นิทานสอนใจ : 'นางทาสี' หญิงรับใช้ ผู้มี 'ปัญญาหญิง'
ในวันที่มีการเล่นมหรสพวันหนึ่ง ในเมืองสารัตถี ประเทศอินเดีย หญิงคนใช้คนหนึ่งของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ต้องการไปเล่นสนุกกับเพื่อนๆ ในสวน จึงขอยืมเครื่องประดับ เครื่องแต่งกายของนายหญิง คือ นางบุญลักษณเทวี (ภรรยาของอนาถบิณฑิกเศรษฐี) หญิงผู้เป็นนายก็ยอมให้ยืม เพราะเห็นเป็นคนรับใช้คนสนิท และสามารถคุ้มครองรักษาเครื่องประดับนั้นได้ ซึ่งมีราคาถึงหนึ่งแสนกหาปณะ (ชื่อมาตราเงินในสมัยโบราณ 1 กหาปณะเท่ากับ 20 มาสก หรือ 4 บาท)
นางประดับเครื่องแต่งกายอันสวยงามแล้วไปเล่นในสวนกับหมู่หญิงคนใช้ด้วยกัน โจรคนหนึ่งเกิดโลภ อยากได้เครื่องประดับของหญิงคนนั้น คิดว่าเธอจะฆ่าเธอเอาทรัพย์เสีย จึงเข้าตีสนิทเดินสนทนากันไป ซึ่งได้ให้ปลาเนื้อ และสุราแก่เธอ นางคิดว่าชายคนนี้คงให้ของแก่เธอด้วยความเสน่ห์หา จึงรับไว้ แล้วเที่ยวเล่นในสวนด้วยกัน แต่เพื่อจะทดลองให้รู้แน่ชัด ตกเย็นจึงปลุกเพื่อนๆ ผู้เล่นจนเหนื่อยแล้วหลับไปให้ลุกขึ้น แล้วตัวเองไปหาโจร เผื่อว่ามีอะไรเกิดขึ้น เพื่อนๆ จะพอช่วยได้ โดยโจรกล่าวว่า
"ที่รัก ตรงนี้ไม่ค่อยมิดชิดนัก ไปอีกหน่อยเถิด"
นางคิดว่า ตรงนี้ อันที่จริง ก็มิดชิดพอที่จะแสดงความรักใคร่เสน่หาสำหรับผู้ที่มีความรักโดยสุจริต ชายผู้นี้คงคิดจะฆ่าเราเอาเครื่องประดับเป็นแน่ แต่ก็เอาเถอะ เราจะสอนให้เขารู้ว่าผลแห่งการคิดชั่วนั้น เป็นอย่างไร นางบอกตัวเอง และกล่าวว่า
"นาย ฉันอ่อนเพลียเพราะดื่มสุรามาก รวมทั้งคอแห้งกระหายน้ำ ท่านจงหาน้ำให้ฉันดื่มก่อนเถิด"
เมื่อเดินกันไป เจอบ่อน้ำแห่งหนึ่ง นางขอให้ชายตักน้ำในบ่อ ชี้เชือก และหม้อน้ำให้ โจรเอาเชือกผูกหม้อน้ำ แล้วหย่อนลงบ่อ ขณะที่โจรก้มหลังจะตักน้ำ นางผู้มีกำลังมากจึงใช้มือทั้งสองทุบตะโพกโจรแล้วผลักลงไปในบ่อ เห็นว่าเพียงเท่านี้คงยังไม่ตาย จึงเอาหินแผ่นใหญ่ทุ่มลงตรงศีรษะพอดี โจรตายในบ่อนั้น
นางกลับเข้าเมือง มอบเครื่องประดับให้นาย เล่าเรื่องทั้งหมดให้นายทราบ บอกว่าเกือบตาย เพราะเครื่องประดับนี้ นางบุญลักษณเทวีเล่าเรื่องนี้ให้ท่านอนากบิณฑิกเศรษฐีทราบ จึงได้ทูลเล่าเรื่องนั้นให้พระพุทธเจ้าทรงทราบต่อไป
พระพุทธเจ้าตรัสว่า นางทาสี (หญิงรับใช้) คนนี้ เป็นผู้มีปัญญาหญิงรู้เท่าทันเหตุการณ์ ไม่เพียงแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อนก็เคยเกิดขึ้นมาแล้วเหมือนกัน
ย้อนกลับไปในอดีตกาล หญิงโสเภณีคนหนึ่ง ชื่อ "สุลสา" มีหญิงเป็นบริวารถึง 500 คน ราคาค่าตัวของนางคืนละห้าพันกหาปณะ ในเมืองพาราณสีนั้นมีโจรคนหนึ่งชื่อ "สัตตุกะ" มีกำลังประดุจช้างสาร กลางคืนเที่ยวปล้นทรัพย์ชาเมืองตามใจชอบ ชาวเมืองประชุมกันร้องทุกข์แด่พระราชา
วันหนึ่ง โจรสัตตุกะถูกจับได้ ถูกเฆี่ยนด้วยหวายทีละ 5 เส้น กำลังถูกนำไปสู่ตะแลงแกง (ที่ฆ่า) นางสุลสายืนอยู่ที่หน้าต่างเห็นโจรผู้นั้น เกิดความพอใจอยากได้ไว้เป็นสามี คิดว่า ถ้าได้โจรนั้นเป็นสามี ก็จะเลิกอาชีพโสเภณี จึงให้บริวารไปติดสินบนเจ้าหน้าที่ เป็นจำนวนเงินพันกหาปณะ
เมื่อโจรพ้นโทษแล้ว นางก็ได้อยู่ร่วมอภิรมย์กับโจรนั้น ล่วงมา 3-4 เดือน โจรคิดจะฆ่านางเพื่อเอาเครื่องประดับซึ่งราคานับเป็นเงินแสนกหาปณะ จึงได้บอกนางว่า ตอนที่ถูกจับนั้น ได้ผ่านภูเขาลูกหนึ่งบนบานกับรุกขเทพว่า ถ้าพ้นโทษได้ ก็จะนำพลีกรรมมาถวาย ขอให้นางแต่งกายอย่างสวยงามด้วยเครื่องประดับราคาแพงเมื่อทำพลีกรรมด้วยกัน
เมื่อไปถึงเชิงเขา โจรบอกกับนางว่า ควรให้บริวารกลับไปเสีย หรือให้คอยอยู่ที่เชิงเขานั่นแหละ เพราะถ้าขึ้นไปทั้งหมด รุขเทวดาเห็นคนมาก จักไม่รับพลีกรรม นางสุลสา ตกลงตามคำของโจร นางแบกถาดเครื่องทำพลีกรรมขึ้นไป ส่วนโจรเหน็บอาวุธ 5 ชนิด เดินขึ้นไปบนภูเขา เขาให้นางวางถาดเครื่องพลีกรรมไว้ที่โคมไม้ปากเหวลึก ลึกถึงร้อยชั่วคน และพลางกล่าวว่า
"ฉันมานี่ ที่จริง ไม่ใช่มาเพื่อทำพลีกรรมดอก แต่มาเพื่อฆ่าเธอเอาเครื่องประดับ เธอจงรีบถอดเครื่องประดับของเธอออกมาห่อผ้าเถิด"
เมื่อได้ยินเช่นนั้น นางรู้สึกตกใจ ไม่คาดหวังว่า เหตุการณ์ทำนองนี้จะเกิดขึ้น ไม่คิดว่า สันดานโจรจะเป็นสิ่งที่ละทิ้งไม่ได้ นางจึงรำพันให้สามีโจรฟังว่า
"นาย ลองระลึกถึงคุณที่ฉันทำไว้บ้าง ฉันปลดเปลื้องนายจากโจรที่จะต้องถูกประหารชีวิต มาเป็นลูกเขยเศรษฐี มีทรัพย์มั่งคั่ง มีบริวาร กินอยู่สบาย ฉันเองแม้เคยได้ทรัพย์ถึงวันละห้าพันกหาปณะ ก็ละทิ้งรายได้นั้นเสีย เพราะเห็นแก่นาย ฉันไม่เหลียวแลชายอื่นอีกเลย นายลองนึกถึงความดีของฉันดูเถิด อย่าฆ่าฉันเลย เมื่อนายไว้ชีวิตฉัน ทั้งตัวฉัน และทรัพย์สมบัติของฉันทั้งหมด ก็เป็นของนายอยู่แล้ว ฉันยอมเป็นทาสี (หญิงรับใช้) รับใช้ท่าน"
โจรไม่ยอมฟังเสียงรำพันของนาง ยืนยันจะฆ่าเอาเครื่องประดับอย่างเดียว นางนึกวางแผนอยู่ในใจจึงกล่าวว่า
"ตั้งแต่น้อยคุ้มใหญ่ ฉันไม่เคยรักชายอื่นเลย ฉันรักนายคนเดียว ไหนๆ ฉันก็จะตายแล้ว ขอกอดนายให้สมใจรักอีกสักครั้งหนึ่งเถิด"
ความโลภเข้าครอบงำ โจรมิได้เฉลียวถึงอันตราย จึงนั่งอย่างไม่ระวัง นางสุลสาสวมกอดโจรผู้เป็นสามีพร่ำรำพันถึงความรัก ความอาลัยว่า ต่อไปนี้ จะไม่ได้เห็นกันแล้ว ไหว้โจรข้างหน้า ด้านข้าง และด้านหลัง เมื่อตอนอยู่ข้างหลัง โจรเผลอตัว นางจึงได้ใช้กำลังทั้งหมด ผลักโจรลงไปในเหวสิ้นชีวิต
เทพผู้สถิตย์อยู่ ณ ภูเขานั้น ได้เห็นเหตุการณ์โดยตลอด กล่าวขึ้นด้วยความยินดีว่า
"ชายจะเป็นผู้เฉลียวฉลาดเป็นบัณฑิตในที่ทุกแห่งก็หาไม่ หญิงผู้เฉลียวฉลาดมีปัญญาวิจักษ์ คือแจ่มแจ้งชัดเจนก็เป็นบัณฑิตได้เหมือนกัน"
"ดูเถิด ดูตัวอย่าง นางสุลสาฆ่าโจรสัตตุกะได้อย่างรวดเร็ว เหมือนพรานเนื้อผู้ฉลาด ฆ่าเนื้อได้อย่างฉับพลัน ในโลกนี้ ผู้ใดไม่รู้เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเฉพาะหน้า เบาปัญญา ผู้นั้นย่อมถูกฆ่าตายเหมือนโจรสัตตุกะ ส่วนผู้ใดรอบรู้เหตุการณ์เฉพาะหน้า มีไหวพริบ ผู้นั้นย่อมสามารถทำตนให้พ้นจากการเบียดเบียนของศัตรูได้ เหมือนสุลสาพ้นจากโจรสัตตุกะ ฉันนั้น"
การกระทำของสุลสา ได้รับการสรรเสริญจากเทพผู้เป็นบัณฑิต เพราะเห็นว่า การกระทำนั้นสมควรแก่เหตุ นายโจรนั้น เป็นคนอกตัญญูประทุษร้ายมิตร สมควรได้รับผลเช่นนั้น ถ้าไม่ปราบปรามคนชั่วเช่นนี้ คนดีก็อยู่ลำบาก หรืออาจอยู่ไม่ได้ เพราะถูกเบียดเบียนบีบคั้น การกระทำอะไรให้สมควรแก่เหตุ จึงได้รับการยินยอม ได้รับการสรรเสริญจากบัณฑิตอยู่เสมอ
ในสมัยพุทธกาล ก็เคยมีประวัติของพระเถรีอรหันต์รูปหนึ่ง ชื่อ "กุณฆลเกสี" เคยช่วยโจรไว้จากการประหารชีวิต ทำนองเดียวกับเรื่องสุลสานี้ ซึ่งโจรได้หลอกท่านไปฆ่าที่ภูเขา และท่านก็ได้ผลักโจรลงเหวในทำนองเดียวกัน ต่อมา ได้มาบวชในสำนักปริพพาชก และได้พบพระสารีบุตร ได้บวชเป็นภิกษุณีในพุทธศาสนาได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์
'ปัญญาหญิง' เป็นคุณธรรมสำคัญ สำหรับวินิจฉัยเหตุการณ์ว่า ในเหตุการณ์ใด ควรทำอย่างไรเป็นเนปักกปัญญา คือ ปัญญาเป็นเครื่องคุ้มครองรักษาตน แต่ไม่ได้หมายความว่า "ดีแต่เอาตัวรอด" ไม่กล้าเผชิญหน้ากับอุปสรรคอันตราย เป็นคนกล้าแต่กล้าอย่างมีปัญญา มิใช่กล้าอย่างโง่เขลา อันเป็นเหตุนำตนเข้าหาภัยพิบัติ
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น