นิทานสอนใจ : สุมังคละกับพระราชาพรหมทัต "ผู้ทรงธรรม"

นิทานสอนใจ : สุมังคละกับพระราชาพรหมทัต "ผู้ทรงธรรม"


พระปัจเจกพุทธเจ้า ท่านผู้ได้ตรัสรู้เององค์หนึ่ง ออกเดินทางจากภูเขานันทมูลกะ จาริกถึงนครพาราณสี (ในอินดีย) และไปอาศัยอยู่ในพระราชอุทยาน พอรุ่งเช้าได้เข้าไปบิณฑบาตในพระนคร พระเจ้ากรุงพาราณสีทอดพระเนตรเห็นแล้วทรงเลื่อมใส ทรงไหว้แล้วนิมนต์ให้ขึ้นมาบนประสาท และถวายภัตตาหาร เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้วทรงอนุโมทนา พระราชาทรงเลื่อมใสมากขึ้นและทรงอาราธนาให้อยู่ในพระราชอุทยานเป็นประจำ พระปัจเจกพุทธเจ้าทรงรับอาราธนา

เมื่อเสวยเสร็จแล้ว พระราชาเสด็จไปจัดที่พักกลางคืนและที่พักกลางวันถวายพระปัจเจกพุทธเจ้า ทรงมอบหมายให้คนเฝ้าอุทยาน ชื่อ สุมังคละ(สุมงคล) เป็นคนช่วยเหลือในกิจธุระของพระปัจเจกพุทธเจ้า จากนั้นพระราชาก็เสด็จกลับพระนคร

ตั้งแต่วันนั้นมา พระปัจเจกพุทธเจ้าก็มาฉันที่พระราชมณเฑียรเป็นนิตย์ พำนักอยู่ที่พระราชอุทยานเป็นประจำ ส่วนนายสุมงคลก็ปฏิบัติบำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้าโดยเคารพเสมอมา

อยู่มาวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้า บอกนายสุมงคลว่า จะไปพักบ้านอื่นสัก 2-3 วัน ขอให้นายสุมงคลกราบทูลพระราชาด้วย นายสุมงคลกราบทูลพระราชาตามคำของพระปัจเจกพุทธเจ้า

พระปัจเจกพุทธเจ้าไปอยู่บ้านอื่น 2 - 3 วัน แล้วกลับมาเวลาเย็น เมื่อมืดแล้วคนเฝ้าพระราชอุทยานไม่ทราบว่าพระปัจเจกพุทธเจ้ากลับมา จึงกลับไปเรือนของตน

ฝ่ายพระปัจเจกพุทธเจ้า เก็บบาตร จีวร และเดินจงกรมสักพักหนึ่ง แล้วนั่งอยู่บนแผ่นหิน วันนั้นมีแขกมาเยี่ยมที่เรือนของนายสุมงคล ซึ่งมาด้วยกันหลายคน นายสุมงคลไม่มีกับข้าวเลี้ยงแขก จึงคิดว่า “เราน่าจะไปยิงเนื้อที่พระราชาไม่ทรงหวงห้ามในพระราชอุทยานมาทำกับข้าวเลี้ยงแขก”

เขาจึงถือธนูเข้าไปในพระราชอุทยานสอดส่ายสายตาหาเนื้อ เห็นพระปัจเจกพุทธเจ้านั่งอยู่ เนื่องจากมืด จึงคิดว่าเป็นเนื้อตัวใหญ่ จึงไม่ได้เฉลียวใจว่าเป็น พระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะเขาไม่ทราบการกลับมาของท่าน จึงเอาลูกศรพาดสายธนูแล้วยิงไป

พระปัจเจกพุทธเจ้าเปิดผ้าคลุมศีรษะร้องเรียกชื่อเขาว่า “สุมงคล”

เขาตกใจมาก กล่าวอย่างละล่ำละลักว่า “ท่านขอรับ ผมไม่ทราบว่าท่านกลับมาแล้ว กระผมเข้าใจว่าเป็นเนื้อ จึงยิงเข้าไป ขอท่านได้โปรดอภัยโทษให้กระผมด้วยเถิด”

พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวว่า “ข้อนั้นช่างเถิด อาตมาให้อภัย แต่ตอนนี้ สุมงคลจะทำอย่างไรเล่ามาถอนลูกศรออกก่อนเถิด”

สุมงคลไหว้ท่านแล้ว ถอนลูกศรออก พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่อาจทนทุกขเวทนาอันแสนสาหัสได้ จึงปรินิพพาน ณ ที่นั้น

คนเฝ้าสวนตกใจกลัว คิดว่า เมื่อพระราชาทรงทราบเรื่องคงจะไม่ให้อภัยเราเป็นแน่ จึงพาลูกเมียหนีไป วันรุ่งขึ้นข่าวแพร่สะพัดไปอย่างรวดเร็วว่า พระปัจเจกพุทธเจ้านิพพานแล้ว สุมงคลฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้วหนีไป

พระราชาเสด็จไปพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมากทรงบูชาศพ 7 วัน แล้วทรงฌาปนกิจศพด้วยสักการะอันใหญ่ เก็บพระธาตุก่อพระเจดีย์บรรจุพระธาตุไว้บูชาพระเจดีย์และครองแผ่นดินโดยธรรมต่อไป พระราชาไม่ได้ตรัสอะไรเกี่ยวกับสุมงคลเลย

ฝ่ายสุมงคล เมื่อ 1 ปีผ่านไป ได้รู้น้ำใจของพระราชา จึงมาหาอำมาตย์คนหนึ่ง ขอให้หยั่งพระทัยพระราชาว่าทรงรู้สึกต่อเขาอย่างไร เมื่อไปเฝ้าพระราชา อำมาตย์จึงทูลพรรณนาคุณความดีของนายสุมงคล แต่พระราชาทรงทำเป็นไม่ได้ยินเสียง อำมาตย์จึงกลับมาบอกนายสุมงคลว่า พระราชาไม่พอพระทัย พอล่วงปีที่ 2 นายสุมงคลก็กลับมาอีก พระราชาก็นิ่งเหมือนคราวก่อน

พอล่วงปีที่ 3 นายสุมงคลได้พาลูกเมียกลับมา อำมาตย์รู้ว่า พระราชามีพระทัยอ่อนลงแล้ว จึงพานายสุมงคลไปยืนที่ประตูพระราชวัง แล้วกราบทูลพระราชาให้ทรงทราบ ทรงให้นายสุมงคลเข้าเฝ้า ทรงปฏิสันถารอย่างดี ตรัสถามว่า ทำไมถึงฆ่าพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เป็นบุญญเขตเสียเล่า

นายสุมงคลกราบทูลให้ทรงทราบตามความเป็นจริงทุกอย่าง ทรงทราบความจริงแล้ว พระราชทานอภัยให้เป็นผู้เฝ้าพระราชอุทยานอย่างเดิม

อำมาตย์ผู้อนุเคราะห์นายสุมงคล ทูลถามว่า เหตุใดเมื่อได้สดับคุณของนายสุมงคล 2 ครั้ง จึงนิ่งเสีย พอครั้งที่ 3 จึงทรงอนุเคราะห์


พระราชาตรัสตอบว่า “2 ครั้งแรก เรายังโกรธนายสุมงคลอยู่ เราตระหนักว่า เมื่อพระราชากำลังพิโรธอยู่ ทำอะไรลงไปด้วยความผลุนผลันย่อมไม่สมควร แต่ครั้งนี้เรารู้ว่า ความโกรธของเราอ่อนลงแล้ว จึงยอมให้เขาเข้าเฝ้า”

เพื่อจะทรงแสดงราชวัตรธรรม จึงตรัสว่า

“พระราชารู้ว่า กำลังโกรธจัด ไม่พึงลงอาญาใคร ๆ (เพราะถ้าลงอาญาในเวลานั้น มักจะทรงทำเกินเหตุด้วยอำนาจแห่งความโกรธ) พึงเพิกถอนหรือระงับทุกข์โทษของผู้อื่นไว้ก่อน”

“เมื่อใดรู้ว่า ตนมีจิตใจผ่องใสแล้ว จึงใคร่ครวญความผิดที่ผู้อื่นทำไว้ พึงพิจารณาให้เห็นแจ่มแจ้งด้วยตนเองว่า นี่ส่วนที่เป็นประโยชน์หรือส่วนดีของเขา นี่คือส่วนทีเป็นโทษของเขา แล้วควรปรับผู้นั้นตามสมควร” พระราชาทรงตรัส

อนึ่ง พระราชาใด ไม่ถูกอคติ (ความลำเอียง) ครอบงำ ย่อมแนะนำผู้อื่นทั้งควรแนะนำและไม่ควรแนะนำได้ (เพราะทรงฉลาดในการแนะนำ) พระราชานั้นได้ชื่อว่า ไม่เผาผู้อื่นและไม่เผาพระองค์เอง พระราชาใดทรงลงอาญาแก่ผู้อื่นพอสมควรแก่โทษของเขา พระราชานั้น อันควรความคุ้มครองแล้วย่อมไม่เสื่อมจากสิริ

“กษัตริย์ใด ถูกอคติครอบงำ ไม่ทรงพิจารณา โดยรอบคอบแล้วทำลงไป ทรงลงอาญาโดยผลุนผลัน กษัตริย์เหล่านั้น ประกอบไปด้วยโทษ น่าติเตียนเมื่อสิ้นชีพลงแล้ว ย่อมไปทุคติ”

ส่วนพระราชาใด ทรงยินดีในทศพิธราชธรรมที่พระอริยเจ้าประกาศแล้ว พระราชานั้นเป็นผู้มีพระกาย พระวาจา และพระมนัสประสริฐ ทรงดำรงมั่นอยู่ในขันติ โสรัจจะและสมาธิ ท่านย่อมเข้าถึงโลกทั้ง 2 เท่านั้น (คือเทวโลกและมนุษยโลก)

พระราชาตรัสว่า “เราเป็นพระราชาผู้เป็นใหญ่ในหมู่มนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย (ในโลกมนุษย์) ถ้าเราโกรธขึ้นมา เราก็ควรตั้งตนอยู่ในราชประเพณีอันดีงาม ลงอาญาโดยแยบคาย ด้วยความปราณี”

เมื่อพระราชาพรหมทัต ทรงแสดงคุณของการใคร่ครวญพิจารณาก่อนการกระทำและตัดสินการกระทำของผู้อื่นในเวลาที่ไม่โกรธอยู่เช่นนั้น ราชบริษัทต่างชื่นชมยินดี กล่าวสรรเสริญคุณของพระราชา เป็นอเนกประการและกล่าวว่า แม้พวกเขาเองก็ควรประพฤติอยู่ในคุณธรรมเช่นนั้นด้วยเหมือนกัน

นายสุมงคล ลุกขึ้นถวายบังคมพระราชา ประคองอัญชลีกล่าวสรรเสริญพระราชาว่า

“ข้าแต่พระองค์ ผู้ทรงเป็นใหญ่ในหมู่ชน ขอมิ่งขวัญและบุญหรือบริวารและปัญญา อย่าได้ละพระองค์ในกาลทุกเมื่อ พระองค์ผู้ไม่มักกริ้ว มีพระหฤทัยผ่องใสอยู่เป็นนิตย์ ขอพระองค์ทรงปราศจากทุกข์ ดำรงพระองค์อยู่เป็นร้อยปีเถิด ขอพระองค์จงประกอบด้วยคุณเหล่านี้ คือ โบราณราชวัตรอันมั่นคง พระราชทานโอกาสให้ทูลเตือนได้ ไม่มักกริ้ว ปกครองแผ่นดินให้ร่มเย็น จากโลกนี้ไปแล้วสู่คติภูมิสถานเถิด”

พระราชาธรรมิกราชทรงฉลาดในอุบาย ครองราชย์โดยธรรมคือ กุศลกรรมบถ 10 อันบัณฑิตกล่าวแนะนำไว้ดีแล้ว ช่วยดับความเร่าร้อนทั้งทางกายและทางใจของมหาชน เหมือนมหาเมฆหลั่งลง ยังมหาชนให้ชุ่มเย็นด้วยน้ำ

เรื่องนี้เป็นคติอันดีสำหรับผู้ใหญ่ ซึ่งต้องปกครองคนมาก ต้องไม่ลุอำนาจแก่โทสะและอคติ ไม่ด่วนลงโทษผู้น้อย ขณะกำลังโกรธ ไม่พึงตัดสินสิ่งใด ๆ ลงไป เพราะถ้าตัดสินเวลานั้น มักเกินกว่าเหตุและพลาดพลั้งจากธรรมได้

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น