นิทานสอนใจ : อุทิศส่วนกุศลให้แก่ "ความดี"
เรื่องนี้มาแปลกมาก มีด้วยหรือที่ไปอุทิศส่วนกุศลให้แก่ความดี เท่าที่เคยรู้ ๆ กันนั้น คงทั้งหลายมีแต่ทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่คนที่ตายไปแล้ว ถ้าอย่างนั้นก็แสดงว่าความดีได้ตายจากโลกนี้แล้วกระมัง จึงต้องทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้
อ่านเรื่องกันก่อนดีกว่าครับ...
คนที่ทำบุญอุทิศให้แก่ความดีนั้น เป็นพราหมณ์หญิงแห่งเมืองสาวัตถี เมื่อหลายพันปีมาแล้วเชื่อว่า "กัจจานี" นางมีบุตรชายโตเป็นหนุ่มแล้วอยู่คนหนึ่ง บุตรชายคนนี้ดีต่อมารดามาก เขาดูแลนางพราหมณีให้มีความสุขสบายโดยไม่ให้เหน็ดเหนื่อย จนนางกัจจานีสงสารอยากให้ลูกมีคนมาช่วยแบ่งเบาภาระ โดยการหาหญิงสาวที่คู่ควรมาเป็นภรรยา
ในครั้งแรกชายหนุ่มก็ปฏิเสธ ด้วยคิดว่าไม่ได้เหน็ดเหนื่อยยากอันใดนักหนา มีความเต็มใจที่มีโอกาสได้ปรนนิบัติมารดาเช่นนี้ แต่ในที่สุดทนการรบเร้าจากมารดาไม่ไหวจึงต้องรับหญิงคนหนึ่งมาเป็นภรรยา
แม้ว่าจะแต่งงานไปแล้ว ชายหนุ่มก็ยังดูแลยกย่องมารดาดังเดิม เป็นเหตุให้ผู้เป็นภรรยาเกิดความอิจฉา ริษยา อยากได้รับการเอาอกเอาใจ และเป็นใหญ่ในบ้านบ้าง จึงเห็นว่านางพราหมณีเป็นเสี้ยนหนามที่ต้องกำจัดเสียให้พ้นทาง
เมื่อสามีไม่อยู่เมื่อใด ผู้เป็นภรรยาก็แกล้งนางกัจจานีต่าง ๆ นานา เช่น หุงข้าวดิบให้กินบ้าง ผสมน้ำเย็นจัด หรือร้อนจัดให้อาบบ้าง ปล่อยให้ยุงเข้ามุ้งบ้าง ทำดังนี้แล้วก็ยังฟ้องสามีว่า แม่นั้นเอาใจยาก บ่นจู้จี้จุกจิก ทำอะไรก็มีแต่ติ กระทำเช่นนี้บ่อย ๆ เข้า สามีก็ชักจะเอนเอียง เชื่อภรรยา จนถูกนางใช้มารยาหญิงยุยุงให้เขาไล่มารดาออกไป
นางกัจจาณีต้องเรร่อนอาศัยเขาบ้าง ขอทานบ้าง รับจ้างบ้าง ยังชีพไปวัน ๆ หนึ่งด้วยความลำบาก แต่ก็มิได้กล่าวโทษลูกแต่อย่างใด บุตรสะใภ้ของนางก็ไม่ได้หยุดความร้ายกาจ เมื่อนางตั้งครรภ์ และคลอดบุตรชายออกมา นางก็ประโคมข่าวว่านางมีโชคดี เพราะได้ขับคนอัปมงคลออกไปจากบ้าน
ฝ่ายนางพราหมณีมีความโทมนัสเศร้าเสียใจมากว่า "ธรรมะอันเป็นความดีงาม" ได้ตายไปจากโลกแล้วหรือ คนทำชั่วถึงได้ดี นางจึงตัดสินใจนำอาหารเข้าไปในป่าช้า ใช้หัวกระโหลก 3 หัวเป็นที่ตั้งหม้อและกระทะจุดเชื้อเพลิงหุมต้มอาหารเตรียมอุทิศให้แก่ธรรมะ
เรื่องแบบนี้คงไม่เคยเกิดขึ้นในโลก จึงร้อนถึงพระอินทร์ต้องปลอมเป็นพารหมณ์แก่มาสงเคราะห์นางพราหมณี โดยการรับอาสาไปลงโทษลูก และหลานของนางให้ถึงแก่ความตาย หรือทำให้เกิดความเจ็บปวดหรือให้ยากจนลง แต่ไม่ว่าจะเสนอโทษอย่างใด ๆ นางพราหมณีก็ไม่อาจเห็นความวิบัติที่จะเกิดกับบุตรชาย สะใภ้ และหลานของนางได้ พระอินทร์แปลงจึงชี้ให้เห็นว่า
"ธรรมะยังไม่ได้ตายไปจากโลกนี้ ด้วยเห็นชัด ๆ ว่า ยังมีอยู่แม้ในตัวของนางเองที่มีความรัก และความเมตตาต่อลูก ไม่ได้อาฆาตพยาบาทจองเวร หรือคิดอยากให้ลูกมีอันตรายใด ๆ เลย ส่วนกรรมดีกรรมชั่วนั้นย่อมมีจริง เพียงแต่ไม่ส่งผลทันตาเห็นอย่างที่เราต้องการเสมอไป"
ซึ่งนางกัจจานีก็เห็นจริง พราหมณ์เฒ่าจึงเรียกบุตรชาย และสะใภ้มาอบรมสั่งสอนให้ทราบถึงความรักอันสูงส่งของนางกัจจานี จนทั้งสองสำนึก และรับนางกัจจานีเข้าไปอยู่ในบ้าน คอยดูแลให้ความสุขจนสิ้นอายุขัย
เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความรักอันยิ่งใหญ่ของแม่ที่แสนจะบริสุทธิ์ผุดผ่องและเป็นอมตะ ซึ่งไม่มีความรักชนิดใด ๆ ในโลกมาเทียบเทียมได้
ดังนั้นผู้เขียนจึงอยากให้ผู้อ่านทุกท่านทบทวนดูความรักของแม่ในทุก ๆ วัน แล้วแสดงน้ำใจตอบด้วยวิธีการที่เหมาะสมของแต่ละคน ให้เลื่องลือกระฉ่อนเทียบเทียงกับความรักของแม่ในเรื่องนี้
//////////////
ขอขอบคุณนิทานเรื่องสั้น "ธรรมะบันดาลใจ นิทานต้นแบบแห่งความดี" สำนักพิมพ์ในเครือสถาพรบุ๊คส์
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น