นิทานสอนใจ : "มนต์คาถา" จากตักกสิลา
เมื่อพูดถึงสำนัก "ตักกสิลา" ในสมัยโบราณมักจะต้องนึกเปรียบเทียบกับแหล่งการศึกษาใหญ่ ๆ โต ๆ ในสมัยปัจจุบัน เช่นเดียวกับเมื่อพูดถึงสำนัก "บู๊ลิ้ม" หรือ "วัดเส้าหลิน" จะต้องนึกถึง "วิทยายุทธ์" หรือ "กำลังภายใน" ส่วนมนต์คาถาจากตักกสิลาที่จะเล่าสู่กันฟังในวันนี้ จะขลังขนาดไหน และทำไมจึงขลัง เป็นเรื่องที่ท่านผู้อ่านจะต้องติดตามพิจารณากันเอง
ขอเริ่มเรื่องโดยเอ่ยถึงมานพผู้หนึ่งนามว่า "จุฬกะ" เดินทางไปศึกษาหาความรู้ยังสำนัก "ตักกสิลา" หนุ่มน้อยจุฬกะทำตัวเป็นลูกศิษย์ที่น่ารักมาก เอาใจใส่การศึกษา และปรนนิบัติรับใช้อาจารย์ด้วยความขยันหมั่นเพียร อดทน และเคารพนบนอบอาจารย์ยิ่งนัก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่จุฬกะเกิดมาเป็นผู้มีปัญญาทึบ จึงไม่สามารถเรียนรู้ศิลปวิทยาใด ๆ ได้เลย
จนกระทั่งครบกำหนดการเดินทางกลับบ้าน พระอาจารย์เกิดซาบซึ้งใจในอัธยาศัยของศิษย์ผู้นี้ยิ่งนัก จึงคิดอนุเคราะห์ให้ได้ใช้วิชาติดตัวกลับไป พระอาจารย์ในครั้งนั้นคงจะล่วงรู้เหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นกับจุฬกะในอนาคตอยู่แล้ว จึงสอนให้ท่องคาถาบทหนึ่งความว่า
"ฆเฏสิ ฆเฏสิ ถึการณา ฆเฏสิ อตํปิ ตํ ชานามิ ชานามิ"
พระอาจารย์ย้ำให้จุฬกะท่องจำคาถานี้ให้ขึ้นใจ และกำชับให้ท่องตลอดเวลาที่เขารู้สึกตัว จุฬกะจำคำอาจารย์ได้แม่น และปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด
ในวันหนึ่งพระเจ้ากรุงพาราณสีปลอมพระองค์เสด็จตามที่ต่าง ๆ เพื่อที่จะได้ทราบว่า ประชาชนพึงพอใจ หรือตำหนิติเตียนในพระราชกรณียกิจที่พระองค์กำลังทำอยู่ ในครั้งนั้นพระองค์เสด็จไปใกล้บ้านของจุฬกะ ซึ่งเป็นเวลาเดียวกับที่นักตัดช่องย่องเบาคนหนึ่งกำลังจะเข้าไปขโมยของในบ้านของจุฬกะพอดี บังเอิญให้จุฬกะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาในเวลานั้น และเริ่มท่องบ่นมนต์ที่อาจารย์สั่งมา เมื่อเจ้าหัวขโมยได้ยินก็รีบเผ่นหนีไปทันที
พระราชาทอดพระเนตรเหตุการณ์โดยตลอด เกิดสนพระทัยในมนต์บทนี้จึงให้ท่านอำมาตย์ไปตามตัวจุฬกะมา จุฬกะสอนมนต์บทนั้นแก่พระราชา ทำให้ได้รับพระราชทานเงินทองมากมาย
แต่เรื่องยังไม่จบเพียงแค่นั้น ด้วยมีเหตุร้ายที่จะเกิดขึ้นกับพระราชาในวันที่พระองค์จะปลงพระมัสสุ (โกนหนวด) นายช่างกัลบก (ช่างตัดผม หรือช่างโกนหนวด) ได้รับสินบนจากเสนาบดีให้ปลงพระชนม์พระราชาเสีย ท่านคงพอจะนึกภาพนายช่างกัลบกยืนอยู่เบื้องหลังพระราชา สะบัดมีดโกนคมกริบอยู่ไปมา ยังไม่ทันจะลงมือทำอะไรเพราะเป็นงานเสี่ยงต้องใช้กำลังใจมาก และจะต้องมั่นใจว่าจะเชือดเฉือนให้ตายคาที่ในพริบตาเดียว
ช่วงเวลานั้นเอง พระราชาก็นึกมนต์ที่จุฬกะสอนไว้ให้ และเปล่งเสียงท่องมนต์ขึ้นมา มนต์ก็แสดงความขลังจริง ๆ นายช่างกัลบกลนลานทรุดตัวลงขอพระราชทานชีวิตจากพระราชา
คงจะเดาถูกกระมังว่า ผู้กระทำผิดก็ต้องได้รับโทษอย่างแน่นอน ส่วนจุฬกะก็ต้องได้รับบำเหน็จเต็มที่เช่นกัน
และเชื่อว่า หลาย ๆ ท่าน คงอยากจะรู้คำแปลของมนต์นี้กันเต็มทีแล้ว คำเฉลยก็คือ
"เรารู้นะ เรารู้นะ ว่าเจ้ากำลังทำอะไรอยู่"
ซึ่งแน่นอนเจ้าขโมยได้ยินก็ต้องเผ่นหนี ช่างกัลบกได้ยินก็ต้องสารภาพความผิด
เมื่ออ่านจบแล้ว ก็จะได้ข้อคิดสั้น ๆ ที่ว่า มนต์ (ข้อความอย่างหนึ่ง) จะขลังก็ต่อเมื่ออาจารย์ที่สอนมนต์เป็นคนดีมีปัญญา ส่วนศิษย์นั้นก็เชื่อฟังครูอย่างเคร่งครัด และปฏิบัติตามด้วยความอุตสาหะ ขยันหมั่นเพียร แต่ก็ต้องไม่ลืมกฎเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาคำสอนที่มีมากมายว่า
"คำสอนที่ดีนั้นเมื่อปฏิบัติไปแล้ว คนดีมีปัญญาย่อมทราบจะไม่ตำหนิ และไม่ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อตนเอง และผู้อื่น อีกทั้งมีผลเป็นความสุขด้วย"
ดังนั้น ขอให้ลองหาดูตัวอย่างคำสอนที่เข้ากับหลักเกณฑ์นี้ตลอดไป พร้อมนำไปปฏิบัติเพื่อความสุข และความสำเร็จในชีวิตทุกประการด้วยนะคะ
///////////
ขอขอบคุณนิทานเรื่องสั้น "ธรรมะบันดาลใจ นิทานต้นแบบแห่งความดี" สำนักพิมพ์ในเครือสถาพรบุ๊คส์
ไม่มีความคิดเห็น :
แสดงความคิดเห็น