นิทานสอนใจ : เพื่อนพิการ

นิทานสอนใจ : เพื่อนพิการ


ต้องขอเรียนให้ท่านผู้อ่านทราบก่อนว่า เรื่องนี้ไม่เชิงเป็นนิทาน แต่เป็นเรื่องเล่าที่เกิดขึ้นจริงในช่วงสงครามเวียดนาม

ครอบครัวหนึ่งอาศัยอยู่ด้วยกันสามคน พ่อ แม่ และลูกชาย ทั้งสามใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข จนกระทั่งวันหนึ่ง จดหมายจากทางการเรียกลูกชายให้ไปร่วมรบในสงครามเวียดนามก็พรากรอยยิ้ม และเสียงหัวเราะของครอบครัวนี้ไป

หลังจากลูกชายถูกส่งไปรบที่เวียดนามแล้ว ไม่มีวันใดที่พ่อกับแม่ของเขาจะอยู่อย่างมีความสุขเลย บางคืนพ่อของเขาต้องสะดุ้งตื่น เพราะฝันร้าย ภรรยาของเขาต้องคอยปลอบใจให้สามีของนางคลายกังวลลง ทั้งๆ ที่ตัวนางเองก็แทบจะกลั้นน้ำตาแห่งความหวาดวิตกไว้ไม่อยู่

การรอคอยด้วยความทุกข์ทรมานผ่านไปวันแล้ววันเล่า กระทั่งวันหนึ่งเสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ผู้เป็นพ่อรีบวิ่งมารับโทรศัพท์ด้วยลางสังหรณ์ว่าน่าจะเป็นของลูกชายของเขา

ลางสังหรณ์ถูกต้อง! เป็นเสียงของลูกชายของเขาจริงๆ เขาดีใจมาก ร้องเรียกภรรยาให้มาทักทายลูก ก่อนจะรับโทรศัพท์กลับไปคุยต่อ

“ตอนนี้ลูกอยู่ที่ไหน” เขาละล่ำละลักถามด้วยความตื่นเต้นระคนดีใจอย่างสุดแสน

“ผมอยู่ที่ซานฟรานซิสโก” อีกไม่นานเขาคงไปส่งผมที่บ้านครับพ่อ ลูกชายบอกพ่อของเขา น้ำเสียงราบเรียบผิดปกติวิสัย ซึ่งอันที่จริงเขาควรจะรื่นเริงดีใจที่ได้มีโอกาสคุยกับครอบครัวอันเป็นที่รักอีกครั้ง
“รีบกลับบ้านนะลูก พ่อกับแม่คิดถึงลูกมาก”

เงียบไปครู่หนึ่ง ลูกชายจึงพูดว่า “ผมจะรีบกลับ แต่อยากขออนุญาตพ่อสักเรื่องได้ไหมครับ”

“อะไรล่ะ พ่อให้ได้หมด ขอแค่ลูกกลับมาเร็วๆ เท่านั้น”

“ผมอยากพาเพื่อนรักคนหนึ่งของผมกลับไปด้วย ไปอยู่กับพวกเราที่บ้าน”

“เพื่อนคนไหน พ่อไม่เคยรู้ว่าลูกมีเพื่อนที่ซานฟรานซิสโก” น้ำเสียงผู้เป็นพ่อฉงนเล็กน้อย

“เขาเป็นเพื่อนที่เพิ่งรู้จักกันในสงครามเวียดนามครับ ผมกับเขาต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่กันมาตลอด ไม่ทอดทิ้งกัน ผมอยากให้เขาไปอยู่กับครอบครัวของเรา เพราะเขาไม่มีใครอีกแล้ว”

ถ้าคนๆ นั้น เป็นเพื่อนที่ดีกับลูกชายถึงเพียงนั้น ผู้เป็นพ่อก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่ต้องปฏิเสธ “ได้สิลูก พาเขามาอยู่ที่บ้านของเรา” เขาจึงตอบรับทันที

“แต่พ่อครับ เขาไม่เหมือนพวกเรานะครับ” ลูกชายพูดด้วยน้ำเสียงแปลกแปร่ง

“ไม่เหมือนยังไง” ผู้เป็นพ่อถาม

“เขาพิการ สงครามครั้งนี้ทำให้แขนและขาของเขาถูกตัดหมด ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย”

คำบอกเล่านี้ ทำให้ผู้เป็นพ่อนึกถึงความยุ่งยากในการดูแลคนพิการ ไร้แขนขาออกเป็นฉากๆ ทันที แล้วเพียงครู่เดียวเขาก็พูดออกมาว่า

“แล้วเราจะดูแลเขาอย่างไรล่ะลูก บ้านเราก็แค่พอมีพอกิน ไม่ได้ร่ำรวยถึงขนาดที่จะรับภาระเลี้ยงดูคนพิการที่ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้อีกหรอกนะ”

ลูกชายไม่ได้พูดอะไรกลับมา ผู้เป็นพ่อกลัวว่าลูกจะเสียใจคิดว่าตนใจร้ายกับเพื่อนของลูก จึงพยายามคิดคำพูดที่ดีที่สุดในสถานการณ์เช่นนี้มาใช้

“ลูกคิดดูดีๆ ถ้าเราเอาเขามา เราก็คงดูแลเขาได้ไม่เต็มที่หรอก พ่อว่าให้เขาไปอยู่ที่อื่นดีกว่า อย่างสถานสงเคราะห์อะไรอย่างนั้น...”

เสียงโทรศัพท์ตัดสายไปทันใด ลูกชายวางสายโดยไม่ได้กล่าวอะไรทิ้งท้าย เขาหันไปบอกภรรยาว่า

“ลูกคงโกรธที่เราไม่ยอมรับเลี้ยงดูเพื่อนพิการของเขา เขาคงรักเพื่อนคนนี้มาก คุณว่าเขาจะโกรธจนไม่กลับบ้านเลยหรือเปล่า”

ภรรยาตบบ่าสามีเบาๆ พลางปลอบว่า “อย่ากังวลไปเลยค่ะ พอลูกจัดการเรื่องเพื่อนของเขาได้ เขาก็จะกลับมาหาเราเอง ลูกมีเหตุผลพอที่จะเข้าใจความจำเป็นของเรา แล้วเขาก็รู้เต็มอกว่า พ่อกับแม่รักเขามาก”

คำปลอบใจของภรรยาทำให้ผู้เป็นพ่อรู้สึกดีขึ้น แต่ก็ไม่อาจอยู่อย่างเป็นสุขได้ ตราบใดที่ลูกชายยังไม่กลับบ้าน

ไม่กี่วันต่อมา ในวันที่ท้องฟ้าหม่นเหมือนจะนำข่าวร้ายมาแจ้งแก่ผู้เฝ้าคอย ผู้เป็นพ่อก็ได้รับโทรศัพท์จากตำรวจซานฟรานซิสโกให้ไปดูศพชายหนุ่มคนหนึ่ง ซึ่งทางนั้นสันนิษฐานว่า น่าจะเป็นลูกชายของพวกเขา ตำรวจบอกว่า ผู้เสียชีวิตกระโดดตึกฆ่าตัวตาย ทีแรกผู้เป็นพ่อค้านหัวชนฝาว่าศพนั้นไม่มีทางใช่ลูกของเขา เพราะลูกชายคนนี้ไม่ใช่คนคิดสั้น ซ้ำยังเป็นคนที่มีความสุขในชีวิต ความคิดที่จะกระโดดตึกฆ่าตัวตายย่อมไม่อยู่ในหัวสมองของเขา อย่างไรก็ตาม เพื่อให้เป็นไปตามกระบวนการพิสูจน์ศพที่ถูกต้อง ในที่สุดผู้เป็นพ่อก็ยอมเดินทางไปดูศพชายผู้นั้นที่ซานฟรานซิสโกตามคำเชิญของตำรวจ

ทว่า เมื่อไปถึง ความมั่นใจของผู้เป็นพ่อก็พังทลายลง ร่างไร้ลมหายใจภายใต้ผ้าคลุมนั้นคือลูกชายของเขาจริงๆ แต่ที่ทำให้เขาแทบล้มทั้งยืน คือ ศพลูกชายไม่มีแขนและขา

“ทำไม..แขนกับขาของเขาหายไปไหน” ผู้เป็นพ่อร้องอย่างตระหนก ดวงตาเบิกกว้าง ทั้งๆ ที่ในใจนึกรู้คำตอบอยู่แล้ว เพียงแต่พยายามหลอกตัวเองว่า ไม่ใช่...ไม่ใช่อย่างนั้น

นายแพทย์คนหนึ่งที่ยืนอยู่ข้างๆ ซึ่งมีความรับผิดชอบต่อศพนี้ด้วย หันมามองเขาอย่างแปลกใจ แล้วพูดว่า “ลูกชายของคุณเหยียบกับระเบิดในสงคราม เราจึงต้องตัดแขนและขาออก เพื่อรักษาชีวิตของเขาไว้...แปลกจริง วันนั้นหลังจากอาการดีขึ้น เขาบอกผมว่า จะโทรศัพท์ไปบอกเรื่องนี้กับพ่อและแม่ของเขา แล้วทำไมคุณถึงยังไม่ทราบล่ะ”

ผู้เป็นพ่อได้ฟังดังนั้นก็พลันหมดเรี่ยวแรง ทรุดกายลงไปนั่งกับพื้น...ข้อสันนิษฐานที่คิดไว้ยิ่งกระจ่างชัด เพื่อนพิการที่ลูกชายบอก ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นลูกชายของเขาเอง ลูกของเขาตั้งใจจะบอกเพื่อรับฟังคำต้อนรับที่อบอุ่นจากพ่อแม่ แต่เขากลับผลักไสให้ลูกไปอยู่ที่อื่น

“ลูกผมไม่ได้ฆ่าตัวตายหรอก แต่เป็นคำพูดที่ไร้หัวใจของผมเองที่ฆ่าเขา” เขาคำรามลั่นห้อง ปล่อยน้ำตาให้ไหลหลากเหมือนจะขาดใจ แต่อนิจจา ถึงร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือดก็ไม่อาจเรียกชีวิตของลูกชายคืนมาได้ และต้องเสียเขาไปตลอดกาล

บทสรุปของผู้แต่ง

เราเป็นคนหนึ่งที่เว้นความช่วยเหลือไว้ให้เฉพาะคนที่พอใจอยากจะช่วยเหลือเปล่า แต่อยู่ไหมว่าคนที่เขารอความช่วยเหลือแต่กลับถูกปฏิเสธเพียงเพราะแลดูไม่มีค่าพอสำหรับความช่วยเหลือนั้น เขาจะเจ็บปวดแค่ไหน

เรื่องเล่าทำนองนี้คงไม่เกิดขึ้นกับใครบ่อยนัก แต่มันทำให้รู้ว่า ความเจ็บปวดของการถูกทอดทิ้งมีอยู่จริง เราอาจจะเลือกที่รักมักที่ชัง ยื่นมือเข้ามาช่วยเฉพาะคนที่เราคัดสรรแล้ว เช่น คนที่เธอรู้สึกดีๆ ด้วย คนฉลาดปราดเปรื่อง คนเข้าท่า คนที่ให้ผลตอบแทนเราได้ในอนาคต คนที่คิดสะระตะแล้วว่ามีคุณค่าพอสำหรับความช่วยเหลือต่างๆ ถ้าอย่างนั้นก็คิดต่อได้เลยว่า จะมีคนอีกมากต้องร้องไห้ก็เพราะความคิดแบบนี้

...อย่าลืมสิว่า ไม่ว่าชาติกำเนิด รูปกาย หรือลักษณะของคนเราจะแปลกแยกแตกต่างกันมากแค่ไหน แต่ที่ทุกคนมีเหมือนกันคือหัวใจที่ถวิลหาความเอื้ออาทรเท่าๆ กัน คนละหนึ่งดวง

////////////////

ขอขอบคุณสำนักพิมพ์ฟรีมายด์ ที่เอื้อเฟื้อนิทานสอนใจดีๆ ในชุดหนังสือนิทานสีขาวของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา ไว้ ณ โอกาสนี้ด้วยครับ

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น