นิทานสอนใจ : ชายรับจ้างตักน้ำ

นิทานสอนใจ : ชายรับจ้างตักน้ำ


ชายคนหนึ่งเกิดในตระกูลอันยากจน ต้องทำงานหาเลี้ยงชีพด้วยการรับจ้างตักน้ำ ชีวิตความเป็นอยู่ของเขานั้นเป็นไปด้วยความความยากลำบาก เมื่อเติบโตมีครอบครัวก็ได้หญิงยากจนมาเป็นภรรยา ทั้งสองคนก็ช่วยกันรับจ้างตักน้ำ ใช้ชีวิตอย่างฝืดเคือง แต่ก็อดทน ไม่ย่อท้อต่อความยากลำบาก

อยู่มาวันหนึ่ง เมืองพาราณสีมีมหรสพ มหาชนต่างพากันสนใจ ภรรยาของเขาจึงถามชายหนุ่มว่า มีเงินพอที่จะไปร่วมเล่นมหรสพกับเขาบ้างหรือไม่ สามีตอบว่ามีอยู่ครึ่งมาสก ได้รับมาจากการรับจ้างตักน้ำ และเก็บซ่อนไว้ที่ซอกอิฐใกล้ประตูเมือง ส่วนภรรยานั้นก็มีทรัพย์อยู่ครึ่งมาสกเช่นกัน เมื่อมารวมกันเป็นหนึ่งมาสก พอร่วมเล่นมหรสพกับเขาได้ โดยเอาส่วนหนึ่งซื้อดอกไม้ อีกส่วนหนึ่งซื้อของหอมและอีกส่วนหนึ่งซื้อสุรา

ชายคนนั้นดีใจที่จะได้ร่วมเล่นมหรสพกับภรรยาและประชาชนคนอื่น ๆ จึงออกวิ่งไปเอาเงินครึ่งมาสกที่ตนซ่อนเอาไว้อย่างร่าเริง แม้จะเป็นการวิ่งท่ามกลางแสงแดดแผดจ้า และดินทรายร้อนระอุตอนเที่ยงวัน เมื่อเขาเดินผ่านพระราชวัง พระราชาเปิดสีหบัญชรประทับยืนอยู่เห็นชายคนนั้น ทรงดำริว่า อะไรหนอทำให้ชายผู้นี้ไม่ย่อท้อต่อลมแดด เดินผ่านพื้นที่อันร้อนระอุเช่นนี้ได้ จึงรับสั่งให้ราชบุรุษนำตัวมาตรัสถามว่า

"แผ่นดินดารดาษไปด้วยทรายร้อนระอุเช่นนี้ เจ้าเดินเหมือนไม่รู้สึกอะไรเลย ขับเพลงอยู่ได้ แสงแดดไม่แผดเผาเจ้าดอกหรือ"

เขากราบทูลว่า "มหาราช แดดหาแผดเผาข้าพระองค์ไม่ แต่กิเลสกามและวัตถุกามย่อมเผาข้าพระองค์ให้เร่าร้อน ข้าพระองค์มีความต้องการหลายอย่าง ความต้องการนั่นเองได้แผดเผาข้าพระองค์ให้วิ่งมา หาใช่แสงแดดไม่"

"ความต้องการของเจ้าคืออะไร เป็นอย่างไร"

"ข้าแต่มหาราช คำของนางอันเป็นที่รัก จับใจข้าพระองค์ยิ่งนัก ข้าพระองค์ต้องการจะทำความปรารถนาของนางให้เต็ม จึงฝ่าเปลวแดดไปนำทรัพย์มาให้นางให้จงได้ ความเร่าร้อนเพราะกามแผดเผาข้าพระองค์อยู่ จึงไม่รู้สึกถึงความร้อนแรงของแสงแดด"

"บุรุษผู้บากบั่น" พระราชาตรัส "ทรัพย์ที่ท่านวิ่งไปเอานั้นคงจะมีจำนวนเป็นแสนกระมัง จึงทำให้เจ้าไม่คำนึงถึงสิ่งอื่น"

"หามิได้ มหาราช"

"ถ้าเช่นนั้นก็คงมีจำเป็นเป็นหมื่น"

"หามิได้ มหาราช"

พระราชาตรัสถาม ลดจำนวนลงเรื่อย ๆ เขาก็ปฏิเสธมาเรื่อย ๆ จนถึงกึ่งมาสก เขาจึงรับว่า ใช่แล้วทรัพย์กึ่งมาสก

พระราชาทรงประหลาดพระทัยในเรื่องนี้ เพราะทรงเห็นว่าทรัพย์จำนวนน้อยเหลือเกิน ไม่สมควรแก่ความพยายาม แต่มันหาน้อยสำหรับคนยากจนอย่างเขาไม่ มันมีความหมายสำหรับเขามาก โดยเฉพาะทรัพย์เพื่อความพอใจของคนที่เขารักด้วยแล้ว มันมีความหมายและความสำคัญเท่าชีวิตเลยทีเดียว

ในที่สุด พระราชาก็ตรัสว่า "เราจะให้ทรัพย์ครึ่งมาสกแก่เจ้า อย่าต้องเดือดร้อนเดินทางไปเลย"


"มหาราช ข้าพระองค์ขอรับทรัพย์ที่จะพระราชทานด้วยความขอบพระทัย แต่จะไม่ละความพยายามที่จะไปเอาทรัพย์ครึ่งมาสกที่ซ่อนไว้ พระเจ้าข้า"

"ถ้าอย่างนั้น เราจะให้เจ้า 1 มาสก"

เขายังคงกราบทูลเหมือนเดิม พระราชาทรงเลื่อนอัตราเงินขึ้นไปเรื่อย ๆ จนถึงจำนวนร้อยโกฏิ แต่เขาก็ยังกราบทูลเหมือนเดิม พระราชาจึงทรงเปลี่ยนเป็นมอบฐานันดรศักดิ์ให้มีตำแหน่งเป็นเศรษฐีจนถึงอุปราย แต่เขาก็ยังยืนยันเช่นเดิม

พระราชาเสนอมอบราชสมบัติให้ครองครึ่งหนึ่ง เขาจึงยอมรับข้อเสนอนั้น แต่ก็ยังบากบั่นไปยังที่ซ่อนทรัพย์ครึ่งมาสกนั้นจนได้

บุรุษรับจ้างมีผู้มีความตั้งใจจริงผู้นั้น เมื่อได้เป็นพระราชแล้วทรงพระนามว่า พระเจ้าอัฒมาสก (ครึ่งมาสก) พระราชาทั้งสองคือพระเจ้าอุทัยราชและพระเจ้าอัฒมาสกทรงสามัคคีสนิทสนมกัน ครองราชสมบัติอย่างผาสุกเป็นเวลานาน

วันหนึ่งทั้ง 2 พระองค์เสด็จประพาสพระราชอุทยาน พระเจ้าอุทัยทรงเล่นกีฬาจนเหนื่อยแล้วทรงเอาพระเศียรพาดบนพระเพลาของพระเจ้าอัฒมาสกแล้วบรรทมหลับไป พวกบริวารก็พากันไปเล่นกีฬาในที่ต่าง ๆ ตามความปรารถนาของตน

แว่บหนึ่ง พระเจ้าอัฒมาสกทรงดำริว่า เรื่องอะไรที่เราจะครองราชสมบัติเพียงครึ่งเดียว เราน่าจะปลงพระชนม์พระเจ้าอุทัยราชเสีย แล้วครองราชสมบัติแต่เพียงผู้เดียวดีกว่า ว่าแล้วก็ทรงชักพระแสงดาบออกจากฝัก แต่ทรงหวนคิดขึ้นได้ว่า

เราได้ราชสมบัติ ได้ยศศักดิ์ถึงเพียงนี้ ก็เพราะพระราชาองค์นี้ การที่เราคิดทำลายล้างผู้มีคุณแก่ตนเช่นนี้ เป็นการไม่สมควรเลย ทำให้ทรงยับยั้งพระทัยได้ ขณะนั้นโลภเจตนาก็เกิดขึ้นอีก คิดจะปลงพระชนม์พระเจ้าอุทัยราชอีก ทำเช่นนี้อยู่ 3 ครั้ง พระทัยไม่อาจสงบลงได้ ครั้งสุดท้าย ทรงใช้ปัญญาพิจารณาว่า ความคิดอย่างนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ จะจูงเราให้ทำกรรมอันชั่วช้าได้ จึงตัดพระทัยขว้างพระแสงดาบออกไปไกลพระองค์ พระแสงดาบกระทบพื้นเป็นเหตุให้พระเจ้าอุทัยราชทรงตื่นบรรทม พระเจ้าอัฒมาสกจึงทรงหมอบที่พระบาท เล่าเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ ทูลขออภัย

พระเจ้าอุทัยทรงทราบความประสงค์ของพระเจ้าอัฒมาสกแล้ว ตรัสว่า เมื่อประสงค์จะครองราชย์ทั้งหมดก็จงครองเถิด พระองค์เองจะสละราชสมบัติมาเป็นอุปราช คอยทะนุบำรุงพระราชาเอง

พระเจ้าอัฒมาสกทรงสดับเช่นนั้นยิ่งละอายใจและเห็นพระทัยอันใสสะอาดของพระเจ้าอุทัยมากขึ้น จึงทูลว่า

"ขอพระองค์ทรงครองราชย์โดยธรรมต่อไปเถิด ส่วนข้าพระองค์ จะขอลาออกบวช ข้าพระองค์เห็นว่า อันตัณหาความทะยานอยากนี้ จะนำข้าพระองค์ไปสู่อบาย ข้าพระองค์ได้เห็นต้นเค้าของกามคุณแล้ว มันเกิดจากความดำรินี่เอง"

"กาม เมื่อมีน้อย ก็ไม่พอแก่มหาชน เมื่อมีมาก มหาชนก็ไม่รู้จักอิ่มไม่รู้จักพอด้วยกาม น่าสลดใจน้อยไปหรือที่มหาชนพากันบ่นเพ้อถึงแต่เรื่องกาม มุ่งหมายเอากามเป็นสิ่งตอบแทนความเพียรพยายาม ผู้มีปัญญาประกอบความเพียรพึงเว้นความมุ่งหมายนั้นเสีย"

พระเจ้าอัฒมาสกตัดสินพระทัยสละราชสมบัติ ออกผนวชอยู่ในป่าหิมพานต์ ด้วยความเพียรพยายาม สิ้นชีพแล้วไปสู่พรหมโลก

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น