นิทานสอนใจ : อย่าเพ่อดีใจ-อย่าเพ่อวิ่งหนี

นิทานสอนใจ : อย่าเพ่อดีใจ-อย่าเพ่อวิ่งหนี


สวัสดีครับ นิทานสอนใจอาทิตย์นี้ ทีมงานมีนิทานเรื่องสั้นให้แง่คิดมาฝากกัน 2 เรื่อง ในแต่ละเรื่องมีเนื้อหาที่ฉุดกระฉากจิตใจของใครบางคนให้หวนคิด หรือกลับมามองด้านในของตัวเองได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่หลาย ๆ ท่าน

อย่าเพ่อดีใจ

เริ่มกันที่เรื่องแรก กล่าวถึงพ่อที่รู้สึกขบขันแกมสงสาร เมื่อเห็นลูกชายคนโตดีใจจนเนื้อเต้นเมื่อได้รับปากกาป๊ากเกอร์ 51 ด้ามหนึ่งเป็นของขวัญวันเกิด และเห็นลูกชายคนเล็กดีใจมากไปกว่านั้นอีกหลายเท่า เมื่อได้รับลูกกวาดของนอกกระป๋องเล็ก ๆ กระป๋องหนึ่งเป็นของขวัญในโอกาสเดียวกัน

แต่ตัวพ่อกลับไม่รู้สึกขบขัน หรือสมเพชตัวเองเลยที่ตื่นเต้น และมือสั่นใจรัวยิ่งไปกว่าลูกทั้งสองคนอีกเมื่อได้รับบัตรเชิญให้ไปงานมีเกียรติชั้นพิเศษของเจ้านายรายหนึ่งซึ่งไม่เคยนึกฝันและไม่เชื่อตาตัวเองว่า บัตรนั้นจะส่งมาเชิญตน

ดังนั้น มันเป็นการเหลือวิสัยที่จะให้พ่อดีใจจนเนื้อเต้นเมื่อได้รับปากกาชนิดนั้นด้ามหนึ่ง หรือเมื่อได้ลูกกวาดกระป๋องหนึ่ง แต่ในที่สุดก็ไม่พ้นจากการต้องมีใจเต้นรัวมือสั่น เพราะได้กระดาษแผ่นเล็ก ๆ อันหมายความถึง เกียรติอันหรูหรา ซึ่งจริงอยู่ที่รูปธรรมอย่างปากกา หรือลูกกวาด ไม่เหมือนกับนามธรรม เช่น เกียรติ หรือไม่มีค่าสูงเท่าเทียมกันได้

แต่กระนั้น เราต้องไม่ลืมว่า มันสามารถเขย่าตัณหา (ภวตัณหา) ของคนได้ทำนองเดียวกันโดยไม่มีผิดในฐานะที่เป็นวัตถุแห่งความพอใจจนลืมตัวได้เท่ากัน แล้วแต่ความใคร่ของใครผู้ใดมีอยู่อย่างไร ส่วนความที่ต้องใจเต้น มือสั่นเหล่านั้น มันก็ไม่ผิดกันที่ตรงไหน เพราะฉะนั้น ใครเล่าที่ควรสมเพชกว่ากันระหว่าง พ่อ หรือลูกรายนี้

อย่าเพ่อวิ่งหนี

มาสอนใจกันต่อด้วยนิทานเรื่องที่ 2 เป็นเรื่องที่กล่าวถึงแม่กับลูกในงานกระบวนแห่สิงโตบนถนนแห่งหนึ่ง งานในวันนั้น ทำให้ประชาชนแตกตื่นพากันอุ้มลูกจูงหลานออกมาดู เด็กอายุ 3-4 ขวบคนหนึ่ง ร้องไห้เพราะความกลัว สิงโตก็ดิ้นอย่างสุดชีวิต แม่จึงต้องอุ้มพาลูกหนีเข้าไปในสวนข้างถนนแห่งหนึ่ง พลางบ่นว่า "น่าสงสารลูกโง่ ๆ คนนี้เหลือเกิน แม่จะได้ดูอะไรสักนิดก็ไม่ได้ดู"

ทันใดนั้นเองแม่ก็ดิ้น และร้องวี๊ดว๊าดขึ้น เพราะกิ้งกือตัวหนึ่งเผอิญหล่นลงมาจากต้นไม้และตกลงไปในเสื้อ ลูกเล็ก ๆ คนนั้นหัวเราะชอบใจ และบอกแม่ว่า เขาจะช่วยหยิบออกให้ แล้วก็ช่วยหยิบทิ้งให้จริง ๆ

เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า มันเป็นการสุดวิสัยที่จะไม่ให้ลูกกลัวสิ่งที่มีลักษณะ และอาการอย่างภูตผีปีศาจ กระโดดโลดเต้นเข้ามาราวกับจะจับเอาตัวไปกิน แต่ทีแม่เองกลับกลัวกิ้งกือตัวนิดเดียว ทั้งเลื้อยด้วยท่าทางอันนิ่มนวล อ่อนโยนราวกับเข้ามาแสดงความเคารพ หรือขอความช่วยเหลืออะไรสักอย่างหนึ่ง ความกลัวของแม่ก็กลัวอย่างจะขาดใจตาย เช่นเดียวกับลูกเหมือนกัน

ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นภูตผีปีศาจ หรือเป็นสัตว์ตัวนิด ๆ อย่างเช่น กิ้งกือไส้เดือนก็ตาม ย่อมสามารถปลุกปั่นความกลัวได้โดยทำนองเดียวกัน ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งความขลาด และวิ่งหนีได้โดยเสมอกัน ในที่สุดก็เหลือแต่สิ่งที่ต้องคำนวณดูว่า ลูกอายุเพียง 2-3 ขวบ ส่วนแม่อยู่ในฐานะที่เป็นแม่ หรือผู้ปกครองสั่งสอนลูกแล้ว ในกรณีนี้ใครเล่าที่โง่เขลาน่าสมเพชกว่าใครระหว่าง แม่หรือลูกรายนี้

////////////////

ข้อมูลประกอบข่าว

คำว่า "เพ่อ" นั้น ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ระบุความหมายไว้อย่างชัดเจนว่า ใช้ประกอบหลังคํา อย่า เป็น อย่าเพ่อ หมายความว่า ห้ามไม่ให้กระทําในขณะนั้น เช่น อย่าเพ่อกิน หรือเพ่อ อาจแปลได้ว่า พึ่ง เพิก หรือ เพิ่ง ก็ได้ เช่น อย่าพึ่งดีใจ หรืออย่าพึ่งวิ่งหนี

*** ขอขอบคุณนิทานเรื่องสั้นของท่านพุทธทาสภิกขุแห่งสวนโมกขพลาราม สำนักพิมพ์ธรรมสภา

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น