กฎแห่งกระจก

กฎแห่งกระจก


เปิดตัววันแรกกับครอบครัวตัวหนอน วันนี้แม่หนอนเลยขอถือโอกาสกล่าวสวัสดีกับคุณผู้อ่านทุกท่าน และขอฝากเนื้อฝากตัวด้วยคนนะคะ คอลัมน์ครอบครัวตัวหนอนของเรา ชื่อก็บ่งบอกอยู่แล้วว่าเราเป็นมุมของหนอนหนังสือค่ะ ซึ่งทางแม่หนอนก็จะไปเดินเล่นมองหาหนังสือดี ๆ น่าอ่านสำหรับเจ้าตัวเล็ก หรือสำหรับคุณพ่อคุณแม่ทั้งมือใหม่และมือไม่ใหม่มาฝากกันค่ะ

เริ่มต้นเล่มแรกกันที่เรื่องนี้เลยค่ะ เป็นหนังสือที่มีชื่อว่า "กฎแห่งกระจก" ผลงานการเขียนของคุณโยชิโนริ โนงุจิ ชาวญี่ปุ่น และได้รับการแปลเป็นภาษาไทยโดยคุณทิพย์วรรณ ยามาโมโตะ ความโดดเด่นของหนังสือเล่มนี้ ไม่เพียงแต่เรียกน้ำตาจากผู้อ่านชาวญี่ปุ่นมาแล้วกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ แต่เชื่อว่าเมื่ออยู่ในมือของคุณพ่อคุณแม่ชาวไทย กฎแห่งกระจกก็อาจจะให้แง่คิด หรือเป็นแนวทางช่วยแก้ปัญหาครอบครัวได้เช่นกันค่ะ ถ้าอย่างไร มีโอกาสลองไปหาอ่านกันดูนะคะ

หนังสือเล่มต่อไปที่อยากแนะนำมากันเป็นชุดเลยค่ะ กับชื่อชุดที่ว่า "ลูกรักฝึกทักษะ" ผลงานของคุณทาโร โกมิ ชาวญี่ปุ่น (อีกแล้ว) และถูกแปลเป็นภาษาไทยอย่างน่ารักโดยคุณเมธินี นุชนาคาค่ะ หนังสือชุดลูกรักฝึกทักษะ ประกอบด้วย ลองหาดูซิ, ลองนับดูซิ, ลองคิดดูซิ, ลองสังเกตดูซิ, ลองทายดูซิ และลองทำดูซิ ภายในหนังสือเป็นภาพตัวการ์ตูนอย่างง่าย ๆ ที่ช่วยฝึกทักษะเด็กในด้านต่าง ๆ พร้อมคำแนะนำสำหรับผู้ปกครองด้วยค่ะ งานนี้ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีเวลานั่งเล่นกับลูก ๆ ผ่านหนังสือเล่มนี้ จะต้องเป็นอีกหนึ่งช่วงเวลาที่มีความสุขแน่นอนค่ะ

เล่มสุดท้ายที่เราขอนำมาแนะนำกันในวันนี้คือหนังสือชื่อ "สุดยอดอาหารสร้างลูกเป็นอัจฉริยะ" เขียนโดยคุณกฤษฎี โพธิทัต ที่จะมาแนะนำอาหารมากคุณค่าและส่งผลดีต่อพัฒนาการด้านต่าง ๆ ของเจ้าตัวเล็ก ขึ้นชื่อว่าอาหาร คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องอยากให้ลูกได้รับประทานอาหารดี ๆ มีประโยชน์กันอยู่แล้วใช่ไหมคะ แต่นอกจากสารอาหารที่เจ้าตัวเล็กจะได้รับแล้ว ก็ต้องอย่าลืมใส่รสชาติของความอบอุ่นในครอบครัวลงไปด้วยนะคะ

อ่านแล้วเป็นอย่างไรกันบ้าง สามารถมาแบ่งปันประสบการณ์กันได้นะคะ สำหรับวันนี้ขอลาไปก่อนค่ะ แล้วพบกันใหม่ค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : พญาหงส์ติดบ่วง

นิทานสอนใจ : พญาหงส์ติดบ่วง


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว มีหงส์ฝูงหนึ่ง อาศัยอยู่ในถ้ำใหญ่ ณ ภูเขาจิตตกูฏ หัวหน้าฝูงหรือพญาหงส์ชื่อ "ธตรฐ" มีหงส์ที่สนิทชื่อ "สุมุข" เป็นกัลยาณมิตร อยู่มาวันหนึ่ง นกหงส์ 2 - 3 ตัวในฝูงบินไปหากินที่สระบัวหลวงที่อยู่ห่างไกลออกไป โดยเป็นสระบัวที่กว้างใหญ่สวยงาม และเป็นที่อาศัยหากินของนกเป็นจำนวนมาก เมื่อพบเแหล่งอาหารขนาดใหญ่ ก็ทำให้นกหงส์รู้สึกพอใจ จึงกลับมาเล่าให้พญาหงส์ฟังว่า พวกเขาอยากกลับไปหากินที่สระนั้นอีก พญาหงส์ห้ามว่า สระนั้นเป็นถิ่นมนุษย์มีอันตรายมากสำหรับนก ไม่ควรไป แต่บริวารก็อ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า พญาหงส์จึงอนุโลม และบอกว่าจะตามไปด้วย คราวนั้นจึงมีหงส์บริวารตามไปเป็นจำนวนมาก

พอร่อนลงเท่านั้น พญาหงส์ก็ติดบ่วง บ่วงของพรานรัดเท้าไว้แน่น พญาหงส์ดึงเท้าอย่างแรงด้วยคิดว่าจะทำให้บ่วงขาด ปรากฏว่าครั้งแรกหนังถลอก ครั้งที่สองเนื้อขาด พอถึงครั้งที่สาม เอ็นขาด ถึงครั้งที่สี่ บ่วงกินลึกลงไปถึงกระดูก เลือดไหลมาก เจ็บปวดแสนสาหัส

พญาหงส์คิดว่า ถ้าหากตนร้องขึ้นว่าติดบ่วง บริวารซึ่งกำลังกินอาหารเพลินอยู่ก็จะตกใจกินอาหารไม่ทันอิ่ม เมื่อบินกลับก็จะไม่มีกำลังพอ จะตกทะเลตาย จึงเฉยอยู่ รอให้บริวารกินอาหารจนอิ่ม ตนเองยอมทนทุกข์ทรมานด้วยบ่วงนั้น

เมื่อเวลาล่วงไปพอสมควร เหล่าหงส์อิ่มแล้วกำลังเล่นเพลินกันอยู่ พญาหงส์ก็ร้องขึ้นด้วยเสียงดังว่า "ติดบ่วง" พอได้ยินดังนั้น หงส์บริวารทั้งหลายก็ตกใจ บินหนีกลับไปยังภูเขาจิตตกูฏ

ด้านหงส์สุมุข ทีแรกก็บินไปกับบริวารเหมือนกัน แต่เมื่อบินไปสักครู่หนึ่งก็เกิดเฉลียวใจว่าพญาหงส์อาจติดบ่วงก็ได้ จึงมองหาพญาหงส์ เมื่อไม่เห็น ก็คิดว่าอันตรายคงเกิดขึ้นแก่พญาหงส์เป็นแน่แล้ว หงส์สุมุขจึงรีบบินกลับมาที่สระบัว เมื่อเห็นพญาหงส์ติดบ่วงอยู่ก็ปลอบใจว่า อย่ากลัวเลย ตนเองจะสละชีวิตแทน

ด้านพญาหงส์กล่าวว่า "ฝูงหงส์บินหนีไปหมดแล้ว ขอท่านจงเองตัวรอดเถิด ไม่มีประโยชน์อะไรในการอยู่ที่นี่ เมื่อข้าพเจ้าติดบ่วงอยู่เช่นนี้ ความเป็นสหายจะมีประโยชน์อะไรเล่า"

หงส์สุมุขกล่าวว่า "ข้าพเจ้าจะอยู่จะไปก็ต้องตายอยู่ดี จะหนีความตายหาได้ไม่ เมื่อท่านมีสุข ข้าพเจ้าอยู่ใกล้ เมื่อท่านมีทุกข์ ข้าพเจ้าจะจากไปเสียได้อย่างไร การตายพร้อมกับท่านประเสริฐกว่าการมีชีวิตอยู่โดยไม่มีท่าน เมื่อท่านมีทุกข์อยู่เช่นนี้ ข้าพเจ้าจะไปเสีย ดูไม่เป็นธรรมเลย"

พญาหงส์กล่าวว่า "คติของผู้ติดบ่วงเช่นข้าพเจ้าจะมีอะไรนอกจากต้องเข้าโรงครัว ท่านเป็นผู้มีความคิดเห็นประโยชน์อะไรในการยอมตายกับข้าพเจ้า ท่านมายอมสละชีวิตในเรื่องที่มิได้เห็นคุณอย่างแจ่มแจ้ง เหมือนคนตาบอดทำกิจการในที่มืดจะให้สำเร็จประโยชน์อย่างไร"

หงส์สุมุขกล่าวตอบว่า "ทำไมท่านจึงไม่รู้แจ้งซึ่งความหมายแห่งธรรม ธรรมที่บุคคลเคารพแล้ว ย่อมแสดงประโยชน์แก่สัตว์ทั้งหลาย ข้าพเจ้าเพ่งถึงธรรมและประโยชน์ที่จะได้จากธรรม (มิใช่ผลประโยชน์ทางวัตถุ) จึงมิได้เสียดายชีวิต ธรรมดามิตรเมื่อระลึกถึงธรรมอยู่ ก็ไม่ควรทอดทิ้งมิตรในยามทุกข์ แม้จะต้องเสียชีวิตก็ตาม นี้คือธรรมของสัตบุรุษ"

เมื่อนกทั้งสองกำลังเจรจากันอยู่อย่างนี้ นายพรานก็มาถึง และเกิดความสงสัยว่า นกตัวหนึ่งติดบ่วงอยู่ แต่อีกตัวหนึ่งมิได้ติดบ่วง ทำไมจึงยืนอยู่ใกล้ ๆ มิได้บินหนีไป จึงไต่ถาม หงส์สุมุขจึงตอบให้ทราบว่า เพราะพญาหงส์เป็นนายของตน จึงมิอาจละทิ้งท่านไปได้

เพื่อจะขอชีวิตแห่งพญาหงส์ สุมุขจึงกล่าวด้วยคำอ่อนหวานหว่านล้อมให้พรานเห็นใจ ขอให้ปล่อยเขาทั้งสองไปพบญาติและบริวาร ด้านนายพรานนั้นนิยมสรรเสริญในน้ำใจอันภักดีและเสียสละของหงส์สุมุขอยู่แล้ว และต้องการจะปล่อยนกทั้งสองไป แต่เพื่อทดลองใจสุมุข จึงกล่าวว่า

"ท่านเองก็มิได้ติดบ่วง และเราก็มิปรารถนาจะฆ่าท่าน ท่านจงรีบไปเสียเถิด ขอให้ท่านอยู่เป็นสุขตลอดกาลนาน"

ด้านหงส์สุมุขตอบว่า "ข้าพเจ้าไม่ประสงค์จะมีชีวิตอยู่ โดยไม่มีพญาหงส์ ถ้าท่านพอใจเพียงชีวิตเดียวก็ขอให้ปล่อยพญาหงส์เถิด ส่วนตัวข้าพเจ้าเองนั้นท่านจะปล่อยหรือจะกินเสียก็ได้ อนึ่ง ข้าพเจ้าทั้งสองมีรูปกายเท่ากัน ถึงจะเอาชีวิตข้าพเจ้าไปแทน ลาภของท่านก็มิได้พร่อง ขอได้โปรดเปลี่ยนตัวข้าพเจ้ากับพญาหงส์เถิด ถ้าท่านไม่แน่ใจก็ขอให้เอาบ่วงผูกมัดข้าพเจ้าไว้ แล้วปล่อยพญาหงส์ไป"

พรานมีใจอ่อนโยนยิ่งขึ้น ต้องการจะปล่อยพญาหงส์เพื่อเป็นรางวัลแก่สุมุข จึงกล่าวว่า

"ขอให้ใคร ๆ ทราบเถิดว่า พญาหงส์พ้นจากบ่วงความตายได้ก็เพราะท่าน มิตรอย่างท่านหาได้ยากในดลก หรืออาจไม่มีในโลก ด้วยเหตุนี้ ข้าพเจ้าจึงเห็นใจท่าน เคารพในน้ำใจท่าน ขอท่านทั้งสองจึงบินไปเถิด ไปเป็นสุขในหมู่ญาติและบริวาร"

เมื่อพญาหงส์และสุมุขได้ทราบว่า นายพรานทำการดักบ่วงเพื่อหาทรัพย์มาเลี้ยงชีพ ก็ต้องการจะตอบแทนน้ำใจของนายพราน จึงขอร้องให้นายพรานพาไปเฝ้าพระราชา และเล่าเรื่องราวให้พระราชาฟัง

พระราชาทรงทราบเรื่องทั้งหมดแล้วก็ทรงเลื่อมใสในนกและพรานที่ประพฤติธรรมต่อกัน จึงทรงพระราชทานทรัพย์เป็นอันมากแก่นายพรานเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพไปตลอดชีวิต

**************

การคบเพื่อนที่ดี เป็นวิถีทางแห่งความสุขความเจริญของชีวิต ทั้งปัจจุบันและอนาคต ซึ่งมิตรที่ดีตามหลักในศาสนาพุทธคือ เป็นมิตรที่มีอุปการะ ร่วมทุกข์ร่วมสุข แนะนำประโยชน์ และมีความรักใคร่ ในขณะเดียวกัน พึงหลีกเลี่ยงมิตรเทียม 4 จำพวก ได้แก่ คนปอกลอก คนดีแต่พูด คนหัวประจบ และคนชักชวนไปในทางเสื่อม

การคบบัณฑิตและนักปราชญ์มีประโยชน์มากอย่างนี้ การมีคนดีเป็นมิตรสหาย เมื่อมีทุกข์ก็เป็นที่พึ่งได้ ไม่ยอมละทิ้งในยามวิบัติ และยอมสละได้แม้ชีวิตเพื่อมิตรที่ดี กัลยาณมิตรผู้เพียบพร้อมด้วยคุณธรรมแห่งมิตรนี้ หาได้ยากในโลก ผู้ใดได้แล้วควรประคับประคองรักษาด้วยดี

ขอบคุณข้อมูลจากหนังสือ "เพื่อเยาวชน" ของสำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...อย่าเพ่อดีใจ

นิทานสอนใจ: นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า...อย่าเพ่อดีใจ


นิทานพ่อลูกเรื่องนี้เป็นนิทานที่แต่งโดยท่านพุทธทาส ที่ตั้งใจเขียนขึ้นเพื่อให้สติทุกคนได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นพ่อ แม่ ลูก ตลอดจนคนเฒ่าคนแก่ที่อาจหลงลืมสติไปบ้าง ซึ่งเนื้อเรื่องมีอยู่ว่า...

พ่อรู้สึกขบขันแกมสงสารอยู่ไม่น้อยที่เห็นลูกชายคนโตดีใจจนเนื้อเต้น ในการที่ได้รับปากกา “ป๊ากเกอร์ 51” ด้ามหนึ่งเป็นของขวัญวันเกิด และเห็นลูกชายคนเล็กดีใจมากไปกว่านั้อีกหลายเท่า ในการได้รับลูกกวาดของนอกกระป๋องเล็กๆ กระป๋องหนึ่งเป็นของขวัญในโอกาสเดียวกัน แต่พ่อไม่รู้สึกขบขันหรือสมเพชตนเอง ในการที่ตนเองตื่นเต้นยิ่งไปกว่าลูกทั้งสองอีก ในการที่ได้รับบัตรเชิญไปในงานมีเกียรติชั้นพิเศษ ของเจ้านายรายหนึ่งซึ่งตนไม่เคยนึกฝันว่าจะได้รับด้วยอาการมือสั่น ใจเต้นรัว แทบไม่เชื่อตาตนเองว่าบัตรนั้นส่งมาเชิญตน


นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า....

มันเป็นการเหลือวิสัย ในการที่จะให้พ่อดีใจจนเนื้อเต้น ในเมื่อได้รับปากกาชนิดนั้นด้ามหนึ่ง หรือเมื่อได้ลูกกวาดกระป๋องหนึ่ง แต่ในที่สุดพ่อก็ไม่พ้นจากการที่ต้องมีใจเต้นรัว มือสั่น ด้วยได้กระดาษแผ่นเล็กๆอันหมายความถึง เกียรติอันหรูหรา จริงอยู่ รูปธรรม เช่น ด้ามปากกา หรือลูกกวาด มันไม่เหมือนกับนามธรรม เช่น เกียรติ หรือไม่มีค่าสูงเท่าเทียมกัน แต่เราต้องไม่ลืมว่ามันสามารถเขย่าตัณหา(ภวตัณหา) ของคนได้โดยทำนองเดียวกันโดยไม่มีผิด

ในฐานะที่เป็นวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งความพอใจจนลืมตัวได้เท่ากัน แล้วแต่ความใคร่ของใครผู้มีอยู่อย่างไร ส่วนความที่ต้องใจเต้น มือสั่นเหล่านั้น ฯลฯ มันไม่มีผิดกันตรงไหน

เพราะฉะนั้น...
ใครเล่าที่ควรสมเพชใคร ในระหว่าง พ่อ-ลูกรายนี้?

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : คนยากไร้กับหนูตาย

นิทานสอนใจ : คนยากไร้กับหนูตาย


ท่านจุลลกเศรษฐี ในเมืองพาราณสี เป็นผู้ฉลาดเฉียบแหลม เป็นบัณฑิตที่รู้จักปรากฏการณ์ต่าง ๆ วันหนึ่งจุลลกเศรษฐีไปเฝ้าพระราชา ระหว่างทางเห็นหนูตายตัวหนึ่ง เขามองดูท้องฟ้าแล้วกล่าวว่า บุคคลผู้มีปัญญา อาจเอาหนูตายตัวนี้ไปเป็นทุนเลี้ยงลูกเมียได้

ชายผู้ยากไร้คนหนึ่งชื่อ จูฬันเตวาสิก ได้ยินท่านเศรษฐีพูดเช่นนั้น ก็คิดว่า ท่านเศรษฐีไม่รู้จริงคงไม่พูด จึงเอาหนูตายตัวนั้นไปขายคนเลี้ยงแมวได้ทรัพย์มากากนิกหนึ่ง (กากนิก เป็นมาตราเงินอินเดียในสมัยนั้นที่มีค่าน้อยที่สุด เทียบมาตราเงินไทย 1 สตางค์)

จากนั้นก็นำทรัพย์หนึ่งกากนิกนั้นไปซื้อน้ำอ้อยงบ (น้ำอ้อยที่เคี่ยวแล้วทำเป็นแผ่นสะดวกกับการพกพา) แล้วเอาหม้อใบหนึ่งตักน้ำ ไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้กลับจากป้า ให้ชิ้นน้ำอ้อยและให้ดื่มน้ำคนละกระบวย พวกช่างดอกไม้ก็ให้ดอกไม้คนละกำมือแก่เขา

จูฬันเตวาสิกเอาดอกไม้ไปขายได้เงินกลับมามากขึ้น ก็นำเงินนั้นไปซื้อน้ำอ้อยงบและไปยืนคอยพวกช่างดอกไม้เช่นเดิม ทำเช่นนี้จนเขามีเงินถึง 8 กหาปณะ (4 บาทเท่ากับ 1 กหาปณะ)

วันหนึ่ง ฝนตก พายุหนัก กิ่งไม้แห้งบ้างสดบ้างถูกพายุพัดลงมาเป็นอันมากในพระราชอุทยาน คนเฝ้าอุทยานไม่ทราบว่าจะทำอย่างไรดี จูฬันเตวาสิกจึงรีบไปบอกคนเฝ้าว่า ถ้าจะให้ใบไม้กิ่งไม้เหล่านั้นแก่เขา เขาจะขนออกไปให้หมด คนเฝ้าสวนดีใจรีบบอกให้เขามาขนไปในทันที

ด้วยความดีใจ จูฬันเตวาสิกรีบกลับไปที่สนามเด็กเล่น ให้น้ำอ้อยแก่เด็ก ๆ แล้วขอแรงให้ช่วยขนกิ่งไม้จนหมดภายในเวลาไม่นาน กิ่งไม้จำนวนมากกองอยู่ที่หน้าประตูพระราชอุทยาน ก็พอดีกับช่างหม้อหลวงที่มาเที่ยวหาฟืน เพื่อเผาภาชนะดินของหลวงพบเข้า จึงขอซื้อกิ่งไม้เหล่านั้น

จากการขายไม้ ชายยากจนอย่างจูฬันเตวาสิกมีทรัพย์เพิ่มขึ้นเป็น 16 กหาปณะแล้ว เมื่อมีทรัพย์มากขึ้น เขาจึงคิดอะไรได้อย่างหนึ่ง ด้วยการตั้งตุ่มน้ำไว้ไม่ไกลจากประตูเมือง เพื่อให้บริการคนหาบหญ้า 500 คน เหล่านคนหาบหญ้าพอใจในบริการที่มีน้ำใจของเขา จึงเอ่ยปากว่า หากต้องการให้พวกตนช่วยอะไร ขอให้บอกได้เลย

นอกจากคนหาบหญ้าแล้ว จูฬันเตวาสิกยังได้ผูกมิตรกับคนมากหน้าหลายตา ทำให้เขามีเพื่อนมากมาย วันหนึ่ง เพื่อนดีคนหนึ่งก็มาบอกข่าวแก่เขาว่า พรุ่งนี้จะมีพ่อค้าม้านำม้า 500 ตัวมายังนครแห่งนี้ จูฬันเตวาสิกจึงไปพบคนหาบหญ้า และขอซื้อหญ้าเตรียมเอาไว้

วันรุ่งขึ้น พ่อค้าม้านำม้า 500 ตัวมาถึง ก็พบว่ามีเพียงจูฬันเตวาสิกที่มีหญ้าขาย เขาได้กำไรจากการขายหญ้าในครั้งนี้ 1,000 กหาปณะ

โอกาสต่อมา ก็มีเพื่อนมาแจ้งข่าวแก่เขาว่า มีพ่อค้านำเรือสำเภาขนาดใหญ่มาจอดเทียบท่า จูฬันเตวาสิกไม่รอช้า รีบไปขอเหมาสินค้าทั้งลำเรือเอาไว้ เมื่อพ่อค้ารายอื่นมาถึงจึงต้องมาซื้อสินค้าจากเขา สุดท้ายเขาได้ทรัพย์มาเป็นจำนวนถึง 200,000 กหาปณะ

เมื่อได้ทรัพย์เป็นจำนวนมากเช่นนี้ เขาก็เกิดความคิดว่า "เราควรเป็นคนกตัญญู นำทรัพย์ที่ได้ไปตอบแทนท่านเศรษฐี"

เร็วเท่าใจคิด จูฬันเตวาสิกถือทรัพย์ 100,000 กหาปณะไปมอบให้เศรษฐีเพื่อเป็นการตอบแทน พอท่านเศรษฐีทราบเรื่องทั้งหมด เห็นในสติปัญญา และความเฉลียวฉลาด จึงยกลูกสาวให้แต่งงานด้วย และเมื่อเศรษฐีล่วงลับไปแล้ว จูฬันเตวาสิกก็ได้เป็นเศรษฐีแห่งเมืองนั้นสืบต่อมา

นิทานเรื่องนี้แสดงให้เห็นว่า การเชื่อฟังท่านผู้รู้ ไม่ดูเบาต่อคำสั่งสอน พยายามปฏิบัติตาม และทำอย่างมีปัญญา ใคร่ครวญพิจารณาให้ดี มีความคิดรอบคอบ และเมื่อได้ทรัพย์มาแล้วก็ระลึกถึงผู้มีพระคุณ บุคคลผู้มีคุณสมบัติเช่นนี้ ย่อมไม่ตกต่ำ มีแต่จะตั้งตนได้และเจริญรุ่งเรือง ความรู้ ความประพฤติ และการงานที่ดีย่อมเป็นที่พึ่งพิงของบุคคลได้ดีกว่าสิ่งอื่น ดังภาษิตที่ว่า "ไม่มีมิตรใดเสมอได้ด้วยวิชชา"

ชะตากรรมเป็นสิ่งที่ไม่สามารถหยั่งถึงได้ แต่ความเพียรพยายามเป็นสิ่งที่เรารู้ได้และอยู่ในอำนาจของเรา การทำความเพียรให้เป็นหน้าที่ของเรา การให้ผลเป็นหน้าที่ของกรรม

เมื่อหวังความสำเร็จผล ก็ต้องรู้จักรอคอย และควรคอยอย่างสงบ ไม่ใช่กระวนกระวายใจ อะไรที่ควรได้ ย่อมได้มาเองโดยผลแห่งกรรม หรือความเพียรชอบนั้นแล

ขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากหนังสือ "เพื่อเยาวชน" ของสำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ:พ่อแม่รังแกฉัน

นิทานสอนใจ:พ่อแม่รังแกฉัน


เมื่อชัยอายุ 6 ขวบ ขณะที่นั่งรถไปกับพ่อ ถูกตำรวจจับเพราะขับรถเร็วเกินกำหนด พ่อแอบยื่นเงิน 500 บาทให้ตำรวจ และได้รับอนุญาตปล่อยตัวไป พ่อหันมาพูดกับชัยว่า

“ไม่เป็นไรลูก...
เงินแค่นี้ซื้อเวลา ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 8 ขวบ ป้าพาไปซื้อของที่ห้างสรรพสินค้าเป็นเงิน 75 บาท เมื่อป้าไปชำระเงิน ยื่นธนบัตรร้อยบาทให้พนักงาน ได้รับเงินทอน 55 บาท เพราะลูกค้ามากและเข้าใจว่าธนบัตร 50 บาท คือ 20 บาท ป้ารับเงินทอนและใส่กระเป๋าทันที แทนที่จะบอกพนักงานว่าทอนเงินผิด เมื่อออกจากร้านป้าก็พูดกับชัยว่า

“ไม่เป็นไรหลาน...
ความผิดของเขาเอง ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 9 ขวบ ครูให้การบ้านปลูกต้นหอมแดงในกระบะ 2 สัปดาห์ แล้วนำไปส่งที่โรงเรียน แม่ลืมซื้อหัวหอมแดงมาให้ชัย เมื่อครบกำหนดวันส่ง แม่ให้พ่อไปซื้อต้นหอมแดงที่ตลาด และฝังลงในกระบะให้ชัยนำไปส่งครู แล้วพูดว่า

“ไม่เป็นไรลูก...
ครูไม่รู้หรอก มีส่งก็ดีแล้ว ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 12 ขวบ ชัยทำแว่นตาใหม่ราคาแพงของลุงแตก
ลุงจึงนำใบเสร็จไปอ้างกับบริษัทเครดิตที่ลุงใช้บริการอยู่ว่าแว่นตาถูกขโมย ได้รับเงินชดใช้มา 15,000 บาท เต็มราคาที่ซื้อมา
ลุงพูดกับชัยอย่างภาคภูมิใจว่า

“ไม่เป็นไรหรอกหลาน...
สิทธ์ของเรา ใครใครเขาก็ทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 15 ปี ได้เป็นนักฟุตบอลของโรงเรียน ครูฝึกได้สอนวิธีกลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามให้บาดเจ็บโดยไม่ผิดถือว่าอยู่ในเกม
ครูฝึกบอกว่า

“ไม่เป็นไรหรอก...
ได้เปรียบไว้ก่อนเป็นดี ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”


เมื่อชัยอายุ 16 ปี ได้ไปทำงานระหว่างปิดเทอมที่แผนกซูปเปอร์มาร์เก็ต ของห้างสรรพสินค้าที่มีชื่อแห่งหนึ่ง หัวหน้าแผนกให้ชัยจัดกระเช้าผลไม้ โดยแนะนำให้จัดวางผลไม่สวยจวนจะเน่าอยู่ก้นตะกร้า คัดผลสวย ใบโตสีสด จัดวางอยู่ส่วนบน หัวหน้าแผนกสอนว่า

“ไม่เป็นไรหรอก...
ผู้ซื้อไม่ได้ใช้เองแต่นำไปฝากคนอื่น ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 18 ปี ได้สมัครสอบเพื่อเข้าขอรับทุนของมหาวิทยาลัย ปรากฏผลทราบเป็นการภายในว่ามาเป็นอันดับ 2 เมื่อพ่อรู้เข้าจึงไปพูดกับกรรมการซึ่งเป็นเพื่อนรุ่นเดียวกัน ในที่สุดชัยก็ได้รับทุน พ่อพูดกับชัยว่า

“ไม่เป็นไรลูก...
เป็นโอกาสของเรา ใครใครถ้ามีโอกาส เขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 19 ปี เพื่อนเอาข้อสอบปลายปีที่ขโมยมาขายกับชัยเป็นเงิน 1,500 บาท ชัยลังเลใจและตัดสินใจซื้อในที่สุด เพราะเพื่อนพูดว่า

“ไม่เป็นไรหรอกชัย...
เกรดมีผลกับอนาคตนะ ใครใครเขาทำกันทั้งนั้นแหละ”

เมื่อชัยอายุ 24 ปี ชัยถูกจับข้อหายักยอกเงินบริษัท 700,000 บาท และต้องติดคุก พ่อกับแม่ไปเยี่ยมและตัดพ้อต่อว่า

“ทำไมลูกทำอย่างนี้กับพ่อแม่
ที่บ้านเราไม่ได้สอนให้ลูกเป็นคนขี้โกงเลยนะ”

แต่แท้ที่จริงแล้ว พ่อแม่และบรรดาคนรอบข้างชัยไม่เคยรู้เลยว่า เขานั่นแหละที่สอนให้ชัยเป็นคนโกงโดยไม่รู้ตัว โดยเฉพาะพ่อแม่ที่กลายเป็น "พ่อแม่รังแกฉัน" เสียเอง

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : คนแจวเรือจ้าง

นิทานสอนใจ : คนแจวเรือจ้าง


ในอดีตกาล ณ เมืองพาราณสี พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ เมื่อเจริญวัยเแล้วสำเร็จการศึกษาศิลปศาสตร์หลายแขนง ท่านก็บวชเป็นฤาษี เลี้ยงชีวิตด้วยผลไม้น้อยใหญ่ในป่าหิมพานต์เป็นเวลานาน

ต่อมา ท่านต้องการลิ้มรสอาหารที่ปรุงแต่งบ้าง จึงเดินทางมายังเมืองพาราณสี พระเจ้าพรหมทัต พระราชาได้ทอดพระเนตรแล้วทรงเลื่อมใสในอิริยาบถของท่าน จึงรับเป็นอุปัฏฐาก ขอให้ท่านพักอยู่ในพระราชอุทยาน

โอวาทที่พระโพธิสัตว์ทรงถวายแด่พระเจ้าพรหมทัตก็คือ ขอให้ทรงเว้นอคติ 4 ได้แก่ ไม่ประมาท สมบูรณ์ด้วยพระขันติ และพระเมตตากรุณา ครองราชสมบัติโดยธรรม

โดยพระโพธิสัตว์ทูลเน้นว่า "ขอมหาบพิตรอย่าทรงพิโรธ พระราชาผู้ไม่ทรงพิโรธตอบผู้โกรธ ย่อมได้รับการบูชาจากประชาชน อาตมาภาพขอถวายอนุศาสน์นี้ในที่ทุกสถาน ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ในป่า ในที่ลุ่มหรือที่ดอน ขอพระองค์อย่าทรงพิโรธเลย"

เหตุที่ถวายอนุศาสน์พระราชามิให้ทรงพิโรธนั้น เพราะพระราชาทั้งหลายมีพระบรมราชโองการเป็นอาวุธ คนเป็นอันมากต้องเสียชีวิตเพราะพระบรมราชโองการในขณะที่ทรงพิโรธ

ทุกครั้งที่พระราชาเสด็จมาประทับ พระดาบสโพธิสัตว์ก็ถวายอนุศาสน์แบบเดียวกัน พระราชาจึงทรงเลื่อมใส พระราชทานทรัพย์สินต่าง ๆ มากมาย แต่พระโพธิสัตว์ทูลปฏิเสธ ด้วยเห็นว่าไม่จำเป็นแก่ตน

12 ปีผ่านไป อยู่มาวันหนึ่ง พระโพธิสัตว์ดำริว่าอยู่ในที่แห่งนี้มานานแล้ว ควรเที่ยวจาริกไปชนบทอื่นบ้าง แล้วค่อยกลับมาใหม่ ก็มิได้ทูลลาพระราชา แต่เรียกคนเฝ้าสวนมาบอกให้ทราบไว้ แล้วเดินทางจากไปยังท่าเรือริมแม่น้ำคงคา

ที่ท่าเรือนั้น มีคนแจวเรือจ้างชื่อ "อาวาริยปิตา" เขาเป็นคนพาล โง่เขลา และดุร้าย ไม่รู้จักคุณของผู้มีคุณ ไม่รู้จักอุบายอันเหมาะสมเพื่อตน เขาจะส่งคนที่ต้องการข้ามแม่น้ำคงคาให้ข้ามก่อน แล้วจึงขอค่าจ้างราคาแพง ๆ ในภายหลัง ทำให้มักจะทะเลาะกับผู้โดยสารอยู่เนือง ๆ เพราะไม่ได้ตกลงราคากันไว้ก่อน มีการด่าทอ ทุบตีกันบ้างจึงจะได้ค่าจ้างมา

ขณะที่ดาบสโพธิสัตว์นั่งอยู่เรือเพื่อข้ามไปฝั่งตรงข้ามนั้น อาวาริยปิตา ก็ถามขึ้นว่า

"ท่านจะให้ค่าจ้างข้าพเจ้าเท่าใด"

"อาตมาจะบอกทางเจริญแห่งโภคทรัยพ์และความเจริญแห่งอรรถธรรมให้"

เขาฟังไม่เข้าใจถึงข้อความที่ท่านดาบสกล่าว แต่คิดว่าคงจะได้อะไรบ้างเป็นแน่ เมื่อไปถึงฝั่งตรงข้ามแล้ว เขาก็เอ่ยปากขอค่าจ้าง

ดาบสจึงสอนทางเจริญแห่งโภคทรัพย์ว่า

"โยมจงขอค่าจ้างแก่ผู้ที่ข้ามไปฝั่งโน้นก่อน แล้วจึงไปส่งเขา เพราะจิตใจของคนที่ข้ามฟากแล้วเป็นอย่างหนึ่ง จิตใจของคนที่ต้องการจะข้ามฟากแต่ยังไม่ได้ข้ามก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่เหมือนกัน"

กระนั้น อาวาริยปิตาก็คิดว่า ดาบสคงให้อะไรที่เป็นวัตถุแก่ตนบ้าง แต่ดาบสกลับกล่าวว่า ที่พูดนั้นเพื่อความเจริญแห่งโภคทรัพย์ในอาชีพของอาวาริยปิตาเอง ต่อไปจะให้โอวาทเพื่อความเจริญแห่งอรรถธรรม นั่นก็คือ "จงอย่าโกรธ"

แต่เนื่องจากคนแจวเรือจ้างเป็นคนโง่เขลา จึงไม่เห็นว่า ในโอวาทนั้นมีอะไรซ่อนอยู่ และเมื่อทราบว่า ดาบสไม่มีวัตถุใด ๆ จะมอบให้แก่ตน เขาก็โกรธมาก ผลักดาบสให้ล้มลง นั่งทับอกท่านและตบปาก

ขณะนั้น ภรรยาของเขาถืออาหารมาส่ง เห็นดาบสเข้าจึงจำได้ จึงรีบร้องห้ามว่า "ดาบสนี้เป็นชีต้นประจำราชตระกูล อย่าตีท่านเลย"

อาวาริยปิตาโกรธภรรยาที่ห้าม จึงพุ่งเข้าตบตีภรรยาจนล้มลงไป ถาดข้าวตกแตก ภรรยาซึ่งท้องแก่อยู่ก็คลอดลูกบนพื้นดิน ชาวบ้านก็พากันมาล้อมดู และช่วยกันจับเขามัดเอาไว้ ก่อนจะส่งตัวให้กับพระราชาเพื่อลงพระราชอาญา แต่พระโพธิสัตว์ก็ตรัสว่า

"ภรรยาก็ถูกตบ ถาดข้าวก็แตก เด็กในครรภ์ก็หล่นลงสู่พื้นดิน เขาไม่อาจให้ประโยชน์เกิดขึ้นเพราะโอวาทนั้น เหมือนเนื้อได้ทองคำ ไม่อาจทำประโยชน์อะไรได้"

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า จะให้โอวาทแก่ใคร ก็ควรดูให้ดีเสียก่อนว่า เหมาะสมแล้วจึงให้ ไม่ควรให้แก่ผู้ไม่เหมาะสม ดาบสถวายโอวาทนี้แด่พระราชา แล้วได้รับพระราชทานหมู่บ้านชั้นดี ขณะเดียวกัน การบอกโอวาทอย่างเดียวกันกับคนแจวเรือจ้างผู้เป็นอันธพาล ได้รับการตบปาก เปรียบเหมือนสัตว์ประเภทเนื้อหรือลิงได้ทองคำ หรือแก้วมณี ที่มันไม่เห็นคุณค่า เหยียบย่ำเสียบ้าง นอนทับเสียบ้าง ไม่อาจใช้สิ่งนั้นให้เกิดเป็นประโยชน์เพิ่มพูนแก่ตนฉันใด คนอันธพาลก็ฉันนั้น แม้ได้ฟังโอวาทของบัณฑิตแล้วก็ไม่สามารถเอาไปทำประโยชน์อะไรได้ กลับจะเพ่งโทษให้แก่ผู้ให้โอวาทนั้นเสียอีก

yengo หรือ buzzcity

นิทานสอนใจ : สิงโตติดหล่ม

นิทานสอนใจ : สิงโตติดหล่ม


กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ราชสีห์ตัวหนึ่งอาศัยอยู่ในถ้ำบนภูเขา ด้านล่างของเชิงเขาเป็นสระน้ำสระใหญ่ มีหญ้าเขียวสดอ่อนไสวขึ้นตามเชิงเลนขอบสระ สัตว์เล็ก ๆ เช่น กระต่าย แมวป่า ฯลฯ ต่างมาเที่ยวเล่น เล็มหญ้าอยู่ตามเชิงเลนขอบสระกันมากมาย

วันหนึ่ง ขณะที่ราชสีห์ยืนมองลงไปที่เชิงเขา ก็พบเนื้อตัวหนึ่งมาเล็มหญ้าอยู่ ราชสีห์ต้องการจับเนื้อนั้นมาเป็นอาหาร จึงกระโดดจากภูเขาสุดกำลัง หวังจับเนื้อให้ได้ แต่ปรากฏว่าราชสีห์ตกลงไปติดในเชิงเลนขึ้นไม่ได้ เท้าทั้ง 4 ฝังลงไปดังเสา ต้องยืนอดอาหารอยู่ถึง 7 วัน

ระหว่างนั้น สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งหากินเพลินอยู่ก็มาพบเข้าก็ตกใจกลัว ทำท่าจะหนี ราชสีห์จึงขอร้องให้ช่วย"อย่าหนีเลย เราติดหล่มขึ้นไม่ได้มา 7 วันแล้ว ช่วยชีวิตเราทีเถิด"

สุนัขจิ้งจอกเข้าไปใกล้สีหะ พลางกล่าวว่า "เรากลัวว่าเมื่อช่วยท่านได้แล้ว ท่านจะจับเรากินเป็นอาหารเสีย"

ราชสีห์ยืนยันว่าอย่ากลัวเลย พร้อมรับรองว่าจะไม่กินสุนัขจิ้งจอก หากแต่จะสนองคุณที่ช่วย สุนัขจิ้งจอกรับคำมั่นสัญญาแล้ว ก็ช่วยคุ้ยเลนรอบ ๆ เท้าของราชสีห์ออก ขุดลำรางให้น้ำไหลเข้ามา ทำให้เลนเหลว จากนั้นก็มุดเข้าไปใต้ท้องราชสีห์ เอาศีรษะดันท้อง พร้อมร้องดัง ๆ ว่า "นาย พยายามเข้าเถิด"

สีหะออกแรงตะกายขึ้นมาจากเลนได้ ก็วิ่งไปยืนบนบกพักเหนื่อยครู่หนึ่ง แล้วลงสระ ล้างโคลนอาบน้ำระงับความกระวนกระวาย จากนั้นจึงจับกระบือตัวหนึ่ง ฆ่าให้ตาย แล้วฉีกเนื้อมาวางไว้ข้างหน้าสุนัขจิ้งจอก ขอให้สุนัขจิ้งจอกกินก่อน ส่วนตนจะกินทีหลัง

สุนัขจิ้งจอกคาบเอาเนื้อชิ้นหนึ่งวางไว้ เมื่อสีหะถามว่าเนื้อชิ้นนี้เพื่อใคร สุนัขจิ้งจอกก็บอกว่า เพื่อนางสุนัขจิ้งจอก ราชสีห์จึงตอบว่า จงเอาไปเถิด เราเองก็จะเก็บส่วนหนึ่งไว้เพื่อนางสิงห์เหมือนกัน

สัตว์ทั้งสองกินเนื้อจนอิ่มหนำสำราญแล้ว ก็คาบเนื้อไปฝากนางสุนัขจิ้งจอกและนางสิงห์ โดยราชสีห์ได้ชวนครอบครัวของสุนัขจิ้งจอกไปอยู่กับตนบนถ้ำที่ภูเขา รับว่าจะเลี้ยงดูให้มีความสุข

สัตว์ 2 ตระกูลนี้อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข สุนัขจิ้งจอกกับราชสีห์ นางสิงห์กับนางสุนัขจิ้งจอก และลูก ๆ ของสัตว์ทั้งสองก็สนิทสนมกลมเกลียวกันอย่างดี

จำเนียรกาลล่วงมา นางสิงห์คิดว่าไฉนหนอ ราชสีห์สามีเราจึงรักนางสุนัขจิ้งจอกและลูก ๆ ของมันนัก อาจจะเคยลอบได้เสียกันหรือไม่ จึงได้เสน่หามากมาย อย่ากระนั้นเลย เราจะหาอุบายให้นางสุนัขจิ้งจอกไปเสียจากที่นี่ คิดได้ดังนั้นแล้ว ระหว่างที่สีหะสามีตนและสุนัขจิ้งจอกไปหากิน ก็กลั่นแกล้งข่มขู่นางสุนัขจิ้งจอกนานัปการ อาทิว่า ทำไมอยู่ที่นี่นานนัก ไม่ไปที่อื่นบ้าง ส่วนลูกสิงห์ก็ข่มขู่ลูกสุนัขจิ้งจอกเช่นกัน

เมื่อสุนัขจิ้งจอกกลับมา นางสุนัขจิ้งจอกก็เล่าเรื่องต่าง ๆ ให้สามีฟัง และตั้งข้อสงสัยว่า ไม่ทราบว่าที่นางสิงห์ทำไปนั้น ทำไปโดยพลการ หรือทำตามคำสั่งของราชสีห์

สุนัขจิ้งจอกได้ฟังดังนั้น จึงเข้าไปหาสีหะและพูดว่า "นาย ข้าพเจ้าอยู่ในสำนักของท่านก็นานแล้ว ผู้อยู่ร่วมกันนานเกินไป ทำให้ความรักจืดจางลงได้ ผู้ใดไม่พอใจให้คนอื่นอยู่ในสำนักของตนก็ควรจะขับไล่ไปเสียเถิด จะเหน็บแนมเอาประโยชน์อะไรกัน" พร้อมเล่าพฤติการณ์ของนางสิงห์ให้ราชสีห์ฟังทุกประการ พร้อมกับถามว่า

"พญาเนื้อ ผู้มีกำลังอยากให้ใครไป ก็ย่อมไล่ไปได้ นี้เป็นธรรมดาของผู้มีกำลังทั้งหลาย ดูกร ท่านผู้มีเขี้ยวโง้งโปรดทราบเถิดว่า บัดนี้ ภัยเกิดจากที่พึ่งเสียแล้ว"

ราชสีห์ฟังคำสุนัขจิ้งจอกแล้วก็ถามนางสิงห์ว่า เป็นความจริงหรือ ที่ขู่เข็ญนางสุนัขจิ้งจอก นางสิงห์รับว่าเป็นความจริง ราชสีห์จึงว่า นางไม่รู้หรือ เมื่อเราไปหากินครั้งโน้นนานมาแล้ว เราไม่กลับมาถึง 7 วัน เพราะเหตุไร นางสิงห์ตอบว่าไม่ทราบ

สีหราชจึงเล่าเรื่องทั้งปวงที่ตนติดหล่มให้นางสิงห์ฟังและว่า สุนัขจิ้งจอกนี้เป็นสหายผู้ช่วยชีวิตเรา มิตรที่สามารถดำรงมิตรธรรมไว้ได้ ชื่อว่าอ่อนกำลังย่อมไม่มี ตั้งแต่นี้ไปอย่าได้ดูหมิ่นสหายของเราและครอบครัวของเขาเลย พร้อมย้ำว่า

"แม้ว่ามิตรเขามีกำลังน้อย แต่เขาดำรงอยู่ในมิตรธรรม เขานับว่าเป็นทั้งญาติ ทั้งพี่น้อง ทั้งมิตรสหาย เธออย่าได้ดูหมิ่นสุนัขจิ้งจอกที่ช่วยชีวิตเราไว้"

นางสิงห์รู้ว่าตนเข้้าใจผิด จึงขอขมาโทษ ตั้งแต่นั้นมา สัตว์ทั้งสองสกุลก็กลมเกลียวรักใคร่กันดังเดิม เมื่อพ่อแม่สิ้นชีวิตลงแล้ว ลูกของสัตว์ทั้งสองก็มีไมตรีต่อกันมาถึง 7 ชั่วอายุ

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า

- คนดี หรือแม้สัตว์ที่ดี ย่อมรู้อุปการะที่ผู้อื่นทำแล้วแก่ตน และพยายามหาทางทำตอบแทนเท่าที่กำลังความสามารถของตนมีอยู่
- เพื่อนรักกัน อาจแตกกันได้ เพราะภรรยาของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เพราะฉะนั้น อย่าหูเบาฟังแต่เสียงภรรยาตนข้างเดียว

ขอบคุณนิทานดี ๆ จากหนังสือ "เพื่อเยาวชน" สำนักพิมพ์คนรู้ใจค่ะ

yengo หรือ buzzcity