นิทานสอนใจ : ว่าด้วยเรื่อง "มหาปทุมชาดก" (พระโพธิสัตว์)

นิทานสอนใจ : ว่าด้วยเรื่อง "มหาปทุมชาดก" (พระโพธิสัตว์)


ในมหาปทุมชาดก ทวาทสนิบาต มีกล่าวไว้ว่า "ผู้เป็นใหญ่ (อิสรชน) เมื่อยังไม่เป็นโทษน้อยใหญ่ของผู้อื่น ยังไม่ทัน พิจารณาให้เห็นเอง ก็ไม่พึงลงทัณฑ์ (อาชญา) แก่ใครๆ "

เรื่องย่อในมหาปทุมชาดกนั้นว่า หญิงคนหนึ่งหลงรัก มหาปทุมกุมาร ซึ่งเป็นพระโพธิสัตว์ (พระพุทธเจ้าสมัยที่ยังทรงบำเพ็ญพระบารมีอยู่ในอดีตชาติ) เป็นหญิงร่วมสามีของมารดาพระโพธิสัตว์

เธอดำรงตำแหน่งเป็นอัครมเหสีของพระราชา ซึ่งเป็นพระราชบิดาของพระโพธิสัตว์ เชิญชวนพระโพธิสัตว์ให้ร่วมอภิรมณ์กับพระนาง แต่มหาปทุมชาดกกุมารทรงปฏิเสธ พระนางโกรธและรู้สึกเสียหน้า จึงแสร้งทำเป็นป่วย เมื่อพระราชา ตรัสถามถึงความไม่สบาย นางจึงใส่ความพระโพธิสัตว์ว่า นางไม่สบายพระทัยเรื่องที่มหาปทุมกุมารต้องการร่วมอภิรมณ์ด้วย แต่นางไม่ปรารถนา

พระราชาทรงกริ้วพระโพธิสัตว์ เพราะเชื่อคำทูลของอัครมเหสี โดยไม่ได้สอบทราบให้ถี่ถ้วนรอบคอบก่อน รับสั่งให้นำพระโพธิสัตว์ไปทิ้งที่เหวทิ้งโจร ตามเรื่องว่า เทวดาช่วยไว้ ไม่สิ้นพระชนม์ จึงบวชอยู่ในป่าหิมพานต์ ทำฌานและอภิญญาให้เกิดขึ้น

วันหนึ่ง พรานไหมมาพบพระโพธิสัตว์ และจำได้จึงนำความไปกราบทูลพระราชาๆ เสด็จไปยังสำนักของพระโพธิสัตว์ ตรัสถามเรื่องราวต่างๆ จึงได้ทรงทราบความจริงอันถ่องแท้ ทรงรู้สึกผิด ทรงเชื้อเชิญพระราชโอรสไปครองราชย์ แต่พระโพธิสัตว์ทรงปฏิเสธ และทูลว่าไม่ต้องการราชสมบัติ แต่ต้องการบวช ต้องการธรรม ขอให้พระราชาครองราชย์โดยธรรม เว้นอคติเสีย

พระราชารู้สึกเศร้าสลดสังเวชพระทัยไม่อาจกลั้นไว้ได้ ทรงร้องไห้แล้วเสด็จกลับนคร ในระหว่างทางตรัสถามอำมาตย์ทั้งหลายว่า

"เราต้องพลัดพรากจากบุตรผู้สมบูรณ์ด้วยคุณงามความดีมากขนาดนี้ เพราะใครเป็นต้นเหตุ? "

มหาอำมาตย์ทูลว่า "เพราะอัครมเหสีเป็นเหตุ"

จึงรับสั่งให้จับอัครมเหสี เอาเท้าขึ้น เอาหัวลง แล้วทิ้งลงเหวที่ทิ้งโจร

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อัครมเหสีของพระราชาในครั้งนั้นคือ นางจิญจมาณวิภาในครั้งนี้ ส่วนพระโพธิสัตว์มหาปทุมกุมารคือพระองค์เอง

ท่านบิดาได้เล่าเรื่องเหล่านี้ให้พวกเราฟังด้วยหวังว่าเราจะถือเป็นเนตติ (แบบอย่าง) ในการดำเนินชีวิตไม่สร้างความทุกข์ ความเดือดร้อนแก่ผู้อื่นเพื่อให้สมใจเราเพียงฝ่ายเดียว

เรื่องของกรรมเป็นกิริยาและปฏิกิริยา กรรมมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน ไม่ใช่ตัวใครตัวมัน มนุษย์เราช่วยผลักดันให้คนอื่นทำได้ทั้งกรรมชั่วและกรรมดี ถ้าเราทำกับผู้อื่นอย่างหยาบคายร้ายกาจ สร้างความเจ็บช้ำน้ำใจให้เกิดแก่ผู้อื่นก็เหมือนช่วยผลักดันให้เขามีนิสัยหยาบคายร้ายกาจต่อเราและต่อคนอื่นๆ ด้วย แต่ถ้าเราปฏิบัติต่อคนอื่นอย่างเมตตาปราณี เข้าใจและเห็นใจ ก็เหมือนดังช่วยเสริมสร้างให้เขานั้นมีคุณธรรมเช่นนั้นต่อเราและต่อผู้อื่นด้วยเช่นกัน

เราควรเริ่มต้นสร้างสังคมมนุษยชาติให้ดีงามด้วยการเริ่มต้นที่เราก่อน การสร้างกรรมดีแม้จะมีผลช้าไปบ้าง แต่ก็แน่นอน มั่นคงปลอดภัย ในการนี้เราต้องฝึกฝนตนเองให้ดำเนินอยู่ในทางของนักปราชญ์ ซึ่งทำได้ยาก แต่ก็ทำได้ และมีคนทำได้มามากแล้ว

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น