นิทานสอนใจ : "นางกัจจานี" ผู้ไม่ละทิ้งธรรมของผู้ใหญ่
"ข้าพเจ้ามั่นใจว่า ธรรมสูญเสียแล้ว ส่วนที่ท่านกล่าวว่า ธรรมยังมีอยู่ ยังไม่สูญนั้น ข้าพเจ้ายังสงสัย ข้าพเจ้าสังเกตเห็นว่า เดี๋ยวนี้คนบาปมีชีวิตอยู่เป็นสุข"
ข้อความนี้ ออกจากปากและออกจากใจของหญิงชราคนหนึ่ง ซึ่งนั่งหุงข้าวในป่าช้าเพื่อเตรียมอุทิศให้แก่ธรรม ซึ่งเธอเข้าใจว่าตายเสียแล้ว โดยประสบการณ์ของนางเอง
เรื่องเป็นมาอย่างไร ? เรื่องโดยย่อมีว่าอุบาสกหนุ่มคนหนึ่ง เลี้ยงมารดาอยู่ในเมืองสาวัตถี ประเทศอินเดียสมัยพุทธกาล เขาเคารพมารดาเหมือนเทพเจ้า จัดแจงน้ำล้างหน้า น้ำบ้วนปาก ไม้สีฟัน น้ำอาบ น้ำล้างเท้า น้ำมันสำหรับนวดเท้า (กันเท้าแตก) ข้าวต้ม ข้าวสวย พร้อมบริบูรณ์
มารดาก็รักเขาประดุจแก้วตา ยาใจ มีความสุข เมื่อได้มองลูก ได้อยู่กับลูก วันหนึ่งนางพูดกับลูกว่า
"ลูกรัก เจ้าทำงานเหน็ดเหนื่อยทั้งในบ้าน นอกบ้าน แม่คิดว่า น่าจะมีใครสักคนหนึ่ง มาช่วยทำงานในบ้าน บำรุงเลี้ยงแม่แทนลูก ลูกเองจะได้ทำงานนอกบ้านโดยไม่ต้องกังวล ลูกจะทำงานเพื่อความเจริญมั่นคงของตระกูลเพิ่มขึ้นได้อีกไม่น้อย"
ชายหนุ่มมองดูแม่อย่างเข้าใจ แต่แย้งว่า
"แม่ ลูกทำให้แม่ด้วยความเต็มใจ มีความสุขใจที่ได้ทำ ลูกหวังประโยชน์สุขสำหรับตน และบุญกุศลอันเกิดจากการบำรุงเลี้ยงมารดาอย่างที่พระพุทธเจ้าทรงสอน ลูกอยากทำ แม่อย่าได้กังวลเรื่องนี้เลย อนึ่งเล่า ลูกไม่ต้องการครองเรือน เมื่อแม่หาชีวิตไม่แล้วลูกจะบวช"
มารดาอ้อนวอนเรื่องนี้บ่อย ๆ แต่ไม่สำเร็จ ชายหนุ่มคงยืนยันเหมือนเดิม นางจึงทำไปโดยพลการ คือไปนำหญิงคนหนึ่งซึ่งมีตระกูลเสมอกันมาเป็นสะใภ้ ชายหนุ่มไม่ได้คัดค้าน เพราะความเกรงใจมารดา
หญิงสะใภ้ เห็นสามีเคารพนบนอบบำรุงเลี้ยงมารดาด้วยอุตสาหะอย่างยิ่ง ก็ทำเช่นนั้นบ้าง อย่างสม่ำเสมอ จนสามีรักใคร่เห็นใจ เมื่อได้ของกินที่อร่อยมา ได้เสื้อผ้าที่ดีมา ก็มอบให้ภรรยาทั้งสิ้น ด้วยหวังว่าภรรยาจะให้ของนั้น ๆ แก่มารดาเอง
นานวัน หญิงที่เป็นภรรยาเข้าใจผิดคิดว่า สามีรักตนแต่เพียงผู้เดียว ไม่ได้รักแม่เลย เขาจึงต้องการขับไล่มารดา นางจึงเริ่มวางแผนที่จะไล่แม่ผัวออกจากบ้าน
"พี่ เมื่อพี่ไม่อยู่ วันนี้แม่เขาด่าฉัน" นางฟ้องสามี
แต่อุบาสกผู้หนักแน่น เคารพมารดาและรู้จักมารดาของตนดี นิ่งเสีย ทำให้นางผิดหวังมาก
หลังจากวันนั้น นางก็ทำอุบายอื่น ๆ เพื่อใส่โทษผิดแก่แม่ผัว เช่น ให้ข้าวต้มที่ร้อนเกินไป เมื่อแม่ผัวบอกว่าร้อนเกินไป นางก็เติมน้ำเย็นลงไปเกินประมาณ จนเย็นเกินไป แม่ผัวก็บ่นว่าเย็นเกินไป แล้วนางก็โกรธว่า ไม่รู้จะทำอย่างไรให้ถูกใจ เรื่องอาบน้ำก็เช่นกัน เรื่องความเค็ม ความจืดของอาหารก็เหมือนกัน นางทำให้เอียงสุดไปข้างใดข้างหนึ่ง เพื่อหาเรื่องแม่ผัว ออกจากบ้านเที่ยวพูดให้เพื่อนบ้านฟังว่า แม่ผัวของตัวเอาใจยากแสนยาก
วันหนึ่งแม่ผัวบอกว่า "ที่เตียงของแม่มีเรือดชุกชุม" นางก็ทำทีไปรื้อเตียงเคาะเตียง แต่เป็นเตียงของนางเอง แล้วบอกว่าทำเรียบร้อยแล้ว คืนนั้นแม่ผัวผู้เป็นอุบาสิกาต้องนั่งตลอดทั้งคืน ไม่อาจนอนได้ พอนอนบนเตียงก็ถูกเรือดกัด วันรุ่งขึ้นนางบอกกับลูกสะใภ้ แต่ลูกสะใภ้เถียงว่า เมื่อวานก็ทำให้เรียบร้อยแล้ว นางก็นิ่งเสีย
แผนสุดท้าย ของลูกสะใภ้ ในวันหนึ่ง คือแกล้งบ้วนน้ำลาย สั่งน้ำมูก ให้เลอะเทอะทั่วบ้าน เมื่อสามีกลับมา ถามว่า
"ทำไม น้ำลาย น้ำมูก จึงเลอะบ้านอย่างนี้"
"ก็แม่ของพี่นะซิ ทำไว้ ห้ามอย่างไรก็ไม่เชื่อ"
ชายหนุ่ม มองอย่างสงสัย
"พี่เลือกเอาก็แล้วกัน จะให้แม่อยู่บ้านนี้หรือจะให้ฉันอยู่ ถ้าแม่อยู่ ฉันไม่อยู่ ถ้าจะให้ฉันอยู่ แม่ต้องไม่อยู่"
นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง ชายหนุ่มจึงกล่าวว่า "เธอยังสาว ยังสวย จะไปอยู่ที่ไหน หรือหาสามีใหม่ก็คงได้ แต่แม่ของฉันแก่แล้ว จะไปไหนได้ เพราะฉะนั้น เธอนั่นแหละควรจะไป"
เมื่อได้ฟังสามีพูดจริงเช่นนั้น นางลูกสะใภ้ก็เกิดความกลัวขึ้น คิดว่าสามีรักแม่เขามาก ถ้าเราไปเราต้องเป็นหม้าย คงได้รับความทุกข์อื่น ๆ อีกหลายอย่าง
ตั้งแต่วันนั้นมา นางก็เลิกกลั่นแกล้งแม่ผัว ปฏิบัติตัวเป็นลูกสะใภ้ที่ดีอย่างเดิม ครอบครัวก็อยู่กันเป็นสุขตลอดมา
วันหนึ่ง ชายหนุ่มผู้เป็นอุบาสก ไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่วัดเชตวัน พระศาสดาตรัสถามว่า ไม่ประมาทในบุญอยู่หรือ ยังบำรุงเลี้ยงมารดาอยู่หรือ เขากราบทูลว่า ยังทำอยู่ และได้เล่าเรื่องที่เกิดขึ้นให้ทรงทราบ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า "เดี๋ยวนี้เธอไม่เชื่อคำของภรรยา แต่ในชาติหนึ่งในอดีตเธอเคยเชื่อ เคยไล่มารดาออกจากบ้าน แต่ได้อาศัยเรา จึงได้นำมารดากลับมาสู่เรือนบำรุงเลี้ยงอย่างเดิม"
ตรัสเล่าเรื่องในอดีต ตอนต้น ๆ ก็เหมือนเรื่องในปัจจุบัน แต่พอภรรยายื่นคำขาดว่าให้เลือกเอาระหว่างแม่กับนาง สามีได้เลือกภรรยา แต่ไล่มารดาของตนออกจากเรือน
หญิงชราออกจากบ้านลูกชายไปแล้ว ไปอาศัยอยู่บ้านเพื่อนแห่งหนึ่ง ทำงานรับจ้างเลี้ยงชีพด้วยความยากลำบาก ฝ่ายหญิงสะใภ้เมื่อแม่ผัวออกจากบ้านไปแล้วก็ตั้งครรภ์ นางได้พูดกับสามีและเพื่อนบ้านว่า แม่ผัวเป็นกาลกรรณี เพราะเมื่ออยู่ นางไม่ได้ตั้งครรภ์ พอแม่ผัวออกจากบ้านไป นางก็ตั้งครรภ์ ต่อมานางได้คลอดบุตรก็ได้เที่ยวพูดเช่นนั้นเหมือนกัน
ฝ่ายหญิงชราผู้น่าสงสาร ได้ทราบข่าวเช่นนั้นรู้สึกสังเวชสลดใจคิดว่า "ธรรมคงได้ตายไปจากโลกนี้เสียแล้ว ไม่เช่นนั้นหญิงผู้โหดร้ายอย่างลูกสะใภ้ของเรา จะมีบุตรและมีความสุขในการครองเรือนได้อย่างไร"
วันหนึ่ง นางได้ถืองา แป้ง ข้าวสาร ทัพพี และถาด เข้าไปในป่าช้า เอาศีรษะมนุษย์ที่ตายแล้ว 3 ศีรษะมาทำเตาไฟ ก่อไฟแล้ว ลงน้ำ สระผม บ้วนปาก สยายผม มาที่เตาไฟ เริ่มซาวข้าว เพื่อถวายมตกภัตต์ (อาหารเพื่อผู้ตาย) แก่ธรรม
ครั้งนั้น พระพุทธเจ้าของเรา เสวยพระชาติเป็นเทพ ทรงทราบว่า หญิงชรากำลังมีทุกข์ ต้องการช่วยเหลือด้วยความกรุณา จึงแปลงเพศเป็นพราหมณ์ ผู้เดินทางไกลเดินเข้าไปในป่าช้า ยืนอยู่ใกล้ ๆ ถามนางว่า
"กัจจานี ท่านสระผมนุ่งผ้าห่มผ้าขาว ยกภาชนะขึ้น สู่เตาอันทำด้วยกะโหลกศีรษะมนุษย์ ยีแป้ง ล้างงา ซาวข้าวสาร จะทำข้าวสุกคลุกงาเพื่ออะไรกัน"
"ข้าวสุกคลุกงานี้ เราไม่ทำเพื่อกินเอง แต่เพื่ออุทิศให้ธรรม ธรรม คือ ความเคารพอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่ ธรรม คือ สุจริต 3 (กาย วาจา ใจ) ได้สูญหายไปจากโลกนี้เสียแล้ว"
เทพผู้แปลงกายเป็นพราหมณ์ยืนยันว่า ธรรมไม่ตาย ไม่หายสาบสูญไปไหน ธรรมยังมีอยู่ ธรรมนั้นอานุภาพหาที่เปรียบไม่ได้ ธรรมไม่เคยตายและจะไม่ตาย
นางกัจจานี ตอบว่า "ที่ว่าธรรมสูญเสียแล้วนั้น ข้าพเจ้านึกมั่นใจเอาเอง ข้อที่ท่านว่า ธรรมยังไม่สูญนั้น ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ เพราะเดี๋ยวนี้คนใจบาป มีชีวิตอย่างเป็นสุขได้ ดูแต่หญิงสะใภ้ของข้าพเจ้าเถิด นางไม่มีบุตร แต่พอทุบตี ไล่ข้าพเจ้าออกจากบ้านได้ กลับมีบุตรและมีความสุขเป็นใหญ่ในตระกูล บัดนี้ข้าพเจ้าถูกทอดทิ้งไม่มีที่พึ่ง ต้องอยู่คนเดียว"
เทพกล่าวว่า "หญิงสะใภ้คนใด ทำเช่นนั้นแก่ท่าน ข้าพเจ้าจะทำให้หญิงนั้นพร้อมทั้งบุตรของนางเป็นขี้เถ้าทีเดียว"
"ท่านผู้กรุณา" นางกัจจานีกล่าว "ข้าพเจ้าไม่ประสงค์ให้ท่านไปเบียดเบียนเขาหรอก เพียงแต่ถ้าข้าพเจ้าได้มีโอกาสไปอยู่ร่วมกับลูกชาย ลูกสะใภ้และหลาน ข้าพเจ้าก็พอใจแล้ว"
พราหมณ์ (คือเทพผู้แปลงกายมา) กล่าวว่า "ถ้าท่านพอใจเช่นนั้นก็ตามใจเถิด ท่านถูกทุบตี ถูกขับไล่เช่นนี้แล้ว ก็ยังไม่ละทิ้งธรรมของผู้ใหญ่ คือเมตตากรุณา ขอให้ท่านพร้อมด้วยบุตรหลานจงอยู่ร่วมกันอย่างเป็นสุขเถิด"
ด้วยอานุภาพของเทพ ดลใจให้ลูกและลูกสะใภ้ของนางกัจจานีระลึกถึงนาง เที่ยวเสาะแสวงหา ไปเจอนางที่ป่าช้า ร้องไห้คร่ำครวญขอโทษที่ประพฤติผิดต่อแม่ ให้แม่ยกโทษให้ และพาไปเลี้ยงดูอย่างดีเหมือนเดิม
พระศาสดาตรัสว่า เทพในครั้งนั้น คือพระองค์เอง ส่วนลูก ลูกสะใภ้ และแม่ในครั้งนั้น ก็คือแม่ลูกในบัดนี้ ทรงเป็นที่พึ่งของครอบครัวนี้ ทั้งในบัดนั้นและบัดนี้
ในชีวิตจริงของคนเราแม้ในปัจจุบัน ก็มีเรื่องทำนองนี้อยู่ไม่ใช่น้อย ลูกสะใภ้ก็ไม่ดี สามีเชื่อภรรยาที่ใส่ร้ายแม่ตัว เพราะไม่อยากเลี้ยง หรือริษยาแม่ที่สามีรัก อยากให้ทุ่มเทความรักมาให้ตัวคนเดียว แต่พอมีลูกขึ้นเองบ้าง ตัวรักลูกอย่างไร ก็อาจทำให้หวนระลึกถึงพ่อแม่ว่า คงรักตัวเช่นนั้นเหมือนกัน จึงเคารพพ่อแม่ซาบซึ้งในน้ำใจของพ่อแม่ อนึ่งเกรงไปว่า เมื่อตนปฏิบัติต่อพ่อแม่ไปดีเช่นนั้น ต่อไปภายหน้า ถ้าลูกของตัว ทำกับตนเช่นนั้นบ้าง จะระทมสักเพียงใด เรื่องแบบนี้มักเป็นกงเกวียนกำเกวียนอยู่ด้วย
ในชีวิตของคนเรานั้น มีบ่อยไปที่คนซึ่งเราหวังว่า จะพึ่งได้ กลับไม่ได้พึ่ง คนที่หวังว่าจะนำความชื่นชมโสมนัสมาให้ กลับนำแต่ความทุกข์โทมนัสมาให้ คนที่เราหวังมาก รักมาก ทุ่มเทให้เราแต่ความผิดหวัง ซ้ำซอก แต่ในทางกลับกัน คนที่เราไม่เคยหวังว่าจะได้พึ่ง กลับให้ที่พึ่ง เราไม่เคยหวังว่าจะได้รับความชื่นใจจากเขา เขากลับนำแต่ความชื่นใจมาให้
มีบ่อยไป ที่เราดูคนผิด แล้วเราต้องเสียใจไปนาน เราคบคนผิด บางทีทำให้เราก้าวพลาด กว่าจะก้าวกลับคืนต้องใช้เวลานานแสนนาน ตรงกับสุภาษิตภาษาอังกฤษที่ว่า A stitch in time saves mines แปลว่า สิ่งที่ส่องแสงแวววาว ไม่ใช่ทองเสมอไป (All that glitters is not gold) สิ่งที่ปรากฏให้เห็นมักหลอกลวงเราได้เสมอ (Appearances are often deceptive)
ทางที่ดีก็คือ อย่าประมาท อย่ามั่นใจอะไรนัก จิตใจของคนเราเปลี่ยนแปลงได้เสมอ แม้ใจของเราเองก็ไม่ได้ต่างไปจากใจของคนอื่น คนที่เคยรักเคารพนับถือเรามาก ๆ เขาอาจโกรธ เกลียดเรา เลิกเคารพ นับถือเราเมื่อไรก็ได้
ประวัติศาสตร์โลก และข่าวต่าง ๆ ของโลก ที่แพร่ออกมาทางวิทยุหรือโทรทัศน์ทุกวันนั้น มีไว้เพื่อความสังเวชสลดใจ เพื่อปลงนั่นเอง
เห็นคนจนแล้ว ก็หมดความอยากที่จะรวย เห็นคนแก่แล้ว ก็สูญสิ้นความภูมิใจในความเป็นหนุ่มสาวเพราะถึงอย่างไร เราก็ต้องแก่อย่างนั้นแน่นอนถ้ามีชีพยืนยาวไป
เห็นคนแย่งชิงผลประโยชน์กัน ทำลายล้างกันด้วยวิธีต่าง ๆ แล้ว ไม่อยากเข้าไปแตะต้องสังคมใด ๆ เลย
สำหรับใครที่ได้อ่านนิทานเรื่องนี้ คงรู้ดีว่า การทำอะไรลงไปย่อมได้สิ่งนั้นตอบแทน เพราะชีวิตเป็นวัฎจักร กงเกวียนกำเกวียนของชีวิตตามผลบุญและผลบาปที่ได้ก่อขึ้น และนอกจากนั้นความกตัญญูต่อผู้ให้กำเนิดเป็นเรื่องที่ลูก ๆ ทุกคนสมควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง กลับไปทดแทนพระคุณที่ท่านได้เลี้ยงดูเราให้เติบใหญ่ และแน่นอนว่าไม่มีใครดีไปกว่าพ่อแม่ของเราเป็นแน่แท้
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น