นิทานสอนใจ : ให้เป็น "ที่รัก"
ในช่วงเดือนเมษายนของทุกๆ ปี ในเมืองไทยเรา เป็นฤดูแห่งความแห้งแล้ง น้ำในเขื่อนมีปริมาณน้อย ไม่สามารถแจกจ่ายให้แก่ชาวบ้านอย่างเพียงพอ
ผู้เขียนนิทานเรื่องนี้ จึงได้นึกถึงเรื่อง "ภัยคุกคามเวสาลี" ว่าจะมีใครบ้างที่ใช้วิธีการแบบกษัตริย์ลิจฉวี พิจารณาคุณธรรมของตนเอง เร่งรักษาศีล นิมนต์พระมาสวดพระปริตร (การสวดซึ่งถือว่าศักดิ์สิทธิ์ สามารถคุ้มครองปกป้องรักษาอันตรายต่างๆ ได้) เน้น "รัตนสูตร" ประพรมน้ำมนต์กันทุกหมู่บ้าน ฝนจะได้ตกลงให้ชื่นฉ่ำใจกันทั่วหน้า
เช่นเดียวกับเรื่องของพระภิกษุจำนวนหนึ่งที่ใคร่จะบำเพ็ญเพียรทางจิตฝึกสมณธรรมตลอดครึ่งพรรษา จึงเข้าเฝ้าพระพุทธองค์พร้อมกันเพื่อเรียนการฝึกจิตที่เรียกว่า "กรรมฐาน" ครั้นเรียนรู้ก็ออกเดินทางเพื่อแสวงหาที่ที่เหมาะสมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งพบสถานที่ร่มรื่นสงบเงียบอันเหมาะแก่การบำเพ็ญเพียงยิ่งนัก ณ ชายแดนแห่งหนึ่งประกอบด้วยธารน้ำใสสะอาดและโขดหินรูปร่างต่างๆ ที่สีสันสวยงาม ภิกษุทั้งหลายจึงเลือกสถานที่นั้นเป็นที่พัก
ครั้นชาวบ้านใกล้ๆ ป่านั้นได้ข่าวว่ามีเหล่าภิกษุมาพักจำศีลอยู่ ก็พากันมาทำบุญด้วยข้าวปลาอาหาร ตลอดเครื่องใจด้วยความเต็มใจ และศรัทธายิ่ง เพราะชายแดนแห่งนั้นไม่ค่อยมีภิกษุผ่านมากันนัก
เรื่องนี้ก็น่าจะจบลงด้วยความสุขและความสำเร็จ เพราะทุกอย่างเตรียมพร้อม แต่การณ์กลับตาลปัตรหรือพลิกล็อก เพราะรุกขเทวดาที่อาศัยอยู่ตามต้นไม้เหล่านั้นเกิดเดือดร้อน ด้วยไม่อาจอยู่สูงกว่าผู้มีศีลอันบริสุทธิได้ ต้องลงมาจากวิมานต้นไม้ มาอาศัยตามพื้นดิน รอวันรอคืนที่ภิกษุเหล่านั้นจะเดินทางกลับเพื่อจะได้คืนสู่วิมานดังเดิม
แต่ก็คอยแล้วคอยเล่าจนไม่อาจจะทนรออยู่ต่อไปได้อีก จึงร่วมกันทำการรบกวนด้วยวิธีต่างๆ ทั้งแปลงกายให้น่าเกลียดน่ากลัวชวนขนลุกขนพองสยองเกล้า ทำเสียงดังรบกวน ส่งกลิ่นเหม็นคละคลุ้งไปให้ปวดศีรษะ ภิกษุทั้งหลายถูกรบกวนด้วยรูปแบบต่างๆ จนร่างกายผิวพรรณซูบซีดหน้าตาคล้ำหมอง จิตใจกระสับกระส่ายไม่อาจจะทำให้จิตใจสงบลงได้ แต่ก็ยังทนไม่ยอมบอกความทุกข์ให้แก่กัน
จนเมื่อมาประชุมพร้อมกันในวันหนึ่ง พระเถระผู้ใหญ่จึงไต่ถามถึงสาเหตุที่ทำให้ภิกษุทั้งหลายสุขภาพเสื่อมโทรม สาเหตุต่างๆ จึงเปิดเผยขึ้น ที่สุดจึงตกลงกันว่าจะเดินทางกลับไปขอให้พระพุทธองค์ทรงแนะนำสถานที่ที่เหมาะสม แต่พระตถาคตตรัสว่า ไม่มีที่ใดจะเหมาะสมเท่ากับที่เดิมอีกแล้วให้ภิกษุทั้งหลายกลับไปเจริญสมณธรรมใหม่ แล้วตรัสสอนว่า "เมตตาสูตร" ให้ภิกษุทั้งหลายสวดเป็นประจำพร้อมกับให้มีการแสดงธรรม สนทนาธรรมทั้งกล่าวอนุโมทนาบุญซึ่งกันและกันเพิ่มเติมจากการสวดพระปริตรนี้
เมื่อภิกษุทั้งหลายกลับมาดำเนินการตามพุทธดำรัสก็บังเกิดผลอย่างน่าอัศจรรย์ ทุกรูปอยู่เย็นเป็นสุข เทวดาทั้งปวงก็ไม่ทำอันตราย แต่กลับคุ้มครองเป็นอย่างดี จนบำเพ็ญเพียงถึงขั้นบรรลุธรรมทุกรูป
ตอนนี้ก็ถึงคำถามที่ว่า เกิดปาฏิหาริย์อะไรขั้นจาก "พระปริตร" คำตอบอยู่ที่ความหมายของ "เมตตาสูตร"อันเป็นเคล็ดลับที่ทำให้พระภิกษุทุกรูปเป็นที่รักของเทวดา มนุษย์ และสัตว์ทั้งหลาย เราทุกคนจึงไม่แปลกใจเลยถ้ารู้คำแปลของบทสวดที่ให้ทุกคนทำตัวเป็นผู้ว่าง่าย เลี้ยงง่าย อ่อนโยน ไม่อวดดี ไม่ดูหมิ่นผู้อื่น ยินดีด้วยของตามมีตามได้ (สันโดษ) ซื่อตรง ไม่ประพฤติตนในทางเสื่อมให้ผู้คนติเตียนได้ มีความเมตตาต่อทุกชีวิตเทียบเท่ากับความรักที่มารดามีต่อบุตร
หลายคนที่ได้อ่านเรื่องนี้แล้วคงต้องร้อง "อ๋อ" ว่าเพราะเป็นเช่นนี้เอง ไม่ว่าใครๆ ที่ประพฤติปฏิบัติตาม "เมตตาสูตร" ก็ย่อมเป็น "ที่รัก" หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ผิวพรรณผ่องใส เทวดาคุ้มครองรักษาให้ปลอดภัยจากภยันตรายทั้งปวง
*** ทีมงาน Life & Family ขอขอบคุณนิทานเรื่องสั้น "ธรรมะบันดาลใจ นิทานต้นแบบแห่งความดี" โดย ปาริฉัตต์ จัดพิมพ์โดย สำนักพิมพ์ในเครือสถาพรบุ๊คส์
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น