นิทานสอนใจ : ฉลาดไม่ทันเวลา

นิทานสอนใจ : ฉลาดไม่ทันเวลา


มีท่านอาจารย์ชื่อ "เบ็งกะอี" เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการเทศนาธรรม ส่วนใหญ่คนที่สนใจมาฟังท่านเทศนาไม่เพียงเฉพาะผู้คนที่นับถือศาสนานิกายเซ็น ยังรวมไปถึงประชาชนที่นับถือศาสนาอื่นๆ อีกด้วย ที่ให้ความสนใจเข้ามาฟังธรรมที่ท่านเบ็งกะอีเทศนา นอกจากนั้นไม่ว่าจะเป็นคนชนชั้นไหนก็เข้ามาฟัง โดยไม่แบ่งชั้นวรรณะ เพราะว่าท่านเบ็งกะอีไม่ได้เอาถ้อยคำในพระคัมภีร์หรือในหนังสือ หรือในพระไตรปิฎกมาเทศนา แต่เรื่องราวที่ท่านนำมาเทศนานั้นมันหลั่งไหลออกมาจากความรู้สึกในใจของท่านเองอย่างแท้จริง

ดังนั้นจึงมีผู้คนให้ความสนใจมาฟังธรรมที่ท่านเบ็งกะอีเทศนาเป็นจำนวนมาก เนื่องจากคนฟังเข้าใจและชอบใจกับเรื่องราวที่ท่านได้เทศนาให้กับประชาชนฟัง และแห่กันมาฟังจนทำให้วัดอื่นเงียบเหงา ไม่มีคนไปทำบุญกันเลย เป็นเหตุให้พระภิกษุรูปหนึ่งในนิกายนิชิเรนโกรธมาก และคิดจะทำร้ายท่านอาจารย์เบ็งกะอีอยู่ตลอดเวลา

วันหนึ่งขณะที่ท่านอาจารย์เบ็งกะอีกำลังแสดงธรรมอยู่ในที่ประชุมนั้น พระภิกษุนิกายนิชิเรนรูปดังกล่าวก็เดินมาหยุดที่หน้าศาลาแล้วตะโกนว่า "เฮ้ย อาจารย์เซ็น หยุดเดี๋ยวนี้นะ ฟังที่ฉันกำลังจะพูดก่อน ใครก็ตามที่เคารพเบ็งกะอี จะต้องเชื่อฟังคำพูดที่ท่านพูด แต่ว่าคนอย่างฉันไม่มีวันที่จะเคารพท่าน แล้วท่านจะทำอย่างไร ที่จะทำให้ฉันเคารพเชื่อฟังท่านได้"

เมื่อภิกษุอวดดีรูปนั้นร้องท้าไปตั้งแต่ชายคาริมศาลา ท่านอาจารย์เบ็งกะอีก็บอกว่า "มาซิ ขึ้นมาทางนี้ มาข้างๆ ฉัน แล้วฉันจะทำให้ดูว่า ฉันจะทำอย่างไร"

พระภิกษุรูปนั้นก็พรวดพราดขึ้นมาด้วยความทะนงใจ เดินฝ่าฝูงคนเข้าไปยืนหราอยู่ข้างๆ ท่านอาจารย์เบ็งกะอี ท่านอาจารย์ก็บอกว่า "ยังไม่ค่อยเหมาะสม มายืนข้างซ้ายดีกว่า" พระรูปนั้นก็ผลุนมาอย่างรวดเร็วทีเดียว จากที่อยู่ข้างขวาก็เดินมายืนอยู่ด้านซ้ายของอาจารย์เบ็งกะอี

ท่านอาจารย์เบ็งกะอีก็บอกอีกว่า อ๋อ! ถ้าจะพูดให้ถนัดต้องอย่างนี้ ต้องข้างขวา ข้างขวา พระรูปนั้นก็ผลุนมาด้านขวา พร้อมกับมีท่าทางผยองอย่างยิ่ง พร้อมที่จะท้าทายอยู่ตลอดเวลา ท่านอาจารย์เบ็งกะอีจึงกล่าวว่า "เห็นไหมล่ะ ท่านกำลังเชื่อฟังฉันอย่างยิ่ง และในฐานะที่ท่านเชื่อฟังอย่างยิ่งแล้วฉะนั้น ท่านจึงนั่งลงฟังเทศน์เถิด และแล้วเรื่องก็จบลง

นิทานเรื่องนี้เหมือนกับคำสอนที่พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า "นิวาโต เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ" คำว่า "วาโต" หมายความว่าสูบลมอัดเบ่งจนพอง ถ้าคำว่า "นิวาโต" ก็หมายถึงไม่พอง ไม่ผยอง และเป็นมงคลอย่างยิ่ง ข้อนี้แสดงว่า มีความรู้วิชาอย่างเดียวนั้นคงไม่พอ ยังต้องการไหวพริบและปฏิภาณด้วย

พระรูปนั้นก็เก่งกาจอยู่ในนิกายนิชิเรนของญี่ปุ่น แต่ก็มาพ่ายแพ้ให้กับท่านอาจารย์เบ็งกะอี ที่แทบจะไม่รู้หนังสือ เพราะเหตุการณ์นี้จะพูดอะไรก็ไม่จำเป็นต้องอาศัยหนังสือ เพราะบางเรื่องในชีวิตก็ใช้ไหวพริบในการแก้ไขปัญหา โดยไม่จำเป็นต้องอาศัยความรู้วิชาการในหนังสือก็ได้ เขาจึงกลายเป็นผู้แพ้ไปโดยปริยาย

ในภาษาของคนชาติตะวันตก เขากล่าวไว้ว่า Be wise in time ฉลาดให้ทันเวลา เมื่อเกิดเหตุการฉุกเฉิน ซึ่งก็ไม่ต่างกับคำในภาษาบาลีที่ว่า "ขโณ มา โว อุปจฺจคา" ซึ่งแปลว่า แม้จะเป็นสิ่งที่สำคัญเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ควรผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์หรือที่เรียกว่า "ปฏิภาณ" ปฏิภาณที่ครูบาอาจารย์ต้องมีอยู่อย่างยิ่ง มิฉะนั้นจะควบคุมเด็กไม่อยู่ เราลองคิดดูซิว่า เด็กๆ ของเราจะมีปฏิภาณเท่าไร เราเองมีปฏิภาณอยู่เท่าไร มันจะสู้กันได้ไหม ลองเทียบ I.Q. ในเรื่องนี้ดู

ถ้าครูบาอาจารย์เรามี I.Q.ในเรื่องนี้ 5 เท่าของเด็กๆ คือเหนือกว่าเด็กๆ 5 เท่าตัว ก็ควรจะได้รับเงินเดือน 5 เท่าตัว หรือใครอยากจะเอาสักกี่เท่าก็เร่งเพิ่มมันขึ้นไปให้มีปฏิภาณไหวพริบ จนสามารถสอนเด็กให้เข้าใจในเรื่องกรรม เรื่องอนัตตา เรื่องนิพพาน ได้อย่างดีทีเดียว นี่คือข้อที่ต้องอาศัยปฏิภาณของผู้ที่เป็นคนสั่งสอนคนให้รู้จักผิดชอบชั่วดี

yengo หรือ buzzcity

ไม่มีความคิดเห็น :

แสดงความคิดเห็น