเหลือครอบครัวของเขาเพียงครอบครัวเดียว คนอื่นๆ เขาทำมาหากินได้ตามปกติ คนทั้งหลายจึงรู้ว่าคนในครอบครัวนี้เป็นกาลกรรณี จึงขับไล่ โบยตีให้ออกไป


พ่อแม่ของเขาเลี้ยงชีพด้วยความแร้นแค้นฝืดเคืองเป็นอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องอดทน ธรรมดาพ่อแม่ย่อมรักลูก แม้รู้ว่าเป็นเหตุให้ตนต้องลำบากเพียงใด เมื่อครรภ์แก่ก็คลอด ณ ที่แห่งหนึ่ง พ่อแม่ของเขาเลี้ยงเขามาด้วยความลำบากและอดทนจริงๆ จนเขาเติบโตพอวิ่งเล่นได้ เห็นว่าควรปล่อยเขารับชะตากรรมของเขาเองได้แล้ว คนอื่นๆ เป็นอันต้องอดทนลำบากกับเขามามากแล้ว จึงมอบภาชนะดินเผาไว้ในมือ พลางกล่าวว่า

"ลูกเอ๋ย เจ้าจงถือภาชนะนี้ไปที่เรือนหลังนั้นเถิด"

หลอกลูกให้ไปขอทานแล้วหนีไป เด็กน้อยต้องอยู่อย่างว้าเหว่ เลี้ยงตัวเองด้วยความยากลำบาก สุดจะพรรณนาได้ แต่ธรรมดาของท่านผู้เกิดมาเป็นภพสุดท้าย ใครๆ ไม่อาจทำลายได้ ย่อมไม่ประสบภัยพิบัติถึงเสียชีวิตด้วยเหตุใดๆ เพราะอุปนิสัยแห่งอรหัตผลรุ่งเรืองอยู่ในหทัยของท่านเหมือนดวงประทีปอยู่ในที่ครอบครองอันมิดชิด ลมไม่อาจพัดไฟให้ดับได้

เด็กน้อยเที่ยวหากินตามประสาเด็กที่ไม่มีคนเลี้ยงค่ำไหนนอนนั่น ไม่ได้อาบน้ำไม่ได้แต่งตัว ไม่ได้เปลี่ยนเสื้อผ้า มีชีวิตอยู่อย่างเศร้าหมองลำเค็ญจนอายุ 7 ขวบ

วันหนึ่ง กำลังเลือกเก็บเม็ดข้าวสุกกินทีละเม็ดในที่ที่คนล้างหม้อแล้วเขาไว้ใกล้ประตูเรือนแห่งหนึ่งพอดี พระสารีบุตรออกบิณฑบาตในเมืองสาวัตถีเดินมาพบเข้า เห็นแล้วรำพึงว่า เด็กคนนี้น่าสงสารนักเป็นเด็กที่ไหนหนอ คิดดังนี้แล้วยิ่งสงสารมากขึ้นจึงเรียกให้เข้าหา ถามว่า พ่อแม่อยู่ไหน เขาเกิดที่บ้านไหน เขาเล่าเรื่องของตัวเองเท่าที่จำได้ให้พระเถระฟัง

"เธอจะบวชไหม?" พระสารีบุตรถามด้วยความกรุณา

"กระผมอยากบวช ขอรับ แต่คนกำพร้าพ่อแม่อย่างผมใครจะบวชให้เล่า?

"เราจะบวชให้เอง"

"ขอบพระคุณขอรับท่าน"

พระเถระ พาเด็กน้อยวัย 7 ขวบ ไปยังเชตวันวิหาร ให้ของกิน อาบน้ำให้เอง และบวชให้เป็นสามเณรก่อน เมื่ออายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ให้อุปสมบท ท่านมีชื่อว่า "โลสกติสสะ" แม้บวชแล้วก็เป็นผู้มีลาภน้อยไม่มีบุญในเรื่องลาภ เพราะเคยทำลายลาภของพระอรหันต์ในชาติก่อน

แม้ในคราวที่พระเจ้าปเสนทิโกศลถวายอสทิสทาน (ทานที่ยิ่งใหญ่ ไม่มีทานใดเสอมเหมือน) อันเป็นทานใหญ่ยิ่งของเมืองสาวัตถีพระโลสกติสสะก็ไม่ได้ฉันเต็มท้อง ท่านได้อาหารเพียงพอสืบต่อชีวิตไปได้เท่านั้น ใครใส่บาตรท่านแม้เพียงข้าวต้มกระบวยเดียว ก็ปรากฏเสมือนเต็มเสอมขอบปากบาตร คนอื่นๆ เห็นเข้าแล้วคิดว่า บาตรของภิกษุรูปนี้เต็มแล้ว จึงถวายองค์หลังๆ ต่อไป

ท่านทราบเหมือนกันว่า คงจะเป็นวิบากกรรมนำให้เป็นเช่นนี้ จึงไม่ประมาท หมั่นเจริญวิปัสสนา ต่อมาได้บรรลุอรหัตผลอันเป็นผลสุดยอดของการบำเพ็ญเพียรแต่ยังคงมีลาภน้อยอยู่นั่งเอง

เพราะขาดอาหาร สังขารของท่านจึงร่วงโรยทรุดโทรมเร็วก่อนเวลาอันควร จนวันที่ต้องนิพพาน พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรทราบเรื่องนี้ จึงดำริว่า

"วันนี้พระโลสกติสสะจะนิพพาน เราควรให้อาหารแก่เขาจนเพียงพอ"

ดังนี้แล้ว พาท่านไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี แม้จะพบผู้คนมากมายแต่พระสารีบุตรก็ไม่ได้แม้แต่การยกมือไหว้จากมหาชน ทานจึงพาพระโลสกะกลับไปยังโรงฉัน บอกให้นั่งลงที่นั่นก่อน ท่านเองจะออกไปใหม่ คราวนี้ประชาชนชวนกันถวายของมากมาย ท่านรีบแบ่งอาหารที่ได้แล้วส่งกลับไปให้พระโลสกะซึ่งรออยู่ที่โรงฉัน แต่คนที่นำอาหารไป เกิดลืมว่าให้ถวายแก่พระชื่ออะไร จึงกินเสียเองหมด เมื่อพระสารีบุตรกลับมาถึงวัด พระโลสกะไปไหว้

"คุณได้ฉันอาหารแล้วหรือยัง?" พระเถระถาม

"ยังเลยครับท่าน" พระโลสกะตอบ

พระเถระถามทราบเรื่อง รู้สึกสลดใจมากว่า กำลังแห่งกรรมเป็นไปได้ถึงเพียงนี้ เห็นเวลายังพอมีอยู่จึงกล่าวว่า

"เอาเถอะคุณ คุณนั่งอยู่ที่นี่แหละ ผมจะออกไปใหม่"

ท่านรีบไปยังพระราชวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล พระราชาให้รับบาตรพระเถระแล้วทรงเห็นว่า ไม่ใช่เวลาที่จะถวายของคาว จึงถวายแต่ของหวาน เช่น เนยใส เนยข้น น้ำผึ้ง น้ำอ้อย พระเถระรีบกลับไป เรียนพระโลสกะมาให้รีบฉัน พระโลสกะ ครั้นจะไม่ฉันก็เกรงใจพระเถระ

"มาเถิด โลสกะ มาฉันเถิด ผมจะยืนถือบาตรให้ คุณนั่งฉัน ถ้าผมไม่ถือบาตรไว้ในบาตรต้องไม่มีอะไร"

ด้วยกำลังฤทธิ์ของพระเถระ ด้วยบุญบารมีของพระเถระ ของ 4 อย่างนั้นไม่หายไป พระโลสกะฉันตามต้องการจนอิ่มและนิพพานในวันนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ ที่นิพพานของพระโลสกะด้วย รับสั่งให้ปลงศพของท่าน คือเผาแล้วให้เก็บอัฐิธาตุบรรจุเจดีย์ไว้เป็นที่บูชาของมหาชน

ท่านบิดาเล่าเรื่องนี้จบแล้วกล่าวว่า

"ดูเถิด ดูอานุภาพของผลบุญและผลบาปซึ่งท่านเรียกว่ากุศลวิบากและอกุศลวิบาก ซึ่งต่อสู้กันอยู่ในชีวิตของสัตว์โลกทั้งหลายผู้ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏ ผลบุญช่วยปกป้องผองภัย ส่งเสริมให้เจริญก้าวหน้ามีชีวิตผาสุก ผลบาปกระหน่ำซ้ำเติมให้ทุกข์ยากลำเค็ญ

ดูตัวอย่างชีวิตของพระโลสกะ ท่านต้องเสวยผลแห่งบาปที่ทำต่อพระอรหันต์อย่างสาหัส แต่ความดีที่ทำไว้ก็ไม่ได้สูญหาย ได้เคยรักษาศีล เจริญภาวนามาเป็นปัจจัยให้ได้อุปนิสัยแห่งอรหัตผล ซึ่งในภพสุดท้ายที่จะได้เป็นพระอรหันต์นั้น แม้จะประสบภัยพิบัติอย่างไรก็ไม่อาจทำให้ท่านเสียชีวิตได้ กรรมชั่วน่ากลัว กรรมดีมีผลน่าชื่นใจจริงๆ"

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : 'เพชร' ที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม

นิทานสอนใจ : 'เพชร' ที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม


เล่าโดย...ท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม

เรื่อง "เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม" อาตมาต้องขอใช้คำอย่างนี้ เพราะไม่ทราบว่าจะใช้คำอย่างไรดี เรื่องนี้เล่าว่า อาจารย์แห่งหนึ่งนิกายเซ็น ชื่อ กูโด เป็นอาจารย์ของพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น ท่านอาจารย์องค์นี้ชอบเที่ยวไปไหนคนเดียวโดดๆ อย่างนักบวชเร่ร่อนแบบปริพพาชก ไม่ค่อยได้อยู่กับวัดวาอาราม

ครั้งหนึ่งท่านเดินทางไปยังตำบลอีโด เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของท่านที่จะมีแก่คนอื่น ท่านได้ผ่านตำบลๆ หนึ่ง เย็นวันนั้นฝนก็ตกลงมา ท่านจึงเปียกปอนไปหมด และร้องเท้าของท่านที่ใช้ เป็นรองเท้าทำด้วยฟาง เพราะนักบวชนิกายเซ็นใช้รองเท้าฟางถักทั้งนั้น เมื่อฝนตกตลอดวันรองเท้าก็ขาดยุ่ยไปหมด ท่านจึงเหลียวดูว่า จะมีอะไรที่ไหนจะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง ก็พบกระท่อมน้อยๆ แห่งหนึ่งในถิ่นใกล้ๆ นั้น เห็นมีร้องเท้าฟางแขวนอยู่ด้วย จึงคิดจะไปซื้อสักคู่หนึ่งมาใส่เพื่อเดินทางต่อไป แต่หญิงเจ้าของบ้านเธอถวายให้เลยไม่ต้องซื้อ และเมื่อเห็นว่าเปียกปอนมาก ก็ขอนิมนต์ให้หยุดอยู่ก่อน เพราะฝนตกจนค่ำ ท่านก็เลยต้องพักอยู่ที่บ้านนั้น ด้วยคำขอของหญิงเจ้าของบ้าน

หญิงเจ้าของบ้านเรียกเด็กๆ และญาติๆ มาสนทนาด้วย ท่านอาจารย์ได้สังเกตเห็นว่า สกุลนี้เป็นอยู่ด้วยความลำบาก ก็เลยขอร้องให้บอกตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจว่าเรื่องมันเป็นอย่างไร หญิงเจ้าของบ้านก็บอกว่า

"สามีของดิฉันเป็นนักการพนัน แล้วก็ดื่มจัด ถ้าเผอิญเขาชนะ เขาก็ดื่มมันจนไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเขาแพ้ ก็ยืมเงินคนอื่นมาเล่นอีก เพิ่มหนี้สินให้มากยิ่งขึ้น เขาไม่เคยมาบ้านเลย เป็นวันเป็นคืน หรือหลายวันหลายคืนก็ยังมี ดิฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี"

ท่านอาจารย์กูโดก็บอกไปว่า ไม่ต้องหรอก ฉันจะช่วยทำ แล้วท่านก็กล่าวต่อว่า "นี่ฉันมีเงินมาบ้าง ช่วยซื้อเหล่าองุ่นมาให้เหยือกใหญ่ๆ แล้วก็อะไรๆ ที่ดีๆ ที่น่ากินเอาให้เพียงพอ จากนั้นเอามาวางที่นี่แล้วก็กลับไปทำงานตามเรื่องเถอะ ฉันจะนั่งอยู่ที่นี่ตรงหน้าที่บูชานี้ (หมายความว่าบ้านนี้มีหิ้งบูชา)"

เมื่อชายคนนั้นกลับมาบ้าน เวลาดึก เขาก็เมา เขาก็พูดตามประสาคนเมา นี่คำนี้หมายความว่ายังไง Hey! Wife ก็ต้องแปลว่า เมียโว้ย มาบ้านแล้วโว้ย มีอะไรกินบ้างโว้ย ตัวหนังสือเขาเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็เหมือนๆ กับในเมืองไทยเรา ลองคิดดูว่าคนๆ นี้จะเป็นอย่างไร ฉะนั้นท่านกูโดท่านอาจารย์ที่นั่งที่หน้าหิ้งพระก็ออกรับหน้า บอกว่า ฉันได้มีทุกอย่างสำหรับท่าน เผอิญฉันมาติดฝนอยู่ที่นี่ ภรรยาของท่านขอร้องให้ฉันพักค้างฝนที่นี่ตลอดคืนนี้ ฉันก็ควรมีส่วนตอบแทนท่านบ้าง ฉะนั้นขอให้ท่านบริโภคสิ่งเหล่านั้นตามชอบใจ

ชายคนนั้นดีใจใหญ่ เพราะมีทั้งเหล้าองุ่น มีทั้งปลา มีทั้งอาหารต่างๆ เขาก็ดื่ม และรับประทานจนนอนหลับอยู่ข้างๆ เข่าของท่านอาจารย์กูโดที่นั่งสมาธิตลอดคืน ที่นี้พอตื่นขึ้นมาตอนเช้า ชายคนนั้นก็ลืมหมดไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเมื่อคืนนี้เขาเมาเต็มที่ และถามว่า ท่านเป็นใคร และจะไปค้างไหน ท่านอาจารย์ก็ตอบว่า อ๋อ! อาตมาคือกูโด แห่งนครกโยโต (Kyoto เกียวโต) กำลังจะไปธุระที่ตำบลอิโด

ตามเรื่องที่ว่ามาแล้วเมื่อกี้ ถ้อยคำอย่างนี้มันประหลาดที่ว่า บางครั้งก็มีอิทธิพลมากมาย คือว่า ชายคนนั้นละอายจนที่จะรู้ว่าจะอยู่ตรงไหน จะแทรกแผ่นดินหนีไปที่ไหน ก็ทำไม่ไหว แทรกไปไม่ได้ มันละอายมากแล้วก็ขอโทษขอโพย ขอแล้วขออีกจนไม่รู้จะขออย่างไรต่ออาจารย์ของพระจักรพรรดิ ซึ่งจับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ที่บ้านเขา ท่านกูโดก็ยิ้มละไมอยู่เรื่อย และก็พูดขึ้นช้าๆ บอกว่า

"ทุกอย่างในชีวิตนี้มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นกระแสไหลเชี่ยวไปทีเดียว และทั้งชีวิตนี้มันก็สั้นเหลือเกินด้วย ถ้ายังเล่นการพนัน และดื่มอยู่ดังนี้ ก็หมดเวลาที่จะทำอะไรอื่นให้เกิดขึ้น หรือสำเร็จได้ นอกจากทำตัวเองให้เป็นทุกข์แล้ว ก็จะทำให้ครอบครัวพลอยตกนรกทั้งเป็นกันไปด้วย"

ความรู้สึกอันนี้ได้ประทับใจนายคนนั้น มีอาการเหมือนกับว่า ตื่นขึ้นมาในโลกอื่น เหมือนกับตื่นขึ้นมาจากความฝัน ในที่สุดก็พูดกับท่านอาจารย์ว่า ที่ท่านอาจารย์กล่าวนั้นมันถูกหมดเลย มันถูกอย่างยิ่ง ถ้าอย่างไรก็ขอให้กระผมได้สนองพระคุณอาจารย์ในคำสั่งสอนที่ประเสริฐนี้ เพราะฉะนั้นขอให้กระผมออกติดตามท่านอาจารย์ ไปส่งท่านอาจารย์ในการเดินทางนี้ สักระยะหนึ่ง ท่านอาจารย์กูโดก็บอกว่าตามใจ

สองคนก็ออกเดินทางไปได้ประมาณสัก 3 ไมล์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า กลับเถอะ นายคนนี้ก็บอกขออีกสัก 5 ไมล์เถอะ คะยั้นคะยอขอไปอีก 5 ไมล์ แล้วก็ไปด้วยกันอีก พอครบ 5 ไมล์ อาจารย์คะยั้นคะยอให้กลับอีกว่า ถึงคราวที่จะต้องกลับแล้ว นายคนนั้นก็บอกว่าขออีกสัก 10 ไมล์เถอะ ในที่สุดก็ต้องยอม พอถึง 10 ไมล์ ท่านอาจารย์ก็คะยั้นคะยอให้กลับ เขาก็บอกว่า ขอตลอดชีวิตของผมเถอะ นี่เป็นอันว่า ไปกับท่านอาจารย์ไปเป็นนักบวชแห่งนิกายเซ็น ซึ่งต่อมาก็เป็นปรมาจารย์พุทธศาสนาแห่งนิกายเซ็นในญี่ปุ่น ซึ่งนิกายเซ็นทุกสาขาที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่น ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ที่สืบมาจากอาจารย์องค์นี้องค์เดียว ท่านกลับตัวกลับใจชนิดที่เราเรียกกันว่า "เพชรที่พบจากโคลนในถิ่นสลัม"

เป็นอย่างไรบ้างก็ลองคิดดู ในประเทศญี่ปุ่นนายกรัฐมนตรีบางคนก็มาจากเด็กที่ขายเต้าหู้ หาบเต้าหู้ขายจนมีสตางค์ จนไปเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ จากเป็นเด็กส่งหนังสือพิมพ์ ก็เป็นนักเขียนหนังสือพิมพ์น้อยๆ สั้นๆ และเขื่องขึ้นๆ จนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง และไปเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหนึ่งในที่สุด

นี่เราจะบอกกับเด็กๆ ตาดำๆ ของเราว่า เขาจะทำตัวให้เป็นเหมือนกับ "เพชรที่พบในโคลนจากถิ่นสลัม" ได้อย่างไร โดยมากเขามักจะขายตนเองเสียถูกๆ จนเป็นเหตุให้เขาวกไปหาความสุขทางเนื้อทางหนังต่ำๆ เตี้ยๆ ไม่น่าดูนั้น ก็เพราะว่าเขาเป็นเด็กที่ไม่เคารพตัวเอง ท้อถอยต่อการที่จะคิดว่ามันจะเป็นได้มากอย่างนี้

พระพุทธเจ้าท่านก็ยังตรัสว่า เกิดมาเป็นคนไม่ควรให้ตัวเอง "อัตตานัง นะ ทะเทยยะโปโส" แปลว่า เป็นลูกผู้ชาย เป็นบุรุษ ไม่ควรให้ซึ่งตน คำว่า "ให้ซึ่งตน" หมายความว่า ยกตนให้เสียแก่กิเลส หรือธรรมชาติฝ่ายต่ำ ไม่ได้คิดที่จะมีอะไรที่มั่นคง จริงจัง ข้อนี้เรียกว่า เราควรจะถือเป็นหลักจริยธรรมข้อหนึ่งด้วยเหมือนกัน

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ว่าด้วยเรื่อง "มหาปทุมชาดก" (พระโพธิสัตว์)

นิทานสอนใจ : ว่าด้วยเรื่อง "มหาปทุมชาดก" (พระโพธิสัตว์)


ในมหาปทุมชาดก ทวาทสนิบาต มีกล่าวไว้ว่า "ผู้เป็นใหญ่ (อิสรชน) เมื่อยังไม่เป็นโทษน้อยใหญ่ของผู้อื่น ยังไม่ทัน พิจารณาให้เห็นเอง ก็ไม่พึงลงทัณฑ์ (อาชญา) แก่ใครๆ "

เรื่องย่อในมหาปทุมชาดกนั้นว่า หญิงคนหนึ่งหลงรัก มหาปทุมกุมาร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าสมัยที่ยังทรงบำเพ็ญพระบารมีอยู่ในอดีตชาติ) เป็นหญิงร่วมสามีของมารดาพระโพธิสัตว์

เธอดำรงตำแหน่งเป็นอัครมเหสีของพระราชา ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระโพธิสัตว์ เชิญชวนพระโพธิสัตว์ให้ร่วมอภิรมณ์กับพระนาง แต่มหาปทุมชาดกกุมารทรงปฏิเสธ พระนางโกรธและรู้สึกเสียหน้า จึงแสร้งทำเป็นป่วย เมื่อพระราชา ตรัสถามถึงความไม่สบาย นางจึงใส่ความพระโพธิสัตว์ว่า นางไม่สบายพระทัยเรื่องที่มหาปทุมกุมารต้องการร่วมอภิรมณ์ด้วย แต่นางไม่ปรารถนา

พระราชาทรงกริ้วพระโพธิสัตว์ เพราะเชื่อคำทูลของอัครมเหสี โดยไม่ได้สอบทราบให้ถี่ถ้วนรอบคอบก่อน รับสั่งให้นำพระโพธิสัตว์ไปทิ้งที่เหวทิ้งโจร ตามเรื่องว่า เทวดาช่วยไว้ ไม่สิ้นพระชนม์ จึงบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ ทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น

วันหนึ่ง พรานไหมมาพบพระโพธิสัตว์ และจำได้จึงนำความไปกราบทูลพระราชาๆ เสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ตรัสถามเรื่องราวต่างๆ จึงได้ทรงทราบความจริงอันถ่องแท้ ทรงรู้สึกผิด ทรงเชื้อเชิญพระราชโอรสไปครองราชย์ แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ และทูลว่าไม่ต้องการราชสมบัติ แต่ต้องการบวช ต้องการธรรม ขอให้พระราชาครองราชย์โดยธรรม เว้นอคติเสีย

พระราชารู้สึกเศร้าสลดสังเวชพระทัยไม่อาจกลั้นไว้ได้ ทรงร้องไห้แล้วเสด็จกลับนคร ในระหว่างทางตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า

"เราต้องพลัดพรากจากบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยคุณงามความดีมากขนาดนี้ เพราะใครเป็นต้นเหตุ? "

มหาอำมาตย์ทูลว่า "เพราะอัครมเหสีเป็นเหตุ"

จึงรับสั่งให้จับอัครมเหสี เอาเท้าขึ้น เอาหัวลง แล้วทิ้งลงเหวที่ทิ้งโจร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อัครมเหสีของพระราชาในครั้งนั้นคือ นางจิญจมาณวิภาในครั้งนี้ ส่วนพระโพธิสัตว์มหาปทุมกุมารคือพระองค์เอง

ท่านบิดาได้เล่าเรื่องเหล่านี้ให้พวกเราฟังด้วยหวังว่าเราจะถือเป็นเนตติ (แบบอย่าง) ในการดำเนินชีวิตไม่สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเพื่อให้สมใจเราเพียงฝ่ายเดียว

เรื่องของกรรมเป็นกิริยาและปฏิกิริยา กรรมมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน มนุษย์เราช่วยผลักดันให้คนอื่นทำได้ทั้งกรรมชั่วและกรรมดี ถ้าเราทำกับผู้อื่นอย่างหยาบคายร้ายกาจ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้เกิดแก่ผู้อื่นก็เหมือนช่วยผลักดันให้เขามีนิสัยหยาบคายร้ายกาจต่อเราและต่อคนอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าเราปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเมตตาปราณี เข้าใจและเห็นใจ ก็เหมือนดังช่วยเสริมสร้างให้เขานั้นมีคุณธรรมเช่นนั้นต่อเราและต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน

เราควรเริ่มต้นสร้างสังคมมนุษยชาติให้ดีงามด้วยการเริ่มต้นที่เราก่อน การสร้างกรรมดีแม้จะมีผลช้าไปบ้าง แต่ก็แน่นอน มั่นคงปลอดภัย ในการนี้เราต้องฝึกฝนตนเองให้ดำเนินอยู่ในทางของนักปราชญ์ ซึ่งทำได้ยาก แต่ก็ทำได้ และมีคนทำได้มามากแล้ว

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ช่างไม่เมตตาเอาเสียเลย

นิทานสอนใจ : ช่างไม่เมตตาเอาเสียเลย


ท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลารามบอกว่า "ช่างไม่เมตตาเสียเลย" อาตมาแปลออกมาตามตัว เขาเล่าว่าในประเทศจีน ในสมัยที่นิกายเซ็น กำลังรุ่งเรืองมาก ใครๆ ก็นิยมนับถือภิกษุในนิกายนี้

มียายแก่คนหนึ่งเป็นอุปัฏฐากของภิกษุรูปหนึ่ง ซึ่งปฏิบัติเซ็นด้วยความศรัทธาอย่างยิ่งเป็นเวลาถึงยี่สิบปี นางได้สร้างกุฏิเล็กๆ หลังหนึ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งให้อยู่ พร้อมกับส่งอาหารให้ทุกวัน นับว่าพระภิกษุรูปนี้ไม่ลำบากในการที่จะปฏิบัติสมาธิภาวนาอะไรเลย แต่ในที่สุดเวลาก็ล่วงมาถึง 20 ปี ยายแก่จึงเกิดเความสงสัยขึ้นมาว่า พระรูปนี้จะได้อะไรเป็นผลสำร็จจากการปฏิบัติบ้างไหม ที่มันจะคุ้มกับข้าวปลาอาหารที่นางส่งเสียให้ตลอด 20 ปี

ดังนั้น เพื่อให้รู้ความจริงในข้อนี้ ยายแก่ก็คิดหาหนทาง ซึ่งในที่สุดก็พบ โดยนางไปขอร้องให้หญิงสาวคนหนึ่งที่มีรูปร่างหน้าตาท่าทางยั่วยวน เพื่อให้ไปหาพระรูปนั้น โดยบอกว่า "ให้ไปที่นั่นแล้วกอดพระองค์นั้น แล้วถามว่าเดี๋ยวนี้เป็นอย่างไรบ้าง" ผู้หญิงคนนั้นก็ทำตามคำพูดอย่างที่หญิงแก่บอก แต่พระรูปดังกล่าวก็ตอบกลับด้วยถ้อยคำที่เป็นกาพย์กลอน ตามธรรมดาของบุคคลที่มีนิสัยชื่นชอบทางคำประพันธ์ว่า

"ต้นไม้แก่ ใบโกร๋นบนยอดผา ฤดูหนาวทั้งคราวลมระดมมา อย่ามัวหาไออุ่นแม่คุณเอย"

ภิกษุรูปนั้นกล่าวเพียงแค่นี้ แล้วไม่ได้พูดอะไรอีก หญิงสาวคนนั้นก็กลับมาบอกยายแก่ เหมือนที่ได้ฟังมา ยายแก่ก็ขึ้นเสียงตะบึงขึ้มาว่า

"คิดดูซิ ฉันเลี้ยงไอ้หมอนั่นมาตั้ง 20 ปีเต็ม มันไม่มีอะไรเลย แม้แต่เพียงการแสดงความเมตตาออกมาสักนิดนึงก็ไม่มี ถึงแม้จะไม่สนองความต้องการกิเลส ก็ควรจะเอ่ยปากเป็นการแสดงความเมตตากรุณา หรือขอบคุณบ้าง นี่แสดงว่าเขาไม่มีคุณธรรมอะไรเลย"

เมื่อเป็นเช่นนี้ยายแก่ ก็ไปที่กุฏิที่ภิกษุรูปนั้นพักอยู่ จากนั้นได้จุดไฟเผากุฏินั้นเสีย และไม่ส่งอาหารให้พระภิกษุรูปนั้นอีกต่อไป

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า คนบางคนย่อมต้องการอะไรที่ตรงกันข้ามกับที่ตัวเราเองนึกฝันก็เป็นได้ ดูอย่างสติปัญญาของคนแก่สิ แกมีแบบแห่งความยึดมั่น ที่แกยึดถืออย่างเคร่งครัด ยิ่งแก่ยิ่งหนังเหนียว ยิ่งหมายความว่า ยิ่งยึดถือมาก ฉะนั้นถ้าจะไปโกรธคนที่มีความคิดอย่างนั้น มีหลักเกณฑ์อย่างนั้น หรือมีความเคยชินอย่างนั้นก็ไม่ได้

ดังนั้นต้องให้อภัย ต้องไม่โกรธเร็วเกินไป หรือว่าเราจะไม่โกรธใครเลยก็จะเป็นเรื่องที่ดี และจะเป็นครูบาอาจารย์ที่มีความสุขที่สุด แล้วจะเป็นครูบาอาจารย์ที่ทำหน้าที่ได้สนุก และดีที่สุดเช่นกัน ฉะนั้นขอให้จำไว้ว่า "คนเรานั้นมีอะไรที่ไม่เหมือนกัน มีอะไรที่ไม่นึกไม่ฝันกันมากมายบนโลกใบนี้"

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : น้ำชาล้นถ้วย

นิทานสอนใจ : น้ำชาล้นถ้วย

วันนี้ขอนำเสนอ "นิทานเซ็น" เรื่อง "น้ำชาล้นถ้วย" ซึ่งเป็นเรื่องของอาจารย์แห่งนิกายเซ็น ชื่อ "น่ำอิน" เป็นผู้มีชื่อเสียงไปทั่วทุกสารทิศ โดยมีผู้แสวงบุญเดินทางไปหาอาจารย์น่ำอิน เพื่อขอศึกษาพระพุทธศาสนาของนิกายเซ็น

สำหรับการยอมรับบุคคลที่เข้ามาพบอาจารย์น่ำอิน ท่านอาจารย์จะทดสอบโดยการรินน้ำชาลงในถ้วย รินจนล้นแล้วล้นอีก ผู้แสวงบุญต่างมองดูด้วยความฉงนและสงสัย ต่างก็ทนดูไม่ได้ จึงพูดโพล่งออกไปว่า "ท่านจะใส่มันลงไปได้อย่างไร" ประโยคนี้มันก็แสดงว่าเกิดความโมโหในใจขึ้นแล้ว

ท่านอาจารย์น่ำอิน จึงตอบว่า "ก็เหมือนกับท่านที่จะให้อาตมาใส่อะไรลงไปได้อีก เพราะท่านเต็มอยู่ด้วยตัวของเขาเอง"หมายความว่า เต็มไปด้วยความคิดเห็นตามความยึดมั่นและเชื่อถือของท่านเอง และมีวิธีคิดตามแบบของท่านเอง สองอย่างนี้แหละที่มันทำให้เข้าใจพระพุทธศาสนาอย่างเซ็นไม่ได้ หรือที่เรียกว่า ถ้วยชามันล้น

จากเรื่องข้างต้น ครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะเตือนสติเด็กของเราให้รู้สึกนึกคิดเรื่องอะไรล้น อะไรไม่ล้น ได้อย่างไร ขอให้ช่วยกันหาหนทางออก ในสมัยโบราณอรรถกถาได้เคยกระแหนะกระแหนถึงพวกพราหมณ์ที่เป็นทิศาปาโมกข์ ต้องเอาเหล็กมาตีเป็นเข็มขัด คาดท้องเอาไว้ เนื่องจากกลัวว่าท้องจะแตก เพราะวิชาล้น ทั้งหมดนี้จะเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างไรก็ลองคิดดู พวกเราอาจล้นหรืออัดอยู่ด้วยวิชาทำนองนั้น จนอะไรใส่ลงไปอีกไม่ได้ หรือความล้นนั้นมันออกมาอาละวาดเอาบุคคลอื่นอยู่บ่อยๆ

แต่เราคิดดูก็เห็นได้ว่า ส่วนที่ล้นนั้นคงจะเป็นส่วนที่ใช้ไม่ได้ จะจริงหรือไม่ก็ลองคิดดู ส่วนใดที่เป็นส่วนที่ล้น ก็คงเป็นส่วนที่ใช้ไม่ได้ ส่วนที่ร่างกายรับเอาไว้ได้ก็คงเป็นส่วนที่มีประโยชน์ ฉะนั้นจริยธรรมแท้ๆ ไม่มีวันจะล้น โปรดนึกดูว่าจริยธรรมหรือธรรมะแท้ๆ นั้นมีอาการล้นได้ไหม ถ้าล้นไม่ได้ก็หมายความว่าสิ่งที่ล้นนั้น มันก็ไม่ใช่จริยธรรม ไม่ใช่ธรรมะ ล้นออกไปเสียให้หมดก็ดีเหมือนกัน หรือถ้าจะพูดอย่างลึก เป็นธรรมะลึกๆ ก็ว่าจิตแท้ๆ ไม่มีวันล้น สิ่งที่ล้นนั้นเป็นสิ่งที่ไม่ใช่จิตแท้ มันล้นได้มากมาย แต่ถึงกระนั้นเรายังไม่รู้ว่าจิตแท้ เป็นเพียงความคิดปรุงแต่ง ซึ่งจะล้นไหลไปเรื่อย นี่แหละรีบค้นหาให้พบสิ่งที่เรียกว่าจิตจริงๆ กันเสียสักทีก็ดูเหมือนกัน

ในที่สุดท่านจะพบตัวธรรมะอย่างสูงสุด ที่ควรแก่นามที่จะเรียกว่า "จิตแท้หรือจิตเทียม" ซึ่งข้อนั้นได้แก่ ภาวะแห่งความว่าง จิตที่ประกอบด้วยสภาวะแห่งความว่างจาก "ตัวกู-ของกู" นั้นแหละคือจิตแท้ ถ้าว่างแล้วมันจะเอาอะไรล้น นี่เนื่องจากไม่รู้จักว่าอะไรเป็นอะไร จึงบ่นกันเรื่องล้น การศึกษาก็ถูกบ่นว่าล้น แต่ที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือที่พูดว่า ศาสนานี้เป็นส่วนที่ล้น จริยธรรมเป็นส่วนที่ล้น คือส่วนที่เกินความต้องการ ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องเอามาสนใจ เขาคิดว่าเขาไม่เกี่ยวกับศาสนาหรือธรรมะเลย เขาก็เกิดมาได้ พ่อแม่ก็มีเงินให้เขาใช้ให้เขาเล่าเรียน เรียนเสร็จแล้วก็ทำราชการเป็นใหญ่เป็นโตได้ โดยไม่ต้องมีความเกี่ยวข้องกับศาสนาเลย ฉะนั้นเขาเขี่ยศาสนา หรือธรรมะออกไปในฐานะที่เป็นส่วนล้น คือ ไม่จำเป็น

นี่แหละเขาจัดส่วนล้นให้แก่ศาสนาอย่างนี้ คนชนิดนี้จะต้องอยู่ในลักษณะที่ล้นเหมือนผู้แสวงบุญคนนั้น ที่อาจารย์น่ำอินจะต้องรินน้ำชาใส่หน้า หรือว่ารินน้ำชาให้ดู โดยเขามีความเข้าใจผิดที่ล้น ในขณะที่ความเข้าใจถูกนั้นยังไม่เต็ม มันล้นออกมาให้เห็นเป็นรูปของมิจฉาทิฏฐิ เพราะเขาเห็นว่าเขามีอะไรๆ ของเขาเต็มเปี่ยมแล้ว ส่วนที่เป็นธรรมะ เป็นจริยธรรมมันไม่สามารถบรรจุให้เต็มได้อีกต่อไป ขอจงคิดดูให้ดีเถอะว่า นี่แหละ คือมูลเหตุที่ทำให้จริยธรรมรวนเรและพังทลาย ถ้าเรามีหน้าที่ที่จะต้องผดุงส่วนนี้แล้ว จะต้องสนใจในเรื่องนี้

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ใกล้ "พระพุทธเจ้า" เข้าไปทุกทีแล้ว

นิทานสอนใจ : ใกล้ "พระพุทธเจ้า" เข้าไปทุกทีแล้ว


"ใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้ว" ลองฟังให้ดีจะรู้ว่าพวกเราใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้วหรือไม่ นักศึกษาในมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งได้ไปเยี่ยมมธยานาจารย์ คือ อาจารย์แห่งนิกายเซ็น ชื่อว่า "กาซาน" เพราะนิสิตคนนั้น เขาแตกฉานในการศึกษา เขาจึงถามอาจารย์กาซานว่าเคยอ่านคริสเตียนใบเบิลไหม

ท่านอาจารย์กาซานซึ่งเป็นพระเถื่อน อย่างพระสมถะนี้จะเคยอ่านใบเบิลได้อย่างไร พระเถื่อนจึงตอบว่า "เปล่า! ดังนั้นช่วยอ่านให้ฉันฟังที"

นิสิตคนนั้นก็อ่านคัมภีร์ใบเบิล ตอน Saint Mathew ไปตามลำดับไปถึงประโยคที่ว่า "ไม่ต้องห่วงอนาคต" คือไม่ต้องห่วงวันพรุ่งนี้ วันพรุ่งนี้มันจะดำเนินไปได้เองและเราจะสามารถอยู่ได้ด้วยตัวเอง แม้แต่นกกระจอกก็จะไม่อดตาย อะไรทำนองนี้

ท่านอาจารย์กาซานก็บอกว่า "ใครที่พูดประโยคนี้ได้ ฉันคิดว่า เขาคนนั้นเป็นผู้รู้แจ้งคนหนึ่งทีเดียว" คือ เป็น An enlightened one คนหนึ่งทีเดียว แต่นิสิตคนนั้นก็ยังไม่หยุดอ่าน คงอ่านต่อไป มีความหมายว่า "ขอเถิด แล้วจะได้แสวงหา แล้วจะพบ จงเคาะเข้าเถิดแล้วมันจะเปิดออกมา เพราะว่าใครก็ตามที่ขอแล้วจะต้องได้รับ ใครที่แสวงหาแล้วย่อมได้พบ และใครที่เคาะประตูแล้วมันก็จะเปิดออกมา"

พอถึงตอนนี้ อาจารย์กาซานบอกว่า "แหม! วิเศษที่สุด ใครๆ ที่กล่าวเช่นนี้ได้ ก็ใกล้พระพุทธเจ้าเข้าไปแล้วทุกที"

นิทานเรื่องนี้สอนว่า ถ้ารู้ธรรมะจริงจะไม่เห็นเป็นลัทธิคริสเตียน หรือพุทธ หรือะไรอื่น ในจิตใจของผู้ที่รู้ธรรมะจริง จะไม่รู้สึกว่า มีการแบ่งแยกว่า มีคริสต์ มีพุทธ มีอิสลาม มีฮินดู มีอะไร เพราะไม่ได้ฟังเสียงเหล่านั้น ไม่ต้องเป็นนิกายอะไร ครูบาอาจารย์สำนักไหน คัมภีร์อะไร หรือการอ้างหาหลักฐานชนิดไหน

การไม่มีจิตใจหรือความรู้สึกที่ค้านหรือรับฟังถ้อยคำเหล่านั้น จะฟังแต่เนื้อหาของธรรมะนั้น และศึกษาเรียนรู้ก็จะรู้ได้ว่ามันเป็นอย่างไร สูง ต่ำ ก็รู้ว่าสูงหรือต่ำ ดังคำกล่าวที่ว่า"เคาะเข้าเถิดจะเปิดออกมานี้" มันเหมือนอย่างที่เราพูดว่าถ้าปฏิบัติให้ถูก มันก็จะง่าย ง่ายที่สุดในการที่จะบรรลุนิพพาน เดี๋ยวนี้ไปนอนหลับสบายกันเสียหมด ทั้งพระทั้งฆราวาสก็ได้ ไม่มีใครเคาะ ไม่มีใครแสวงหา หรือไม่มีใครขวนขวายนั่นเอง

ถ้าฟังกันแต่เนื้อหาของธรรมะแล้วมันก็ไม่มีพุทธ ไม่มีคริสเตียน ไม่มีเซ็น ไม่มีเถรวาท ไม่มีมหายานอย่างนี้ ไม่มีอาการที่จะเป็นเขาเป็นเราเลย จิตมันว่างเปล่า มันจึงมีเขาฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้มีเรา อีกฝ่ายหนึ่งก็ไม่ได้ ฉะนั้น ความกระทบกันระหว่างเขากับเราไม่อาจจะเกิดขึ้นและไม่มีทางเกิด ไม่มีแม้พื้นฐานที่จะเกิด เห็นธรรมะเป็นพระเป็นเจ้า เห็นพระเป็นเจ้าเป็นธรรมะไปเสียแล้ว

เหมือนว่าพระเป็นเจ้าของฝ่ายที่นับถือศาสนาที่พระเป็นเจ้านั้น มีการสร้าง มีการทำลาย มีการให้รางวัล มีการกระทำทุกอย่างตามหน้าที่ของผู้เป็นเจ้า เราก็มีสิ่งที่ทำหน้าที่อย่างนั้น ครบทุกอย่างเหมือนกัน แต่เรากลับไปเรียกว่า "ธรรม" เหมือนความหมายของคำว่า "ธรรมะ" ที่บอกว่า ความโง่และความหลง คือ อวิชชาต่างหากที่ไปสมมติให้ว่าเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ อย่างนั้นอย่างนี้ พวกนั้นพวกนี้ จนมีเขามีเรา จริยธรรมทั้งหมดของธรรมชาติทั้งหมดนั้นมีเรื่องเดียว แนวเดียว และสายเดียวกัน

ขอให้สนใจในความจริงข้อนี้เถอะว่า "จริยธรรมทั้งหมดของโลกนี้ หรือของโลกอื่นด้วยก็ได้ ย่อมมีแนวเดียวและสายเดียว และตรงเป็นหนึ่งอันเดียวกัน ไม่ต้องพูดว่า ของประเทศนั้น ของประเทศนี้ ศาสนานั้นศาสนานี้ ถึงแม้ว่าสิ่งที่เป็นจริยธรรมจะมีหลายรูป หรือหลายเหลี่ยม ดังที่กล่าวมาแล้วก็ยังเป็นอันเดียวแนวเดียวสายเดียวกันอยู่นั่นเอง มีแต่ระบบไหนใกล้จุดหมายปลายทางกว่าเท่านั้น แต่เรื่องเนื้อหาต้องเป็นเรื่องเดียวกันหมด"

ขึ้นชื่อว่าธรรมะแล้ว ต้องเป็นเรื่องเดียวกัน แต่ว่าอันไหนหรือใครจะกล่าวนั้นมันใกล้จุดหมายปลายทางเข้าไปหรือยัง ฉะนั้นเราอย่างได้รังเกียจ อย่างได้ชิงชัง ว่าคนนั้นคนนี้เป็นคริสเตียน และกลายเป็นศัตรูกัน ถ้าเป็นเช่นนี้ก็ถือว่าไม่รู้ธรรมะอย่างลึกซึ้ง ยิ่งเป็นครูบาอาจารย์แล้วด้วย ไม่ควรมีความรู้สึกแบบนี้โดยเด็ดขาด

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้า

นิทานสอนใจ : ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้า


"ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้า" นิทานเรื่องนี้จะมีประโยชน์มากสำหรับครูบาอาจารย์ สำหรับเรื่องนี้ถึงแม้ว่าท่านจะไม่ได้เรียกตัวเองว่าครูก็ตาม ก็ควรจะสนใจฟังในฐานะที่ว่าจะเป็นปัจจัย เกื้อกูลแก่ความเข้าใจธรรม และปฏิบัติธรรม เรื่องเล่านี้มีอยู่ว่ามีชายคนหนึ่ง เขาอยากเป็นนักฟันดาบที่เก่งกาจ เขาไปหาอาจารย์สอนฟันดาบเพื่อให้ช่วยสอนเขาให้เป็นนักฟันดาบ

เขาถามอาจารย์ว่า "จะใช้เวลานานสักกี่ปี" อาจารย์ตอบว่า"ประมาณ 7 ปี" เขาสักจะรวนเร เพราะว่า 7 ปีนี้มันเป็นเวลาที่นานเกินไป ฉะนั้นเขาจึงขอร้องใหม่ว่า เขาจะพยายามให้สุดฝีมือ สุดความสามารถในการฝึกฝน ทั้งกำลังกายและกำลังใจทั้งหมด ถ้าเป็นเช่นนี้จะใช้เวลาสักกี่ปี อาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นจะต้องใช้เวลาสัก 14 ปี" (แทนที่จะเป็น 7 ปี ก็ดันกลายมาเป็น 14 ปี)

ชายหนุ่มคนนั้นก็อวดครวนขึ้นมาว่า บิดาของเขาแก่มากแล้ว อาจจจะมีชีวิตอยู่ได้ไม่นานนัก เขาจะพยายามอย่างยิ่ง ให้บิดาของเขาได้ทันเห็นฝีมือฟันดาบของเขาก่อนตาย เขาจะแสดงฝีมือฟันดาบของเขาให้บิดาของเขาชม ให้เป็นที่ชื่นใจแก่บิดาเขาจะพยายามอย่างยิ่งที่จะแสดงความสามารถ ให้ได้ทันตอบแทนพระคุณของบิดา จะต้องใช้เวลาสักเท่าไร ขอให้อาจารย์คิดดูให้ดีๆ อีกครั้ง

ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ถ้าอย่างนั้นต้อง 21 ปี" นี่มันเป็นอย่างไรขอให้คิดดู ว่าแทนที่จะลดลงมา มันกลายเป็นเพิ่มขึ้นเป็น 21 ปี ชายหนุ่มคนนั้นจะเล่นงานอาจารย์อย่างไรก็ไม่ได้ เพราะว่าเขาเป็นอาจารย์จะทำอย่างอื่นก็ไม่ถูกไม่ควร นึกไม่ออกว่าต้องทำอย่างไรดี เพราะว่าไม่ใครที่จะสอนฟันดาบได้ดีกว่านี้ ซึ่งเป็นอาจารย์ระดับประเทศเลยก็ว่าได้ ดังนั้นเขาจึงอดทนอยู่กับอาจารย์คนนี้ โดยที่ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปดี

หลายวันต่อมา อาจารย์ก็สั่งให้ชายคนนี้ไปทำงานในครัว ให้ตักน้ำ ผ่าฟืน และงานทุกอย่างที่อยู่ในครัว แทนการสอนให้จับดาบ ฟันดาบ

เมื่อเวลาผ่านมานานพอสมควร วันหนึ่งอาจารย์ผลุนผลันเข้าไปในครัว ด้วยดาบทั้งสองมือ ฟันชายหนุ่มคนนั้นทั้งๆ ที่เขาไม่รู้ตัว เกิดเหตุการณ์อลหม่านขึ้นครั้งใหญ่ เขาจึงต่อสู้ตามเรื่องตามราวของเขา ตามที่กำลังของเขาจะสู้ได้ โดยที่เขาใช้สิ่งของที่อยู่ใกล้ๆ ตัวที่พอจะหาได้และจับได้ทันมาใช้แทนดาบ ไม่นานนักการต่อสู้ก็ยุติลง อาจารย์ก็เดินจากไป

หลายวันต่อมาเขาก็ถูกอาจารย์ทดสอบด้วยวิธีนี้อีก โดยที่ไม่ทันได้ตั้งตัว จนกระทั่งอาจารย์บอกว่ากลับบ้านได้ นั่นหมายความว่าเขา เรียนฟันดาบจบหลักสูตรแล้ว และปรากฏว่า ต่อมาชายหนุ่มคนนี้ก็กลายเป็นนักฟันดาบที่โด่งดังมีชื่อเสียงในประเทศญี่ปุ่น

นิทานเรื่องนี้ก็จบลง ท่านลองคิดดูว่า นิทานเรื่องนี้สอนว่าอย่างไร? ตอบสั้นๆ ที่สุดก็คือ การทำอะไรด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นว่าตัวตนของตัวเองนั้นใช้ไม่ได้ ก็ไม่มีทางที่จะเกิดผลที่ดีได้ คือถ้าชายหนุ่มคนนี้ยังคิดว่ากูจะดี กูจะเด่นละก็ มีตัวกูเข้ามาฝึก เป็นตัวกูที่ใหญ่เอาการอยู่เหมือนกัน ที่นี้ยิ่งจะทำให้ดีที่สุด ก็จะทำให้ดีที่สุดและให้เร็วที่สุดอย่างนี้ด้วยแล้ว ไอ้ตัวกูมันยิ่งขยายออกไปอีก ถ้ายิ่งจะทันให้บิดาได้เห็น บิดาก็แก่มากแล้ว ตัวกูมันยิ่งพองมากออกไปอีก มันยิ่งเร่งร้อนออกไปอีก อย่างนี้ก็ยิ่งทำให้จิตไม่มีสมาธิ จิตเต็มอัดไปด้วยตัวกูที่กลัดกลุ้มไปด้วยตัวกูของกู ไม่เป็นจิตที่ว่างเปล่า ไม่มีสติปัญญาที่อยู่ในจิต และไม่สามารถมีสมรรถภาพเดิมๆ แท้จริงของจิตออกมาได้ เพราะมันกลัดกลุ้มอยู่ด้วยอุปาทาน ว่าด้วยตัวกูของกู หรือเป็นความเห็นแก่ตัวนี่เองมันเลยไม่เฉียบแหลม ไม่ว่องไว ไม่ active ฉะนั้นถ้าขืนทำไปอย่างนั้นจริงๆ แล้วจะต้องใช้เวลา 7 ปี หรือว่า 14 ปี หรือไม่ก็ 21 ปีจริงๆ

ขณะที่เขาอยู่ในครัวนั้น เขาไม่มีความรู้สึกว่าตัวกู ของกู กูจะต้องฝึกฟันดาบในเก่งให้ได้ในเวลา 7 ปี หรือให้บิดาทันได้เห็นถึงความสามารถของลูกชายให้ได้ ความรู้สึกแบบนี้มันเลยไม่มีในตอนนั้น ซึ่งทำให้จิตเขาว่างเปล่า ถึงแม้ว่าอาจารย์จะผลุนผลันเข้าไปในลักษณะอย่างไร ปฎิภาณของจิตว่าง หรือจิตที่แท้จริงนี้ ก็มีมากพอที่จะต่อสู้ออกไปอย่างถูกต้องได้ มันเป็นการเรียกร้องขึ้นมา หรือปลุกขึ้นมาจากการหลับตามวิธีของอาจารย์ที่เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ให้กลายมาเป็นจิตที่เบิกบานเต็มที่ ซึ่งสามารถเอาไปใช้ได้เลย เขาจึงเป็นผู้ที่สำเร็จหลักสูตรโดยวิธีอันประหลาดนั้น ภายในเวลาอันสั้น ไม่ต้องใช้เวลานานถึง 7 ปีอย่างนี้เป็นต้น

เกี่ยวกับข้อนี้ อยากจะให้ท่านครูบาอาจารย์สนใจที่จะนึกดูว่าความรู้สึกที่เป็นตัวตน หรือเป็นของตนนั้น อยู่ที่ตรงไหน? เหมือนอย่างที่ว่า เราจะยิงปืนหรือยิงธนู หรือว่าขว้างแม่นในการกีฬาขว้างแม่น ถ้าจิตของผู้ขว้างมีความรู้สึกเป็นตัวกูของกู เป็นชื่อเสียงของกู ชื่อเสียงของโรงเรียนกู หรือของมหาวิทยาลัยของกูมันรัวอยู่ในใจแล้วจะไม่มีวันที่จะขว้างแม่นหรือขว้างถูกได้เลย เพราะว่ามันสั่นระรัวอยู่ด้วยตัวกูหรือของกูนี้

ทั้งนั้น ที่ถูกที่ควรต้องมีความตั้งใจ ที่จะทำเพื่อเกียรติยศ ชื่อเสียงของโรงเรียนหรืออะไรก็ตาม แล้วจะต้องลืมให้หมด ลืมแม้แต่ตัวกู โรงเรียนกู มหาวิทยาลัยกู ให้เหลือแต่สติปัญญาและสติสัมปชัญญะที่ขว้างด้วยอำนาจของสมาธิเท่านั้น คือพูดตรงๆ ว่า ขณะนั้นมีแต่จิตที่มีสมาธิกับสติปัญญาเท่านั้น ตัวกู ของกูไม่มีเลย มันจึงเป็นจิตแท้ เป็นจิตตามสภาพของจิต มือไม้ไม่สั่น ใจไม่สั่น ประสาทไม่สั่น อะไรๆ ก็ไม่สั่น ปกติเป็น active ถึงที่สุดแล้วเขาจะขว้างแม่น เหมือนดั่งปาฏิหาริย์

หรือว่าในการจัดดอกไม้ในแจกัน คนจัดจะต้องทำจิตให้ว่างจากความเห็นแก่ตัวกู หรือชื่อเสียงของกู ตลอดจนถึงโรงเรียนของกู หมู่คณะของกูเสียก่อนแล้วเสียบดอกไม้ด้วยจิตที่ว่างเปล่าและบริสุทธิ์ นั่นแหละคือสติปัญญาล้วนๆ ไม่มีตัวกู ไม่มีของกูเจือปนอยู่ ก็จะได้แจกันที่สวยที่สุดที่ไม่เคยปรากฎมาก่อน นี่เขาถือว่าเป็นหลักของนิกายเซ็น

ฉะนั้นขอให้สนใจในการที่จะทำอะไรหรือมีชีวิตอยู่ด้วยความไม่มีตัวกู ของกู มันยิ่งจำเป็นมากสำหรับครูบาอาจารย์ ที่จะสอนเด็กให้ทำงานฝีมือดีด้วยจิตใจที่ปกติ ไม่สั่นในระบบประสาท ไม่สั่นในระบบความนึกคิด หรือว่าเมื่อเด็กๆ จะสอบไล่ เมื่อเขารู้สึกตัวอยู่แล้วว่า จะต้องสอบได้แล้วจะไปมัวห่วงกลัวจะสอบตก จะเสียชื่อ จะเสียเวลา ถ้าสอบไม่ได้จะไปกระโดดน้ำตาย เป็นต้น จะไปนึกทำไมว่านั่นเป็นเรื่องตัวกู ของกู เด็กคนนั้นจะต้องลืมสิ่งเหล่านั้นให้หมด แต่ถ้าเป็นการลืมแม้กระทั่งตัวเอง กับคำว่า "ลืมตัวเอง"คงจะเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยดีนัก

เด็กๆ ในขณะที่สอบไล่นั้นจะต้องลืมหมดแม้กระทั่งตัวเอง เหลืออยู่ในใจแต่ว่า โจทย์ปัญหาว่าอย่างไร มีใจความว่าอย่างไร แล้วคำตอบควรจะเป็นอย่างไร ถ้าจิตใจว่างจากตัวกู ว่างจากของกูแล้ว วิชาความรู้ต่างๆ ที่เคยสะสมมาตั้งแต่แรกเรียนนั้น จะกลับมาหาเราเอง ให้พวกเขาได้พบกับคำตอบอย่างถูกต้อง แต่ถ้าเขากลัดกลุ้มอยู่ด้วยตัวกูของกูแล้ว แม้เขาจะเรียนมามากอย่างไร มันก็จะไม่กลับมาหา มันมีอาการเหมือนกับการลืมหรือนึกไม่ออกนั่นแหละ แล้วมันจะระส่ำระส่ายรวนเรไปหมด ทำให้ไม่สามารถตอบคำถามได้

ถ้าเด็กๆ สอบไล่ด้วยจิตที่ว่างเปล่า ผลการสอบออกมาจะได้ยิ่งกว่าการเป็นที่หนึ่งเสียอีก ฉะนั้นเขาจึงมีการสอนในเรื่องที่อย่าทำอะไรด้วยจิตที่สั่นระรัวด้วยตัวกู ของกู เพราะว่าการทำอย่างนั้น ยิ่งจะทำให้เร็วมันก็จะยิ่งช้าที่สุด ตามชื่อของนิทานเรื่องนี้ที่ว่า "ยิ่งให้เร็ว นั่นแหละจะยิ่งช้า" หรือไม่มันจะยิ่งทำไม่ได้เลย

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : อย่างนั้นหรือ (Is that so?)

นิทานสอนใจ : อย่างนั้นหรือ (Is that so?)


ชื่อเรื่อง "Is that so? " ท่านลองแปลเอาเองว่าอย่างไรความหมายมันก็คล้ายๆ กับคำว่า "อย่างนั้นหรือ" มีเรื่องเล่าอยู่ว่า ณ สำนักเซ็นของอาจารย์เฮ็กกูอิน ที่เป็นวัดที่เลื่องลือมาก เป็นที่พึ่งของคนในหมู่บ้าน และมีร้านขายของชำร้านหนึ่งอยู่ใกล้ๆ กับวัดนั้น มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งเป็นลูกสาวเจ้าของร้าน แต่ไม่รู้ไปทำอย่างไรปรากฎว่าเกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา พ่อแม่ของเธอก็พยายามขยั้นขยอถามว่า "ลูกท้องได้อย่างไร ท้องกับใคร" ลูกสาวก็ไม่ยอมบอก แต่เมื่อถูกบีบคั้นหนักเข้า ก็ระบุชื่อของอาจารย์เฮ็กกูอิน ขึ้นว่าเป็นคนที่ทำให้เธอท้อง

เมื่อหญิงสาวคนนั้นระบุชื่อของอาจารย์เฮ็กกูอินว่าเป็นบิดาของเด็กที่อยู่ในครรภ์ พ่อแม่ก็เกิดอาการโกรธเป็นฟืนเป็นไฟและเดินทางไปที่วัดทันที และก็ไปด่าท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ด้วยสำนวนโวหารของคนที่โกรธที่สุดที่มักจะเผลอพูดออกมากับอารมณ์โมโหเหล่านั้น

แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้พูดอะไรนอกจากคำว่า "Is that so?"คือคำว่า อย่างนั้นหรือ ทั้งคู่ยืนด่าท่านอาจารย์จนเหนื่อย ไม่มีเสียง ไม่มีแรงที่จะด่าต่อไปอีก และในที่สุดก็กลับบ้านไปเอง หลังจากนั้นชาวบ้านที่เคยเคารพนับถือท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ก็พากันหมดศรัทธาและรุมด่าทอท่านว่า เสียแรงที่เคยเคารพนับถือต่างๆ นานา ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด นอกจากคำว่า Is that so? แม้แต่พวกเด็กๆ ที่ไม่ค่อยรู้เรื่องรู้ราวก็ยังพากันด่าว่า "พระบ้า พระอะไรไม่ปฏิบัติตัวอยู่ในศีลธรรม" ตามภาษาของเด็ก ท่านก็ว่า "Is that so?" ไม่มีอะไรมากกว่านั้น

ต่อมา หญิงสาวคนนั้นก็ได้คลอดเด็ก พ่อแม่ของหญิงสาวที่เป็นตายายของเด็กก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้ท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ในอารมณ์ของการประชดประชันว่า "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้" ท่านอาจารย์ก็ได้แต่บอกว่า "Is that so?" อีกตามเคย ท่านรับเด็กเอาไว้ และหานม หาอาหารสำหรับเด็กอ่อนจากผู้คนที่เขาเห็นอกเห็นใจท่านอาจารย์เฮ็กกูอินอยู่ พอเลี้ยงให้เด็กคนนั้นรอดชีวิตเติบโตอยู่ได้

ต่อมาไม่นานนัก หญิงสาวผู้เป็นมารดาของเด็กก็ทนอยู่กับไฟนรกที่สุมอยู่กลางใจของเธอไม่ได้ เพราะว่าเธอไม่ได้พูดความจริง มีอยู่วันหนึ่งเธอจึงไปสารภาพกับพ่อแม่ของเธอว่า บิดาที่แท้จริงของเด็กคนนั้นคือ เจ้าหนุ่มที่อยู่ร้านขายปลา เมื่อทราบดังนี้พ่อแม่ของเธอก็เหมือนมีไฟนรกเข้าเผาจิตใจอีกครั้งหนึ่ง แล้วจึงรีบเข้าไปที่วัดและกราบขอโทษขอโพยท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ครั้งแล้วครั้งเล่า เท่ากับความรู้สึกต่อความผิดที่พวกเขาได้ก่อเอาไว้ แต่ท่านอาจารย์ก็ไม่ได้พูดอะไรนอกจาก "Is that so?"

จากนั้นสองตายายก็ได้ขอหลานกลับไปเลี้ยงดู ต่อมาชาวบ้านที่เคยด่าท่านอาจารย์ก็แห่กันเดินทางมาขอโทษ เพราะความจริงปรากฎเช่นนี้แล้ว ชาวบ้านเดินทางมาขอโทษท่านอาจารย์อยู่นานหลายวัน ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูดนอกจาก Is that so? อีกนั่นเอง
นิทานเรื่องนี้สอนเหมือนกับที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า "นตฺถิ โลเก รโห นาม" และ "นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต" แปลว่า การไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก แต่ท่านทั้งหลายลองเปรียบเทียบดูว่า ถ้าท่านครูบาอาจารย์ของเราเป็นผู้กระทำเช่นเดียวกับอาจารย์เฮ็กกูอิน ท่านจะเป็นอย่างนี้ไหม คือ จะพูดว่า Is that so? อยู่ได้หรือไม่ ถ้าได้เรื่องก็คงไม่เป็นอย่างที่กำลังเป็นอยู่ คือคงจะไม่ถูกฟ้องว่าตีเด็กเกินควร หรืออะไรทำนองนั้น ต้องไปถึงศาลก็มี นี่มันคือความหวั่นไหวทางอารมณ์มากเกินไป

จนกระทั่งเด็กเล็กๆ ก็ยังทำให้โกรธได้ เรื่องนิดเดียวก็ยังโกรธได้นี้ เพราะว่าไม่ยึดถือความจริงเป็นหลักอยู่ในใจ มันจึงไหวไปตามอารมณ์ โกรธมาก กลัวมาก เกลียดมาก ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น ทำไมไม่คิดว่า มันไม่ใช่เรื่องราวอะไรมากมาย มันไม่ใช่เสียงส่วนมากที่ยืนยันว่า อันนั้นต้องเป็นความจริง ความจริงมันต้องเป็นความจริงอยู่วันยังค่ำ ถ้าจะมีอุเบกขา ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้ ไม่ควรมีอุเบกขาอย่างที่มันผิดๆ กันอยู่อย่างนั้น ฉะนั้นเราควรรับฟังคนที่เขากำลังถูกกล่าวหาบ้างจะช่วยให้เรามีหลักความเป็นจริงอยู่ข้างในจิตใจ อย่าเพิ่งพิพากษาว่าเขาเป็นคนผิดจนกว่าจะรู้ความจริงทั้งหมดที่เกิดขึ้น

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ถ้าจะรัก ก็จงรักอย่างเปิดเผย

นิทานสอนใจ : ถ้าจะรัก ก็จงรักอย่างเปิดเผย


เรื่อง "If love, love openly" ถ้าจะรัก ก็จงรักอย่างเปิดเผย เป็นเรื่องเล่ามาจากวัดนิกายเซ็น ซึ่งมีพระภิกษุอยู่หลายสิบรูปและมีนักบวชผู้หญิงที่เรียกว่า nun หรือ "แม่ชี" อยู่คนหนึ่ง ชื่อว่า "เอฉุ่น" รวมอยู่ด้วย

เอฉุ่นเป็นหญิ่งสาวที่สวยมาก แม้จะเอาผมออกเสียหมดแล้ว แม้จะใช้เครื่องนุ่งห่มของนักบวชที่ดูไม่หรูหราก้ยังดูสวยอยู่นั่นเอง และทำความวุ่ยวายให้แก่ภิกษุทั้งหมดในวัดเป็นอย่างมาก พูดได้ว่าแทบจะไม่มีจิตใจที่สงบได้

ซึ่งมีพระภิกษุองค์หนึ่งอยู่ไม่ได้ จนต้องเขียนจดหมายส่งไปถึงเอฉุ่น ขอร้องเพื่อให้เธอมาพบกันแบบส่วนตัว เอฉุ่นก็ไม่ได้ตอบจดหมายฉบับนั้นแต่อย่างใด

พอวันรุ่งขึ้นในขณะที่มีการประชุมกันอยู่ ซึ่งมีชาวบ้านมาร่วมด้วยจำนวนมาก เมื่อการประชุมเสร็จสิ้นลง เอฉุ่นก็ยืนขึ้นแล้วกล่าวถึงภิกษุองค์ที่ส่งจดหมายมาให้ว่า ภิกษุองค์ใดส่งจดหมายมาถึงฉันขอให้ก้าวออกมาข้างหน้าเถิด ถ้ารักฉันมากจริงๆ ก็จงมากอดฉันที่ตรงนี้

นิทานเรื่องนี้สอนว่า การอบรมที่ตรงไปตรงมาตามแบบของนิกายเซ็นนั้น เมื่อมีความกล้ามากก็ทำให้คนเรามีความกล้าหาญมากขึ้น และไม่มีความลับใดที่จะต้องปิดบัง ถึงใครจะว่าอย่างไรก็จะไม่ปกปิด คือสามารถที่จะเปิดเผยตนเองได้

เนื่องจากเป้นคนที่มีสัจจะ มีความจริงอยู่ในตัว โดยไม่ถือว่าความลับที่มีอยู่ในโลกนี้ เราจะต้องเป็นผู้ที่ปฏิญญาตัวอย่างว่าอย่างไร จะต้องทำอย่างนั้น โดยที่ไม่มีความลับปกปิดไว้ให้เป็นเครื่องเตือนใจ แม้ในการจะเรียนตัวเองว่า "ครู" อย่างนี้เป็นต้น

บางคนกระดากหรือร้อนๆ หนาวๆ ที่ว่าจะถูกเรียกว่าครู หรือจะถูกขอร้องให้ปฏิญญาความเป็นครู ซึ่งเหตุนี้แสดงว่าไม่เปิดเผยอย่างเพียงพอ ยังไม่กล้าหาญพอ การที่จะกล้าปฏิญญาว่าเป็นครูไปตลอดชีวิตหรือไม่ ยิ่งจะไม่กล้าไปกันใหญ่

ทั้งนี้ ใครที่กำลังจะลงเรือน้อยข้ามฟากไปฟากอื่นซึ่งไม่ใช่เมืองของครูบ้าง ก็ดูเหมือนไม่กล้าเปิดเผย เพราะคนเราไม่ชอบความกล้าหาญ และการเปิดเผยกันอย่างมาก แฉกเช่นเดียวกับพระภิกษุจากนิทานเรื่องนี้ก็เหมือนกัน

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : ฉลาดไม่ทันเวลา

นิทานสอนใจ : ฉลาดไม่ทันเวลา


มีท่านอาจารย์ชื่อ "เบ็งกะอี" เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการเทศนาธรรม ส่วนใหญ่คนที่สนใจมาฟังท่านเทศนาไม่เพียงเฉพาะผู้คนที่นับถือศาสนานิกายเซ็น ยังรวมไปถึงประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นๆ อีกด้วย ที่ให้ความสนใจเข้ามาฟังธรรมที่ท่านเบ็งกะอีเทศนา นอกจากนั้นไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นไหนก็เข้ามาฟัง โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เพราะว่าท่านเบ็งกะอีไม่ได้เอาถ้อยคำในพระคัมภีร์หรือในหนังสือ หรือในพระไตรปิฎกมาเทศนา แต่เรื่องราวที่ท่านนำมาเทศนานั้นมันหลั่งไหลออกมาจากความรู้สึกในใจของท่านเองอย่างแท้จริง

ดังนั้นจึงมีผู้คนให้ความสนใจมาฟังธรรมที่ท่านเบ็งกะอีเทศนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนฟังเข้าใจและชอบใจกับเรื่องราวที่ท่านได้เทศนาให้กับประชาชนฟัง และแห่กันมาฟังจนทำให้วัดอื่นเงียบเหงา ไม่มีคนไปทำบุญกันเลย เป็นเหตุให้พระภิกษุรูปหนึ่งในนิกายนิชิเรนโกรธมาก และคิดจะทำร้ายท่านอาจารย์เบ็งกะอีอยู่ตลอดเวลา

วันหนึ่งขณะที่ท่านอาจารย์เบ็งกะอีกำลังแสดงธรรมอยู่ในที่ประชุมนั้น พระภิกษุนิกายนิชิเรนรูปดังกล่าวก็เดินมาหยุดที่หน้าศาลาแล้วตะโกนว่า "เฮ้ย อาจารย์เซ็น หยุดเดี๋ยวนี้นะ ฟังที่ฉันกำลังจะพูดก่อน ใครก็ตามที่เคารพเบ็งกะอี จะต้องเชื่อฟังคำพูดที่ท่านพูด แต่ว่าคนอย่างฉันไม่มีวันที่จะเคารพท่าน แล้วท่านจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ฉันเคารพเชื่อฟังท่านได้"

เมื่อภิกษุอวดดีรูปนั้นร้องท้าไปตั้งแต่ชายคาริมศาลา ท่านอาจารย์เบ็งกะอีก็บอกว่า "มาซิ ขึ้นมาทางนี้ มาข้างๆ ฉัน แล้วฉันจะทำให้ดูว่า ฉันจะทำอย่างไร"

พระภิกษุรูปนั้นก็พรวดพราดขึ้นมาด้วยความทะนงใจ เดินฝ่าฝูงคนเข้าไปยืนหราอยู่ข้างๆ ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ยังไม่ค่อยเหมาะสม มายืนข้างซ้ายดีกว่า" พระรูปนั้นก็ผลุนมาอย่างรวดเร็วทีเดียว จากที่อยู่ข้างขวาก็เดินมายืนอยู่ด้านซ้ายของอาจารย์เบ็งกะอี

ท่านอาจารย์เบ็งกะอีก็บอกอีกว่า อ๋อ! ถ้าจะพูดให้ถนัดต้องอย่างนี้ ต้องข้างขวา ข้างขวา พระรูปนั้นก็ผลุนมาด้านขวา พร้อมกับมีท่าทางผยองอย่างยิ่ง พร้อมที่จะท้าทายอยู่ตลอดเวลา ท่านอาจารย์เบ็งกะอีจึงกล่าวว่า "เห็นไหมล่ะ ท่านกำลังเชื่อฟังฉันอย่างยิ่ง และในฐานะที่ท่านเชื่อฟังอย่างยิ่งแล้วฉะนั้น ท่านจึงนั่งลงฟังเทศน์เถิด และแล้วเรื่องก็จบลง

นิทานเรื่องนี้เหมือนกับคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "นิวาโต เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ" คำว่า "วาโต" หมายความว่าสูบลมอัดเบ่งจนพอง ถ้าคำว่า "นิวาโต" ก็หมายถึงไม่พอง ไม่ผยอง และเป็นมงคลอย่างยิ่ง ข้อนี้แสดงว่า มีความรู้วิชาอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ ยังต้องการไหวพริบและปฏิภาณด้วย

พระรูปนั้นก็เก่งกาจอยู่ในนิกายนิชิเรนของญี่ปุ่น แต่ก็มาพ่ายแพ้ให้กับท่านอาจารย์เบ็งกะอี ที่แทบจะไม่รู้หนังสือ เพราะเหตุการณ์นี้จะพูดอะไรก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือ เพราะบางเรื่องในชีวิตก็ใช้ไหวพริบในการแก้ไขปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้วิชาการในหนังสือก็ได้ เขาจึงกลายเป็นผู้แพ้ไปโดยปริยาย

ในภาษาของคนชาติตะวันตก เขากล่าวไว้ว่า Be wise in time ฉลาดให้ทันเวลา เมื่อเกิดเหตุการฉุกเฉิน ซึ่งก็ไม่ต่างกับคำในภาษาบาลีที่ว่า "ขโณ มา โว อุปจฺจคา" ซึ่งแปลว่า แม้จะเป็นสิ่งที่สำคัญเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์หรือที่เรียกว่า "ปฏิภาณ" ปฏิภาณที่ครูบาอาจารย์ต้องมีอยู่อย่างยิ่ง มิฉะนั้นจะควบคุมเด็กไม่อยู่ เราลองคิดดูซิว่า เด็กๆ ของเราจะมีปฏิภาณเท่าไร เราเองมีปฏิภาณอยู่เท่าไร มันจะสู้กันได้ไหม ลองเทียบ I.Q. ในเรื่องนี้ดู

ถ้าครูบาอาจารย์เรามี I.Q.ในเรื่องนี้ 5 เท่าของเด็กๆ คือเหนือกว่าเด็กๆ 5 เท่าตัว ก็ควรจะได้รับเงินเดือน 5 เท่าตัว หรือใครอยากจะเอาสักกี่เท่าก็เร่งเพิ่มมันขึ้นไปให้มีปฏิภาณไหวพริบ จนสามารถสอนเด็กให้เข้าใจในเรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพาน ได้อย่างดีทีเดียว นี่คือข้อที่ต้องอาศัยปฏิภาณของผู้ที่เป็นคนสั่งสอนคนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี

yengo หรือ buzzcity