นิทานสอนใจ : อย่ากล้า "แจกความสุข"

นิทานสอนใจ : อย่ากล้า "แจกความสุข"


ถึงแม้จะพ้นเทศกาลปีใหม่กันมาแล้ว ทีมงานมีนิทานให้แง่คิดเกี่ยวกับบัตรแจกความสุขในวันปีใหม่มาฝากกัน เป็นนิทานเรื่องสั้นที่เขียนไว้ในหนังสือ "นิทานเรื่องสั้นท่านพุทธทาสภิกขุ" โดยเนื้อเรื่องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้

ปีนั้นเป็นปีแรกที่วัฒนธรรมแจกความสุขปีใหม่ระบาดเข้าไปในเขตวัดแห่งหนึ่ง หลวงพ่อตะโกนส่งความสุขปีใหม่ให้แก่เณรจ้อยลูกศิษย์ก้นกุฏิเสียงลั่นในเช้าตรู่ของวันขึ้นปีใหม่ และได้กล่าวคำ "สวัสดีปีใหม่" แก่คนทุกคนที่พบหน้ากันในวันนั้น ทั้งพระทั้งเณร และทายกทายิกาทั่วไปหมด

เณรจ้อยคนหนึ่งเข้าไปถามหลวงพ่อในตอนสายว่า"หลวงพ่อมีเรื่องที่ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าตลอดทั้งวัน แล้วจะเอาความสุขที่ไหนมาแจกให้แก่พวกเรา" ในใจก็คิดอย่างสงสัยว่า ที่ท่านพูดไปนั้นเป็นการกล่าวด้วยใจจริง หรือแค่พูดไปเล่น ๆ

"ฉันพูดตามธรรมเนียม" หลวงพ่อตอบ ในขณะที่เณรจ้อยเกิดความสงสัยเพิ่มขึ้นอีกว่า นี่มันธรรมเนียมของพุทธบริษัท หรือธรรมเนียมของใครกันแน่ เราไม่เคยพบในบาลีว่ามีธรรมเนียมอย่างนี้ในครั้งพุทธกาล ทั้งยังขัดต่อหลักของพระพุทธองค์ที่ว่าทุกคนมีกรรมเป็นของตัวเอง ต้องทำกรรมตามที่ปรารถนาด้วยตัวเอง ส่วนสัตว์เช่นอ้ายตูบต้องได้รับความสุขน้อยไปกว่าคนที่ต้องเสียเงินค่าบัตรส่งความสุขกันปีละมาก ๆ อย่างนั้นหรือ? วัฒนธรรมแจกความสุขนี้ เหมาะสมสำหรับพุทธบริษัทหรือเปล่า?

ทันใดนั้น หลวงพ่อก็ตอบเจ้าเณรจ้อยไปว่า "สวัสดีปีใหม่ เจ้าจ้อย" ทำให้เจ้าเณรงงเข้าไปอีกว่าที่ท่านพูดหมายความว่าอย่างไร ถ้าท่านไม่ทำดังนั้นแล้ว เราจะมีความสุขน้อยลงไปกว่าปู่ย่าตายายของเราที่ไม่เคยส่งความสุขกันเลยอย่างนั้นหรือ ทำไมหลวงพ่อจึงต้องทำตามธรรมเนียมกับเขาด้วยเล่า ธรรมเนียมนี้จะนำไปสู่ผลอย่างไรหนอ

เณรจ้อยซักถามข้อไหนเท่าไร ๆ หลวงพ่อก็ตอบได้แต่เพียงว่าฉันทำตามธรรมเนียมอยู่นั่นเอง หลวงพ่อมีความทุกข์ร้อนกว่าเรามากมายเป็นประจำวัน ท่านเอาความสุขปีใหม่จากไหนมาแจกกันหนอ ถ้าพวกเราจะต้องมีความสุขอย่างของท่านแล้ว พวกเราก็คงต้องไปนอนที่โรงพยาบาลก่อนท่าน เพราะเราไม่มีความอดทนมากเท่ากับท่าน คนก็เป็นโรคจิตกันมากขึ้นเท่า ๆ กับได้มีการพิมพ์บัตรส่งความสุขในโลกเพิ่มมากขึ้น

เณรจ้อยว่าดังนั้น ก็เชื่อมั่นว่า จะไม่ยอมรับธรรมเนียม "แจกความสุข" นี้เป็นอันขาด ยังคงยึดในธรรมเนียม"เตือนให้นึกถึงความทุกข์" ในวันขึ้นปีใหม่แล้วร่วมมือกันกำจัดมันให้สูญสิ้นไปโดยเร็ว โดยไม่ต้องมีการส่งบัตรให้สิ้นเปลือง นอกจากการตะโกนบนธรรมมาสน์ เรื่องอนิจจัง ทุกข์ขัง อนัตตาต่อไปตามเดิม ถ้ามิเช่นนั้นแล้วจะต้องมีอะไรหลายอย่างที่พ่ายแพ้แก่อ้ายตูบมันโดยไม่ต้องสงสัยเลย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า การเสียเงิน "บัตรแจกความสุข" ในโอกาสต่าง ๆ กันปีละมาก ๆ กับการเพียงแต่บอกกล่าวกันให้ระมัดระวังความทุกข์แล้วกำจัดมันเสียให้ได้จริง ๆ นั้น อย่างไหนจะเป็นการบ้านหนักกว่ากัน? หลวงพ่อต้องลำบากเพราะต้องทำตามธรรมเนียม ส่วนเณรจ้อยต้องลำบากเพราะไม่อยากจะทำตามธรรมเนียม สองคนนี้คนไหนจะน่าสงสารยิ่งกว่ากัน!

ขอขอบคุณนิทานเรื่องสั้นของท่านพุทธทาสภิกขุ แห่งสวนโมกขพลาราม จัดพิมพ์โดย ธรรมสภา

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น